วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในหมู่ที่ 3 บ้านท่าน้ำนนท์ ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ถือเป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 160 ปี ปัจจุบันมี พระธรรมวชิรปัญญาภรณ์ (ละเอียด กิตฺติสุขุโม) เป็นเจ้าอาวาส
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร | |
---|---|
![]() พระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร | |
![]() | |
ที่ตั้ง | เลขที่ 86 หมู่ที่ 3 ซอยบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ 4 ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ฯ ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11100 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร |
นิกาย | เถรวาทฝ่ายมหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระธรรมวชิรปัญญาภรณ์ (ละเอียด กิตฺติสุขุโม) |
![]() |
วัดนี้จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นโทของจังหวัด เช่นเดียวกับวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหารบนเกาะเกร็ด สร้างขึ้นเมื่อปี 2392 ตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นตรงที่เป็นนิวาสสถานเดิมของพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) อดีตเจ้าเมืองนนทบุรี กับคุณหญิงเพ็ง ผู้เป็นพระอัยกา (ตา) และพระอัยยิกา (ยาย) ของพระองค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ผู้เป็นพระราชมารดา โดยพระราชทานนามว่า "วัดเฉลิมพระเกียรติ" ตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จในรัชสมัยนี้เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อนเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 จนมาแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สิ่งสำคัญภายในวัดคือพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้กับท่าน้ำของวัดนอกจากนี้ยังมีกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถที่ทำเป็นกำแพงป้อมค่ายแห่งเดียวในประเทศไทย จึงทำให้วัดแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละครแนวย้อนยุคหลายเรื่อง
เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562 ทางจังหวัดนนทบุรีได้กระทำพิธีพลีกรรมตักน้ำบริเวณกลางแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดเฉลิมพระเกียรติเพื่อนำไปใช้เป็นน้ำอภิเษกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะถือว่าแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าวัดเฉลิมพระเกียรติเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพียงแห่งเดียวของจังหวัด[1]
ศิลปกรรม
แก้พระอุโบสถ
แก้พระอุโบสถเป็นศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือ เป็นอาคารผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและศิลปะจีน ตัวอาคารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีฐานประทักษิณ 1 ชั้น มีซุ้มสีมาตั้งอยู่บนกำแพงแก้วของฐานประทักษิณ ใบสีมาเป็นใบสีมาแผ่นเดียว ตัวอาคารมีฐานยกสูงขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง มีเฉลียงและพาไลล้อมรอบ มีระเบียงทางเดินรอบอาคาร เสาพาไลและเสาเฉลียงใช้เป็นเป็นเสาทรงที่เหลี่ยมทึบตันขนาดใหญ่รับน้ำหนักหลังคาโดยรอบ หลังคาของอาคารมี 2 ซ้อน 3 ตับ ผนังภายในพระอุโบสถวาดเป็นจิตรกรรมรูปช่อดอกพุดตาน อยู่ในกรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ผูกลายสลับกันเต็มพื้นที่ ซุ้มประตู-หน้าต่างทำเป็นปูนปั้นลวดลายอย่างเทศ ตัวพระอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ โดยกำแพงแก้วพระอุโบสถได้ล้อมรอบเจดีย์ประธานไปด้วย
หน้าบัน
แก้หน้าบันพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติเป็นงานก่ออิฐถือปูนที่เป็นแบบอย่างมาจากศิลปะพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 แต่มีลักษณะแตกต่างจากหน้าบันของอาคารแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งอื่นๆ คือ มีการประดับเครื่องลำยอง เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่พระองค์ได้สานต่อการสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติต่อจากรัชกาลก่อนนั้น พระองค์มีพระราชนิยมในศิลปะไทยแบบประเพณีจึงได้มีการสร้างเครื่องลำยองลงบนหน้าบันโดยสร้างเป็นงานก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องเคลือบ โดยในส่วนช่อฟ้า และหางหงส์ทำเป็นหัวนกเจ่า ซึ่งรูปแบบเครื่องลำยองแบบนี้จะปรากฏอีกใน วัดโสมนัสราชวรวิหาร และวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่นกัน พื้นที่หน้าบันแบ่งเป็น 2 ตับ โดยการประดับหน้าบันเป็นงานประดับกระเบื้องเครื่องเต็มพื้นที่ โดยทำเป็นรูปดอกโบตั๋น กิ่งไม้ ก้านไม้ผูกลาย พื้นหลังเป็นกระเบื้องรูปใบไม้ประดับเต็มพื้นที่ทั้งหน้าบันตับบนและหน้าบันตับล่าง แนวเส้นฐานพระแบ่งหน้าบันตับบนและหน้าบันตับล่างทำเป็นลวดลายแบบศิลปะไทยแต่ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบ จำพวกลายกระจัง ลายประจำยาม และลายประจำยามก้ามปู
พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา
แก้พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา เป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ หล่อจากทองแดงแล้วลงรักปิดทอง รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระเสฏฐตมมุนี พระประธานในพระอุโบสถวัดราชนัดดารามวรวิหาร ใน พ.ศ. 2389 โดยหล่อจากทองแดงที่ขุดได้จำนวนมากจากอำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา มีลักษณะแบบพระพุทธรูปที่สร้างในรัชกาลที่ 3 คือ มีพระวรกายเพรียวบาง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่จรดพระนาภี พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งไข่ ขมวดพระเกษาเล็ก มีพระรัสมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเปิดและมองตรง พระนาสิกค่อนข้างเล็กและโด่ง พระโอษฐ์เล็กแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย เส้นพระโอษฐ์โค้งเล็กน้อยเกือบเป็นเส้นตรง เรียกว่า "พระพักตร์อย่างหุ่น"[2]
เจดีย์ประธาน
แก้เจดีย์ประธานวัดเฉลิมพระเกียรติเริ่มก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่งานยังไม่แล้วเสร็จพระองค์สวรรคตเสียก่อน โดยการก่อสร้างมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 ในพ.ศ. 2494 ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบอยุธยาซึ่งรัชกาลที่ 4 มีพระราชนิยมในการสร้างเจดีย์ทรงนี้ โดยวัดอื่นๆ ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาหรือซ่อมแซมก็มักสร้างหรือดัดแปลงเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบอยุธยาเช่นกัน เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดบรมนิวาส, วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, พระสมุทรเจดีย์ โดยลักษณะของเจดีย์ประธานวัดเฉลิมพระเกียรติ คือ ส่วนฐานมีฐานประทักษิณ 2 ฐาน ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงและฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ในผังกลม ต่อด้วยมาลัยเถา 3 ชั้น บัวปากระฆังทำเป็นบัวลูกแก้วอกไก้ แทนบัวระฆังที่มีลายกลีบบัวประดับซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเจดีย์ทรงระฆังแบบอยุธยาที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ ก้านฉัตร เสาหาร บัวฝาละมี ปล้องไฉน ปลี เม็ดน้ำค้าง ตามรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบอยุธยา แต่รูปแบบโดยรวมจะมีรูปร่างที่เรียวและสูงฉลูดกว่าเจดีย์ทรงระฆังแบบอยุธยาแบบดั้งเดิม[3]
พระวิหาร
แก้พระวิหารตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถ มีลักษณะโดยรวมคล้ายพระอุโบสถแต่มีขนาดที่เล็กกว่า คือ เป็นศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ไทยผสมจีน ตัวอาคารประกอบไปด้วยส่วนฐานเป็นฐานปัทม์ และถัดขึ้นไปเป็นฐานสิงห์ ตัวอาคารมีเฉลียงและพาไลล้อมรอบ มีระเบียงทางเดินรอบอาคาร เสาพาไลและเสาเฉลียงใช้เป็นเป็นเสาทรงที่เหลี่ยมทึบตันขนาดใหญ่รับน้ำหนักหลังคาโดยรอบ หลังคาของอาคารมี 2 ซ้อน 3 ตับ ผนังภายในพระวิหารวาดเป็นจิตรกรรมรูปช่อดอกพุดตานเต็มพื้นที่ ซุ้มประตู-หน้าต่างทำเป็นปูนปั้นลวดลายอย่างเทศ ภายในพระวิหารประดิษฐานพระศิลาขาว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๔ โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐาน โดยพระศิลาขาวประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกและตั้งอยู่บนฐานปัทม์อีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้พระวิหารยังมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ทาง และมีหอระฆังตั้งอยู่ที่มุมกำแพงแก้วด้านหน้าขวาของพระวิหาร
ศาลาการเปรียญ
แก้ศาลาการเปรียญตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ มีลักษณะโดยรวมคล้ายพระอุโบสถแต่มีขนาดที่เล็กกว่าแต่มีขนาดที่ใหญ่กว่าพระวิหาร เป็นศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ไทยผสมจีน ตัวอาคารประกอบไปด้วยส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ประดับบัวลูกแก้วอกไก่ ตัวอาคารมีเฉลียงและพาไลล้อมรอบ มีระเบียงทางเดินรอบอาคาร เสาพาไลและเสาเฉลียงใช้เป็นเป็นเสาทรงที่เหลี่ยมทึบตันขนาดใหญ่รับน้ำหนักหลังคาโดยรอบ หลังคาของอาคารมี 2 ซ้อน 3 ตับ ผนังภายในพระวิหารวาดเป็นจิตรกรรมรูปช่อดอกพุดตานเต็มพื้นที่เหมือนภายในพระวิหาร ซุ้มประตู-หน้าต่างทำเป็นปูนปั้นลวดลายอย่างเทศ ภายในมีเสาร่วมในเป็นเสาทรงสี่เหลี่ยมทึบตันขนาดใหญ่ โดยผังของเสาร่วมในนั้นล้อมรอบ 4 ด้าน คล้ายกับเสาร่วมในของพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์, วัดชนะสงคราม ภายในประดิษฐานพระประธานปางประทานธรรม ที่มีลักษณะคล้ายกับ พระพุทธชัยสิทธิธรรมนาท พระประธานในศาลาการเปรียญวัดราชโอรสาราม
รูปภาพศิลปกรรม
แก้-
พระศิลาขาว พระประธานในพระวิหาร
-
พระประธานในศาลาการเปรียญ
-
ภายในพระอุโบสถ
-
ภายในพระวิหาร
-
ภายในศาลาการเปรียญ
-
ลวดลายหน้าบันพระวิหาร
-
ลวดลายหน้าบันศาลาการเปรียญ
อ้างอิง
แก้- ↑ ทั่วปท.-นนทบุรีร่วมพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จัดทำน้ำอภิเษกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
- ↑ ศักดิ์ชัย สายสิงห์, พระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2555), 341.
- ↑ ศักดิ์ชัย สายสิงห์, เจดีย์ในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการ และพลังศรัทธา, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 702.