กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน

กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน เป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิตหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทยด้วยการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2522 ในข้อหาลักพาตัวเด็กไปเพื่อฆ่า[1] ต่อจากใย สนบำรุง ที่ต้องโทษประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2482 และต่อมา สมัย ปานอินทร์ต้องโทษประหารชีวิตหญิงคนที่ 3 ของประเทศไทยด้วยการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2542

กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน
เกิดพ.ศ. 2493
เสียชีวิต13 มกราคม พ.ศ. 2522 (อายุ 28 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นชื่อ: เจริญ, น้อย
สกุล: อนุกูล
อาชีพรับจ้าง
นายจ้างร้านสมบูรณ์โภชนา กรุงเทพมหานคร (นายจ้างสุดท้าย)
มีชื่อเสียงจากเป็นนักโทษประหารหญิงชาวไทย, ผู้ถูกเพชฌฆาตยิงแล้วยังไม่ตาย
สถานะทางคดีประหารชีวิตแล้ว
เหตุจูงใจแค้นนายจ้างและประสงค์ต่อทรัพย์
พิพากษาลงโทษฐานลักพาตัวเด็กเพื่อเรียกค่าไถ่, ฆ่าคนตายโดยเจตนา
บทลงโทษประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
คู่หูปิ่น พึ่งญาติ (ถูกประหารชีวิตในปีพ.ศ. 2522)
เกษม สิงห์ลา (ถูกประหารชีวิตในปีพ.ศ. 2522)
ทองม้วน โกบโคกกรวด
ทองสุข พู่วิเศษ
สะธิ สีดี
รายละเอียด
ผู้เสียหายพิชัย ศรีเจริญสุขยิ่ง
จิตรา ศรีเจริญสุขยิ่ง
วีระชัย ศรีเจริญสุขยิ่ง
วันที่17 - 18 ตุลาคม พ.ศ. 2521
ประเทศไทย
ตำแหน่งกรุงเทพมหานคร และจังหวัดนครราชสีมา
เป้าหมายเรียกค่าไถ่ตัว 200,000 บาท
ตาย1 (วีระชัย)
อาวุธปลายแหลม
วันที่ถูกจับ
19 ตุลาคม พ.ศ. 2521
จำคุกที่ทัณฑสถานหญิง

ประวัติและการก่อคดี แก้

กิ่งแก้วเดิมเป็นคนต่างจังหวัด ต่อมาเดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานคร มีประวัติรักษาอาการทางจิตเวชที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา หลังการรักษาได้ไปทำงานเป็นแม่บ้านและพี่เลี้ยงเด็กในร้านอาหารสมบูรณ์โภชนาซึ่งดำเนินกิจการโดยพิชัยและจิตรา ศรีเจริญสุขยิ่ง ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2521 หลังจากทำงานได้เพียง 2 เดือนกิ่งแก้วถูกจิตราไล่ออกในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2521[2] เนื่องจากไม่ได้ทำงานอื่นนอกจากดูแลวีระชัย บุตรชาย วัย 6 ปี ของครอบครัวศรีเจริญสุขยิ่ง กิ่งแก้วจึงมีความแค้นประกอบกับต้องการเงิน จึงปรึกษากับปิ่น พึ่งญาติ แฟนหนุ่มวัย 28 ปี ซึ่งมีประวัติอาชญากรรมโชกโชน ได้แนะนำให้ลักพาตัวเด็กเพื่อเรียกค่าไถ่ เมื่อเห็นดีด้วยแล้วจึงเริ่มก่อการโดยร่วมกับ ทองม้วน โกบโคกกรวด, ทองสุข พู่วิเศษ, เกษม สิงห์ลา และสะธิ สีดี[1]

แผนการเริ่มขึ้น โดยในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2521 กิ่งแก้วไปรับตัววีระชัยจากโรงเรียนคริสต์ธรรมศึกษาในลักษณะเช่นเดียวกับผู้ปกครองรับเด็กโดยลวงว่าจะพาไปเที่ยวต่างจังหวัด และนำตัวไปซ่อนไว้ที่บ้านญาติในตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และกลุ่มผู้ก่อการส่งจดหมายเรียกค่าไถ่ 200,000 บาทจากครอบครัวแลกกับชีวิตของวีระชัย โดยให้นำถุงเงินโยนลงบนด้านซ้ายของทางรถไฟระหว่างสถานีจันทึกกับสถานีปากช่อง โดยผู้ก่อการจะปักธงสีขาวไว้เป็นสัญลักษณ์จุดโยน หากเลยกำหนดจะฆ่าเด็กทันที แต่ด้วยความมืดในยามค่ำคืน ผู้ปกครองของวีระชัยจึงไม่เห็นธงสัญลักษณ์ ทำให้ไม่สามารถโยนเงินค่าไถ่ลงไปได้ แม้จะพยายามค้นหาอีกโดยสนธิกำลังกับตำรวจก็ไม่พบธงสีขาวแต่อย่างใด กลุ่มผู้ก่อการจึงฆ่าเหยื่อโดยนำตัววีระชัยออกไปที่ไร่ข้าวโพดตรงจุดที่ขุดหลุมดินไว้ ห่างจากบ้านราว 50 เมตร จากนั้นปิ่นจับมือกิ่งแก้วแทงวีระชัยซึ่งหลับอยู่บนตักกิ่งแก้วจนวีระชัยตื่นและเรียกกิ่งแก้วจนกิ่งแก้วสะเทือนใจ จากนั้นผู้ก่อการคนอื่น ๆ ได้ไล่กิ่งแก้วให้กลับบ้านไป แล้วแทงวีระชัยซ้ำและหักคอวีระชัยจนแน่ใจว่าขาดใจตาย จากนั้นฝังศพโดยใช้ดินอุดปากเพื่อข่มวิญญาณไว้

ต่อมามีการจับกุมกิ่งแก้วและผู้ก่อการเกือบทั้งหมดได้ โดยเริ่มจากจับกุมกิ่งแก้ว ทองสุข และทองม้วนในวันที่ 19 ตุลาคม โดยกิ่งแก้วได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และกล่าวว่าตนไม่อยากฆ่าเด็ก แต่ด้วยสถานการณ์พาไปและถูกแฟนหนุ่มบังคับจึงต้องลงมือฆ่า และได้บอกเบาะแสซึ่งนำไปสู่การจับกุมปิ่นและเกษมได้ในเวลาต่อมา[3][4] เชาวเรศน์ จารุบุณย์กล่าวในหนังสือของเขาว่า "กิ่งแก้วในเวลานั้นออกทุกช่วงข่าว ไม่ต่างจากดาราเลย"[1]

การตัดสินคดีและการดำเนินการทางกฎหมาย แก้

หลังจากกิ่งแก้วและผู้ก่อการถูกจับกุมได้นำตัวผู้ต้องหาส่วนใหญ่ฝากขังไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางรัก ในระหว่างนั้นกิ่งแก้วพยายามฆ่าตัวตายหลังจากถูกตำรวจพูดถึงเรื่องโทษทัณฑ์ที่จะได้รับจากการตัดสินที่เด็ดขาดของรัฐบาลในขณะนั้น[4]และพร่ำเพ้อถึงวีระชัย จากนั้นได้นำตัวไปฝากขังที่ทัณฑสถานหญิง[3]

จากนั้นในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2522 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นใช้อำนาจตามความในมาตรา 200 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 สั่งลงโทษประหารชีวิตกิ่งแก้ว เสริม และปิ่น โดยดำเนินการประหารชีวิตในวันต่อมา โดยกิ่งแก้วถูกนำตัวมาจากทัณฑสถานหญิงมายังเรือนจำกลางบางขวาง แล้วประหารเป็นคนแรกในเวลา 17.40 น.[4] ระหว่างการดำเนินการการประหารชีวิต หลังจากประหารกิ่งแก้วและตรวจอย่างคร่าว ๆ ว่าถึงแก่ความตายแล้ว[1] จึงนำตัวลงจากหลักประหารเพื่อประหารผู้ต้องโทษรายต่อไป จากนั้นไม่นานพบว่ากิ่งแก้วพยายามส่งเสียงเพื่อร้องขอชีวิตและพยายามลุกขึ้น[5] เมื่อเจ้าพนักงานเห็นเช่นนั้นจึงนำตัวขึ้นหลักประหารและเลื่อนจุดยิงไปทางขวาเล็กน้อยเพื่อยิงซ้ำ กิ่งแก้วจึงสิ้นใจลง ต่อมาสันนิษฐานว่าหัวใจของกิ่งแก้วนั้นตั้งอยู่กลางอกทางซ้ายค่อนมาทางด้านขวามากกว่าคนปกติ จากนั้นจึงดำเนินการประหารเกษมและปิ่นเป็นรายต่อไปตามลำดับ[1] โดยปิ่นก็ต้องยิงถึงสองชุดเช่นเดียวกับกิ่งแก้ว[5] โดยในวันดังกล่าว ประถม เครือเพ่ง เป็นผู้ทำหน้าที่เพชฌฆาต ใช้กระสุนทั้งสิ้น 25 นัดสำหรับกิ่งแก้ว[3] ส่วนทองม้วนต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ทองสุกและสะธิต้องโทษจำคุก 20 ปี และเร่งรัดให้จับตัวสะธิให้ได้โดยเร็ว[2]

กิ่งแก้วในสื่อปัจจุบัน แก้

หลังการประหารชีวิต มีการเล่าลือถึงกระบวนการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมและการประหารชีวิตที่เป็นการทรมานต่อกิ่งแก้ว ตลอดจนวิญญาณของกิ่งแก้วที่คอยตามหลอกหลอนคนในบริเวณรอบเรือนจำกลางบางขวาง เผยแพร่บนสื่อต่าง ๆ จนเผยแพร่ออกไปมาก

ในภาพยนตร์ เพชฌฆาต ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2557 เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นอิงจากประวัติของเชาวเรศน์ จารุบุณย์ เพชฌฆาตยิงเป้าของประเทศไทยที่ได้ยิงเป้านักโทษประหารรายสุดท้ายก่อนเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิต มีฉากหนึ่งที่ทำการประหารนักโทษหญิงดวงใจ ซึ่งลักษณะคล้ายกับกรณีของกิ่งแก้ว โดยฉากดังกล่าวนักโทษหญิงได้ร้องไห้ฟูมฟายด้วยความกลัวและเชื่อว่าตนไม่ควรต้องโทษประหารชีวิต ตัดภาพกับนักโทษชายในคดีเดียวกันที่ตะโกนว่าจะประหารภรรยาตน (ดวงใจ) ทำไมเพราะไม่ได้เป็นผู้ฆ่า ขอให้ยิงแต่ตนซึ่งเป็นผู้ฆ่า จากนั้นภาพตัดไปในห้องประหารชีวิต เมื่อผูกมัดนักโทษหญิงแล้ว เชาวเรศเข้ามาในห้องแล้ววันทยหัตถ์ไปยังเป้ายิงและกรรมการสักขีพยาน เมื่อถึงช่วงลั่นไกยิง เมื่อเจ้าพนักงานโบกธงแดงให้สัญญาณยิง ภาพตัดไปยังหญิงดังกล่าวที่โบกผืนผ้าสีแดงข้างขบวนรถไฟที่กำลังแล่นด้วยความเร็ว จากนั้นภาพจึงตัดสลับกลับไปยังห้องประหารชีวิต เชาวเรศน์ยิงปืนเอาไปชุดหนึ่ง นักโทษหญิงดังกล่าวได้แน่นิ่งไป ตัดกลับไปที่หญิงที่โบกธงดังกล่าวและรถไฟที่เคลื่อนผ่านออกไปพ้นตน จากนั้นภาพกลับไปที่ห้องประหารชีวิตอีกครั้ง เชาวเรศน์วันทยหัตถ์ไปที่เป้ายิงแล้วเปลี่ยนไปที่อีกหลักหนึ่งด้านซ้าย ในเวลาเดียวกันเจ้าหน้าที่นำตัวนักโทษชายเข้าสู่ห้องโดยที่ยังกล่าวเช่นเดิม ระหว่างพันธนาการตัวนักโทษชายภาพตัดที่นักโทษหญิงดวงใจที่เจ้าหน้าที่นำร่างนอนบนพื้นห้อง แพทย์เข้าตรวจโดยคลำชีพจร และรายงานเวลาการเสียชีวิตต่อสักขีพยาน จากนั้นระหว่างรอสัญญาณยิง นักโทษชายได้เรียกนักโทษหญิงดวงใจจนมีเสียงคล้ายอาเจียน เจ้าหน้าที่จึงรุดเข้าไปที่ร่างนักโทษหญิง เห็นว่ากำลังกระอักเลือดอยู่ มีเจ้าพนักงานคนหนึ่งจะบีบร่างนักโทษหญิงให้เสียเลือดมากจนตาย แต่เชาวเรศน์ได้แย้งว่าต้องทำตามระบบและให้คว่ำร่างไว้ก่อน แล้วจึงไปดำเนินการประหารชีวิตนักโทษชายต่อ โดยก่อนถึงการลั่นไก ภาพตัดไปที่หญิงดังกล่าวกำลังขอร้องให้หยุดฆ่าเด็ก และภาพตัดกลับมาที่เชาวเรศน์ยิงปืนเข้าสู่ร่างนักโทษชาย[6]

บนเว็บไซต์สำนักข่าวทีนิวส์ รายงานว่าหลังจากกิ่งแก้วลักพาตัวเด็กและกลุ่มผู้ก่อการส่งจดหมายเรียกค่าไถ่ไป ผู้ปกครองได้โยนเงินผิดจังหวะ จึงพลาดจุดไป กิ่งแก้วได้พยายามห้ามแล้วแต่ผู้ก่อการอื่นได้ทารุณวีระชัยจนปางตายแล้วแยกย้ายกันไป เมื่อพบศพของวีระชัย ได้พบดินในหลอดลมเนื่องจากฝังร่างตอนที่ยังไม่ถึงแก่ความตาย จับจากจับกุมกิ่งแก้วแล้วได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและร้องว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดในกรณีนี้อย่างซ้ำไปซ้ำมาและพยายามฆ่าตัวตายเพื่อหนีโทษประหารชีวิต จากนั้นในวันดำเนินการประหารชีวิต เพชฌฆาตยิงทีละนัดถึง 15 นัด อีกทั้งได้กล่าวอ้างว่าพัศดีที่อยู่ในเหตุการณ์บันทึกว่ากิ่งแก้วพร่ำเพ้อว่าตนไม่มีความผิด และเมื่อเพชฌฆาตยิงกระสุนชุดแรก กิ่งแก้วก็ยังคงร้องเช่นเดิมจนเพชฌฆาตตกใจ ต้องซ้ำครั้งที่สอง แต่ยังเป็นเช่นเดิม แพทย์และพัศดีตรวจร่างเห็นว่าหัวใจอยู่ด้านขวา จึงเลื่อนเป้าให้ตรงแล้วยิงอีกครั้งจนถึงแก่ความตายพร้อมประโยคสุดท้าย "ฉันไม่ผิด" และหลังการประหารชีวิตยังคนมีเสียงของกิ่งแก้วดังจากห้องเก็บศพและปรากฏตัวในรูปวิญญาณให้เห็นที่เรือนจำกลางบางขวาง โดยคาดว่าวิญญาณกำลังรอเปิดเผยเรื่องราวที่แท้จริงอยู่ โดยรายงานนี้ได้แนบคลิปเล่าเรื่องดังกล่าวบนยูทูบอีกด้วย[7]

ส่วนหนังสือ "ผู้หญิง การจำคุก และโทษประหารชีวิตในประเทศไทย" ของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้กล่าวถึงการประหารชีวิตกิ่งแก้วว่า[8]

คุณกิ่งแก้วเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกประหารชีวิตในข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรมเด็ก (ซึ่งเธอยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาจนวาระสุดท้าย) ... การประหารชีวิตคุณกิ่งแก้วเป็นกรณีที่สยองขวัญอย่างยิ่ง เพราะเธอยังมีลมหายใจอยู่หลังจากถูกกระสุนสิบนัดกระหน่ำไปที่หน้าอก และผู้คุมพยายามที่จะเร่งการเสียเลือดและบีบคอเธอให้ตายสนิท

ถึงกระนั้นก็ตาม กรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่างปฏิเสธข้อเท็จจริงบางอย่างที่กล่าวมาข้างต้น

เมื่อไทยรัฐได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางบางขวางที่อยู่ในเหตุการณ์การประหารชีวิต ได้ปฏิเสธถึงการทรมานกิ่งแก้วระหว่างการประหาร และกล่าวว่าตนไม่เคยพบวิญญาณหรือเสียงร้องเลย อาจจะเป็นเรื่องที่ผู้ขับรถรับจ้างบริเวณนั้นแต่งขึ้นมาเพื่อเรียกค่าจ้างรถเท่านั้น[4]

ส่วนอรรถยุทธ พวงสุวรรณ อดีตพี่เลี้ยงผู้ต้องโทษประหารชีวิต และอดีตเจ้าพนักงานเรือนจำกลางบางขวาง กล่าวในคลิปแสดงงานค้นคว้าข่าวและเอกสารที่เกี่ยวข้องถึงประเด็นนี้และค้านประเด็นต่าง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง เช่น

  • กิ่งแก้วไม่รู้ไม่เห็นการฆ่า อรรถยุทธได้ค้านว่ากิ่งแก้วสามารถนำตำรวจไปยังพื้นที่ฝังร่าง ซึ่งห่างไปไกลจากบ้าน 2 กิโลเมตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่กิ่งแก้วจะไม่รับรู้ในคดีนี้
  • กิ่งแก้วถูกจับขณะกำลังช่วยเด็กออกจากหลุมฝัง อรรถยุทธได้ค้านว่ากิ่งแก้วถูกจับที่บ้านห่างจากบริเวณดังกล่าว
  • กิ่งแก้วปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อรรถยุทธได้ค้านว่ากิ่งแก้วปฏิเสธเพียงแค่ตอนต้นเท่านั้น แต่หลังจากการสืบสวนและสอบเค้นกิ่งแก้วจึงได้สารภาพและแจ้งข้อเท็จจริงในคดีทั้งหมด
  • เพชฌฆาตมีอาการตกใจเมื่อยิงปืนชุดแรก อรรถยุทธได้ค้านว่า นายประถม เครือเพ่ง เพชฌฆาตในวันนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ว่าตนรู้สึกเฉย ๆ เหมือนประหารผู้ต้องโทษคนอื่น ๆ
  • กิ่งแก้วร้อง "ฉันไม่ผิด" ตลอดแม้หลังถูกยิงชุดแรกไปแล้ว อรรถยุทธได้ค้านว่ากิ่งแก้วกล่าวสั้น ๆ ว่าให้นำตนไปรักษาตัวให้พ้นจากอันตรายหลังจากถูกยิงชุดแรกและนำตัวลงจากหลักประหาร
  • กิ่งแก้วถูกบีบคอ อุดจมูก กลิ้งตัว และเค้นเลือด อรรถยุทธได้ค้านว่าในการประหารชีวิตจะมีสักขีพยานจากหน่วยงานต่าง ๆ หากทำไม่ถูกต้องสักขีพยานจะค้านทันทีและผู้ที่กระทำอาจจะเป็นผู้ต้องโทษคดีฆ่าคนตาย
  • หัวใจของกิ่งแก้วอยู่ด้านขวา อรรถยุทธได้ค้านว่าเพียงแค่หัวใจอยู่กลางอกมากกว่าปกติ (หัวใจกินขวา)
  • วิญญาณนางกิ่งแก้ววนเวียนในเรือนจำกลางบางขวาง และส่งเสียง "ฉันไม่ผิด" อรรถยุทธได้ค้านว่าไม่มีเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางบางขวางเคยพบวิญญาณกิ่งแก้วเลย รวมทั้งอรรถยุทธเอง แม้จะได้เข้าเวรยามในจุดที่ใกล้ห้องประหารชีวิตและช่องเก็บศพที่สุดและในวันดังกล่าวมีการประหารชีวิตผู้ต้องโทษ ก็ไม่เคยพบวิญญาณตนใดเลย

นอกจากนี้อรรถยุทธกล่าวว่ามีครั้งหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวได้ให้บทพูดเรื่องวิญญาณกิ่งแก้วเพื่อให้ตนเล่า แต่อรรถยุทธได้ปฏิเสธไปและให้เหตุผลว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและหลอกลวงประชาชน[3]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 จารุบุณย์, เชาวเรศน์ (2015). The Last Executioner: Memoirs of Thailand's Last Executioner (ภาษาอังกฤษ). Maverick House. p. 100. ISBN 978-1-908518-41-5.
  2. 2.0 2.1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (18 มกราคม 2522). "รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 7/วันที่ 18 มกราคม 2522". กรุงเทพมหานคร: LIRT คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 พวงสุวรรณ, อรรถยุทธ (4 มกราคม 2563). "ข้อเท็จจริงเรื่องนางกิ่งแก้ว". สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help) และ พวงสุวรรณ, อรรถยุทธ (11 พฤศจิกายน 2562). "ความจริงของคดีนางกิ่งแก้ว". สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ไทยรัฐออนไลน์ (17 พฤศจิกายน 2562). "3 นาทีคดีดัง : เรื่องจริง "กิ่งแก้ว" นักโทษประหารหญิง ยิงเป้าไม่ยอมตาย (คลิป)". กรุงเทพมหานคร: ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  5. 5.0 5.1 Algie, Jim (2011). Catherine Lim Collection: Tales of Crime, Sex and Black Magic (ภาษาอังกฤษ). Marshall Cavendish International Asia Pte Ltd. p. 34. ISBN 978-981-4351-86-7.
  6. Waller, Tom (Director) (3 กรกฎาคม 2556). 'Innocent' - Clip from THE LAST EXECUTIONER (2014). Bangkok: De Warrenne Pictures.
  7. เลิกสันเทียะ, อุทัย (19 มิถุนายน 2561). "ย้อนคดีโทษประหารสุดหลอน!! นาง กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน นักโทษประหารถูกยิงถึง 15 นัด กว่าจะเสียชีวิต จนกลายเป็น วิญญาณเฮี้ยนเฝ้าเรือนจำ! (คลิป)". นนทบุรี: ทีนิวส์. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  8. McNeil, Louise; Michel, Lucie; Zinck, Tristan; บรีน, แดนทอง (ตุลาคม 2561). สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (บ.ก.). ผู้หญิง การจำคุก และโทษประหารชีวิตในประเทศไทย (PDF). แปลโดย หาญอนันทสุข, สมศรี; วงศ์สารพิกูล, เลอเกียรติ์. กรุงเทพมหานคร: มาสเตอร์เพรส. p. 3. ISBN 978-616-93217-0-5. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2563. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
ก่อนหน้า
ใย สนบำรุง
ผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2477
กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน
ถัดไป
สมัย ปานอินทร์