ครอง จันดาวงศ์ (28 มกราคม พ.ศ. 2451 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2504) เป็นครู นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวชาวไทย เป็นหนึ่งในสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายอีสาน[1] ช่วงบั้นปลายชีวิตเป็นผู้ต้องโทษตามมาตรา 17 ของรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เจ้าของวลี "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ"

ครอง จันดาวงศ์
ครอง ในปี พ.ศ. 2502
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร
ดำรงตำแหน่ง
15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด28 มกราคม พ.ศ. 2451
อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร มณฑลอุดร ประเทศสยาม
เสียชีวิต31 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 (53 ปี)
สนามบินลับเสรีไทย​ ตำบลสว่างเเดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ประเทศไทย
สาเหตุการเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการยิงเป็นชุด
เชื้อชาติไทย ไทย
พรรคการเมืองเศรษฐกร
สถานะทางคดีประหารชีวิตตามคำสั่งสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ข้อหากบฏต่อความมั่นคงและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
วันที่ถูกจับ
6 พฤษภาคม พ.ศ. 2504
คู่สมรสมุกดา จันดาวงศ์
แตงอ่อน แซ่เต็ง
บุตร4 คน
บุพการี
  • หมื่นศรีภักดี (กี จันดาวงศ์) (บิดา)
  • เชียงวัน จันดาวงศ์ (มารดา)
วิชาชีพครู, นักการเมือง, นักเคลื่อนไหว

ประวัติ แก้

ครอง จันดาวงศ์ มีภูมิลำเนาที่คุ้มวัดศรีสะเกษ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อนายกี จันดาวงษ์ (ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นหมื่นศรีภักดี) มารดาชื่อแม่เชียงวัน มีเชื้อสายไทย้อ เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องจำนวน 9 คน เริ่มอาชีพรับราชการครูแห่งแรกที่บ้านตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง โรงเรียนมัธยมศิริขันธ์ 1 และ โรงเรียนมัธยมศิริขันธ์ 2 โรงเรียนราษฎรเพื่อส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนในจังหวัด ร่วมกับนายเตียง ศิริขันธ์ และได้รับเลือกจากประชาชนให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 9 ในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม พ.ศ. 2500[2]

ชีวิตครอบครัว แก้

ได้สมรสกับ น.ส.มุกดา ลูกสาวกำนันบ้านบงเหนือ แต่ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น จึงได้หย่าขาดจากกัน ต่อมาได้ย้ายไปเป็นครูอีกหลายโรงเรียน และได้สมรสใหม่กับ น.ส.แตงอ่อน แซ่เต็ง ใน พ.ศ. 2480 จนกระทั่งย้ายมาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดบ้านทรายมูล ตำบลพันนา ในอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร[3] ครูครอง มีบุตรทั้งหมด 4 คน เช่น วิทิต จันดาวงศ์, ธำรง จันดาวงศ์, ควรครอง จันดาวงศ์ (จาก น.ส.แตงอ่อน) เดช จันดาวงศ์ (จาก น.ส. มุกดา)[4]

การเสียชีวิต แก้

ครอง จันดาวงศ์ เป็นนักโทษทางการเมืองซึ่งถูกจับกุมในข้อหากบฏต่อความมั่นคงและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกับผู้ถูกจับกุมคนอื่นๆ รวม 108 คน และถูกตัดสินให้ต้องโทษประหารชีวิตโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม การสอบสวนมีเพียงการสอบสวนที่กรุงเทพมหานคร ประมาณ 20 วัน และถูกนำตัวไปประหารชีวิตที่ อำเภอสว่างแดนดิน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 พร้อมด้วยนายทองพันธ์ สุทธิมาศ โดย ก่อนหน้านี้ได้มีการประหาร นายศุภชัย ศรีสติ ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 และ ภายหลังจากนั้น มีการประหาร นายรวม วงษ์พันธ์ ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2505 โดยอาศัยอำนาจตามาตรา 17 เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้อ่านบทลงโทษอาศัยอำนาจคำตัดสินตามมาตรา 17 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนการประหารและนายครองได้เปล่งคำขวัญ เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ เป็นประโยคสุดท้ายของชีวิต[5]

อ้างอิง แก้