รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู

รถไฟฟ้าโมโนเรลไร้คนขับสายที่สองของประเทศไทย

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (แคราย–แจ้งวัฒนะ–รามอินทรา–มีนบุรี) (อังกฤษ: Metropolitan Rapid Transit Pink Line, MRT Pink Line) ซึ่งเรียกตามสีที่กำหนดในแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งเหนือ ตลอดจนถึงพื้นที่ของจังหวัดนนทบุรี ดำเนินการโดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด โดยได้รับสัญญาสัมปทานจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินการในรูปแบบรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยวหรือโมโนเรล เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2559 ก่อนหยุดการก่อสร้างไประยะหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2563–2564 จนในที่สุดได้เปิดให้สาธารณชนทดลองใช้งานในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 และกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2567 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 ในรูปแบบหุ้นส่วนมหาชน-เอกชน (Public Private Partnership: PPP) โดยให้รัฐบาลโดย รฟม. เป็นผู้ลงทุนจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในโครงการ และเอกชนเป็นผู้ลงทุนในงานโยธา ระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนดำเนินระบบรถไฟฟ้าและกิจการจนครบสัญญา

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู
อินโนเวีย โมโนเรล 300 ขณะทดลองเดินรถเสมือนจริงที่สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดให้บริการ
เจ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ที่ตั้งนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร
ปลายทาง
จำนวนสถานี30
เว็บไซต์www.mrta-pinkline.com nbm.co.th
การดำเนินงาน
รูปแบบรางเดี่ยว
ระบบรถไฟฟ้ามหานคร
ผู้ดำเนินงานบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด
(กลุ่มบีทีเอส)
(สัญญาสัมปทานโครงการสิ้นสุด พ.ศ. 2596)
ขบวนรถอัลสตอม อินโนเวีย โมโนเรล 300 (4 ตู้ต่อขบวน)
ประวัติ
เปิดเมื่อ7 มกราคม พ.ศ. 2567; 10 เดือนก่อน (2567-01-07)
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง34.5 กิโลเมตร (21.4 ไมล์) (est.)
ลักษณะทางวิ่งทางยกระดับ
ระบบจ่ายไฟรางที่สาม
ความเร็ว80 km/h (50 mph)
แผนที่เส้นทาง

: เตาปูนคลองบางไผ่
ศูนย์ราชการนนทบุรี
(โครงการ)
แคราย
สนามบินน้ำ
สามัคคี
กรมชลประทาน
แยกปากเกร็ด
เลี่ยงเมืองปากเกร็ด
แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28
ศรีรัช
เมืองทองธานี
อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ทะเลสาบเมืองทองธานี
แจ้งวัฒนะ 14
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ
โทรคมนาคมแห่งชาติ
หลักสี่
: กรุงเทพอภิวัฒน์รังสิต
ราชภัฏพระนคร
: เคหะฯคูคต
วัดพระศรีมหาธาตุ
รามอินทรา 3
ลาดปลาเค้า
รามอินทรา กม.4
มัยลาภ
(โครงการ): ท่าพระ
วัชรพล
รามอินทรา กม.6
คู้บอน
รามอินทรา กม.9
วงแหวนรามอินทรา
นพรัตน์
บางชัน
เศรษฐบุตรบำเพ็ญ
ตลาดมีนบุรี
: บางขุนนนท์ – แยกร่มเกล้า
มีนบุรี
ศูนย์ซ่อมบำรุง

เส้นทางสายนี้เกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2537 โดยเป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งมวลชนระบบรองที่ได้รับการบรรจุลงในแผนแม่บท แต่ในระยะแรกโครงการมีระยะทางรวมทั้งสิ้นเพียง 27 กิโลเมตร มีสถานีต้นทางอยู่ที่บริเวณแยกปากเกร็ด และได้ถูกนำออกไปเมื่อครั้งปรับปรุงแผนแม่บท พ.ศ. 2543 แต่ต่อมาได้มีนำกลับมาอีกครั้งใน พ.ศ. 2549 พร้อมขยายแนวเส้นทางมาตามแนวถนนติวานนท์ และย้ายต้นทางจากแยกปากเกร็ดมายังแยกแคราย เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และใน พ.ศ. 2554 ได้มีการพิจารณายกระดับโครงการขึ้นมาเป็นรถไฟฟ้ารางหนัก เนื่องจากพิจารณาภาพรวมแล้วโครงการมีเส้นทางที่ยาวมาก และเหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในเส้นทางดังกล่าว แต่แล้วสุดท้ายโครงการก็ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวตลอดทั้งโครงการ เนื่องจากเหมาะสมกับพื้นที่มากกว่า

ปัจจุบันมีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จากนั้นวิ่งขึ้นไปทางแยกปากเกร็ด แล้วเบี่ยงไปทางทิศตะวันออก ผ่านสถานีเมืองทองธานี แนวเส้นทางจะถูกแยกออกเป็นสองสาย โดยถือเป็นระบบขนส่งมวลชนทางรางสายแรกในประเทศไทยที่มีเส้นทางสายสาขา (branch line) ให้บริการ สายหนึ่งมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทราจนถึงสถานีตลาดมีนบุรี แนวเส้นทางจะเบี่ยงลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพื่อไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีมีนบุรีซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม อีกสายหนึ่งจะวิ่งย้อนกลับไปทางแยกปากเกร็ด ก่อนเบี่ยงเข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 เพื่อเข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองทองธานีอันเป็นชุมชนหนาแน่น และสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีทะเลสาบเมืองทองธานีบริเวณภายในศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นอื่น ๆ จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับสายฉลองรัชธรรม สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับสายธานีรัถยา สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับสายสุขุมวิท และสถานีมีนบุรี เชื่อมต่อกับสายสีส้ม

ภาพรวม

แก้

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูเป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างเป็นทางยกระดับเหนือพื้นดินตลอดโครงการ ดำเนินการโดย บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด บริษัทร่วมค้าของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ที่มี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ได้รับสัมปทานโครงการในการร่วมทุนก่อสร้างและดำเนินการเชิงพาณิชย์ หรือ PPP-Net Cost ภายในกรอบระยะเวลา 33 ปี 3 เดือน จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งเหนือเป็นส่วนใหญ่ ตลอดจนพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนนทบุรี เริ่มต้นเส้นทางจากบริเวณแยกแครายซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม วิ่งไปทางทิศตะวันออกแล้วเลี้ยวซ้ายขึ้นเหนือตามแนวถนนติวานนท์จนถึงบริเวณแยกปากเกร็ด แนวเส้นทางจะมุ่งไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อผ่านทางพิเศษศรีรัช แนวเส้นทางจะแยกออกเป็นสองสาย โดยสายหลักจะมุ่งหน้าต่อเพื่อเข้าเขตกรุงเทพมหานครหลังพ้นแยกคลองประปา เมื่อพ้นวงเวียนหลักสี่ที่เป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท แนวเส้นทางจะยังคงมุ่งไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนรามอินทรา และถนนสีหบุรานุกิจจนถึงตลาดมีนบุรี แล้วเส้นทางจะเบี่ยงขวาลงไปหาถนนรามคำแหง เพื่อสิ้นสุดที่แยกรามคำแหง-ร่มเกล้า อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม รวมระยะทาง 36 กิโลเมตร และอีกสายหนึ่งจะวิ่งย้อนกลับขึ้นไปทางปากเกร็ดก่อนเข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 หรือซอยเข้าศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เพื่อเข้าสู่ใจกลางเมืองทองธานีอันเป็นที่ตั้งของศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร

พื้นที่ที่เส้นทางระบบขนส่งมวลชนผ่าน

แก้
ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต จังหวัด
บางกระสอ, ท่าทราย เมืองนนทบุรี นนทบุรี
บางตลาด, ปากเกร็ด, คลองเกลือ, บ้านใหม่ ปากเกร็ด
ทุ่งสองห้อง, ตลาดบางเขน หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
อนุสาวรีย์, ท่าแร้ง บางเขน
รามอินทรา, คันนายาว คันนายาว
มีนบุรี มีนบุรี

แนวเส้นทาง

แก้

จุดต้นทางของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถนนรัตนาธิเบศร์ แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์ แนวเส้นทางจะวิ่งไปตามเกาะกลางถนนติวานนท์จนถึงแยกปากเกร็ดแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งมีโครงการก่อสร้างสายแยกเข้าศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานีด้วย ผ่านทางแยกต่างระดับแจ้งวัฒนะ โดยลอดใต้จุดเชื่อมต่อระหว่างทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษอุดรรัถยา ข้ามคลองประปาเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ผ่านศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มที่สถานีหลักสี่ลอดใต้ทางยกระดับอุตราภิมุข และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามถนนรามอินทรา ผ่านข้ามทางพิเศษฉลองรัชบริเวณแยกวัชรพล ข้ามทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 หรือวงแหวนรอบนอกตะวันออกจนถึงทางแยกเมืองมีนแล้ววิ่งเข้าสู่เขตมีนบุรี ตามแนวถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงสะพานข้ามคลองสามวา ก็จะเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบ และข้ามถนนรามคำแหงมาสิ้นสุดสถานีปลายทางที่บริเวณใกล้แยกรามคำแหง-ร่มเกล้า ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม โดยในอนาคตมีแผนศึกษาส่วนต่อขยายจากมีนบุรีไปยังย่านลาดกระบัง และเชื่อมต่อการเดินทางสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยใช้แนวถนนร่มเกล้า

แผนที่เส้นทาง

 

รายชื่อสถานี

แก้
ชื่อและสีของสถานี รหัสสถานี จุดเปลี่ยนเส้นทาง วันที่เปิดให้บริการ ที่ตั้ง
เส้นทางหลัก ศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี
ศูนย์ราชการนนทบุรี PK01 สายสีม่วง สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
สายสีน้ำตาล สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (โครงการ)
7 มกราคม พ.ศ. 2567 นนทบุรี
แคราย PK02
สนามบินน้ำ PK03
สามัคคี PK04
กรมชลประทาน PK05
แยกปากเกร็ด PK06  เรือด่วนเจ้าพระยา  ท่าเรือปากเกร็ด
เลี่ยงเมืองปากเกร็ด PK07
แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 PK08
ศรีรัช PK09
เมืองทองธานี PK10 สายแยกเมืองทองธานี-อิมแพ็ค
แจ้งวัฒนะ 14 PK11 กรุงเทพมหานคร
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ PK12
โทรคมนาคมแห่งชาติ PK13
หลักสี่ PK14 สายสีแดงเข้ม สถานีหลักสี่
ราชภัฏพระนคร PK15
วัดพระศรีมหาธาตุ PK16 สายสุขุมวิท (สถานีร่วม)
รามอินทรา 3 PK17
ลาดปลาเค้า PK18
รามอินทรา กม. 4 PK19
มัยลาภ PK20
วัชรพล PK21 สายสีเทา สถานีวัชรพล (โครงการ)
รามอินทรา กม. 6 PK22
คู้บอน PK23
รามอินทรา กม. 9 PK24
วงแหวนรามอินทรา PK25
นพรัตน์ PK26
บางชัน PK27
เศรษฐบุตรบำเพ็ญ PK28
ตลาดมีนบุรี PK29
มีนบุรี PK30 สายสีส้ม (สถานีร่วม) (กำลังก่อสร้าง)
เส้นทางแยก เมืองทองธานี-อิมแพ็ค
เมืองทองธานี PK10 สายหลักศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี 3 มิถุนายน พ.ศ. 2568 นนทบุรี
อิมแพ็ค เมืองทองธานี MT01
ทะเลสาบเมืองทองธานี MT02

การเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น

แก้

เส้นทางคมนาคมทางราง

แก้

รถไฟฟ้าชานเมือง

แก้

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้าชานเมือง ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

รหัสสถานี สถานีรถไฟฟ้ามหานคร สถานีรถไฟฟ้าชานเมือง หมายเหตุ
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว
PK14 สถานีหลักสี่ สายสีแดงเข้ม : สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อด้วยสะพานลอยข้ามถนนวิภาวดีรังสิต

รถไฟฟ้าบีทีเอส

แก้

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

รหัสสถานี สถานีรถไฟฟ้ามหานคร สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมายเหตุ
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว
PK16 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สายสุขุมวิท : สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เป็นสถานีร่วมกับระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท

รถไฟฟ้ามหานคร

แก้

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้ามหานคร ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

รหัสสถานี สถานีรถไฟฟ้ามหานคร รหัสสถานี สถานีรถไฟฟ้ามหานคร หมายเหตุ
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว
PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี PP11 สายสีม่วง : สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อโดยทางเดินยกระดับ
จุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีในอนาคต
PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี BR01 สายสีน้ำตาล : สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อโดยทางเดินยกระดับ
PK21 สถานีวัชรพล GL01 สายสีเทา : สถานีวัชรพล

เส้นทางคมนาคมทางน้ำ

แก้

ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังเรือโดยสารต่างๆ ได้ที่สถานีดังต่อไปนี้

ทางเดินเข้าอาคาร

แก้

ในบางสถานีผู้โดยสารสามารถเดินจากสถานีไปยังอาคารต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้ดังนี้

รูปแบบของโครงการ

แก้
 
รถไฟฟ้ารางเดี่ยว แบบวางคร่อมราง 2 ทางวิ่ง
  • เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว แบบวางคร่อมราง (Straddle-Beam Monorail)
  • ทางวิ่ง ยกระดับที่ความสูง 17-20 เมตร โดยเฉลี่ยตลอดทั้งโครงการ ยกเว้นช่วงสถานีศรีรัช สถานีหลักสี่ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และสถานีมีนบุรียกสูง 5 เมตร และช่วงข้ามทางพิเศษฉลองรัชยกสูง 27 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่สูงสุดของโครงการ
  • คานรองรับทางวิ่ง (Guideway Beam) เป็นคอนกรีตหล่อสำเร็จ ควบคู่กับการใช้เหล็กหล่อในบางช่วง มีความกว้าง 69 เซนติเมตร สูง 2 เมตร มีรางที่ 3 ตีขนานไปกับรางวิ่งสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับตัวรถ

ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ

แก้

โครงการมีศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถอยู่บริเวณถนนร่มเกล้า ใกล้กับแยกรามคำแหง-ร่มเกล้า ในพื้นที่เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีมีนบุรี

สิ่งอำนวยความสะดวก

แก้

มีอาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) ที่สถานีปลายทาง (มีนบุรี) ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม สามารถจอดรถได้สูงสุด 3,000 คัน

สถานี

แก้
 
สถานีตลาดมีนบุรี

มีสถานีทั้งหมด 32 สถานี เป็นสถานียกระดับทั้งหมด

รูปแบบสถานี

ตัวสถานีมีความยาว 150 เมตร ออกแบบให้รองรับขบวนรถไฟฟ้าได้สูงสุด 7 ตู้ต่อหนึ่งขบวน โดยมีรูปแบบชานชาลาถึงสี่รูปแบบในโครงการเดียว ดังต่อไปนี้

ตัวสถานีออกแบบให้มีประตูกั้นชานชาลาแบบครึ่งความสูงทุกสถานี หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึงออกแบบให้รักษาสภาพผิวจราจรบนถนนให้ได้มากที่สุด และมีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางถนน และบริเวณพื้นที่ว่างในบางสถานี

ขบวนรถไฟฟ้า

แก้
 
รถไฟฟ้าโมโนเรล รุ่น อัลสตอม อินโนเวีย โมโนเรล 300 หมายเลข PM12

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เลือกใช้รถไฟฟ้ารุ่น อินโนเวีย โมโนเรล 300 จากอัลสตอม (บอมบาร์ดิเอร์ เดิม) ผลิตโดยซีอาร์อาร์ซี ผู่เจิ้น อัลสตอม ทรานสปอร์เทชัน ซิสเท็ม (CRRC-PATS) ในมณฑลอานฮุย ประเทศจีน ขนาดกว้าง 3.147 เมตร ยาว 11.8-13.2 เมตร สูง 4.06 เมตร (เมื่อคร่อมรางทั้งหมด) จุผู้โดยสารสูงสุด 356 คนต่อตู้ (คำนวณจากอัตราความหนาแน่นที่ 4 คน/ตารางเมตร) มีทั้งหมด 30 ขบวน 120 ตู้ รับไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลท์ จากรางที่ 3 ที่ติดตั้งด้านข้างคานรองรับทางวิ่งเพื่อป้อนระบบขับเคลื่อนรถ ตัวยางล้อใช้ยางรุ่น เอ็กซ์ เมโทร จากมิชลิน ประเทศไทย ติดตั้งระบบระบบปรับอากาศและสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ในอนาคตสามารถเพิ่มจำนวนตู้โดยสารเป็น 7 ตู้ต่อขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ขบวนรถสามารถขับเคลื่อนจากจุดจอดแต่ละสถานีได้เองโดยไม่ต้องใช้คนควบคุมหรือสั่งการ

ระบบในการเดินรถ

แก้

ในการเดินรถไฟฟ้าได้นำระบบอาณัติสัญญาณ CITYFLO 650 ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการควบคุมการเดินรถโดยอัตโนมัติ เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพ, สะดวกรวดเร็ว, ปลอดภัยสูงสุด และรองรับการเดินรถไฟฟ้าแบบไม่ใช่คนควบคุมขบวนรถ (Driverless Operation)

การให้บริการ

แก้

การดำเนินการ

แก้

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูใช้วิธีการมอบสัมปทานทั้งโครงการให้เป็นของเอกชนรายเดียวที่เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำที่สุด โดยสัมปทานเป็นของ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (Northern Bangkok Monorail; NBM) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เดิม) ระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน แบ่งเป็นระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน (39 เดือน) และดำเนินการงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง 30 ปี โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบคือ ซิโน-ไทย เป็นผู้ดำเนินการงานโยธาทั้งหมดของโครงการ รวมถึงเป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลจากอัลสตอม และได้จดสิทธิบัตรเป็นของบริษัทฯ ใน พ.ศ. 2562 ราช กรุ๊ป เป็นผู้สนับสนุนการติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในโครงการ และบีทีเอส กรุ๊ป เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในโครงการสูงสุด เป็นผู้ติดตั้งงานระบบที่เกี่ยวข้อง และเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว โดยเอ็นบีเอ็มใช้วิธีการว่าจ้างให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้งระบบตลอดอายุสัญญา ในส่วนของการพัฒนาและบริหารพื้นที่บนสถานีและป้ายโฆษณาบนสถานีและบนตัวรถ เป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) ตลอดอายุสัญญาสัมปทานเช่นกัน

การให้บริการปกติ

แก้

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เปิดให้บริการเดินรถในแต่ละสถานีไม่เท่ากัน โดยเริ่มเดินรถขบวนแรกในเวลา 05.30 น. จากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และสถานีมีนบุรี แต่เปิดทำการห้องจำหน่ายบัตรโดยสารในเวลา 06.00 - 24.00 น. (ปิดรับชำระด้วยบัตรเครดิตเวลา 22.00 น.) โดยมีความถี่การเดินรถปกติที่ 10 นาที/ขบวน และ 5 นาที/ขบวนในช่วงเวลาเร่งด่วน ในส่วนของเวลาปิดให้บริการตามปกติ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จะมีขบวนรถไฟฟ้าวิ่งรับส่งผู้โดยสารจนถึงเวลา 00.45 น.

อัตราค่าโดยสาร

แก้
 
เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยจะจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทางที่เดินทางจริงตั้งแต่สถานีเริ่มต้นที่ผู้โดยสารเข้าระบบ (สถานีที่ 0) จนถึงสถานีปลายทาง ซึ่งผู้โดยสารจะมีระยะเวลาอยู่ในระบบได้ไม่เกิน 120 นาที หากเกินจากเวลาที่กำหนดจะต้องชำระค่าปรับเป็นอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรลเรียกเก็บในขณะนั้น อนึ่งอัตราค่าโดยสารที่ประกาศเรียกเก็บมีอายุ 2 ปีนับจากวันที่ 7 มกราคมของปีที่มีประกาศปรับอัตราค่าโดยสารเป็นลายลักษณ์อักษรจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จนถึงวันที่ 6 มกราคมในอีก 2 ปีถัดมา หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงจาก รฟม. โดยรอบการปรับค่าโดยสารเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2567 นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล เรียกเก็บอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15-45 บาท

กรณีเดินทางจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) และสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ภายใต้เงื่อนไขบัตรโดยสารแบบ EMV ใบเดียวกัน ผู้โดยสารจะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าระบบ และจ่ายอัตราค่าโดยสารเพิ่มตามระยะทาง โดยที่ผู้โดยสารที่เดินทางจากสายสีชมพูไปสายสีม่วง จะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าของสายสีม่วง 14 บาท และผู้โดยสารที่เดินทางจากสายม่วงไปสายสีชมพู จะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าของสายสีชมพู 15 บาท และเมื่อรวมกับค่าแรกเข้าของสายสีน้ำเงิน 14 บาท ผู้โดยสารจะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าสูงสุด 29 บาท ทั้งนี้ผู้โดยสารจะต้องชำระค่าโดยสารเต็มจำนวนทั้งสองระบบ และระบบของ รฟม. จะคืนเงินเข้าบัตรเครดิต/เดบิตให้ภายใน 3 วันทำการ โดยผู้โดยสารต้องแตะบัตรเข้าระบบอีกระบบหนึ่งภายในระยะเวลา 30 นาที นับจากเวลาที่แตะออกจากระบบ มิเช่นนั้นจะถือว่าสละสิทธิ์การเชื่อมต่อระบบในการเดินทางครั้งนั้น

ในส่วนของการเดินทางจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสีเขียว) ผู้โดยสารสามารถออกบัตรโดยสารเที่ยวเดียวจากสถานีในสายสีชมพูหรือจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือใช้บัตรแรบบิทในการเดินทาง จะสามารถเชื่อมต่อระหว่าง 2 ระบบได้ทันทีโดยไม่ต้องออกจากระบบที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ โดยผู้โดยสารต้องชำระค่าโดยสารของทั้งสองระบบเต็มจำนวน กล่าวคือค่าโดยสารของสายสีชมพูรวมกับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่หากผู้โดยสารเดินทางด้วยบัตร EMV Contactless จากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จะต้องออกจากระบบที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุก่อนแล้วใช้บัตรแรบบิทหรือบัตรโดยสารเที่ยวเดียวของรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้าระบบที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุอีกครั้งเพื่อเดินทางต่อ[1] หากผู้โดยสารไม่แตะบัตรออกจากระบบก่อน ผู้โดยสารจะถูกปรับในกรณีเดียวกันกับการอยู่ในระบบเกิน 120 นาที คือจะถูกหักค่าโดยสารในรูปแบบค่าปรับ คืออัตราค่าโดยสารสูงสุดที่นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรลเรียกเก็บในขณะนั้น รวมกับค่าโดยสารนับจากสถานีที่แตะเข้าระบบจนถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ อย่างไรก็ตามผู้โดยสารยังคงสามารถชำระค่าโดยสารในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเต็มจำนวน (นับจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุจนถึงสถานีปลายทาง) ได้ที่สถานีปลายทางโดยไม่เสียค่าปรับเพิ่มเติม

ทั้งนี้ นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล และ รฟม. มีนโยบายลดค่าโดยสารให้กับผู้ถือบัตรโดยสารแรบบิทแบบเติมเงิน ประเภทผู้สูงอายุ โดยลดค่าโดยสาร 50% จากอัตราปกติที่นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรลเรียกเก็บ กล่าวคือผู้ถือบัตรประเภทผู้สูงอายุจะเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 8-23 บาท คิดตามจริงตั้งแต่สถานีที่ 0 รวมกับระยะทางที่เดินทางจริง รวมถึงยังมีนโยบายสนับสนุนค่าโดยสารให้กับผู้รับสิทธิ์สวัสดิการแห่งรัฐ โดยผู้ได้รับสิทธิ์สามารถยื่นบัตรประชาชนเพื่อออกบัตรโดยสารได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ทั้งนี้ต้องไม่เกินงบค่าโดยสารสูงสุด 500 บาท/เดือน หากเกิน นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จะออกบัตรโดยสารที่มีมูลค่าต่ำสุด (15 บาท) ให้ผู้โดยสารแตะเข้าระบบ และผู้โดยสารต้องชำระส่วนต่างเพิ่ม ณ สถานีปลายทาง และไม่สามารถใช้สิทธิ์เชื่อมต่อระบบเพื่อรับสิทธิ์การยกเว้นค่าแรกเข้าในระบบที่สองได้

ผู้พิการ

แก้

การออกตั๋วโดยสารให้ผู้พิการ จะต้องออกตั๋วกระดาษ โดยเจ้าพนักงานของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ต้องเซ็นกำกับที่ตั๋วทุกครั้งและอาจต้องแสดงตั๋วกับพนักงานรักษาความปลอดภัยก่อนออกจากสถานีต้นทาง เมื่อถึงที่หมายจะมีเจ้าพนักงานหรือพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยรับผู้โดยสารบริเวณชานชาลาเพื่ออำนวยความสะดวกในการพาไปยังทางออกที่ต้องการ และมีเจ้าพนักงานมีอำนาจในการเปิดหรือปิดประตูรับตั๋วบริเวณทางออกซึ่งต้องเป็นเจ้าพนักงานของรถรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูเท่านั้น

การช่วยเหลือคนที่มีความต้องการพิเศษ

แก้

เจ้าพนักงานของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัยมีความเต็มใจที่จะช่วยเหลือผู้มีความพิการ อาทิการจูงผู้พิการทางสายตาไปยังสถานี การให้บริการติดตามผู้โดยสารที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น การสนับสนุนสะพานเชื่อมชานชาลา สำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยสำหรับรถเข็น การนำพาผู้โดยสารไปยังที่นั่งสำรองพิเศษภายในขบวนรถ หรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีโดยให้พนักงานเดินทางไปด้วย เช่นผู้โดยสารที่เดินทางครั้งแรก ฯลฯ เพียงแจ้งให้เจ้าพนักงานที่สถานีทราบเท่านั้น

นอกจากนี้ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ยังอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถนำสุนัขที่ได้รับการฝึกสำหรับนำทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าได้โดยไม่ถือเป็นการขัดต่อกฎการให้บริการฯ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยผู้โดยสารต้องแจ้งความประสงค์ให้เจ้าพนักงานที่สถานีรับทราบเพื่ออำนวยความสะดวกเป็นกรณีพิเศษ

อาคารจอดแล้วจร

แก้

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู มีบริการอาคารจอดรถและจุดจอดรถจักรยานยนต์ 1 แห่ง ได้แก่อาคารจอดรถบริเวณถนนรามคำแหง ให้บริการโดยบีทีเอสซี ผู้ที่ใช้บริการจะได้รับบัตรจอดรถซึ่งผู้โดยสารจะต้องแตะบันทึกส่วนลดที่สถานีมีนบุรี จากนั้นผู้โดยสารจะต้องนำบัตรมาคืนที่จุดคืนบัตรจอดรถอัตโนมัติ พร้อมชำระค่าจอดรถและรับรถคืนภายในเวลาที่กำหนด กล่าวคือเฉพาะเวลา 05.00-01.00 น. เท่านั้น แต่หากลืมแตะบัตรจะคิดในราคาเท่ากับผู้ไม่ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู คือ 20 บาทต่อชั่วโมง การจอดรถนานเกินช่วงเวลาดังกล่าวจะมีอัตราโทษปรับตามเกณฑ์ที่กำหนดในขณะนั้นๆ ปัจจุบันคือ 400 บาท รวมกับค่าจอดรถของวันที่มารับรถ เนื่องจากไม่รับฝากรถข้ามคืน อนึ่ง ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรแรบบิทแตะเข้าอาคารจอดแล้วจรสถานีมีนบุรีได้โดยไม่ต้องออกบัตรจอดรถ และสามารถใช้บัตรแรบบิทใบเดิม ชำระค่าจอดรถและนำรถออกจากอาคารจอดแล้วจรได้ทันที ทั้งนี้หากผู้โดยสารทำบัตรจอดรถหาย หรือทำบัตรแรบบิทที่ใช้เข้าจอดรถหาย จะต้องชำระค่าปรับในการนำรถออกจากอาคาร 400 บาท หากจอดรถค้างคืนด้วย จะต้องชำระเพียงค่าจอดรถค้างคืนตามอัตราที่บีทีเอสซีกำหนด

นอกจากอาคารจอดแล้วจร รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูยังมีพื้นที่จอดรถสำหรับการจอดรถรายวันให้ที่สถานีหลักสี่ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง และพื้นที่จอดรถเอกชนให้บริการตามสถานีต่าง ๆ อีกด้วย

บริการอื่น ๆ

แก้
  • ร้านค้า มีบริการร้านค้าขนาดย่อม ให้บริการโดยซุปเปอร์ เทอร์เทิลทุกสถานี ซึ่งรวมทั้งร้านค้าบริการ ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และมินิซูเปอร์มาร์เก็ต "เทอร์เทิล" กับร้านยา "เซฟดรัก" และร้านกาแฟ "เทอร์เทิล คอฟฟี" บริเวณชั้น Concourse และตู้จำหน่ายสินค้าบริเวณชานชาลา โดยรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูได้มีการอนุโลมให้ผู้โดยสารสามารถรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ซื้อจากร้านค้าภายในสถานีภายในบริเวณพื้นที่ตรวจบัตรโดยสารแล้วรวมถึงพื้นที่ชานชาลาได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำอาหารหรือเครื่องดื่มที่ยังรับประทานไม่เสร็จเข้าสู่ขบวนรถไฟฟ้า จนกว่าจะจัดเก็บให้มิดชิดก่อนเข้าสู่ขบวนรถไฟฟ้า
  • ตู้ถอนเงิน มีบริการตู้ถอนเงินในทุกสถานีจากหลากหลายธนาคาร
  • โทรศัพท์ โครงการได้ร่วมมือกับ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เอช ในการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย และวางเสาสัญญาณ 3จี 4จี และ 5จี ในสถานีและตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสำหรับให้บริการลูกค้าของแต่ละเครือข่าย

ส่วนต่อขยาย

แก้

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูมีส่วนต่อขยายสายทางจากสถานีเมืองทองธานี เป็นสายแยกเข้าสู่เมืองทองธานีในชื่อ "อิมแพ็คลิงก์" ซึ่งเป็นข้อเสนอพิเศษจากกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ โดยเส้นทางจะเริ่มจากสถานีเมืองทองธานี วิ่งเข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 (ซอยเข้าศูนย์ประชุมอิมแพ็ค) วิ่งในแนวกึ่งกลางของทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี และไปสิ้นสุดบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี รวมระยะทาง 3.7 กิโลเมตร มีสถานีทั้งสิ้น 2 สถานี คือ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2568[2]

นอกจากนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ยังได้ทำการศึกษาเส้นทางเดินรถเพิ่มเติมอีก 2 ส่วนเพื่อเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. บรรจุลงในแผนแม่บทโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่สอง (M-Map Phase 2) โดยเส้นทางส่วนต่อขยายที่ได้ศึกษา ส่วนแรกจะต่อขยายจากปลายสายทางบริเวณภายในศูนย์ซ่อมบำรุงออกมายังถนนร่มเกล้าตามแบบที่กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ได้สร้างเตรียมไว้ให้ แล้วมุ่งหน้าต่อบนถนนร่มเกล้า ตัดผ่านถนนเจ้าคุณทหาร ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ - ชลบุรี) ถนนลาดกระบัง เข้าสู่ถนนสุวรรณภูมิ 2 และสิ้นสุดที่อาคารรถโดยสาร (Bus Terminal) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะทาง 8.7 กิโลเมตร มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเพื่อให้ผู้โดยสารจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สามารถเดินทางเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครตอนเหนือได้อย่างรวดเร็ว และส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนต่อขยายของสายแยกอิมแพ็คลิงก์ จากปลายทางบริเวณสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี ไปตามแนวซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 เพื่อสิ้นสุดที่ปากทางถนนติวานนท์ ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูเข้าสู่ถนนติวานนท์ ตลอดจนภายในบริเวณซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนที่ประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น

อุบัติเหตุ

แก้

เหตุรางนำไฟฟ้าหลุดร่วง

แก้

เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ได้รับแจ้งมีเหตุรางเหล็กของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตกหล่นลงมาโดนรถยนต์เสียหายจำนวน 3 คันและมีเสาไฟฟ้าแรงสูงหักอีก 1 ต้น เหตุเกิดหน้าตลาดกรมชลประทาน ถนนติวานนท์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จึงไปตรวจสอบ พร้อมประสานเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ของรถไฟฟ้าเข้าตรวจสอบ[3][4] ต่อมา นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล แถลงถึงผลการตรวจสอบพบว่ารางดังกล่าวเป็นรางนำไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงมาเป็นระยะทางรวม 4.3 กิโลเมตร ตั้งแต่สถานีแครายถึงสถานีสามัคคี พบน็อตกับคลิปล็อกหลุดตามระยะทางเป็นจำนวนมาก และพบคราบเขม่าควันที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรหนึ่งจุด สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากอุบัติเหตุโดยประมาทเลินเล่อของผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ (บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน)) ที่ใช้รถเครนถอนเหล็กเข็มพืด (Sheet pile) ความยาวประมาณ 10 เมตรบริเวณปากซอยติวานนท์ 34 แล้วหัวเครนไปเกี่ยวเข้ากับรางนำไฟฟ้าพอดี จนทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และรางนำไฟฟ้าตกระดับ ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวบริษัทได้นำรถไฟฟ้าเปล่าวิ่งทดสอบประจำวัน แรงสั่นสะเทือนจึงส่งผลให้รางนำไฟฟ้าหลุดร่วงลงมา และด้วยความที่เป็นช่วงสับราง (Guide switch) ที่ใช้รางยาวพิเศษท่อนละ 12 เมตร จึงส่งผลให้รางนำไฟฟ้าตั้งแต่ช่วงสถานีแครายจนถึงสถานีสามัคคีหลุดร่วงลงมา และขบวนรถไฟฟ้าเสียหาย 1 ขบวนบริเวณขาแปรงรับไฟฟ้าและล้อนำราง

เบื้องต้น นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล คาดว่าการซ่อมแซมจะเกิดขึ้นได้หลังปีใหม่ เนื่องจากอะไหล่สำรองที่เตรียมไว้มีไม่พอประกอบกับติดช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ ทำให้การซ่อมบำรุงไม่สามารถดำเนินการได้ในทันที และเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้เป็นช่วงทดลองให้บริการ นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล และ รฟม. ได้ตกลงที่จะเลื่อนการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์และการเก็บค่าโดยสารจากเดิมในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2567 โดยจัดเก็บค่าโดยสารเฉพาะช่วงกรมชลประทาน-มีนบุรี ในอัตราพิเศษลด 15% จากอัตราปกติ (เริ่มต้น 13 บาท สูงสุด 38 บาท) ส่วนช่วงศูนย์ราชการนนทบุรี-กรมชลประทานจะยังไม่จัดเก็บค่าโดยสารจนกว่าการซ่อมบำรุงจะเสร็จสิ้น (ยกเว้นการเข้า-ออกสถานีกรมชลประทานสถานีเดียว ผู้โดยสารต้องชำระค่าผ่านระบบ 13 บาท) ทั้งนี้ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ได้ปรับรูปแบบการให้บริการแบ่งเป็นสองช่วง ได้แก่ช่วงสถานีมีนบุรี-สถานีกรมชลประทาน ให้บริการตามปกติทั้ง 2 ชานชาลา ความถี่ 10 นาที/ขบวน นอกช่วงเวลาเร่งด่วน และ 5 นาที/ขบวน ในช่วงเวลาเร่งด่วน และช่วงสถานีกรมชลประทาน-สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ให้บริการแบบ Shuttle Train โดยใช้เพียงชานชาลาเดียว ความถี่ 20 นาที/ขบวน[5]

กระทรวงคมนาคม รฟม. และ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล ได้ร่วมตรวจความพร้อมการให้บริการหลังซ่อมแซมรางนำกระแสไฟฟ้า โดยได้ข้อสรุปสำหรับการเปิดบริการครบทั้ง 30 สถานี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป[6]

เหตุรถไฟฟ้าหยุดวิ่งและประตูรถเปิดเองก่อนถึงสถานี

แก้

4 ก.ค.2567 เวลา 6:05 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แจ้งว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เกิดเหตุรถไฟฟ้าหมายเลข 26 ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ระหว่าง รามอินทรา3 (PK17)- ลาดปลาเค้า(PK18) มุ่งหน้าสถานีมีนบุรี อยู่ระหว่างการแก้ไข และมีขบวนที่ 10 ในเวลา 7:04 ออกตัวจากสถานีลาดปลาเค้าหลังจากที่เปลี่ยนขบวน ได้หยุดกระทันหัน และประตูฝั่งถนนมีการเปิดผิดพลาดระหว่างตอนที่หยุด ทำให้ผู้โดยสารหวาดระแวง โดยเอ็นบีเอ็มแจ้งปรับรูปแบบการเดินรถชั่วคราว โดยจัดรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถึงสถานีปลายทางมีนบุรี สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปสถานีปลายทางศูนย์ราชการนนทบุรี และสถานีปลายทางมีนบุรี กรุณาเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีลาดปลาเค้า และสถานีวัชรพล

จากการสอบสวนในเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่าเหตุดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบ แต่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของผู้โดยสารรวมกับความผิดพลาดในการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ กล่าวคือในช่วงเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ควบคุมขบวนรถได้แจ้งหยุดรถฉุกเฉิน สืบเนื่องจากหลังขบวนรถออกจากสถานีลาดปลาเค้า เจ้าหน้าที่ได้ยินเสียงกระทบกระทั่งดังบริเวณข้างรถ และพบเห็นผู้โดยสารกำลังดึงอะไรบางอย่างให้ติดไว้กับประตู เมื่อสังเกตออกไปนอกหน้าต่างจึงเห็นว่าเป็นกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารรายดังกล่าวติดประตูอยู่ด้านนอกขบวนรถ จึงได้แจ้งหยุดการเดินรถทั้งระบบเพื่อเตรียมการแก้ไข เดิมทีเจ้าหน้าที่วางแผนการแก้ไขด้วยวิธีการนำขบวนรถถอยกลับเข้าสู่สถานีลาดปลาเค้าด้วยระบบอัตโนมัติ แล้วสั่งเปิดประตูเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถดึงสัมภาระที่ติดอยู่กลับมาได้อย่างปลอดภัย แต่เป็นเพราะความผิดพลาดในการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ชัดเจน ทำให้ศูนย์สั่งการทำการสั่งเปิดประตูรถก่อนที่ขบวนรถจะถอยกลับถึงสถานี ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อผู้โดยสารที่มาใช้บริการ

จากการสอบสวนโดยละเอียดร่วมกับวิศวกรของอัลสตอม ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ เนื่องจากส่วนที่ติดกับประตูคือสายสะพายกระเป๋า ซึ่งมีความหนาที่ไม่มากพอที่ระบบอัตโนมัติของขบวนรถจะสั่งเปิดประตูฉุกเฉิน ทำให้ขบวนรถเข้าใจว่าประตูรถปิดสนิทก่อนสั่งเดินรถตามปกติ จากเหตุการณ์นี้เอ็นบีเอ็มร่วมกับอัลสตอมจะร่วมกับปรับระบบรถไฟฟ้าให้สามารถป้องกันสายสะพายติดบริเวณประตูเป็นการเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นในอนาคต

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้