โทรคมนาคมแห่งชาติ

บริษัทโทรคมนาคมของประเทศไทย

บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักทั่วไปในชื่อย่อว่า เอ็นที เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดูแลการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศไทยในรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง กสท โทรคมนาคม และทีโอที เพื่อลดการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกัน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด[2]

บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
National Telecom Public Company Limited

อาคารเอ็นที บางรัก, กรุงเทพฯ อดีตสำนักงานของ กสท โทรคมนาคม
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง7 มกราคม พ.ศ. 2564 (2 ปี)
ผู้ก่อตั้งรัฐบาลไทย
หน่วยงานก่อนหน้า
สำนักงานใหญ่99 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
คำขวัญสร้างอนาคต ด้วยเทคโนโลยี
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
ต้นสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เว็บไซต์https://www.ntplc.co.th

ประวัติ แก้

ก่อนการควบรวมกิจการ แก้

แนวคิดในการควบรวมทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เข้าด้วยกัน เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ในสมัยที่ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ปัจจุบันคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยเห็นควรให้ทั้ง 2 หน่วยงานควบรวมกันเพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน, เพิ่มศักยภาพขององค์กรในการแข่งขันกับเอกชน และเพื่อความอยู่รอดขององค์กร แต่ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 หน่วยงานที่เล็งเห็นผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ จึงพับโครงการไป[3][4] ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติให้ทั้ง 2 หน่วยงานจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อแยกธุรกิจบางส่วนที่ทั้ง 2 หน่วยงานลงทุนและดำเนินงานซ้ำซ้อนกันออกมาต่างหาก ดังนี้

  • ทีโอที จัดตั้ง บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (National Broadband Network; NBN) เพื่อให้บริการค้าส่งบรอดแบนด์และโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีสินทรัพย์ ได้แก่ โครงข่ายหลัก ระบบสื่อสัญญาณ จนถึงโครงข่ายสายตอนนอก และเคเบิลใยแก้วนำแสง
  • กสท โทรคมนาคม จัดตั้ง บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (Neutral Gateway & Data Center; NGDC) เพื่อให้บริการบรอดแบนด์ระหว่างประเทศเป็นหลัก รวมทั้งศูนย์บริการข้อมูล โดยมีสินทรัพย์ที่อยู่นอกประเทศ ได้แก่ สถานีเคเบิลใยแก้วใต้น้ำทั้งในและระหว่างประเทศ เคเบิลภาคพื้นดินระหว่างประเทศ รวมทั้งโครงข่ายขนส่งข้อมูลทั้งในและระหว่างประเทศ[5]

แต่มติดังกล่าวก็ยังคงถูกคัดค้านจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 หน่วยงานเช่นเดิม เนื่องจากเห็นว่าจะมีผลกระทบหลายด้าน และไม่ได้แก้ปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงานอย่างจริงจัง รวมถึงเป็นการเพิ่มบริษัทสำหรับดำเนินงานโทรคมนาคมของรัฐโดยไม่จำเป็น[6] แต่ต่อมา ทั้งทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม ก็ได้ทยอยโอนย้ายพนักงานไปทำงานที่บริษัทลูก

การควบรวมกิจการ แก้

ในปี พ.ศ. 2561 ได้มีการเสนอให้กลับมาใช้แนวทางเดิมของปี พ.ศ. 2545 โดยการควบรวมกิจการของทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เข้าด้วยกัน[3] ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานก็เห็นตรงกันกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ก็ยังมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับวิธีการควบรวมและระยะเวลา จนกระทั่งวันที่ 12 กันยายน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้มีมติให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงานควบรวมกิจการกันแล้วตั้งเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และทั้ง 2 หน่วยงาน จัดทำรายละเอียดในการควบรวมกิจการให้ครบถ้วนเพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป พร้อมทั้งให้ยุบบริษัทลูกทั้ง NBN และ NGDC และให้พนักงานของทั้ง 2 บริษัทกลับเข้าทำงานที่ต้นสังกัดเดิม[7]

ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเห็นชอบในหลักการควบรวมกิจการของทีโอที และ กสท โทรคมนาคม และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป[8] และในที่สุด วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียวในชื่อ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom; NT) และมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด และให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ซึ่งถือเป็นการยุบบริษัทลูกทั้ง NBN และ NGDC อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำกับดูแลดำเนินการควบรวมกิจการของทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม ให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด คือภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ ครม. มีมติ คือวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563[9] แต่ต่อมาก็มีแนวโน้มที่จะขอเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ขยายเวลาควบรวมออกไปอีก 6 เดือน คือเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้กระบวนการเอกสารบางอย่างที่จำเป็นต้องจัดส่งไปยังต่างประเทศ เช่น การแจ้งหนังสือถึงเจ้าหนี้เป็นลายลักษณ์อักษร เกิดการติดขัด เป็นต้น[10]

ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติรับทราบความคืบหน้าในการควบรวมกิจการ และการใช้ชื่อบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited; NT Plc.) และเห็นชอบในการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขอขยายเวลาการควบรวมกิจการออกไป โดยให้เวลาเพิ่มจากวันครบกำหนดเดิมไม่เกิน 6 เดือน คือภายในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยหากมีความจำเป็นที่จะต้องขอขยายเวลาการดำเนินการควบรวมกิจการ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งรัดการดำเนินการเสนอเรื่องการขอขยายเวลาดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีล่วงหน้าก่อนครบกำหนด[11]

ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้พูดคุยกับพนักงานและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้งทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เพื่อสื่อสารการขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน และรวมถึงการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องให้พนักงานรับทราบและ/หรือซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์กรใหม่สำหรับการรับมือการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยด้วย และได้กำหนดวันจดทะเบียนจัดตั้ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ อย่างสมบูรณ์เป็นวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564[12] และในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564 ทีโอทีก็ได้ประกาศปิดปรับปรุงระบบการชำระเงินของศูนย์บริการลูกค้าทุกแห่งทั่วประเทศในเช้าวันที่ 7 มกราคม เพื่อรองรับการควบรวมกิจการกับ กสท โทรคมนาคม ในครั้งนี้[13] ส่วนในวันที่ 6 มกราคม กสท โทรคมนาคม ก็ได้ประกาศปิดปรับปรุงระบบการชำระเงินของสำนักงานบริการลูกค้าและจุดรับชำระเงินในช่วงเช้าของวันที่ 7 มกราคมเช่นกัน[14]

ต่อมาในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นทั้งหมดของทั้งทีโอที กสท โทรคมนาคม และ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้เห็นชอบการควบรวมกิจการระหว่างทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ[15] โดยมีทุนจดทะเบียนจาก กสท โทรคมนาคม 10,000 ล้านบาท[16] และจากทีโอที 6,000 ล้านบาท[17] รวมทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 16,000 ล้านบาท[18] ต่อจากนั้นในวันที่ 7 มกราคม คณะกรรมการของทั้งทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ได้เดินทางไปจดทะเบียนจัดตั้ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถัดมาในเวลา 10:00 น. พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัว บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ แก่สื่อมวลชนภายในหอประชุม และในเวลา 15:00 น. ได้เป็นประธานประกอบพิธีเปิด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) อย่างเป็นทางการที่หน้าห้องจัดเลี้ยง ภายในอาคารสโมสร ในสำนักงานใหญ่ของ กสท โทรคมนาคมเดิม เป็นการเสร็จสิ้นการควบรวมกิจการของทีโอที และ กสท โทรคมนาคม[19][20][21]

หลังการควบรวมกิจการ แก้

หลังจากควบรวมกิจการและจัดตั้ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติได้ตั้งเป้าหมายเพื่อแข่งขันกับเอกชนสู่การเป็น 1 ใน 3 อันดับผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[21] โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่อย่างเป็นทางการเป็นชุดแรก มีหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร เป็นประธานกรรมการ และนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ประธานกรรมการของทีโอทีเดิม รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่[21] ส่วนการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกนั้นต้องใช้เวลาถึง 2 ครั้ง[22] ระหว่างนี้หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ได้ลาออกจากประธานกรรมการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564[23] โดยต่อมาพลเอก สุชาติ ผ่องพุฒิ อดีตประธานกรรมการของ กสท โทรคมนาคมเดิม มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จนกระทั่งได้ พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ อดีตกรรมการผู้จัดการของ กสท โทรคมนาคมเดิม เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่อย่างเป็นทางการคนแรกของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ และเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565[1]

ผู้บริหารองค์กร แก้

ประธานกรรมการ แก้

กรรมการผู้จัดการใหญ่ แก้

บริษัทคู่ค้า แก้

  1. บริษัท เรียลมูฟ จำกัด รับสิทธิ์การเป็นตัวแทนขายส่งต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบดับบลิวซีดีเอ็มเอ บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตซ์ ในชื่อ ทรูมูฟ เอช ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้ความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง โทรคมนาคมแห่งชาตินำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ มาย บาย เอ็นที
  2. บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โทรคมนาคมแห่งชาติเป็นผู้เช่าความจุโครงข่ายส่วนหนึ่งของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบดับบลิวซีดีเอ็มเอบนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ตซ์ และระบบแอลทีอีบนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ เพื่อนำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ มาย บาย เอ็นที และรับสิทธิ์การเป็นตัวแทนขายส่งต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบแอลทีอี และระบบ 5 จี บนคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ ในชื่อ ดีแทค เทอร์โบ และ ทรูมูฟ เอช ตั้งแต่ พ.ศ. 2566 จากการแก้สัญญาเพื่อสิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลของ ดีแทค ไตรเน็ต จนถึงปัจจุบัน ภายใต้ความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง โทรคมนาคมแห่งชาตินำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ เอ็นที โมบายล์
  3. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด รับสิทธิ์การเป็นตัวแทนขายส่งต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบดับบลิวซีดีเอ็มเอและระบบแอลทีอี บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ตซ์ ในชื่อ เอไอเอส ที ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้ความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง โทรคมนาคมแห่งชาตินำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ เอ็นที โมบายล์ รวมถึงรับสิทธิ์การเป็นตัวแทนขายส่งต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 5 จี บนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซ์ และเป็นผู้เช่าความจุโครงข่ายส่วนหนึ่งของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 5 จี บนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซ์ 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ เพื่อนำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ มาย บาย เอ็นที และ เอ็นที โมบายล์

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "NT เปิดตัว "สรรพชัยย์" CEO คนแรก". สยามรัฐ. 2022-07-20. สืบค้นเมื่อ 2022-11-10.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. ฐานเศรษฐกิจ (14 มกราคม 2020). "ครม.ไฟเขียวควบรวม"ทีโอที-แคท"". www.thansettakij.com. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2020.
  3. 3.0 3.1 ไทยรัฐ (1 กรกฎาคม 2561). "ปัดฝุ่นแผนควบรวมทีโอที-แคท". www.thairath.co.th. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "วันที่ไร้คลื่นในมือ ควบรวม'แคท-ทีโอที' เดินหน้าลุย 5จี". มติชน. 2019-11-16. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. กรุงเทพธุรกิจ (13 มิถุนายน 2560). "ครม.เห็นชอบ 'TOT-CAT' ตั้งบริษัทลูก". www.bangkokbiznews.com. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. ประชาชาติธุรกิจ (1 สิงหาคม 2560). "สหภาพทีโอที-แคท ค้านมติครม. ตั้งบริษัทร่วมทุน NBN – NGDC". www.prachachat.net. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. ประชาชาติธุรกิจ (15 กันยายน 2561). "นับหนึ่งควบรวม"ทีโอที-แคท"". www.prachachat.net. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. ประชาชาติธุรกิจ (15 พฤษภาคม 2562). "คนร.ไฟเขียวตั้งบริษัทลูกของ รฟท. 2 บริษัท เพื่อบริหารสินทรัพย์และเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง". www.prachachat.net. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. สนุก.คอม (14 มกราคม 2563). "ครม.ไฟเขียว ควบรวม "CAT-TOT" เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติภายใน 6 เดือน". www.sanook.com. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. กรุงเทพธุรกิจ (7 พฤษภาคม 2563). "โควิดพ่นพิษทำควบรวม'ทีโอที-กสท'สะดุด". www.bangkokbiznews.com. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอขยายเวลาการควบรวมกิจการของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)". cabinet.soc.go.th. คณะรัฐมนตรี. 1 กันยายน 2563. สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "7ม.ค.64 จดทะเบียนจัดตั้ง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ". ฐานเศรษฐกิจ. 2020-12-18. สืบค้นเมื่อ 2021-01-05.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "ทีโอที ปิดระบบชำระเงินชั่วคราว 7 ม.ค นี้ เตรียมพร้อมก้าวเป็น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ". ประชาชาติธุรกิจ. 2021-01-03. สืบค้นเมื่อ 2021-01-06.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. "CAT ประกาศปิดปรับปรุงการชำระเงิน". เฟซบุ๊ก. 2021-01-06. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.
  15. "กระทรวงการคลัง ไฟเขียวรวม "แคท-ทีโอที" เป็น เอ็นที". ไทยรัฐ. 2021-01-07. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.
  16. "COMPANY : INDEX". www.nc.ntplc.co.th.
  17. "ข้อมูลบริษัท". www.tot.co.th.
  18. "5 ง พิเศษ". ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง มติการประชุมผู้ถือหุ้นร่วมของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ ๒. Vol. 138. ราชกิจจานุเบกษา. 2021-01-06. pp. 5–7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-13. สืบค้นเมื่อ 2022-06-13.
  19. "พิธีเปิดตัว บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)". ยูทูบ. 2021-01-11. สืบค้นเมื่อ 2022-11-10.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. "รมว.ดีอีเอสจุดพลุควบรวมตั้ง'NT'รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของไทยสำเร็จ". ไทยโพสต์. 2021-01-07. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.
  21. 21.0 21.1 21.2 "CAT ควบรวม TOT เสร็จเปลี่ยนเป็น NT ตั้งเป้า 64 ติด 1 ใน 3 บริษัทโทรคมนาคมไทย". ไทยรัฐ. 2021-01-07. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.
  22. ""สรรพชัยย์"จรดปากกานั่งซีอีโอ'เอ็นที' รับค่าเหนื่อยไม่ต่ำกว่า4แสน". กรุงเทพธุรกิจ. 2022-07-20. สืบค้นเมื่อ 2022-11-10.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  23. "รายงานประจำปี 2564 บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ" (PDF). โทรคมนาคมแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-11-10. สืบค้นเมื่อ 2022-10-11.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้