กรมราชทัณฑ์
กรมราชทัณฑ์ (อังกฤษ: Department of Corrections) เป็นหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่ดูแลเรือนจำและผู้ต้องราชทัณฑ์จากคดีต่าง ๆ
เครื่องหมายราชการของกรมราชทัณฑ์ | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 |
เขตอำนาจ | ทั่วราชอาณาจักร |
สำนักงานใหญ่ | 222 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 |
งบประมาณต่อปี | 12,141.9608 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1] |
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน | |
ต้นสังกัดหน่วยงาน | กระทรวงยุติธรรม |
ลูกสังกัดหน่วยงาน | |
เว็บไซต์ | http://www.correct.go.th |
ประวัติกรมราชทัณฑ์
การราชทัณฑ์ของไทย ได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้อง กับสังคมการเมืองและสภาพเศรษฐกิจ ตลอดยุคสมัยที่ผ่านมา ในยุคก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการเรือนจำได้ สังกัดอยู่ตามส่วนราชการต่าง ๆ สอดคล้องกับการปกครองแบบจตุสดมภ์ คือ แบ่งเป็นเรือนจำในกรุงเทพฯ และเรือนจำในหัวเมืองชั้นนอก เรือนจำในกรุงเทพฯ มี 2 ประเภท คือ "คุก" เป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษ ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป อยู่ในสังกัดกระทรวงนครบาล ส่วน "ตะราง" ใช้เป็นที่คุมขัง ผู้ต้องขังที่มีโทษต่ำกว่า 6 เดือน หรือนักโทษที่มิใช่โจรผู้ร้าย สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ที่บังคับกิจการนั้น ๆ ส่วนการเรือนจำในหัวเมืองชั้นนอก มีที่คุมขัง ผู้ต้องโทษ เรียกว่า "ตะราง" การคุมขังอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการเมือง หรืออาจส่งต่อให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม รับตัวไปคุมขัง แล้วแต่กรณีโทษ
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงระเบียบราชการใหม่ โดยโปรดให้สร้างคุกใหม่ขึ้น เรียกว่า "กองมหันตโทษ" และให้สร้างตะรางใหม่เรียกว่า "กองลหุโทษ" ซึ่งในสมัยนั้น รวมเรียกว่า "กรมนักโทษ" สังกัดกระทรวงนครบาล และในปี พ.ศ. 2444 (ร.ศ.120) ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำขึ้นเพื่อให้การจัดการเรือนจำเป็นไปอย่างเรียบร้อยยิ่งขึ้น จนถึงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมราชทัณฑ์[5] โดยมีพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก
ในปี พ.ศ. 2468 ได้เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ งบประมาณ รายได้รายจ่ายไม่ได้ดุลยภาพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงยุบกรมราชทัณฑ์และให้ไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม และต่อมาได้โอนกรมราชทัณฑ์ไปเป็นแผนกหนึ่ง (แผนกราชทัณฑ์) สังกัดกระทรวงมหาดไทย[6]
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การราชทัณฑ์ได้ยกฐานะเป็นกรมราชทัณฑ์ และมีการตราพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มีหน้าที่เกี่ยวด้วยการเรือนจำ การกักกัน ผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้ายการฝึกและอบรมเด็กดัดสันดาน และในส่วนภูมิภาคได้มีการกำหนดเป็นเรือนจำจังหวัดและเรือนจำอำเภอ
ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการปฏิรูประบบราชการ จึงได้โอนย้ายกรมราชทัณฑ์กลับมาสังกัดกระทรวงยุติธรรม[7]
ในปี พ.ศ. 2563 ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีผู้ติดเชื้อในเรือนจำจำนวนมาก
ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้จัดตั้ง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ เป็นหน่วยงานใหม่เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อในเรือนจำจำนวนมากและมีคงามจำเป็นต้องแก้ปัญหาโรคระบาด
อำนาจและหน้าที่
- ปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามกฎหมาย โดยดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการราชทัณฑ์และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
- กำหนดแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยให้สอดคล้องกับ กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ นโยบายของกระทรวง หลักอาชญาวิทยา และหลักทัณฑวิทยา ตลอดจนข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และข้อเสนอแนะในเรื่องที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ
- ดำเนินการเกี่ยวกับสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่ผู้ต้องขัง
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรม หรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
หน่วยงานในสังกัด
|
|
เรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขัง
กรมราชทัณฑ์ มีเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขังในสังกัดจำนวน 143 แห่ง เพื่อรองรับผู้ต้องราชทัณฑ์จำนวน 317,672 คน (ณ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559)[8]
เรือนจำ
- เรือนจำกลาง หมายถึง เรือนจำปกติรับคุมขังผู้ต้องขังที่มีคำพิพากษาแล้ว และนักโทษเด็ดขาด ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีเรือนจำกลาง 34 แห่ง โดยมีเรือนจำกลางที่มีอำนาจคุมขังผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษจำคุก 15 ปี ถึงประหารชีวิต จำนวน 2 แห่ง คือ เรือนจำกลางบางขวางและเรือนจำกลางคลองเปรม[9]
- เรือนจำพิเศษ เป็นเรือนจำที่รับผู้ต้องขังประเภทเดียวกับเรือนจำส่วนภูมิภาค ซึ่งในพื้นที่นั้นไม่มีเรือนจำส่วนภูมิภาคตั้งอยู่ เรือนจำพิเศษมีอำนาจคุมขัง ผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี (2 แห่ง) จนถึงจำคุกไม่เกิน 15 ปี (28 แห่ง) ปัจจุบันมีเรือนจำพิเศษ 30 แห่ง
- เรือนจำจังหวัด เป็นเรือนจำส่วนภูมิภาคที่มีอำนาจคุมขัง ผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี แต่มีเรือนจำจังหวัด 1 แห่ง ที่มีอำนาจคุมขังผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 25 ปี คือ เรือนจำจังหวัดตรัง ปัจจุบันมีเรือนจำจังหวัด 49 แห่ง
- เรือนจำอำเภอ เป็นเรือนจำส่วนภูมิภาคที่มีอำนาจคุมขัง ผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี จนถึงจำคุกไม่เกิน 15 ปี ปัจจุบันมีเรือนจำอำเภอ 26 แห่ง
ทัณฑสถาน
ทัณฑสถาน เป็นสถานที่ควบคุม กักขังผู้ต้องขังที่ได้รับการคัดแยกประเภทแล้ว เพื่อประโยชน์ในการควบคุม บำบัดรักษา การอบรมแก้ไข และการฝึกวิชาชีพ เช่น หญิง วัยหนุ่ม บำบัดพิเศษ ปัจจุบันมีจำนวน 25 แห่ง มีทัณฑสถานที่รับผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษจนถึงประหารชีวิต จำนวน 3 แห่ง คือ ทัณฑสถานหญิงกลาง ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และทัณฑสถานที่รับผู้ต้องขังที่ต้องรับโทษจนถึงจำคุกตลอดชีวิต จำนวน 3 แห่ง คือ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง และทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง[10]
สถานกักขัง
สถานกักขัง เป็นสถานที่ที่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องกักขัง ซึ่งถูกกำหนดโทษกักขัง ปัจจุบันมีสถานกักขัง 5 แห่ง ได้แก่ สถานกักขังกลางจังหวัดลำปาง สถานกักขังกลางจังหวัดตราด สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี สถานกักขังกลางจังหวัดร้อยเอ็ด และสถานกักขังกลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
สถานกักกัน
- สถานกักกัน 1 แห่ง คือ สถานกักกันนครปฐม
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอน 318 ง หน้า 17 วันที่ 19 ธันวาคม 2566
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-24. สืบค้นเมื่อ 2020-02-28.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-14. สืบค้นเมื่อ 2021-06-14.
- ↑ ประกาศ ตั้งกรมราชทัณฑ์
- ↑ ประกาศ เรื่อง ยุบเลิกกรมราชทัณฑ์
- ↑ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕[ลิงก์เสีย]
- ↑ "จำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-29. สืบค้นเมื่อ 2010-11-02.
- ↑ ประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง การกําหนดอํานาจการคุมขังของเรือนจํา พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ ประกาศกระทรวงยุติธรรมเรื่อง การกำหนดอำนาจการคุมขังของเรือนจำฉบับที่ 19
หนังสืออ่านเพิ่ม
- ศรัญญู เทพสงเคราะห์. “อยู่ร่วมกันในคุกต่างประเทศ: นักโทษ, อาณานิคม และการปฏิรูปราชทัณฑ์ช่วงปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม.” ใน ชาญณรงค์ บุญหนุน, คงกฤช ไตรยวงค์ และพัชชล ดุรงค์กวิน (บก.), เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 12 ‘อยู่ด้วยกัน’: โลก เทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นอื่น. หน้า 260–285. ม.ป.ท., 2561.
- อมรา ขันอาสา. “สภาพสังคมไทย: ศึกษาจากงานการราชทัณฑ์ พ.ศ. 2433-2476.” วิทยานิพนธ์ อ.ม. (ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้), ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2525.