โทษประหารชีวิตในประเทศไทย
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
โทษประหารชีวิตในประเทศไทย เป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดขั้นสูงสุด ตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย โดยใน พ.ศ. 2564 ประเทศนี้เป็นหนึ่งใน 54 ชาติที่ยังคงโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ส่วนในชาติอาเซียน 10 ประเทศ มีเพียงประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ที่การประหารชีวิตผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าประเทศลาวและบรูไนไม่ได้ทำการประหารชีวิตมาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม[1]
ประเทศไทยยังคงโทษประหารชีวิต แต่ดำเนินการเป็นระยะ ๆ เท่านั้น นับตั้งแต่ พ.ศ. 2478 มีการประหารชีวิตแล้ว 326 คน โดย 319 คนประหารด้วยการยิงเป้า นักโทษรายสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า คือสุดใจ ชนะ และ 7 คนประหารชีวิตด้วยการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษ การประหารชีวิตครั้งล่าสุดของไทย ในรอบ 9 ปี เกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2561 คือธีรศักดิ์ หลงจิ ณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 มีนักโทษ 510 คนที่อยู่ในแดนประหาร[2]
กฎหมายไทยอนุญาตให้จัดโทษประหารชีวิตแก่อาชญากรรม 35 รูปแบบ ซึ่งรวมถึง การกบฏ, ฆาตกรรม และการค้ายาเสพติด[3]
การดำเนินการ แก้ไข
เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิตผู้ใดแล้ว ศาลที่เป็นเจ้าของคดีจะได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด ส่งไปยังผู้บัญชาการเรือนจำในท้องที่ที่ศาลนั้นตั้งอยู่ หมายจะระบุถึงชื่อโจทก์ จำเลย ฐานความผิด จำเลยต้องโทษตามบทกฎหมายใด มาตราใด พร้อมคำสั่งว่าภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ให้ประหารชีวิตจำเลย เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำได้รับหมายดังกล่าวแล้ว จะนำนักโทษไปประหารชีวิตในทันทีไม่ได้ ต้องรอให้ครบกำหนด 60 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาตามมาตรา 262 ถ้านักโทษหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องได้ยี่นฎีกาขอ พระราชทานอภัยโทษ และทรงยกเรื่องราวมาก่อนครบ 60 วัน ก็ดำเนินการประหารชีวิตได้
ในทางปฏิบัติ เมื่อนักโทษได้ยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว ต้องรอฟังพระบรมราชวินิจฉัยเสียก่อน จึงจะดำเนินการขั้นต่อไป ฎีกาของนักโทษประหารให้ยื่นได้ครั้งเดียวเท่านั้น ในการประหารชีวิตนักโทษนั้น ให้มีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการเรือนจำในท้อง ที่ที่ทำการประหาร เป็นประธานกรรมการ เจ้าพนักงานเรือนจำระดับหัวหน้าฝ่าย แพทย์การประหารชีวิตส่วนมากจะทำที่เรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีหรือผู้แทนร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย โดยกรมราชทัณฑ์จัดผู้แทนไปดูแลความเรียบร้อยในการประหารชีวิต ก่อนวันประหารชีวิต ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ถูกประหาร พร้อมทั้งรับแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือของนักโทษที่มีอยู่ในสำนวนและหมายศาลมาทำการตรวจสอบ การตรวจสอบนั้นให้สอบกับแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือที่เก็บอยู่ ณ กองทะเบียนประวัติอาชญากร ตามเลขคดีและนามผู้ต้องโทษ เมื่อตรวจแล้วรายงานผลการตรวจสอบและส่งแผ่นพิมพ์ลายนิ้วซึ่งได้จัดการพิมพ์ขึ้นคราวนี้ 1 ฉบับ กับแบบพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องโทษที่เอาไปจากสำนวนตามหมายศาลไปยังคณะกรรมการ เรือนจำซึ่งมีหน้าที่ต้องทำการประหารทำการตรวจสอบคดี ตำหนิ รูปพรรณตามทะเบียนรายตัว ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อมิให้มีการประหารผิดตัว
เมื่อถึงกำหนดวันประหารชีวิต เจ้าพนักงานเรือนจำจะจัดนิมนต์พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาให้นักโทษที่ถูก ประหารที่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนนักโทษที่มิได้นับถือศาสนาพุทธ มีความปรารถนาจะประกอบพิธีกรรมตามศาสนาก็อนุญาตได้ตามสมควร หากนักโทษมีความประสงค์จะขอทำพินัยกรรมก็จะจัดการทำให้จัดหาอาหารมื้อสุดท้ายให้นักโทษก่อนนำไปประหาร ผู้บัญชาเรือนจำจะนำคำสั่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยสำเนาคำพิพากษาอ่านให้นักโทษฟัง นำนักโทษประหารไปยังที่จัดเตรียมไว้ คือห้องฉีดยาพิษ ผู้ได้รับมอบหมายดำเนินการฉีดยาพิษให้นักโทษ ตามลำดับ ให้คณะกรรรมการซึ่งคือแพทย์ทำการตรวจนักโทษว่าได้เสียชีวิตแล้วจริง พิมพ์ลายนิ้วมือลงนามรับรองว่าเป็นลายนิ้วมือของนักโทษประหารจริง ส่วนศพถ้ามีญาติมารับก็อนุญาตถ้าไม่มีญาติมาขอรับ เรือนจำจะดำเนินการให้ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ กำหนดให้ประหารชีวิตก่อน 07.00 น. ตั้งแต่พ.ศ. 2505 ได้เปลี่ยนมาดำเนินการใน เวลาเย็น ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป
สมัยโบราณ แก้ไข
โทษประหารชีวิต 21 สถาน แก้ไข
จากหนังสือกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นหนังสือกฎหมายที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้รวบรวมกฎหมายโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีมาประมวลไว้ด้วยกัน ได้กล่าวถึงการประหารชีวิต และเครื่องมือต่าง ๆ เช่น
จากพระไอยการลักษรโจร กล่าวถึงการลักพระพุทธรูปเอาไปล้างหรือเผาสำรอกเอาทอง หรือเอาพระบท (พระคัมภีร์) ไปสำรอกแช่น้ำ หรือเอาไปเผา โทษประหารคือ เอาโจรนั้นใส่เตาเพลิงสูบเผาไฟ ถ้าขุดทำลายพระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ จับได้หลายครั้งหลายหน โทษประหารก็คือเอาโจรนั้นไปตระเวนบก 3 วัน ตระเวนเรือ 3 วัน แล้วตัดคอผ่าอกเสีย
ถ้าทำให้เกิดเพลิงไหม้ในพระราชวัง โทษคือเอาไฟคลอกให้ตาย
ในพระไอยการกระบดศึก ตอนหนึ่งว่านักโทษที่เป็นกบฏ ประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว ปล้นเมือง ปล้นพระนคร เผาจวน เผาพระราชวัง เผายุ้งฉาง คลังหลวง ปล้นวัด เผาวัด ทำทารุณกรรมหยาบช้าต่อพระและชาวบ้าน เช่นเอาปิ้งย่างเผาไฟ หรือเอาแหลนหลาวเสียบร้อนฆ่าบิดามารดาคณาจารย์ พระอุปัชณาย์ เหยียบย่ำทำลามกต่อพระพุทธรูป และตัดมือตัดเท้าตัดคอเด็ก เพื่อเอาเครื่องประดับ จะต้องถูกประหารโดยสถานใดสถานหนึ่ง
วิธีการประหารชีวิตตามพระไอยการกระบถศึก บันทึกและอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดถึงวิธีการลงโทษประหาร 21 วิธีหรือ 21 สถาน ดังนี้
- สถาน 1 คือ ให้ต่อยกระบานศีศะ (กบาลศีรษะ) เลิกออก (เปิดออก) เสียแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงไปในมันสะหมอง (มันสมอง) ศีศะพลุ่งฟู่ขึ้นดั่งม่อ (หม้อ) เคี่ยวน้ำส้มพะอูม
- สถาน 2 คือ ให้ตัดแต่หนังจำระ (จาก) เบื้องหน้าถึงไพรปากเบื้องบนทั้งสองข้างเป็นกำหนด ถึงหมวกหู (ใบหู) ทั้งสองข้างเป็นกำหนด ถึงเกลียวคอชายผมเบื้องหลังเป็นกำหนด (หนังบริเวณคอถึงท้ายทอย) แล้วให้มุ่นกระหมวดผมเข้าทั้งสิ้น (ม้วนเข้าหากัน) เอาท่อนไม้สอดเข้าข้างละคน โยกคลอนสั่นเพิกหนังทั้งผมนั้นออกเสียแล้วเอากรวดทรายหยาบขัดกระบานศีศะชำระให้ขาวเหมือนพรรณศรีสังข์
- สถาน 3 คือ ให้เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้ แล้ให้ตามประทีบ (ดวงไฟ) ไว้ในปาก ไนยหนึ่ง (นัยหนึ่ง) เอาปากสิวอันคมนั้นแสะแหวะผ่าปากจนหมวกหู (ใบหู) ทั้งสองข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าปากไว้ให้โลหิตไหลออกเต็มปาก
- สถาน 4 คือ เอาผ้าชุบน้ำมันพันให้ทั่วร่างกายแล้วเอาเพลิงจุด
- สถาน 5 คือ เอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วทั้งสิบนิ้วแล้วเอาเพลิงจุด
- สถาน 6 คือ เชือดเนื้อให้เป็นแรงเป็นริ้วอย่าให้ขาดจากกัน ตั้งแต่ใต้คอลงไปถึงข้อเท้าแล้วเอาเชือกผูกจำ ให้เดินเหยียบริ้วเนื้อริ้วหนังแห่งตน ให้ฉุดคร่าตีจำให้เดินไปกว่าจะตาย
- สถาน 7 คือ เชือดเนื้อให้เนื่องด้วยหนังเป็นแร่งเป็นริ้ว ตั้งแต่ใต้คอลงมาถึงเอวและให้เชือดตั้งแต่เอวให้เนื่องด้วยหนังเป็นแร้งเป็นริ้วลงมาถึงข้อเท้ากระทำหนังเบื้องบนให้คลุมลงมาเหมือนนุ่งผ้า
- สถาน 8 คือ ให้เอาห่วงเหล็กสวมข้อศอกทั้งสองข้าง ข้อเข่าทั้งสองข้างให้มั่นแล้วเอาหลักสอดในวงเหล็กแย่งขึงตรึงลงไว้กับแผ่นดินอย่าให้ไหวตัวได้ แล้วเอาเพลิงรน (ลน) ให้รอบตัวจนกว่าจะตาย
- สถาน 9 คือ ให้เอาเบ็ดใหญ่ที่มีคมสองข้างเกี่ยวทั่วร่างเพิก (เปิด) หนังเนื้อและเอ็นน้อยใหญ่ให้หลุดขาดออกมาจนกว่าจะตาย
- สถาน 10 คือ ให้เอามีดที่คมเชือดเนื้อให้ตกออกจากกายแต่ทีละตำลึง (นำเนื้อมาชั่งให้ได้น้ำหนักหนึ่งตำลึง:มาตราวัดสมัยโบราณ) จนกว่าจะสิ้นมังสา (เนื้อ)
- สถาน 11 คือ ให้แล่สับทั่วร่างแล้ว เอาแปรงหวีชุบน้ำแสบกรีดคอ รูดขูดเสาะหนังและเนื้อแลเอ็นน้อยใหญ่ให้ลอกออกให้สิ้นให้อยู่แต่ร่างกระดูก
- สถาน 12 คือ ให้นอนลงโดยข้างๆ หนึ่งแล้วให้เอาหลาวเหล็กตอกลงไปโดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดินแล้วจับขาทั้งสองข้างหมุนเวียนไปดังบุคคลทำบังเวียน (เวียนเทียน)
- สถาน 13 คือ ทำมิให้หนังพังหนังขาด แล้วเอาลูกสีลา (ลูกหิน) บดทุกกระดูกให้แหลกย่อย แล้วรวบผมเข้าทั้งสิ้น ยกขึ้นหย่อนลงกระทำให้เนื้อเป็นกองเป็นลอม แล้วพับห่อเนื้อหนังกับทั้งกระดูกนั้นทอดวางไว้ดั่งตั่งอันทำด้วยฟางซึ่งเอาไว้เช็ดเท้า
- สถาน 14 คือ ให้เคี่ยวน้ำมันให้เดือดพลุ่งพล่าน แล้วลาดสาดลงมาแต่ศีศะ (ศีรษะ) จนกว่าจะตาย
- สถาน 15 คือ ให้กักขังสุนัขร้ายทั้งหลายไว้ อดอาหารหลายวันให้เต็มอยากแล้วปล่อยให้กัดทึ้งเนื้อหนังกินให้เหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า
- สถาน 16 คือ ให้เอาขวานผ่าอกทั้งเป็นแหกออกดั่งโครงเนื้อ
- สถาน 17 คือ ให้แทงด้วยหอกทีละน้อยๆ จนกว่าจะตาย
- สถาน 18 คือ ให้ขุดหลุมฝังเพียงเอว แล้วเอาฟางปกลงคลุมร่างก่อนคลอกด้วยเพลิงพอหนังไหม้แล้วไถด้วยไถเหล็ก ให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่เป็นริ้วน้อยริ้วใหญ่
- สถาน 19 คือ ให้เชือดเนื้อล่ำออกทอดด้วยน้ำมัน เหมือนทอดขนมให้ กินเนื้อตัวเองจนกว่าจะตาย
- สถาน 20 คือ ให้ตีด้วยตะบองสั้นตะบองยาวจนกว่าจะตาย
- สถาน 21 คือ ตีด้วยหวายที่มีหนามจนกว่าจะตาย
ซึ่งการประหารดังกล่าว จะนำมาใช้กับผู้ก่อการกบฏ คิดร้ายต่อเจ้านาย และราชวงศ์ และจะกระทำการประหารเจ็ดชั่วโคตร ไม่เว้นสตรี และเด็ก หากเป็นพระสงฆ๋ก็จะถูกนิมนต์ให้สึก และรับโทษประหารตามบัญญัติเจ็ดชั่วโคตรด้วย ซึ่งการประหารโดยทั่วไปนั้น คือการบั่นคอ
การประหารชีวิตด้วยวิธีบั่นคอ แก้ไข
เพชฌฆาต แก้ไข
“ เพชฌฆาต ” นั้นเป็นตำแหน่งที่โปรดเกล้าพระราชทานให้แก่ผู้มีดวงอันเหมาะสมโดยจะมีบรรดาโหราจารย์นำดวงชะตาไปคำนวณอย่างละเอียดเพื่อประกอบในการคัดเลือก ทั้งนี้ด้วยถือกันว่า การประหารชีวิตคนอันเป็นสัตว์ประเสริฐนับเป็นกรรมหนักรุนแรง จึงต้องเฟ้นหาดวงเพชฌฆาตที่มีดวงคุ้มตัวเองได้ มิฉะนั้นชีวิตจะสั้น
พอเลือกเฟ้นได้คนที่มีดวงเหมาะสม ยังต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเพลงดาบอย่างดี ทั้งมีความรู้เกี่ยวกับดาบ มีความแม่นยำในการลงดาบ เพื่อขณะทำการประหารจะได้ไม่เป็นการทรมานนักโทษจนเกินไป และผู้เป็นเพชฌฆาตจะต้องมีความรู้ทางด้านคาถาอาคมเป็นพิเศษด้วยเช่น คาถาสวดวิญญาณผีตายโหง อาคมก่อนหยิบดาบเพชฌฆาต รวมทั้งสามารถแก้อาถรรพณ์หากผู้ถูกประหารมีวิชาด้านคงกระพันชาตรี
ตัวเพชฌฆาตหรือมือประหารเองจะต้องอยู่ประจำ ณ เรือนจำตั้งแต่ได้รับคำสั่งให้เตรียมการ จากนั้นเมื่อได้เวลาเพชฌฆาตจะอัญเชิญดาบออกจากที่ตั้งไปทำการบวงสรวงด้วยเครื่องเซ่น เพื่อปลุกดาบให้เข้มขลัง เสร็จพิธีแล้วจึงค่อยเก็บดาบไว้ที่ตั้งเดิมรอเวลาประหาร
เพชฌฆาตผู้ทำหน้าที่ประหารชีวิตมี 3 คน คือ ดาบที่หนึ่ง และตัวสำรองอีก 2 คน เรียกว่า ดาบสอง และ ดาบสาม ถ้าดาบหนึ่งฟันคอไม่ขาด ดาบสองจะต้องซ้ำ ถ้ายังไม่ขาดดาบสามก็ต้องเชือดให้ขาด
ดาบเพชฌฆาต แก้ไข
ดาบหนึ่งจะมีความสั้นกว่าดาบสอง ใบดาบจะกว้างกว่าดาบสอง ทั้งด้ามดาบก็สั้นกว่า สันดาปจะหนาประมาณ ๑ ซ.ม. ส่วนด้ามดาบประกอบด้วยเหล็กรัด ใช้เชือกด้ายดิบถักหุ้มด้วยลวดลายรัดกุมเพื่อให้สาก ถนัดในการกระชับ ทั้งลงรักและยางไม้เพื่อรักษาด้วยให้คงทนต่อการใช้งาน สภาพดาบปลายจะหักลง แล้วงอนขึ้นคล้ายใบง้าวของจีนเพื่อให้เกิดน้ำหนักถ่วงทางโคนดาบให้ได้ดุล
ดาบสอง ใบดาบจะยาวกว่าดาบหนึ่งประมาณ ๘ ซ.ม. ใบดาบเรียวคล้ายดาบที่นักรบไทยโบราณทั่วไปใช้ ปลายดาบเฉียงต่ำรับกับความโค้งของใบดาบด้านล่าง สันดาปบางประมาณ ๐.๗ ซ.ม.
ดาบเพชฌฆาตคู่นี้ได้รับการทิ้งไว้ยัง ห้องพิเศษในคุกหลวง ห้ามผู้ใดแตะต้อง ทุกวันเสาร์จะมีการสังเวยด้วยเหล้าและไก่ต้มเป็นการบวงสรวง จนมีการเล่าขานกันว่า ดาบ ๒ เล่มดังกล่าวจะสั่นได้เองเหมือนถูกคนจับเขย่า และหลังจากดาบทั้งคู่สั่นไม่เกิน ๗ วันก็จะต้องมีพิธีประหารชีวิตนักโทษเกิดขึ้นทุกคราไป
ดาบเพชฌฆาตทั้งสองเล่มนี้ถูกใช้มาจนถึง รัชกาลที่ 6 จึงได้ยกเลิก แต่สำหรับชีวิตนักโทษที่สังเวยไปจากดาบคู่นี้ประมาณไม่ต่ำกว่า 1,000 ศพ
ขั้นตอน และ ระเบียบปฏิบัติ แก้ไข
- 1.เมื่อลูกขุน ณ ศาลาลูกขุน ณ ศาลหลวง วางโทษประหารชีวิต ก็จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประหารชีวิต
- 2.ก่อนจะนำตัวไปประหารชีวิต จะต้องถูกเฆี่ยน 3 ยก ยกละ 30 ที รวม 90 ที
- 3.จัดอาหารคาวหวานมื้อสุดท้ายให้นักโทษกินก่อนประหาร และนิมนต์พระมาเทศน์ให้ฟัง
- 4.นักโทษประหารถูกจับนั่งมัดกับหลักไม้กางเขนแบบกาจับหลัก
- 5.เพชฌฆาตเอาดินเหนียวอุดหู อุดปาก และ แปะไว้ที่ต้นคอนักโทษ (บ้างก็ใช้ปูนเคี้ยวหมาก) เพื่อกำหนดตรงที่จะฟัน จากนั้นเพชฌฆาตดาบสองจะร่ายรำไปมา เพื่อรอจังหวะให้จิตนักโทษสงบ พร้อมกับเพชฌฆาตดาบหนึ่งลงดาบฟันคอทันที
- 6.เมื่อประหารแล้ว เจ้าหน้าที่จะตัดส้นเท้า เพื่อถอดตรวนออกแล้วสับร่างกายหรือแล่เนื้อให้ทานแก่แร้งกา
- 7.เอาหัวเสียบประจาน
สมัยปัจจุบัน แก้ไข
การยิงเป้าประหารชีวิต แก้ไข
หลักประหารชีวิต แก้ไข
หลักประหาร (หลักไม้กางเขน) ทำจากไม้ตะเคียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481 ใช้สำหรับมัดผู้ต้องโทษประหารกับหลักประหารเพื่อไม่ให้นักโทษดิ้น แต่หลักประหารนี้จะต้องเปลี่ยนเสมอๆ เพราะเวลาคนเราจะถูกยิงมักจะบิดตัว บิดมือ หลบนู่นหลบนี่เสมอ เลยถูกหลักประหารแตกหักไปตามสภาพการใช้งาน
ฉากสำหรับกั้นนักโทษประหาร แก้ไข
ฉากไม้ชนิดตั้งรูปสี่เหลี่ยมมีผ้าขึง การประหารด้วยการยิง จะมีฉากไม้ชนิดตั้งรูปสี่เหลี่ยมมีผ้าขึงบังข้างหลังนักโทษ ที่ถูกประหารชีวิตห่างประมาณ 1 เมตร มีเป้ารูปหัวใจปิดไว้บนฉากตรงจุดกลางระดับหัวใจผู้ถูกประหารเป็นเป้าสำหรับเล็งปืน เมื่อพร้อมแล้ว เจ้าหน้าที่ให้สัญญาณโดยโบกธงสีแดง ผู้ทำหน้าที่เพชฌฆาตลั่นไกปืนทะลุเป้ากระดาษที่จัดระดับตรงกับหัวใจพอดีฉากไม้ที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ ปรากฏหลักฐานว่าทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481
ปืนที่ใช้สำหรับประหารชีวิต แก้ไข
พ.ศ. 2477 ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ว่าด้วยการประหารชึวิตจากการ "ให้เอาไปตัดศีรษะเสีย" เป็น "ให้เอาไปยิงเสียให้ตาย" ปืนกลมือที่ใช้ประหารชีวิตครั้งแรกเป็นเอ็มเพ 18 หรือ เบิร์กมันน์ เอ็มเพ 18 (อีกชื่อที่คนไทยรู้จัก คือ แบล็กมันน์ 18) ใช้ประหารชีวิตครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2478 ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการเปลี่ยนปืนกลมือจากเบิร์กมันน์เป็นเฮคแลร์อุนด์คอค เอ็มเพ5 หรือ ปืนกลมือเอ็มพี5 เอสดี3 สำหรับปืนกลมือเบิร์กมันน์นี้ใช้ประหารชีวิตผู้ต้องขังมาแล้วจำนวน 213 คน
กระสอบทราย(มูลดิน) แก้ไข
ในการประหารชีวิตด้วยปืน จะมีอุปกรณ์สำหรับป้องกันกระสุนปืนที่อาจจะเกิดจากการยิงพลาด จึงมีกระสอบทรายวางไว้หลังหลักประหารเพื่อป้องกันกระสุน ในอดีตที่ยังไม่มีกระสอบทรายก็ได้ใช้มูลดินเป็นเครื่องป้องกัน
จำนวนผู้ที่รับโทษยิงเป้า แก้ไข
นับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารจากการตัดคอมาเป็นการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2478 จนถึง พ.ศ. 2546 มีนักโทษถูกประหารชีวิต 319 คน เป็นนักโทษชาย 316 คน นักโทษหญิง 3 คน
รายชื่อเพชรฆาตยิงเป้า[4] แก้ไข
เพชรฆาตยิงเป้าลำดับที่ | ชื่อ-นามสกุล | ช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่เป็นเพชรฆาตยิงเป้า | จำนวนที่ประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า |
---|---|---|---|
1 | นายทิพย์ มียศ | พ.ศ. 2478-2486 | 44คน |
2 | นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง | พ.ศ. 2499-2502 | 47คน |
3 | นายเพี้ยน คนแรงดี | พ.ศ. 2502-2517 | 44คน |
4 | นายมุ่ย จุ้ยเจริญ | พ.ศ. 2503-2517 | 48คน |
5 | สิบตำรวจตรีประถม เครือเพ่ง | พ.ศ. 2520-2527 | 36คน |
6 | นายเรียบ เทียมสระคู | พ.ศ. 2520 | 1คน |
7 | จ่าโทธิญโญ จันทร์โอทาน | พ.ศ. 2520-2527 | 32คน |
8 | นายเชาวเรศน์ จารุบุณย์ | พ.ศ. 2527-2546 | 55คน |
9 | นายสนั่น บุญลอย | พ.ศ. 2540 | 1คน |
10 | นายประยุทธ สนั่น | พ.ศ. 2542 | 6คน |
11 | นายพิทักษ์ เนื่องสิทธะ | พ.ศ. 2544-2546 | 5คน |
ขั้นตอน และ ระเบียบปฏิบัติ แก้ไข
วิธีการประหารชีวิตจะเริ่มขึ้นโดยเจ้าหน้าที่อ่านคำสั่งศาลและฎีกาทูลเกล้าซึ่งพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานฯ คืนมาให้ผู้ต้องโทษฟังและลงชื่อรับ ทราบ ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนประวัติให้ถูกต้องและอนุญาตให้ผู้ต้องโทษจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการจำเป็นอื่นใดเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วจึงให้ผู้ต้องโทษฟังเทศน์จากพระภิกษุสงฆ์หรือนักพรตในนิกายศาสนาที่ผู้ต้องโทษเลื่อมใสแล้วให้รับประทานอาหารเป็นมื้อสุดท้าย จากนั้นนำผู้ต้องโทษเข้าสู่หลักประหารซึ่งเป็นลักษณะเป็นไม้กางเขนมีความสูงขนาดไหล่ โดยผู้ต้องโทษจะถูกมัดด้วยด้ายดิบ ให้ยืนหันหน้าเข้าหลักประหารซึ่งมีไม้นั่งคร่อม ป้องกันมิให้ผู้ต้องโทษยืนตัวงอหรือเข่าอ่อน ข้อมือทั้งสองผูกมัดติดกับหลักประหารในลักษณะประนมมือ กำดอกไม้ธูปเทียนไว้ เจ้าหน้าที่นำฉากประหารซึ่งมีเป้าวงกลมติดอยู่กับฉาก ตั้งเล็งให้เป้าอยู่ตรงจุดกลางหัวใจของผู้ต้องโทษ ห่างจากด้านหลังผู้ต้องโทษประมาณ 1 ฟุต เพื่อกำบังมิให้เจ้าหน้าที่ผู้ลั่นไกปืนเห็นตัวผู้ต้องโทษ แท่นปืนประหารตั้งอยู่ห่างจากฉากประหารประมาณ 4 เมตร ก่อนการประหารจะมีการบรรจุกระสุนขนาด 9 มิลลิเมตร 15 นัด เมื่อพร้อมแล้วเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณ โดยโบกธงสีแดง ผู้ทำหน้าที่ลั่นไกปืน กระสุนชุดแรกจะยิง 8 - 9 นัด ซึ่งตามปกติผู้ถูกประหารจะเสียชีวิตทันที แต่หากไม่เสียชีวิตเพชฌฆาตจะลั่นกระสุนอีกชุด เพื่อให้ผู้ถูกประหารทรมานน้อยที่สุด คณะกรรมการประหารชีวิตร่วมกันตรวจสอบจนแน่ใจว่านักโทษถึงแก่ความตายอย่างแท้จริง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะจัดพิมพ์ลายนิ้วนักโทษประหารเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อยืนยันว่าไม่ประหารชีวิตผิดตัว
การประหารชีวิตด้วยการฉีดยา แก้ไข
ขั้นตอนการประหารชีวิตโดยการฉีดยานี้ จะมีขั้นตอนในการประหารชีวิตเช่นเดียวกับการประหารชีวิตโดยวิธีอื่นๆ กล่าวคือ ในสหรัฐจะมีการเตรียมจิตใจของผู้ถูกประหารก่อนการประหาร เช่น ก่อนการประหาร 4 วัน นักโทษประหารจะถูกนำตัวจากแดนนักโทษประหารไปสู่ห้องขังพิเศษสำหรับนักโทษประหารโดยเฉพาะ ซึ่งจะถูกเฝ้าดูจากเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง จดหมายทุกฉบับจะถูกถ่ายสำเนาให้ ส่วนฉบับจริงจะ เก็บไว้เนื่องจากกลัวว่าจะมียาพิษยาเสพติดหรือยาอื่นๆ เคลือบมา การโทรศัพท์ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชา-การเรือนจำก่อน ในช่วงนี้อาจมีญาติมาเยี่ยมได้
ก่อนการประหาร 2 วัน ผู้บัญชาการจะตรวจตราเพื่อเตรียมอุปกรณ์ในการประหารให้พร้อม รวมทั้งเตรียมการเกี่ยวกับใบมรณะบัตรและการเคลื่อนย้ายศพ และก่อนการประหารหนึ่งวัน เจ้าหน้าที่ประหารจะเตรียมอุปกรณ์เข็มฉีดยาและยา และอุปกรณ์สำรองให้พร้อม มีการจัดเตรียมพื้นที่หรือห้องสำหรับผู้สื่อข่าวที่เข้าไปทำข่าวในเรือนจำ รวมทั้งพยานที่จะเข้าไปสังเกตการณ์ในการประหาร เมื่อถึงเวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่จะจัดอาหารมื้อสุดท้ายไปให้นักโทษประหารรับประทาน เวลา 22.00 น. ผู้สื่อข่าว และพยานจึงได้รับอนุญาตให้เข้าเรือนจำและได้รับการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ถึงขั้นตอนการประหาร เวลา 23.30 น. จึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อเตรียมการประหารซึ่งจะเริ่มเวลาเที่ยงคืนตรง เมื่อใกล้ถึงเวลาประหาร เจ้าหน้าที่จะนำตัวนักโทษประหารจากห้องขังไปที่ห้องประหาร แต่แทนที่จะนำนักโทษประหารไปยืนตรึงกับหลักประหารก็เปลี่ยนเป็นการให้นอนบนเตียงประหารแล้วผูกด้วยสายหนัง ทั้งขา ลำตัว และแขนทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอยู่ในท่ากางออกทำให้ไม่สามารถดิ้นได้
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทีได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีจะมาติดเครื่องวัดการเต้นของหัวใจเข้ากับตัวนักโทษเพื่อตรวจสอบการตายหลังการฉีดยา โดยให้กรรมการภายนอกได้เห็นการเต้นของหัวใจ จากนั้นจึงแทงเข็มเข้าเส้นเลือดใหญ่หรือที่หลังมือทั้ง 2 ข้าง ข้างหนึ่งเป็นเข็มที่ใช้จริงอีกข้างหนึ่งเป็นเข็มสำรองในกรณีที่เข็มแรกมีปัญหา หรือบางกรณีจะแทงเข็มที่แขนเข็มเดียว จากนั้นนำท่อมาต่อเข้าเข็มโยงไปยังเครื่องฉีดยาเมื่อได้เวลา เจ้าหน้าที่เรือนจำก็จะให้สัญญาณในการดำเนินการประหารได้ เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เพชฌฆาต 2 คน ซึ่งอยู่ในห้องฉีดยาจะมี 2 ปุ่ม กดคนละปุ่ม แต่จะมีปุ่มเดียวที่ปล่อยยาเข้าร่างดังนั้น เจ้าหน้าที่ทั้ง2จึงไม่มีโอกาสทราบได้ว่าใครเป็นผู้กดปุ่มปล่อยยาเข้าเส้น แต่สำหรับประเทศที่ไม่ใช้เครื่องฉีดยาอัตโนมัติจะใช้คนฉีดยาด้วยมือ ซึ่งจะมีคนเดียว ฉีดเข้าแขนซ้ายหรือขวา การฉีดไม่ได้ไปยืนฉีดที่แขน แต่ต่อสายยางออกมาและผู้ฉีดจะอยู่หลังม่าน
ยาที่ใช้ในการประหารชีวิต แก้ไข
ยาที่ใช้ฉีดจะมี โซเดียมไทโอเพนทอล ในสารละลาย 20-25 มิลลิลิตร, แพนคูโรเนียมโบรไมด์ 50 มิลลิลิตร และ โพแทสเซียมคลอไรด์ 50 มิลลิลิตร ยาดังกล่าว นี้เป็นผลมาจากการวิจัยของ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ว่าจะให้ผลอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ยาที่ใช้ฉีดไม่ใช่ยาพิษ แต่เป็นยาทั่วไป ซึ่งถ้าให้เกินขนาดก็จะมีผลทำให้ตายได้โดยจะต้องมีประมาณที่มากพอสมควรต้องค่อยๆ ปล่อยเข้าไปในเส้นเลือด และใช้ถึง 3 ชนิด ดังนั้นที่กลัวกันว่าจะนำยานี้ใส่เข็มแล้วไปจิ้มคนทั่วไปนั้น จะไม่เป็นอันตรายใดๆ และหากจะทำให้ผู้อื่น ถึงแก่ความตายก็ใช้ยาพิษอื่นๆ จะไม่ยุ่งยากเท่าวิธีดังกล่าวนี้
ขั้นตอน และ ระเบียบปฏิบัติ แก้ไข
การฉีดยา เข็มแรกจะปล่อยยา โซเดียมไทโอเพนทอล เข้าไปให้หลับก่อน จากนั้นจึงปล่อยเข็มที่ 2 แพนคูโรเนียมโบรไมด์ เพื่อคลายกล้ามเนื้อและ เข็มที่ 3 โพแทสเซียมคลอไรด์ ตามลำดับ เพื่อให้หัวใจหยุดสูบฉีดโลหิตภายในไม่ถึงนาที เมื่อนักโทษแสดงอาการแน่นิ่งไป ผู้บัญชาการเรือนจำจะขอให้นายแพทย์ของเรือนจำเข้าตรวจยืนยันการตายของผู้ต้องขังและประกาศเวลาตายต่อหน้าพยานรวมใช้เวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนนี้ทั้งสิ้นประมาณ 20-30 นาทีผู้แทนจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร จะพิมพ์ลายนิ้วมืออีกครั้ง และเคลื่อนย้ายศพของนักโทษไปห้องเก็บศพต่อไป โดยเก็บไว้ตรวจสอบอีก 1 วัน ตลอดเวลาจะมีการถ่ายรูปและวิดีโอตามขั้นตอนต่างๆ ไว้
จำนวนผู้ที่รับโทษฉีดยาตาย แก้ไข
นับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารจากการยิงเป้ามาเป็นการฉีดยาในปี พ.ศ. 2546 มีนักโทษถูกประหารชีวิต 7 คน เป็นนักโทษชายทั้งหมดโดยมีรายชื่อดังนี้
ลำดับที่ | ชื่อ | วันที่ประหารชีวิต | เพศ | ความผิดฐาน | รายละเอียดความผิด | ตัดสินโดยศาลชั้นต้น | นายกรัฐมนตรี | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1 | บุญลือ นาคประสิทธิ์ | 12 ธันวาคม 2546 | ชาย | ร่วมกันผลิตและครอบครองเพื่อจำหน่ายยาบ้าและครอบครองฝิ่นเพื่อจำหน่าย | เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นโรงงานไทย-เยอรมันกลูโคสที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในเวลา03.30น.ของวันที่31 พฤษภาคม พ.ศ. 2541และตรวจพบยาบ้าจำนวณ97,800เม็ดและอุปกรณ์การผลิตพร้อมกับจับกุมบุญลือ นาคประสิทธิ์,พันพงษ์ สินธุสังข์และเสน่ห์ นุชนารถซึ่งเสน่ห์เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นดูแลสถานที่ หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบทราบว่านายบุญลือ นาคประสิทธิ์ที่เคยถูกจับในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งพ้นโทษแล้วมีความเป็นไปได้ว่าจะเกี่ยวข้องยาเสพติด เจ้าหน้าที่ตรวจจึงได้ติดตามบุญลือจนทราบว่าบุญลือและพวกใช้บ้านโรงงานแห่งนี้ในการผลิตยาบ้า ต่อมาเวลา05.00 น. เจ้าหน้าที่อีกชุดได้จับกุมวิบูลย์ ปานะสุทธะที่หมู่บ้านเคหะธานี 2 เขตบึงกุ่ม กรุงเทพ พร้อมยาบ้าจำนวน 18,000 เม็ด รถเก๋ง 1 คันและของกลางอีกหลายรายการหลังจากการสืบสวนพบหลักฐานว่าเป็นผู้ร่วมลงทุนผลิตยาบ้ากับบุญลือ รวมของกลางที่ยึดได้เป็นยาบ้าชนิดเม็ดจำนวน 115,800 เม็ด ยาบ้าชนิดผง 40.8 กิโลกรัม หัวเชื้อยาบ้าประมาณ 10 กิโลกรัมและฝิ่น 1,300 กรัมพร้อมกับสารเคมีและอุปกรณ์การผลิตจำนวนมาก | ศาลจังหวัดสมุทรปราการ | ทักษิณ ชินวัตร | [5][6] [7] |
2 | พันพงษ์ สินธุสังข์ | |||||||
3 | วิบูลย์ ปานะสุทธะ | |||||||
4 | พนม ทองช่างเหล็ก | ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน | ใช้ปืนยิงนายแสงชัย ทองเชื้อขณะรับประทานอาหารกับพวกที่ตำบลวิสัยใต้ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่13 มิถุนายน พ.ศ. 2542 | ศาลจังหวัดหลังสวน | ||||
5 | บัณฑิต เจริญวานิช | 24 สิงหาคม 2552 | ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่1ไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย | ขยายผลจับกุมหลังจับกุมนายจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ โดยถูกจับกุมขณะขับรถมารับยาบ้าที่ซีพีทาว์เวอร์ ถนนเพชรเกษม ก่อนนำไปตรวจค้นทีบ้านพักพบยาบ้าจำนวน 14,215 เม็ด และปืนอีกหลายกระบอก | ศาลอาญากรุงเทพ | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | [8] [9] | |
6 | จิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ | ถูกจับกุมขณะขนยาบ้า50 มัด รวม 100,000 เม็ดจากนายบัณฑิต เจริญวานิช เพื่อนำไปส่งยังกรุงเทพมหานคร | ||||||
7 | ธีรศักดิ์ หลงจิ | 18 มิถุนายน 2561 | ฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ | ร่วมกับวัยรุ่นอีกคนใช้มีดแทงนายดนุเดช สุขมาก อายุ17ปีจำนวน24แผลจนถึงแก่ความตายและหยิบเอากระเป๋าสตางค์และโทรศัพท์มือถือไปด้วย ที่สวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 | ศาลจังหวัดตรัง | ประยุทธ์ จันทร์โอชา | [10] |
การนำมาใช้ในประเทศไทย แก้ไข
สำหรับในประเทศไทยหากมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการประหารมาเป็นการฉีดยานั้น ขั้นตอนการประหารจะแตกต่างจากในสหรัฐเพราะการประหารชีวิตของไทยจะกระทำโดยทันทีที่ได้รับคำสั่ง โดยปกติจะเป็นเวลาเย็น นักโทษประหารจะไม่รู้ตัวล่วงหน้า เมื่อเจ้าหน้าที่เดินเข้าไปในแดนประหารและนำตัวผู้ใดออกมา เมื่อนั้นจึงจะรู้ตัว และเมื่อผ่านพิธีการด้านการตรวจสอบบุคคล พิธีกรรมทางศาสนาและอื่นๆแล้ว จะถูกนำตัวเข้าสู่แดนประหารซึ่งในช่วงนี้แทนที่จะเป็นการนำไปผูกกับหลักประหาร ก็เปลี่ยนเป็นการนำไปสู่เตียงประหาร นั่นเอง
ทั้งนี้ การเปลี่ยนจากการประหารชีวิตโดยการยิงเป้ามาเป็นการฉีดยานั้น อาจทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมากนัก เพราะสามารถใช้ห้องประหารในเรือนจำกลางบางขวางเช่นเดิมหาฉากกั้น จัดหาเตียงและสายหนังรัด และจัดอุปกรณ์เข็มและเครื่องฉีดยาเพิ่มเติม ค่าใช้จ่ายในการประหารแต่ละครั้งโดยเฉพาะค่ายาจะถูกกว่าค่าลูกกระสุนปืน ที่ใช้ในการยิงเป้า
รายชื่อผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตในสมัยปัจจุบัน แก้ไข
ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 ได้เปลี่ยนวิธีประหารชีวิตจากการตัดศีรษะมาเป็นการยิงเป้าและเปลี่ยนเป็นการฉีดสารพิษในปี พ.ศ. 2546 ได้มีผู้หญิงถูกประหารชีวิต 3 คนและทั้งหมดถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า[11]
ประหารชีวิต 3 คน(ทั้งหมดถูกประหารชีวิตที่เรือนจำกลางบางขวาง) | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|
ชื่อ | อายุ | วันที่ประหารชีวิต | วิธีการประหารชีวิต | ความผิดฐาน | เพชรฆาต | นายกรัฐมนตรี |
ใย สนบำรุง | 62 | 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 | การยิงเป้า | ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดและปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ | นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง | แปลก พิบูลสงคราม |
กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน[12] | 51 | 13 มกราคม พ.ศ. 2522 | ลักพาตัวเด็กเพื่อเรียกค่าไถ่และฆ่าคนตายโดยเจตนา | สิบตำรวจตรีประถม เครือเพ่ง | เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ | |
สมัย ปานอินทร์[13] | 59 | 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 | ค้ายาเสพติด | นายเชาวเรศน์ จารุบุณย์ | ชวน หลีกภัย |
นักโทษประหารที่มีชื่อเสียง แก้ไข
- บุญเพ็งหีบเหล็ก (2462)
- ณเณร ตาละลักษณ์ (2483)
- ชิต สิงหเสนี (2498)
- บุศย์ ปัทมศริน (2498)
- เฉลียว ปทุมรส (2498)
- ศิลา วงศ์สิน (2502)
- ซีอุย (2502)
- ครอง จันดาวงศ์ (2504)
- กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน (2522)
- พันธ์ สายทอง (2542)
- เดชา สุวรรณสุข (2542)
- ลี ยวน กวง (2544)
- ชู ชิน กวย (2544)
- บุญเกิด จิตปรานี (2544)
- บุญลือ นาคประสิทธิ์ (2546)
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
อ้างอิง แก้ไข
- ↑ "Debating the Death Penalty" (Opinion). Bangkok Post. 20 June 2018. สืบค้นเมื่อ 20 June 2018.
- ↑ "Death penalty 'here to stay'". Bangkok Post. 20 June 2018. สืบค้นเมื่อ 20 June 2018.
- ↑ "Thailand". Hands Off Cain. สืบค้นเมื่อ 2018-09-09.
- ↑ "รายชื่อเพชฌฆาตเรือนจำกลางบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-05. สืบค้นเมื่อ 2022-08-06.
- ↑ บางขวางฉีดยาประหาร 2 นักโทษค้ายา!
- ↑ " พระนักเทศน์... นักโทษประหาร... เพชฌฆาต "
- ↑ การประหารด้วยการฉีดสารพิษครั้งแรก ของประเทศไทย
- ↑ "เข็มฉีดยา"..จุดจบนักค้ายา
- ↑ เปิดแฟ้ม 7 คดีดัง “โทษประหาร” บ้างตาย บ้างรอชดใช้กรรม
- ↑ ฉีดยาประหารชีวิต “ธีรศักดิ์ หลงจิ”
- ↑ รายชื่อนักโทษประหารที่เป็นผู้หญิงของเรือนจำกลางบางขวาง
- ↑ 3นักโทษประหาร...ในบันทึก'เพชฌฆาต'
- ↑ ON NOVEMBER 23, SAMAI PAN-INTARA, 59, A CONVICTED DRUG...