สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
บทความนี้มีข้อมูลไม่เป็นแก่นสารหรือปลีกย่อยเป็นอันมาก (มีนาคม 2023) |
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (อังกฤษ: Bunditpatanasilpa Institute of Fine Arts; ชื่อย่อ: BPI) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นผู้พระราชทานนามสถาบัน ซึ่งหมายถึง "สถาบันผลิตบัณฑิตทางศิลปะแห่งความเจริญ" โดยมีหน้าที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านช่างศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และคีตศิลป์ ทั้งไทยและสากล รวมถึงศิลปวัฒนธรรม[4]
ชื่อย่อ | BPI |
---|---|
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ |
สถาปนา | 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541[1] |
อธิการบดี | ดร.นิภา โสภาสัมฤทธิ์[2] |
นายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ | ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ |
ผู้ศึกษา | 3,378 คน (2566)[3] |
ที่ตั้ง | สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สำนักงานอธิการบดี เลขที่ 119/19 หมู่ 3 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170 |
สี | สีเขียว |
เว็บไซต์ | https://www.bpi.ac.th |
ประวัติ
แก้นาม "บัณฑิตพัฒนศิลป์" เป็นนามที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์มรดกศิลปวัฒนธรรมไทย โปรดเกล้าฯ พระราชทานเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งหมายถึง "สถาบันผลิตบัณฑิตทางศิลปะแห่งความเจริญ" เป็นการยกระดับการศึกษาด้านดุริยางคศิลป์และช่างศิลป์ เพื่อนำศิลปะมาพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เดิมเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ (และต่อมาได้โอนมาสังกัด กระทรวงวัฒนธรรม) ได้รับการสถาปนาขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2541[1] โดยมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และช่างศิลป์ทั้งไทยและสากล ในการดำเนินการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์นั้นได้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2541 โดยกรมศิลปากร ได้พยายามผลักดันเรื่องการยกระดับการศึกษาวิชาชีพพิเศษด้านนี้ขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 มีการประกาศจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา โดยให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2541 อันเป็นการยกระดับการศึกษาวิชาเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมให้สูงขึ้นถึงระดับปริญญา โดยเปิดดำเนินการสอนครั้งแรกใน 3 คณะวิชา คือ คณะศิลปวิจิตร คณะศิลปนาฏดุริยางค์ และคณะศิลปศึกษา ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เป็นหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง 2 ปี) สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง (ปนส.) จากวิทยาลัยนาฏศิลปทุกแห่ง และผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรศิลปกรรมวิชาชีพชั้นสูง (ศ.ปวส.) จากวิทยาลัยช่างศิลปทุกแห่ง
ในปีการศึกษา 2547 ได้ขยายการผลิตบัณฑิต โดยเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี (4 ปี) ในคณะศิลปวิจิตรและคณะศิลปนาฏดุริยางค์ เปิดหลักสูตรปริญญาตรี (5 ปี) ในคณะศิลปศึกษา และเปิดห้องเรียนเครือข่ายคณะศิลปศึกษาในวิทยาลัยนาฏศิลปทุกแห่งในภูมิภาค ในปีการศึกษา 2548 คณะศิลปวิจิตรได้ขยายการผลิตบัณฑิต และเปิดห้องเรียนเครือข่ายในวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี และปีการศึกษา 2554 เปิดห้องเรียนเครือข่ายเพิ่มขึ้นที่วิทยาลัยช่างศิลป และในปีการศึกษา 2550 คณะศิลปนาฏดุริยางค์ ได้ขยายการผลิตบัณฑิตและห้องเรียนเครือข่ายในวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ และวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด
ปัจจุบัน สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 32 วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550[5] ส่งผลให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เปลี่ยนสถานะเป็นนิติบุคคล สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานวิชาชีพเฉพาะถึงระดับปริญญาเอก และมีอำนาจหน้าที่ตามที่ระบุในวัตถุประสงค์ของสถาบัน มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. 2550 ที่ว่า "การศึกษาและส่งเสริมวิชาการ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานวิชาชีพ ถึงวิชาชีพชั้นสูงด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และทัศนศิลป์ทั้งไทยและสากล รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ทำการสอนการแสดง การวิจัย และให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม ทำนุบำรุง และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนในท้องถิ่น" ดังนั้น สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จึงมีภารกิจสำคัญในการจัดการเรียนการสอนทั้งในหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) ปริญญาตรี (4 ปี) และปริญญาตรี (5 ปี) ในคณะวิชา ในห้องเรียนเครือข่ายภูมิภาค และการจัดการศึกษาระดับพื้นฐานวิชาชีพเฉพาะด้านและระดับต่ำกว่าปริญญาตรีในวิทยาลัยนาฏศิลปและวิทยาลัยช่างศิลปรวม 15 แห่งด้วย โดยมีส่วนราชการที่จัดการศึกษาในสังกัดจำนวน 18 แห่ง ตามกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2551 วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2551[6]
ต่อมา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ได้มีนโยบายขยายโอกาสให้แก่บัณฑิตจากสถาบันฯ และสถาบันอื่นที่จะเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญามหาบัณฑิตเฉพาะด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ และช่างศิลป์ และพัฒนาบุคลากรของสถาบันให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านศิลปะเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาต่อไปพัฒนาการจัดการศึกษาแก่หน่วยงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้ดำเนินการโครงการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยและเริ่มจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาโทมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 ต่อมาในปีการศึกษา 2552 การจัดหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขานาฏศิลป์ไทย และหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาดุริยางคศิลป์ไทย ได้รับความเห็นชอบจากสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในการประชุมครั้งที่ 7/2552 วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และได้รับคำรับรองจากคณะกรรมการการอุดมศึกษาว่าเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2548 ตามหนังสือที่ ศธ 0506(2)/2249 ในปีการศึกษา 2553 จึงได้เริ่มเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาโท 2 สาขาวิชา คือ สาขานาฏศิลป์ไทยและสาขาดุริยางคศิลป์ไทย ปีการศึกษา 2558 เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาโทเพิ่มในสาขาวิชาทัศ่นศิลป์ และในปีการศึกษา 2562 ได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก ศิลปดุษฎีบัณฑิต ในสาขานาฏศิลปไทย และสาขาดุริยางคศิลปไทย
สัญลักษณ์
แก้"สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์" เป็นนามพระราชทานที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแก่สถาบัน ซึ่งหมายถึง "สถาบันผลิตบัณฑิตทางศิลปะแห่งความเจริญ" เป็นการยกระดับการศึกษาด้านดุริยางคศิลป์และช่างศิลป์ เพื่อนำศิลปะมาพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศไทย เครื่องหมายของสถาบันฯ เป็นรูปพระพิฆเนศประทับนั่งในลักษณะเฉียงเล็กน้อยในกรอบวงกลม ด้านบนมีลวดลายไทยยกสูง ด้านล่างกรอบเป็นแถบริบบิ้น ภายในมีชื่อ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
- สีประจำสถาบัน สีเขียว
- สีประจำคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สีแสด
- สีประจำคณะศิลปศึกษา สีฟ้า
- สีประจำคณะศิลปวิจิตร สีชมพู
ความหมายของตราประจำสถาบัน พระพิฆเนศเป็นเทพเจ้าของอินเดีย นับถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการทั้งปวง ซึ่งหมายรวมถึงความเป็นเจ้าแห่งสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ความกล้าหาญ ตลอดจนเป็นผู้พิทักษ์ไว้ซึ่งความยุติธรรม นอกจากนี้ชาวฮินดูยังคงให้ความสำคัญกับพระพิฆเนศในฐานะเป็นเทพประจำความขัดข้องและเป็นผู้อำนวยความสำเร็จให้แก่กิจการต่าง ๆ อีกด้วย ดังนั้นพระพิฆเนศจึงได้นามเฉพาะว่า "วิฆเนศวร" หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในความขัดข้องหรืออุปสรรค และ "สิทธิดา" หมายถึงผู้อำนวยความสำเร็จผล ด้วยเหตุที่พระพิฆเนศมีคุณสมบัติและความสำคัญดังกล่าว ชาวฮินดูจึงคติเชื่อกันว่าเมื่อจะประกอบพิธีกรรมในลัทธิศาสนาหรือศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาการ ต้องกล่าวคำไหว้บูชาต่อพระพิฆเนศก่อน เพื่อให้ปลอดภัยรอดพ้นจากความขัดข้องหรืออุปสรรคทั้งปวง ตลอดจนอำนวยพรให้เกิดความสำเร็จลุล่วงด้วยดีในกิจการต่าง ๆ
ลักษณะของพระพิฆเนศ มีรูปกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง มีงาเดียว (บางรูปงาหักข้างขวาหรือซ้ายก็มี) เตี้ย พุงพลุ้ย หูยาน สีกายแดง (บางตำราว่าผิวเหลือง นุ่งห่มแดง ตามปกติมี 4 กร บางตำราว่ามี 6 หรือ 8) ถืองาช้าง บ่วงบาศ งาหัก และขนมโมทก (ขนมต้ม) บางตำราว่าถืออาวุธ และวัตถุแตกต่างกัน เช่น ถือชาม ขนมโมทก หม้อน้ำ ดอกบัว ผลส้ม สังข์ จักร หลาว ธนู คฑา ขวาน ลูกประคำ งู ผลทับทิม หัวผักกาด เหล็กจาร และสมุดหนังสือ เป็นต้น
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร
แก้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จะได้เข้ารับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถนนเทียมร่วมมิตร แขวง ห้วยขวาง เขต ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 พระราชบัญญัติ การจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๔๑, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๗๙ ก หน้า ๑๓ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๑
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนพิเศษ ๒๒๐ ง หน้า ๒๒ ๖ กันยายน ๒๕๖๐
- ↑ สถิติอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- ↑ พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๗๕ ก หน้า ๒๒ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๑
- ↑ พระราชบัญญัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๕๐, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๑ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐
- ↑ กฎกระทรวง จัดตั้งส่วนราชการในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๑, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๕ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๑ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๑