วัดเจดีย์เจ็ดแถว
วัดเจดีย์เจ็ดแถว เป็นโบราณสถานภายในกำแพงเมือง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ตัววัดตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางเมืองบนแนวแกนเดียวกับวัดช้างล้อม โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับที่มาของชื่อมาจากความเข้าใจของพื้นที่ในช่วงแรกที่พบว่าวัดแห่งนี้มีจำนวนเจดีย์ด้านหน้าและด้านข้างที่เรียงรายกันอยู่ 7 แถว แต่ตอนหลังทางกรมศิลปากรได้ขุดแต่งเพิ่มเติมทำให้พบว่ามีทั้งหมด 9 แถว[1]
วัดเจดีย์เจ็ดแถว (อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย) | |
---|---|
พระวิหารและเจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 | |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ประเภท | วัด โบราณสถานภายในกำแพงเมือง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย |
สถาปัตยกรรม | สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย สถาปัตยกรรมล้านนา สถาปัตยกรรมขอม สถาปัตยกรรมลังกา สถาปัตยกรรมพุกาม |
เมือง | อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย |
ประเทศ | ประเทศไทย |
เริ่มสร้าง | พุทธศตวรรษที่ 19[1] |
ในกำกับดูแลของ | กรมศิลปากร |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | ศิลาแลงฉาบปูน |
เกณฑ์พิจารณา: วัฒนธรรม: (i), (iii) เลขอ้างอิง: 0004599 |
วัดเจดีย์เจ็ดแถวมีเอกลักษณ์โดดเด่นคือ องค์เจดีย์จำนวนมากกว่า 33 องค์ที่ถูกจัดเรียงตามคติจักรวาล มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแตกต่างกันหลายแบบ เช่น เจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เจดีย์ทรงลังกา เจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด หรือเจติยวิหารทรงพุกาม[2][3] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงสันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะมีลักษณะการใช้งานเป็นสุสานหลวงกลางเมือง
ประวัติ
แก้สาเหตุความเป็นมาที่วัดนี้ชื่อว่า "วัดเจดีย์เจ็ดแถว" นั้น ชื่อนี้เป็นชื่อที่เรียกขึ้นภายหลังโดยราษฎรในท้องถิ่น สาเหตุที่เรียกเนื่องจากพบเจดีย์จำนวนมากมายหลายแถวภายในวัด[4]
วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้น่าจะเป็นวัดที่มีความสำคัญมากวัดหนึ่งในเมืองศรีสัชนาลัย เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของเมือง พิจารณาได้จากตำแหน่งที่ตั้งของเมือง อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ราษฎรธรรมดาจะเป็นผู้สร้างขึ้น ดังปรากฏในพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในหนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง ระบุว่า "วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้เป็นวัดใหญ่ เพราะฉะนั้นจำจะต้องลองสันนิษฐานดูว่าเป็นของใคร นายเทียนกล่าวว่า วัดนี้เดิมเขาเรียกว่า วัดกัลยานิมิต เพราะว่านางพญาธิดาแห่งพระมหาธรรมราชา (บาธรรมราช) เป็นผู้สร้างขึ้น นายเทียนอ้างหนังสือที่ไฟไหม้นั้นเป็นพยานอีก" ส่วน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระวินิจฉัยว่าวัดนี้เป็นวัดที่มีความสวยงามกว่าวัดอื่น ๆ อาจเป็นวัดของกษัตริย์ที่ครองเมืองนี้ และเจดีย์รายอื่น ๆ คงเป็นที่บรรจุพระอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์สุโขทัย
สถาปัตยกรรม
แก้เจดีย์รายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวมีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจากที่ต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น ลังกา และพุกาม ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่น คือฐานเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถงส่วนซุ้มโถงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้นมีภาพจิตรกรรมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าและเหล่าเทวดากษัตริย์
เจดีย์รายที่มีลักษณะเด่นองค์หนึ่งเรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท คือซุ้มจรนัมด้านหลังของเรือนธาตุ ทำเป็นซุ้มมณฑปมีเรือนยอดข้างบนสูงเป็นซุ้มทางทิศตะวันตกมีพระพุทธรูปปางนาคปรกประดิษฐานอยู่เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกสมัยสุโขทัย รวมทั้งหมดแล้ววัดเจดีย์เจ็ดแถวมีเจดีย์รายและอาคารขนาดเล็กแบบต่าง ๆ กว่า 33 องค์[2]
ระเบียงภาพ
แก้-
เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มุมมองจากทางทิศตะวันตก
-
เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มุมมองจากทางทิศตะวันออก
-
เจดีย์รายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
-
เจดีย์ยอดมณฑป เป็นอาคารทรงโรงมีหลังคาเป็นมณฑปที่มียอดเจดีย์เหนืออีกชั้นหนึ่ง[5]
-
เจดีย์ยอดมณฑป
-
เจดีย์ประจำมุม แบบ "เจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด" ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนาและเจดีย์วิหารทางพุกาม ซึ่งสังเกตได้จากเรือนธาตุและเรือนยอด ส่วนฐานบัวลูกฟักได้รับอิทธิพลมาจากทางขอม
-
เจดีย์รายทรงปราสาทยอด
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "วัดเจดีย์เจ็ดแถว". IM-AIM Tour. สืบค้นเมื่อ 28 December 2023.
- ↑ 2.0 2.1 "วัดเจดีย์เจ็ดแถว". เทศบาลเมืองศรีสัชนาลัย. สืบค้นเมื่อ 28 December 2023.
- ↑ "เจดีย์หมายเลข ๑๕ วัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย". กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 28 December 2023.
- ↑ "วัดเจดีย์เจ็ดแถว". มหาวิทยาลัยรามคำแหง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-09. สืบค้นเมื่อ 28 December 2023.
- ↑ ศักดิ์ชัย, สายสิงห์. "ชื่นชมศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัยกับ ศ ดร ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ตอน 12 วัดเจดีย์เจ็ดแถว". ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 29 December 2023.