วัดศรีชุม (จังหวัดสุโขทัย)

วัดในจังหวัดสุโขทัย

17°1′37.4802″N 99°41′35.8398″E / 17.027077833°N 99.693288833°E / 17.027077833; 99.693288833

วัดศรีชุม
(อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ซากเสาพระวิหารและพระมณฑปประดิษฐานพระอจนะ และต้นมะม่วงป่า
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทวัด
โบราณสถานภายนอกกำแพงเมืองทิศเหนือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย
เมืองอำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้างพุทธศตวรรษที่ 19[1]
ปรับปรุงพ.ศ. 2496
พ.ศ. 2510
ผู้สร้างพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ในกำกับดูแลของกรมศิลปากร
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างก่ออิฐถือปูน
เกณฑ์พิจารณา: วัฒนธรรม: (i), (iii)
เลขอ้างอิง: 0004056

วัดศรีชุม เป็นศาสนโบราณสถานแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บริเวณนอกเขตกำแพงเมืองทิศเหนืออุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ซึ่งมีนามว่า "พระอจนะ" องค์พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในมณฑป ซึ่งปัจจุบันยอดพระมณฑปได้พังทลายหมดแล้วหลงเหลือแต่เพียงผนังกำแพงโดยรอบ ทำให้เป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งจนถึงทุกวันนี้

โครงสร้างของวัดศรีชุมมีความพิเศษกว่าวัดแห่งอื่น ๆ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเนื่องจากเป็นวัดที่ไม่เจดีย์ประธาน แต่ถูกแทนที่ด้วยพระมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปด้านใน ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังวิหารหลัก วัดแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือราวพุทธศตวรรษที่ 19[1] ได้รับการบูรณะขึ้นครั้งแรกจากกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2496 และบูรณะบริเวณมณฑปอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2510[2]

พระพุทธอจนะ ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย นอกจากนี้บริเวณด้านข้างพระมณฑปทางทิศเหนือยังประกอบด้วยต้นมะม่วงป่าขนาดใหญ่อายุมากกว่า 200 ปี มีความสูงถึงยอดกว่า 20 เมตร ได้รับการอนุรักษ์และขึ้นทะเบียนรุกข มรดกของแผ่นดิน โดยกระทรวงวัฒนธรรม

ประวัติ แก้

 
มณฑปวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย ถ่ายเมื่อครั้งการก่อนบูรณะ ภาพถ่ายคาดว่าถ่ายเมื่อต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 5
 
พระมณฑปและพระอจนะ
 
พระอจนะ วัดศรีชุม เมื่อปี พ.ศ. 2543
 
สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒนสัตยาปลุกปลอบใจขวัญทหาร ปฐมเหตุแห่งตำนาน "พระพูดได้" ( ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราราม อยุธยา)

"วัดศรีชุม" มาจากคำเรียกพื้นเมืองเดิม ซึ่งหมายถึง ต้นโพธิ์ ดังนั้นชื่อ ศรีชุม จึงหมายถึงดงของต้นโพธิ์ แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เขียนในสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่เข้าใจความหมายนี้แล้ว จึงเรียกสถานที่นั้นว่า "ฤๅษีชุม"

วัดศรีชุมนั้น สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ว่า

เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้...............มีพระอจนะ มีปราสาท" พระประธานในมณฑปจึงมีชื่อว่า "พระอจนะ"

พระมณฑปกว้างด้านละ 32 เมตร สูง 15 เมตร ผนังหนา 3 เมตร ผนังด้านซ้ายเจาะเป็นทางทำบันได ในผนังขึ้นไปถึงหลังคา ตามฝาผนังอุโมงค์มีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี เพดานผนังมีแผ่นหินชนวนสลักภาพลายเส้นเป็นเรื่องในชาดกต่างๆ มีจำนวน 50 ภาพ เรียงประดับต่อเนื่องกัน ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นงานจิตรกรรมไทยที่เก่าแก่ที่สุด

ในสมัยอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกาศอิสรภาพในปี พ.ศ. 2127 ที่เมืองแครง ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ ยกเลิกการส่งส่วยให้กับพม่า แต่ยังมีเมืองเชลียง ( สวรรคโลก) ที่ไม่ยอมทำตามพระราชโองการของพระองค์ พระองค์จึงนำทัพเสด็จมาปราบเมืองเชลียง และได้มีการมาชุมนุมทัพที่วัดศรีชุมแห่งนี้ก่อนที่จะไปตีเมืองเชลียง และด้วยการรบในครั้งนั้นเป็นการรบระหว่างคนไทยกับคนไทยด้วยกัน ทำให้เหล่าทหารไม่มีกำลังใจในการรบไม่อยากรบ สมเด็จพระนเรศวรจึงได้วางแผนสร้างกำลังใจให้กับทหาร โดยการให้ทหารคนหนึ่งปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระ และพูดให้กำลังใจแก่เหล่าทหาร ทำให้ทหารเกิดกำลังใจที่จะต่อสู้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดตำนานพระพูดได้ที่วัดศรีชุมแห่งนี้ และพระนเรศวรยังได้มีการทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาขึ้นที่วัดแห่งนี้ด้วย

ตามหลักฐานระบุว่าวัดแห่งนี้ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าลิไท และมีการดูแลบูรณะเรื่อยมา สันนิษฐานว่าวัดนี้ได้ถูกทิ้งร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย จนกระทั่งในสมัย รัชกาลที่ 9 ได้มีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ ในปี พ.ศ. 2495 โดยเริ่มมีการบูรณะพระพุทธรูปพระอจนะ โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจารย์เขียน ยิ้มสิริ วัดจึงอยู่ในสภาพที่เห็นในปัจจุบัน

สภาพโบราณสถาน แก้

วัดศรีชุม เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสุโขทัย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในวัดปรากฏโบราณสถานขนาดใหญ่ลักษณะมณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่เต็มมณฑป ซึ่งสันนิษฐานว่าในอดีตตัวมณฑปน่าจะมีหลังคาคล้ายโดม ตัวมณฑปนั้นตั้งอยู่บนฐานสูง ด้านหน้าเปิดเป็นช่องเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปงดงามแต่ไกล

ตัวโบราณสถานประกอบด้วยอาคารหลัก 2 หลัง หลังแรกเป็นมณฑปรูปสี่เหลี่ยมกว้าง 32 คูณ 32 ม. สูง 15 ม. ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีชื่อว่า พระอจนะ ในด้านหน้า เป็นวิหารหลวงมี 6 ห้อง ปรากฏในศิลาจารึกว่า “เบื้องตีนนอน” อยู่ทางทิศเหนือ จะมีพระพุทธรูปใหญ่ “เบื้องหัวนอน” จะอยู่ทางทิศใต้ สมัยพ่อขุนรามคำแหงโปรดให้สร้างมณฑปครอบพระพุทธรูปไว้ และในสมัยพระเจ้าลิไทโปรดให้ก่อผนังใหม่อีกข้างให้ห่างจากผนังเดิม 1 เมตร 50 ซ.ม. โดยช่องว่างให้ทำบันได ทำอุโมงค์ขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระ ผนังของอุโมงค์นี้โปรดให้ไปแกะหินชนวนจากเจดีย์เก้ายอดที่วัดมหาธาตุที่แกะ สลักเป็นเรื่องราวชาดก 550 พระชาติ และในส่วนที่แกะหินชนวนโปรดให้สร้างพระสาวกปางลีลากระทำอัญชลีขึ้นแทน ในการสร้างมณฑปที่มีผนัง 2 ชั้นนั้นได้รับอิทธิพลศิลปะโปโลนนารวะของลังกา ซึ่งแพร่หลายมากในสมัยปรกมพาหุ ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงนิยมสร้างพระอัฏฐารส และสมัยพระยาลิไทนิยมสร้างพระสาวกลีลา

พระอจนะ แก้

"พระอจนะ" คำว่า อจนะ มีผู้ให้ความหมายพระอจนะว่าหมายถึงคำในภาษาบาลีว่า “อจละ” ซึ่งแปลว่า “ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง” “ผู้ที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้” พระอจนะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ วัสดุปูนปั้น แกนในก่ออิฐและศิลาแลง หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร สูง 15 เมตร องค์พระพุทธรูปมีขนาดใหญ่เต็มวิหาร ศิลปะแบบสุโขทัย

ศิลาจารึกวัดศรีชุม แก้

ศิลาจารึกวัดศรีชุมเรียกว่า ศิลาจารึกหลักที่ 2 ทำด้วยหินดินดานเป็นรูปใบเสมา กว้าง 67 เซนติเมตร สูง 275 เซนติเมตร หนา 8 เซนติเมตร ด้านที่หนึ่งจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย มี 107 บรรทัด ด้านที่สองมี 95 บรรทัด มีอายุประมาณ ปี พ.ศ. 1880 - 1910 นายพลโทพระยาสโมสรสรรพการ เมื่อครั้งเป็นที่หลวงสโมสรพลการ พบที่อุโมงค์วัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 2430 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ความสำคัญของวัด แก้

วัดศรีชุมมีการวางผังที่แปลกกว่าวัดทั่วไป ที่ใช้มณฑปที่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานเป็นประธานของวัดเปรียบเป็นอุเทสิกเจดีย์ และมีพระวิหารต่อออกมาแบบที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น นักโบราณคดีให้ความเห็นว่ามณฑปพระอจนะน่าจะสร้างโดยมีคติเป็นพระคันธกุฎี คือที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล

  1. วัดนี้เป็นสถานที่พบศิลาจารึกหลักที่ 2 หรือศิลาจารึกวัดศรีชุม พูดถึงความเป็นมาของราชวงศ์พระร่วง และราชวงศ์ผาเมืองและการตั้งเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันความเป็นของแท้ดั้งเดิมของจารึกหลักที่หนึ่งในคราวที่มีกรณีข้อกล่าวหาว่าจารึกหลักหนึ่งเป็นของปลอม
  2. แผ่นหินที่แกะมาจากเจดีย์วัดมหาธาตุจารึกเป็นรูปบุคคล และรูปอาคาร เป็นหลักฐานชั้นสำคัญที่ทำให้เรารู้ว่าอาคารและบุคคลในสุโขทัยเป็นอย่างไร
  3. วัดศรีชุมถือเป็นสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสุโขทัย

การเดินทาง แก้

ตั้งอยู่บนถนนจรดวิถีถ่อง ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยมาตามทางหลวงหมายเลข 12 (สุโขทัย-ตาก) ประมาณ 12 กม. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-21.00 น. นักท่องเที่ยวชาวไทย 5 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท และเวลา 9.00-21.00 น. โบราณสถานต่างๆ ถูกสาดส่องด้วยแสงไฟ

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ปิ่น, บุตรี. ""วัดศรีชุม"สุโขทัย น่าทึ่งพระพุทธรูปพูดได้ คุณยายพูดโดน..."การโกง มันบาป"". ผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 2 January 2024.
  2. "โบราณสถานนอกกำแพงเมืองทิศเหนือ". กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 2 January 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้