สมเด็จพระอินทราชา

สมเด็จพระอินทราชาเจ้า หรือ สมเด็จพระนครินทราธิราช เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ. 1902 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 และเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 ของอาณาจักรอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 1952

สมเด็จพระอินทราชา
พระบรมรูปสมเด็จพระอินทราชาที่อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 1952 - 1967 (15 ปี 0 วัน)
ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้ารามราชา
(ราชวงศ์อู่ทอง)
ถัดไปสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2(เจ้าสามพระยา)
พระราชสมภพพ.ศ. 1902
สวรรคตพ.ศ. 1967 (65 พรรษา)
พระราชบุตรเจ้าอ้ายพระยา
เจ้ายี่พระยา
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2(เจ้าสามพระยา)
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
พระราชบิดาสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1(ขุนหลวงพะงั่ว)
ช่วงเวลา
เหตุการณ์สำคัญเจริญสัมพันธไมตรีกับ ต้าหมิง

พระราชประวัติ

แก้

สมเด็จพระอินทราชา มีพระนามเดิมว่า เจ้านครอินทร์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ. 1902[1] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีต ระบุว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสของน้องชาย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 และเป็นพระเชษฐาในสมเด็จพระเจ้าทองลัน[2] ส่วนพระชนนีมีเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงแห่งสุโขทัย[3] พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่าพระองค์ได้เสวยราชสมบัติอยู่ ณ เมืองสุพรรณบุรี จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้ารามราชาทรงพิพาทกับเจ้าเสนาบดี เป็นเหตุให้เจ้าเสนาบดีหนีมาสวามิภักดิ์กับพระองค์ กราบทูลว่าจะชิงราชสมบัติถวาย เมื่อสมเด็จพระอินทราชาเจ้าเสด็จมาถึง เจ้าเสนาบดีจึงเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้แล้วจึงเชิญสมเด็จพระอินทราชาเจ้าขึ้นเสวยราชสมบัติ[4] ขณะพระชนมายุได้ 50 พรรษา[2] ส่วนสมเด็จพระรามราชาธิราชได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปครองเมืองปทาคูจามแทน

 
เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยากระทำยุทธหัตถีที่เชิงสะพานป่าถ่าน ซึ่งสร้างข้ามคลองประตูข้าวเปลือก จนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ ภาพจากจิตรกรรมประกอบโคลงพระราชพงศาวดาร ปัจจุบันภาพต้นฉบับถูกเก็บรักษาไว้ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระอินทราชาประชวรเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 1967[4] พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าทรงครองราชย์ได้ 15 ปี[5] แต่ฉบับฟาน ฟลีต ว่า 20 ปี[2] ในครั้งนั้นเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาพระราชโอรสของพระองค์ต่างยกพลเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อหมายในราชสมบัติ จึงเกิดการชนช้างกันขึ้น ณ สะพานป่าถ่าน จนสิ้นพระชนม์ทั้ง 2 พระองค์ เป็นเหตุให้เจ้าสามพระยาพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ได้ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา โดยมีพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2

พระราชกรณียกิจ

แก้

ด้านการปกครอง

แก้

เมื่อปี พ.ศ. 1962 พระมหาธรรมราชาที่ 3 เสด็จสวรรคต หัวเมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจลอันเนื่องมาจากพระยาบาลเมืองและพระยารามพระราชโอรสในพระมหาธรรมราชาที่ 3 แย่งชิงราชสมบัติแห่งกรุงสุโขทัยกัน เมื่อพระองค์ต้องเสด็จขึ้นไปถึงเมืองพระบาง ทั้งพระยาบาลเมืองและพระยารามได้ออกมาถวายบังคม[5] เมื่อพระองค์เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาจึงพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสไปครองเมืองอันเป็นเมืองลูกหลวง ได้แก่

นอกจากนี้พระองค์ยังได้ขอพระราชธิดาแห่งกรุงสุโขทัยคือ พระราชเทวี กลับมาแต่งงานกับรัชทายาทพระองค์เล็กของพระองค์คือเจ้าสามพระยา (ต่อมาได้ให้กำเนิดสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)

ด้านการต่างประเทศ

แก้

เจ้านครอินทร์เคยเสด็จไปเมืองหนานจิง ประเทศจีนสองครั้ง ใน พ.ศ. 1914[6] และ 1920 เมื่อครั้งยังเป็นรัชทายาทแห่งเมืองสุพรรณบุรี ตรงกับรัชกาลจักรพรรดิหงอู่แห่งราชวงศ์หมิง[7][8]

จักรพรรดิเจี้ยนเหวินแห่งราชวงศ์หมิงให้ความสนิทสนม อีกทั้งยังยกย่องว่าเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่เคยเสด็จไปถึงราชสำนักจีน โดยจดหมายเหตุทางจีนออกพระนามพระองค์ว่า "เจียวลกควนอิน" ซึ่งมาจากพระนาม เจ้านครอินทร์

เมื่อสมเด็จพระเจ้ารามราชาเกิดข้อพิพาทกับเจ้าพระยามหาเสนาบดี เป็นเหตุให้เจ้าพระยามหาเสนาบดีหนีมาขึ้นกับพระองค์และยกกำลังเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ แล้วจึงทูลเชิญพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้น พระองค์และพระเจ้ากรุงจีนได้แต่งราชทูตเพื่อเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างกันอีกหลายครั้ง โดยจดหมายเหตุจีนออกพระนามพระองค์หลังขึ้นครองราชสมบัติแล้วว่า "เจียวลกควนอินตอล่อทีล่า" ซึ่งมาจากพระนาม เจ้านครอินทราธิราช

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 64
  2. 2.0 2.1 2.2 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ เยเรเมียส ฟาน ฟลีตฯ, หน้า 30
  3. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช, หน้า 65
  4. 4.0 4.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 394
  5. 5.0 5.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 50
  6. “เมื่อวันที่ ๒๒ เดือน ๙ ปีที่ ๔ แห่งรัชศกหงหวู่ หลี่จงจิ้นเดินทางกลับมาจากราชอาณาจักรสยาม ซานเลี่ยเจาผีหยา (แปล: สมเด็จเจ้าพระยา หรือ สมเด็จพระราเมศวร) กษัตริย์แห่งอาณาจักรนั้น ทรงแต่งตั้งราชทูตนามว่า เจาเอี้ยนกูหมาน (แปล: เจ้าอินทร์กุมาร) แลคณะติดตามหลี่จงจิ้นมาเข้าเฝ้า ณ ราชสำนัก…”
  7. หมิงสือลู่ - ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงฯ
  8. พ่อขุนรามคำแหงไปเมืองจีน เอาเทคโนโลยีทำถ้วยชามกลับมาสุโขทัยจริงหรือ? ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2564
บรรณานุกรม
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. หน้า 64-66. ISBN 978-616-7308-25-8
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรีพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีตและผลงานคัดสรร พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรีฯ. กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, 2552. 171 หน้า. ISBN 9789746425872
  • พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553. 184 หน้า. ISBN 978-974-02-0401-5

ดูเพิ่ม

แก้
ก่อนหน้า สมเด็จพระอินทราชา ถัดไป
สมเด็จพระเจ้ารามราชา
(ราชวงศ์อู่ทอง)

(พ.ศ. 1938 - 1952)
   
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1952 - 1967)
  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1967 - 1991)