อำเภอเมืองนนทบุรี

อำเภอในจังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย

เมืองนนทบุรี เป็นอำเภอศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา เศรษฐกิจ และการสาธารณสุขของจังหวัดนนทบุรี

อำเภอเมืองนนทบุรี
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Mueang Nonthaburi
หอนาฬิกานนทบุรี
หอนาฬิกานนทบุรี
แผนที่จังหวัดนนทบุรี เน้นอำเภอเมืองนนทบุรี
แผนที่จังหวัดนนทบุรี เน้นอำเภอเมืองนนทบุรี
พิกัด: 13°51′44″N 100°30′48″E / 13.86222°N 100.51333°E / 13.86222; 100.51333
ประเทศ ไทย
จังหวัดนนทบุรี
พื้นที่[1]
 • ทั้งหมด77.018 ตร.กม. (29.737 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)
 • ทั้งหมด359,949 คน
 • ความหนาแน่น4,673.57 คน/ตร.กม. (12,104.5 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 11000
รหัสภูมิศาสตร์1201
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี ซอยรัตนาธิเบศร์ 6 (ศูนย์ราชการ) ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ที่ตั้งและอาณาเขต

แก้

อำเภอเมืองนนทบุรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้[2]

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอปากเกร็ด มีคลองบางบัวทอง, คลองแม่ร่องกร่าง, คลองวัดแดง, แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองบางตลาดเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตหลักสี่และเขตจตุจักร (กรุงเทพมหานคร) มีคลองประปาเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศใต้ ติดต่อกับเขตบางซื่อ (กรุงเทพมหานคร) และอำเภอบางกรวย มีคลองบางเขน, แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา, คลองบางกรวย, คลองธรรมบาล, ถนนบางไผ่พัฒนา, ซอยบางไผ่ ซอย 3 (วัดรวกบางสีทอง), ซอยบางกรวย-ไทรน้อย 30 (วัดรวกบางสีทอง), คลองบางสีทอง, คลองวัดสนาม, ถนนบางศรีเมือง 1, แนวรั้วหมู่บ้านเยาวพรรณ, คลองวัดแดง และคลองบางกอกน้อยเป็นเส้นแบ่งเขต
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอบางใหญ่และอำเภอบางบัวทอง มีคลองวัดยุคันธราวาส, ถนนหลังวัดยุคันธราวาส, ซอยบางกร่าง 25 (หน้าค่าย), ทางหลวงท้องถิ่น นบ.ถ 1-0010 (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการฯ - วัดสวนแก้ว), คลองวัดประชารังสรรค์, คลองอ้อม และคลองบางรักใหญ่เป็นเส้นแบ่งเขต

ประวัติศาสตร์

แก้
 
ศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่า

อำเภอเมืองนนทบุรีในครั้งแรกนั้นมีชื่อว่า อำเภอตลาดขวัญ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่เมื่อใด แต่ปรากฏชื่ออำเภอนี้ในชื่อเอกสารที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2445 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอนนทบุรี โดยปรากฏชื่อเอกสารเกี่ยวข้องกับชื่ออำเภอนี้ในราชกิจจานุเบกษาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2466 ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในตัวอาคารศาลากลางเมืองนนทบุรี ข้างวัดท้ายเมือง ตำบลตลาดขวัญ[3] (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลสวนใหญ่)

เนื่องจากอำเภอนนทบุรีมีอาณาเขตกว้างขวาง บางท้องที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอมาก กระทรวงนครบาล (หน่วยงานที่ดูแลหัวเมืองต่าง ๆ ในมณฑลกรุงเทพขณะนั้น) จึงพิจารณาโอนตำบลท่าอิฐซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปขึ้นกับอำเภอปากเกร็ดใน พ.ศ. 2463[4] และโอนตำบลบางเลนซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกสุดของอำเภอไปขึ้นกับอำเภอบางแม่นางใน พ.ศ. 2464[5] ณ พ.ศ. 2470 อำเภอนนทบุรีจึงเหลือท้องที่การปกครองอยู่ 12 ตำบล ได้แก่ ตำบลตลาดขวัญ ตำบลบางกระสอ ตำบลท่าทราย ตำบลลาดโตนด ตำบลบางเขน ตำบลบางตะนาวศรี (สวนใหญ่) ตำบลบางไผ่ ตำบลบางสีเมือง (บางศรีเมือง) ตำบลบางกร่าง ตำบลบางข่า ตำบลบางรักน้อย และตำบลไทรม้า[6] เมื่อถึง พ.ศ. 2471 อำเภอนนทบุรีได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่โรงเรียนราชวิทยาลัย บ้านบางขวาง ตำบลบางตะนาวศรี (ปัจจุบันคือศาลากลางจังหวัดหลังเก่าบริเวณท่าน้ำนนทบุรี ตำบลสวนใหญ่)[3]

ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ทางราชการได้โอนพื้นที่บางส่วนของตำบลลาดโตนดไปขึ้นกับอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร เพื่อความสะดวกในการตรวจตราของเจ้าหน้าที่และความสะดวกในการติดต่อราชการของประชาชน[7] และในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480 ได้โอนพื้นที่หมู่ 1, 3 (ในขณะนั้น) ของตำบลลาดโตนด และหมู่ที่ 1 (ในขณะนั้น) ของตำบลท่าทราย เฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตหวงห้ามของคลองประปาฝั่งตะวันตกไปขึ้นกับตำบลสองห้องของอำเภอบางเขน โดยใช้แนวเขตหวงห้ามของคลองประปาฝั่งตะวันตกเป็นเส้นเขต[8] หมายความว่าแนวเขตการปกครองระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับจังหวัดพระนครได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากแต่เดิมจังหวัดนนทบุรีมีอาณาเขตด้านตะวันออกติดต่อกับจังหวัดพระนครโดยใช้คลองเปรมประชากรตั้งแต่สี่แยกบางเขนขึ้นไปจนถึงคลองบ้านใหม่ตลาดเนื้อเป็นเส้นแบ่งเขต[9]

ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่ออำเภอนนทบุรีเป็น อำเภอเมืองนนทบุรี[10] เนื่องจากทางราชการมีนโยบายเปลี่ยนชื่ออำเภอที่เป็นที่ตั้งจังหวัดเป็น "อำเภอเมือง..." อย่างไรก็ตามใน พ.ศ. 2486 จังหวัดนนทบุรีก็ถูกยุบลงเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณราชการ[11] เนื่องจากขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อำเภอเมืองนนทบุรีจึงย้ายไปขึ้นกับจังหวัดพระนครและได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอนนทบุรี"[12] จนกระทั่งวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดนนทบุรีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง[13] อำเภอนนทบุรีจึงเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น "อำเภอเมืองนนทบุรี"[14] ตั้งแต่นั้น

ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงเขตการปกครองระดับตำบลภายในท้องที่อยู่เนือง ๆ เช่น ตำบลบางไผ่ถูกยุบรวมเข้ากับตำบลบางศรีเมือง ตำบลบางข่าถูกยุบรวมเข้ากับตำบลบางกร่าง เป็นต้น จนกระทั่งในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งตำบลขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยแบ่งพื้นที่หมู่ที่ 6–10 (ในขณะนั้น) จากตำบลบางศรีเมืองมาจัดตั้งเป็นตำบลบางไผ่ และรวมพื้นที่หมู่ที่ 6–10 (ในขณะนั้น) ของตำบลไทรม้าและหมู่ที่ 11 (ในขณะนั้น) ของตำบลบางกร่างมาจัดตั้งเป็นตำบลบางรักน้อย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ปีเดียวกัน[15] อำเภอเมืองนนทบุรีจึงแบ่งออกเป็น 10 ตำบลจนถึงทุกวันนี้

เมื่อ พ.ศ. 2535 ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีได้ย้ายที่ตั้งอีกครั้งหนึ่งจากบริเวณโรงเรียนราชวิทยาลัยเดิม ไปอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ ใกล้ทางแยกแคราย หมู่ที่ 8 ตำบลบางกระสอ

การแบ่งเขตการปกครอง

แก้

การปกครองส่วนภูมิภาค

แก้

อำเภอเมืองนนทบุรีแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็น 10 ตำบล แต่ละตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน รวมทั้งหมด 32 หมู่บ้าน (หรือ 26 หมู่บ้าน หากไม่นับรวมในเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมืองซึ่งไม่มีตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้านแล้ว) ได้แก่

ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนประชากร
(ธันวาคม 2565)[16]
สี แผนที่
1. สวนใหญ่ Suan Yai
ยกเลิกระบบหมู่
35,061
 
 
2. ตลาดขวัญ Talat Khwan
ยกเลิกระบบหมู่
45,831
 
3. บางเขน Bang Khen
ยกเลิกระบบหมู่
40,830
 
4. บางกระสอ Bang Kraso
ยกเลิกระบบหมู่
56,753
 
5. ท่าทราย Tha Sai
ยกเลิกระบบหมู่
66,762
 
6. บางไผ่ Bang Phai
5
12,848
 
7. บางศรีเมือง Bang Si Mueang
5
24,678
 
8. บางกร่าง Bang Krang
10
32,964
 
9. ไทรม้า Sai Ma
6
24,180
 
10. บางรักน้อย Bang Rak Noi
6
21,218
 

การปกครองส่วนท้องถิ่น

แก้

ท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรีประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลนครนนทบุรี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลในอำเภอเมืองนนทบุรีฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ตำบลสวนใหญ่ ตำบลตลาดขวัญ ตำบลบางเขน ตำบลบางกระสอ และตำบลท่าทรายทั้งตำบล
  • เทศบาลเมืองบางศรีเมือง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางศรีเมืองทั้งตำบลและตำบลบางกร่าง (เฉพาะหมู่ที่ 1 และบางส่วนของหมู่ที่ 2, 3, 9)
  • เทศบาลเมืองบางกร่าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางกร่าง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลเมืองบางศรีเมือง)
  • เทศบาลเมืองไทรม้า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไทรม้าทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางไผ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางไผ่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักน้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางรักน้อยทั้งตำบล

การคมนาคม

แก้

ทางบก

แก้

รถยนต์

แก้

ถนนสายสำคัญของอำเภอ ได้แก่

  1. ทางพิเศษศรีรัช
  2. ถนนประชาราษฎร์ เริ่มตั้งแต่ทางแยกติวานนท์ ตัดผ่านทางแยกศรีพรสวรรค์ สิ้นสุดที่บริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนทบุรี
  3. ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 301) เริ่มตั้งแต่ทางแยกติวานนท์ ตัดผ่านตำบลบางเขน ก่อนเข้าสู่เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
  4. ถนนงามวงศ์วาน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 302) เริ่มตั้งแต่ทางแยกแคราย ตัดผ่านทางแยกพงษ์เพชร ก่อนเข้าสู่เขตหลักสี่และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
  5. ถนนรัตนาธิเบศร์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 302) เริ่มตั้งแต่ทางแยกแคราย ผ่านศูนย์ราชการจังหวัด ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตัดผ่านทางแยกไทรม้าและทางแยกต่างระดับบางรักน้อย ก่อนเข้าสู่ท้องที่อำเภอบางบัวทอง
  6. ถนนพิบูลสงคราม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 306) เริ่มตั้งแต่ทางแยกศรีพรสวรรค์ ตัดผ่านตำบลสวนใหญ่ ก่อนเข้าสู่เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
  7. ถนนติวานนท์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 306) เริ่มตั้งแต่ทางแยกติวานนท์ ผ่านทางแยกแคราย ก่อนเข้าสู่ท้องที่อำเภอปากเกร็ด
  8. ถนนนนทบุรี 1 เริ่มตั้งแต่บริเวณใกล้ท่าน้ำนนทบุรี ผ่านเรือนจำจังหวัดนนทบุรี (บางขวาง) วัดท้ายเมือง โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ทางแยกสะพานพระนั่งเกล้า สิ้นสุดที่ทางแยกสนามบินน้ำ (ถนนติวานนท์)
  9. ถนนประชาชื่น เริ่มตั้งแต่ทางแยกประชาชื่นในเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เข้าสู่อำเภอเมืองนนทบุรีที่ตำบลบางเขน ตัดผ่านทางแยกพงษ์เพชรและทางแยกสามัคคี-ประชาชื่น ก่อนเข้าสู่ท้องที่อำเภอปากเกร็ด
  10. ถนนบางกรวย-ไทรน้อย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215) เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 7 ในอำเภอบางกรวย เข้าสู่อำเภอเมืองนนทบุรีที่ตำบลบางกร่าง จากนั้นเข้าสู่ท้องที่อำเภอบางใหญ่
  11. ถนนนครอินทร์ เริ่มตั้งแต่ทางแยกติวานนท์ ผ่านตำบลตลาดขวัญ ตำบลสวนใหญ่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่ตำบลบางไผ่ ตำบลบางศรีเมือง จากนั้นเข้าสู่ท้องที่อำเภอบางกรวย
  12. ถนนราชพฤกษ์ เริ่มตั้งแต่ทางแยกตากสิน เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เข้าสู่เขตจอมทอง ตัดผ่านเขตภาษีเจริญ เขตตลิ่งชัน อำเภอบางกรวย เข้าสู่อำเภอเมืองนนทบุรีที่ตำบลบางกร่าง ตัดผ่านถนนบางกรวย-ไทรน้อยและถนนรัตนาธิเบศร์ ก่อนเข้าสู่ท้องที่อำเภอปากเกร็ด
  13. ถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี เริ่มตั้งแต่ถนนพิบูลสงครามใต้ตัวจังหวัดเก่า ตัดผ่านถนนประชาราษฎร์ที่ตำบลตลาดขวัญ อ้อมตัวจังหวัดเก่า ไปสิ้นสุดที่ถนนนนทบุรี 1 เหนือตัวจังหวัดเก่า
  14. ถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี-สนามบินน้ำ เริ่มตั้งแต่ถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรีใกล้ตลาด อตก.3 เก่า ตัดผ่านถนนรัตนาธิเบศร์ที่ตำบลบางกระสอ ไปสิ้นสุดที่ถนนสนามบินน้ำที่ตำบลท่าทราย

ถนนสายรอง ได้แก่ ถนนเรวดี (ตำบลตลาดขวัญ) ถนนสามัคคี (ตำบลท่าทราย) ถนนบางศรีเมือง ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ดอนพรหม (ตำบลบางศรีเมืองและตำบลบางกร่าง)

ปัจจุบัน อำเภอเมืองนนทบุรีมีทางพิเศษ 1 สาย คือ ทางพิเศษศรีรัช และมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง คือ สะพานพระนั่งเกล้า สะพานพระราม 5 สะพานคู่ขนานสะพานพระนั่งเกล้า และสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์

รถไฟฟ้า

แก้

ทางน้ำ

แก้

การสัญจรทางน้ำยังคงมีความสำคัญอยู่มากในอำเภอเมืองนนทบุรี โดยเฉพาะสำหรับผู้คนที่ต้องเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนและต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรทางบกที่ติดขัด ปัจจุบันมีเส้นทางเดินเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา (เริ่มตั้งแต่อำเภอปากเกร็ด ผ่านอำเภอเมืองนนทบุรี ไปยังกรุงเทพมหานคร) และในคลองอ้อม

ท่าเรือด่วนเจ้าพระยา
  • ท่ากระทรวงพาณิชย์
  • ท่าน้ำนนทบุรี
  • ท่าบางศรีเมือง
  • ท่าพิบูลสงคราม 2
  • ท่าวัดเขียน
  • ท่าวัดตึก
  • ท่าวัดเขมาภิรตาราม
  • ท่าพิบูลสงคราม 1

หน่วยงานราชการที่สำคัญ

แก้

สถานที่สำคัญแบ่งตามตำบล

แก้

ตำบลสวนใหญ่

แก้
  • พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติวิทยา ตั้งอยู่หลังศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ซอยประชาราษฎร์ 19 (พิพิธภัณฑ์) ถนนประชาราษฎร์ เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยชั้นล่างจัดแสดงประวัติของโลก พืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิต ส่วนโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เครื่องลายครามต่าง ๆ เป็นต้น จัดแสดงอยู่บนชั้น 2 นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดประชาชนตั้งอยู่ข้าง ๆ ด้วย

ตำบลตลาดขวัญ

แก้
  • พิพิธภัณฑ์เขาสัตว์ เป็นพิพิธภัณฑ์ของเอกชน ตั้งอยู่เลขที่ 27/8 หมู่ที่ 6 ถนนประชาราษฎร์ ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเขาสัตว์และโบราณวัตถุจำนวนมากซึ่งมีอายุตั้งแต่ 16 ล้านปีถึง 100 ปีมาแล้ว โดยเฉพาะเขาของสัตว์กินพืชและสัตว์กินเนื้อที่พบในประเทศไทย ชิ้นที่โดดเด่นที่สุดชิ้นหนึ่งคือ งาช้างแมมมอทยาว 2 เมตร พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตำบลบางเขน

แก้
  • พิพิธภัณฑ์และศูนย์ฝึกอบรมการแพทย์แผนไทย ตั้งอยู่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข ซอยติวานนท์ 4 (โรงพยาบาลศรีธัญญา) ถนนติวานนท์ ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารทรงไทย 3 ชั้นซึ่งออกแบบโดยศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ โดยชั้นที่ 2 แบ่งออกเป็น 7 ห้อง ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ กัน เช่น ประวัติและวิวัฒนาการของการแพทย์แผนไทย ปรัชญาการแพทย์แผนไทย และเครื่องยาแผนไทยต่าง ๆ (ผู้สนใจเข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้า)

ตำบลท่าทราย

แก้
  • วัดชมภูเวก ตั้งอยู่ที่ซอยนนทบุรี 33 (วัดชมภูเวก) ถนนสนามบินน้ำ มีชื่อเดิมว่า "วัดชมภูวิเวก" เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความเงียบสงบมาก ชาวมอญเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2300 (สมัยอยุธยาตอนปลาย) ปัจจุบันยังคงมีจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารและพระอุโบสถที่งดงามหลงเหลืออยู่ รวมทั้งซึ่งเป็นหมู่เจดีย์แบบมอญ (เรียกว่า "พระมุเตา") ที่สร้างโดยพระสงฆ์มอญเมื่อปี พ.ศ. 2460

ตำบลบางไผ่

แก้
  • วัดสังฆทาน ตั้งอยู่ที่ซอยวัดสังฆทานแยกถนนนครอินทร์ฝั่งขาออก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย มี "หลวงพ่อโต" พระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถของวัด
  • วัดโชติการาม ตั้งอยู่ที่ถนนบางไผ่พัฒนาแยกถนนนครอินทร์ฝั่งขาออก มีชื่อเดิมว่า "วัดสามจีน" สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2350 สิ่งที่สวยงามที่สุดในวัดนี้คือ พระวิหารทรงโรงที่มีจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน โดยเขียนภาพตั้งแต่พื้นขึ้นไปจรดเพดาน นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถทรงเรือสำเภาแบบอยุธยาตอนปลายอีกด้วย

ตำบลบางศรีเมือง

แก้
  • วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ 4 ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นโทที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2390 เพื่ออุทิศถวายแด่พระอัยกา พระอัยกี และสมเด็จพระราชชนนี (แต่มาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระอารามแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงพระราชนิยมในพระองค์ด้วย กล่าวคือ มีการผสมผสานรูปแบบศิลปะจีนไว้ในการก่อสร้าง เช่น พระอุโบสถหลังคามุงกระเบื้องแบบจีน โดยมีจิตรกรรมฝาผนัง บานประตูและหน้าต่างเขียนลายทองรดน้ำ ส่วนพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองแดงทั้งองค์ มีพระนามว่า "พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา" ประดิษฐานอยู่ภายใน นอกจากนี้ยังมีอาคารที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น พระวิหารหลวง (วิหารพระศิลาขาว) พระเจดีย์ทรงกลม (แบบลังกา) ศาลาการเปรียญหลวง กำแพงใบเสมาและป้อมปราการทั้งสี่มุมรอบวัด
  • อุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ 4 ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ ใกล้วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ซึ่งอุทยานแห่งนี้นอกจากจะเป็นสวนสาธารณะที่มีทั้งร่มเงาและความเงียบสงบให้ผู้ที่ต้องการพักผ่อนแล้ว ยังมีศูนย์ศึกษาธรรมชาติ พืชพรรณ สัตว์ปีก และสัตว์น้ำนานาชนิดอีกด้วย อาคารที่โดดเด่นที่สุดคือ "วิมานสราญนวมินทร์" เป็นอาคารพลับพลาทรงไทยตั้งอยู่กลางสระน้ำของอุทยาน

ตำบลบางกร่าง

แก้
  • วัดปราสาท ตั้งอยู่ในซอยบางกร่าง 57 (วัดปราสาท) ถนนบางกรวย-ไทรน้อย สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จุดเด่นอยู่ที่ผนังพระอุโบสถ ตกแต่งด้วยจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายโดยฝีมือของสกุลช่างศิลปะนนทบุรี ในปัจจุบันถือว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดซึ่งปัจจุบันเลือนหายไปมากแต่ก็ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ ที่ศาลาการเปรียญยังมีธรรมาสน์ที่มีลวดลายสวยงาม มีอายุตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกัน ดังนั้น วัดแห่งนี้จึงคุ้มค่าต่อการเข้าเยี่ยมชมและการศึกษาทางโบราณคดีอย่างยิ่ง

ตำบลบางรักน้อย

แก้
  • ศูนย์เกษตรบางรักน้อย เป็นสวนผลไม้พื้นเมืองซึ่งยังคงรักษารูปแบบการปลูกและการผลิตแบบดั้งเดิมไว้ เช่น ทุเรียน มังคุด และมะม่วง เปิดให้เข้าชมและชิมผลไม้ได้โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที-1 ชั่วโมง

อ้างอิง

แก้
  1. รัตนา ศิริพูล. นนทบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, 2543, หน้า 49.
  2. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 115 (พิเศษ 34 ง): 76–103. May 6, 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2012-09-09.
  3. 3.0 3.1 หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2547, หน้า 17.
  4. "ประกาศกระทรวงนครบาล เรื่องเปลี่ยนนามตำบลบางบัวทอง เปนตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลพระภิมลเปนตำบลบางบัวทอง แลโอนท้องที่ตำบลบางพลับ ตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลท่าอิฐ ไปรวมในท้องที่อำเภอปากเกร็ด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 37 (0 ก): 434. 13 มีนาคม 2463.
  5. "ประกาศกระทรวงนครบาล เรื่อง ตั้งอำเภอบางแม่นาง จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 38 (0 ก): 23–24. 24 เมษายน 2464.
  6. กระทรวงมหาดไทย. ทำเนียบท้องที่ หัวเมือง กระทรวงมหาดไทย พระพุทธศักราช ๒๔๗๐. พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2471, หน้า 11.
  7. "พระบรมราชโองการ ประกาศ โอนตำบลลาดโตนด อำเภอนนทบุรี และตำบลทุ่งสองห้อง อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มาขึ้นอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 49 (0 ก): 475–476. 26 ตุลาคม 2475.
  8. "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตต์จังหวัด พุทธศักราช ๒๔๗๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 54 (0 ก): 40–54. 1 เมษายน 2480. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-16. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
  9. กรมแผนที่ทหาร. กองบัญชาการทหารสูงสุด. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431–2474 = Maps of Bangkok, A.D. 1888–1931. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: กรมแผนที่ทหาร, 2542.
  10. "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัด และอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๑" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 (0 ก): 658–666. 14 พฤศจิกายน 2481. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2008-05-16.
  11. "พระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พุทธศักราช ๒๔๘๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 59 (77 ก): 2447–2449. 10 ธันวาคม 2485. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
  12. "พระราชกริสดีกาเปลี่ยนชื่ออำเพอบางแห่ง พุทธสักราช ๒๔๘๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 60 (3 ก): 103–105. 12 มกราคม 2486.
  13. "พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช ๒๔๘๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 63 (29 ก): 315–317. 9 พฤษภาคม 2489. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-14.
  14. "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่ออำเภอบางแห่ง พ.ศ. ๒๔๘๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 63 (63 ก): 486–488. 24 กันยายน 2498. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-14.
  15. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (26 ง): 1114–1433. 10 มิถุนายน 2490. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-14.
  16. "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.

บรรณานุกรม

แก้
  • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. "ข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดนนทบุรี." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.tat.or.th/province.asp?prov_id=12 เก็บถาวร 2007-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2548. สืบค้น 14 พฤษภาคม 2551.
  • คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543.
  • รัตนา ศิริพูล. นนทบุรี. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, 2543.
  • หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2547.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°51′44″N 100°30′48″E / 13.862222°N 100.513333°E / 13.862222; 100.513333