แขวงทุ่งสองห้อง
ทุ่งสองห้อง เป็นแขวงหนึ่งของเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
แขวงทุ่งสองห้อง | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Khwaeng Thung Song Hong |
แผนที่เขตหลักสี่ เน้นแขวงทุ่งสองห้อง | |
ประเทศ | ไทย |
เขตปกครองพิเศษ | กรุงเทพมหานคร |
เขต | หลักสี่ |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 16.886 ตร.กม. (6.520 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566)[2] | |
• ทั้งหมด | 71,650 คน |
• ความหนาแน่น | 4,243.16 คน/ตร.กม. (10,989.7 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 10210 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 104101 |
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้แขวงทุ่งสองห้องมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้[3]
- ทิศเหนือ ติตต่อกับแขวงดอนเมือง (เขตดอนเมือง) มีคลองตาอูฐ (ไผ่เขียว) เป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงสนามบิน (เขตดอนเมือง) และแขวงตลาดบางเขน (เขตหลักสี่) มีคลองเปรมประชากรเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศใต้ ติดต่อกับแขวงลาดยาว (เขตจตุจักร) มีคลองบางเขนเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลบางเขน ตำบลท่าทราย (อำเภอเมืองนนทบุรี) ตำบลบางตลาด ตำบลคลองเกลือ และตำบลบ้านใหม่ (อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี) มีคลองประปาเป็นเส้นแบ่งเขต
ประวัติ
แก้ในระยะแรกของการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล แขวงทุ่งสองห้องมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอตลาดขวัญ แขวงเมืองนนทบุรี (ต่อมาเรียกว่าจังหวัดนนทบุรี) จากนั้นได้ย้ายมาขึ้นกับอำเภอปากเกร็ดซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด ในช่วงที่อยู่ในท้องที่ปกครองของจังหวัดนนทบุรีนี้ เอกสารราชการต่าง ๆ เรียกชื่อตำบลนี้แตกต่างกันสองแบบ ได้แก่ ตำบลสองห้อง[4] และ ตำบลทุ่งสองห้อง[5]
ต่อมาได้มีการขุดคลองประปาจากเชียงรากมายังสามเสนจนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2456 ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่ การปกครอง และการติดต่อราชการระหว่างตำบลทุ่งสองห้องกับท้องที่อื่นของอำเภอปากเกร็ดซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของคลอง ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ทางราชการจึงได้เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดนนทบุรีกับจังหวัดพระนคร โดยโอนตำบลทุ่งสองห้องจากอำเภอปากเกร็ด และหมู่ที่ 1–3 (ในขณะนั้น) ของตำบลลาดโตนดจากอำเภอนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มาขึ้นกับอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร[6] จากนั้นในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480 ก็ได้โอนหมู่ที่ 6 (ในขณะนั้น) ของตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด, หมู่ที่ 1 (ในขณะนั้น) ของตำบลท่าทราย อำเภอนนทบุรี และหมู่ที่ 1 และ 3 (ในขณะนั้น) ของตำบลลาดโตนด อำเภอนนทบุรี เฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตหวงห้ามของคลองประปาฝั่งตะวันตกมาขึ้นกับตำบลทุ่งสองห้องด้วย[7] ภายหลังตำบลลาดโตนดส่วนที่อยู่ในอำเภอบางเขนทั้งหมดได้ถูกยุบรวมเข้ากับตำบลทุ่งสองห้อง
ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2506 กระทรวงมหาดไทยได้ขยายเขตสุขาภิบาลบางเขน (อนุสาวรีย์) ให้ครอบคลุมถึงตำบลทุ่งสองห้อง[8] จนกระทั่งในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2514 จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีถูกรวมเข้าด้วยกันเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี[9] และในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 นครหลวงกรุงเทพธนบุรีได้รับการจัดตั้งเป็นกรุงเทพมหานคร[10] ซึ่งมีการเปลี่ยนคำเรียกหน่วยการปกครองด้วย ตำบลทุ่งสองห้องจึงเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น แขวงทุ่งสองห้อง และอยู่ในเขตการปกครองของเขตบางเขน
ในเวลาต่อมาปรากฏว่าเขตบางเขนมีความเจริญเพิ่มขึ้นและมีประชากรหนาแน่นขึ้น ประกอบกับท้องที่บางแห่งอยู่ไกลจากสำนักงานเขต ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2532 กระทรวงมหาดไทยจึงเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบางเขนและจัดตั้งเขตดอนเมืองโดยให้มีแขวงทุ่งสองห้อง แขวงสีกัน และแขวงตลาดบางเขนอยู่ในท้องที่ปกครองของเขต เพื่อประโยชน์ในการบริหารและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน[11] อย่างไรก็ตาม หลังจากแบ่งเขตใหม่แล้ว เขตดอนเมืองยังคงมีท้องที่กว้างขวางและมีประชากรหนาแน่น ประกอบกับความเจริญทางด้านสาธารณูปโภคได้หลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 กระทรวงมหาดไทยจึงเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตดอนเมืองและจัดตั้งเขตหลักสี่ โดยโอนแขวงทุ่งสองห้องมาขึ้นกับเขตที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ด้วย[12]
การคมนาคม
แก้- ถนนงามวงศ์วาน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 302)
- ถนนแจ้งวัฒนะ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304)
สถานที่สำคัญ
แก้- ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
- สถาบันพระปกเกล้า
- สถาบันวิทยาการตลาดทุน
- สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- สำนักงานเขตหลักสี่
- วิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม (ศูนย์บริการการศึกษากรุงเทพฯ)
- มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
- โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ
- กองบัญชาการกองทัพไทย
- บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
- การประปานครหลวง
- กรมการกงสุล
- โรงเรียนราชวินิตบางเขน
- ศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษ
- มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก[13]
อ้างอิง
แก้- ↑ กองยุทธศาสตร์บริหารจัดการ. สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล. กรุงเทพมหานคร. "จำนวนประชากร พื้นที่ ความหนาแน่น จำนวนบ้าน จำแนกตามแขวง ในเขตกรุงเทพมหานคร 2563." สถิติกรุงเทพมหานครประจำปี 2563.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "สถิติจำนวนประชากรและบ้าน สถิติจำนวนประชากรและบ้าน ข้อมูล ปี 2566 พื้นที่ เขตหลักสี่." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statyear/#/TableTemplate4/Area/statpop?yymm=66&ccDesc=กรุงเทพมหานคร&topic=statpop&ccNo=10&rcodeNo=1041&rcodeDesc=เขตหลักสี่ 2566. สืบค้น 21 กุมภาพันธ์ 2567.
- ↑ "ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง พื้นที่แขวงทุ่งสองห้อง และเปลี่ยนแปลงพื้นที่แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (พิเศษ 121 ง): 42–44. 24 ธันวาคม 2540.
- ↑ เช่นในประกาศบอกล่วงน่าจะแจกโฉนดสำหรับที่ดินในทุ่งบ้านสองห้อง อำเภอตลาดขวัญ แขวงเมืองนนทบุรี
- ↑ เช่นในประกาศกำหนดเขตร์ตำบลแลเขตร์อำเภอบางเขน กรุงเทพฯ
- ↑ "ประกาศ โอนตำบลลาดโตนด อำเภอนนทบุรี และตำบลทุ่งสองห้อง อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มาขึ้นอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 49: 475–476. 26 ตุลาคม 2475.
- ↑ "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตต์จังหวัด พุทธศักราช ๒๔๗๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 54: 40–54. 1 เมษายน 2480. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-16. สืบค้นเมื่อ 2021-12-29.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลอนุสาวรีย์ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 80 (109): 2517–2518. 12 พฤศจิกายน 2506.
- ↑ "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 88 (พิเศษ 144 ก): 816–824. 21 ธันวาคม 2514. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-04-25. สืบค้นเมื่อ 2021-12-29.
- ↑ "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 89 (พิเศษ 190 ก): 187–201. 13 ธันวาคม 2515.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบางเขนและตั้งเขตดอนเมืองและเขตจตุจักร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 106 (155 ง): 17. 16 กันยายน 2532. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-06-09. สืบค้นเมื่อ 2021-12-29.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตดอนเมืองและตั้งเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (พิเศษ 108 ง): 2–5. 18 พฤศจิกายน 2540.
- ↑ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก