อำเภอท่าเรือ

อำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

ท่าเรือ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อ อำเภอนครน้อย ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นชื่ออำเภอดังเช่นปัจจุบัน[1]

อำเภอท่าเรือ
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Tha Ruea
สถานีรถไฟท่าเรือ
สถานีรถไฟท่าเรือ
คำขวัญ: 
ถิ่นกำเนิดหลวงพ่อโต แดนตะโกดัดงาม
เย็นสายน้ำนามป่าสัก วิวสวยนักเขื่อนพระรามหก
แผนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เน้นอำเภอท่าเรือ
แผนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เน้นอำเภอท่าเรือ
พิกัด: 14°33′6″N 100°43′39″E / 14.55167°N 100.72750°E / 14.55167; 100.72750
ประเทศ ไทย
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พื้นที่
 • ทั้งหมด106.189 ตร.กม. (41.000 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)
 • ทั้งหมด45,379 คน
 • ความหนาแน่น427.34 คน/ตร.กม. (1,106.8 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 13130
รหัสภูมิศาสตร์1402
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอท่าเรือ เลขที่ 133 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าเจ้าสนุก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13130
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ที่ตั้งและอาณาเขต

แก้

อำเภอท่าเรือตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ประวัติศาสตร์

แก้
  • วันที่ 1 เมษายน 2480 เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดสระบุรี กับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โอนพื้นที่ตำบลบ้านร่อม อำเภอหนองโดน (อำเภอบ้านหมอในปัจจุบัน) จังหวัดสระบุรี มาขึ้นกับ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[2]
  • วันที่ 16 มกราคม 2481 โอนพื้นที่หมู่ 5,6,7 (ในขณะนั้น) ของตำบลโคกมะนาว ไปขึ้นกับตำบลท่าเรือ[3]
  • วันที่ 15 พฤษภาคม 2482 เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอท่าเรือ (1,2,3,4,5,6)[4]
    • (1) โอนพื้นที่หมู่ 6 (ในขณะนั้น) ของตำบลท่าเจ้าสนุก ไปขึ้นกับตำบลบ้านร่อม
    • (2) ยุบตำบลสวนพริก แล้วโอนพื้นที่หมู่ 1,2,3 (ในขณะนั้น) ของตำบลสวนพริก (ที่โดนยุบ) ไปขึ้นกับตำบลท่าเจ้าสนุก และโอนพื้นที่หมู่ 4 (ในขณะนั้น) ของตำบลสวนพริก (ที่โดนยุบ) ไปขึ้นกับตำบลหนองขนาก
    • (3) ยุบตำบลบ้านแขก แล้วโอนพื้นที่หมู่ 1,2 (ในขณะนั้น) ของตำบลบ้านแขก (ที่โดนยุบ) ไปขึ้นกับตำบลท่าเจ้าสนุก และโอนพื้นที่หมู่ 3,4,5,6 (ในขณะนั้น) ของตำบลบ้านแขก (ที่โดนยุบ) ไปขึ้นกับตำบลศาลาลอย
    • (4) รวมตำบลบ้านบึง เข้ากับตำบลวังแดง แล้วจัดตั้งเป็น ตำบลวังแดง
    • (5) โอนพื้นที่หมู่ 5,6,7 (ในขณะนั้น) ของตำบลจำปา ไปขึ้นกับตำบลหนองขนาก
    • (6) ยุบตำบลโคกมะนาว แล้วโอนพื้นที่หมู่ 1,2,3,4,8,9 (ในขณะนั้น) ของตำบลโคกมะนาว (ที่โดนยุบ) ไปขึ้นกับตำบลจำปา และโอนพื้นที่หมู่ 5,6,7 (ในขณะนั้น) ของตำบลโคกมะนาว (ที่โดนยุบ) ไปขึ้นกับตำบลท่าเรือ
  • วันที่ 26 ธันวาคม 2487 จัดตั้งเทศบาลตำบลท่าเรือ ในท้องที่บางส่วนตำบลท่าเรือ[5]
  • วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลท่าเจ้าสนุก แยกออกจากตำบลท่าเรือ ตั้งตำบลโพธิ์เอน แยกออกจากตำบลปากท่า[6]
  • วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2499 โอนพื้นที่หมู่ 9,10 (ในขณะนั้น) ของตำบลหนองขนาก อำเภอท่าเรือ ไปขึ้นตำบลดอนหญ้านาง อำเภอภาชี[7]
  • วันที่ 1 มีนาคม 2501 จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลไก่จ้น ในท้องที่อำเภอท่าเรือ[8]
  • วันที่ 11 เมษายน 2504 เปลี่ยนแปลงชื่อตำบลไก่จ้น อำเภอท่าเรือ เป็น ตำบลท่าหลวง[9]
  • วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2506 ยุบองค์การบริหารส่วนตำบลไก่จ้น อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจัดตั้งสุขาภิบาลท่าหลวง ในท้องที่บางส่วนของตำบลท่าหลวง บางส่วนของตำบลท่าเรือ และบางส่วนของตำบลจำปา[10]
  • วันที่ 21 ตุลาคม 2517 โอนพื้นที่ตำบลท่าเรือที่อยู่นอกเขตเทศบาลตำบลท่าเรือ (ในสมัยนั้น) ไปขึ้นกับตำบลจำปา[11]
  • วันที่ 25 ธันวาคม 2524 เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลท่าเรือ ให้ครอบคลุมตำบลท่าเรือทั้งหมด[12]
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลท่าหลวง เป็นเทศบาลตำบลท่าหลวง

การแบ่งเขตการปกครอง

แก้

การปกครองส่วนภูมิภาค

แก้

อำเภอท่าเรือแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 10 ตำบล 84 หมู่บ้าน

1. ท่าเรือ (Tha Ruea) - 6. วังแดง (Wang Daeng) 8 หมู่บ้าน
2. จำปา (Champa) 9 หมู่บ้าน 7. โพธิ์เอน (Pho En) 6 หมู่บ้าน
3. ท่าหลวง (Tha Luang) 10 หมู่บ้าน 8. ปากท่า (Pak Tha) 8 หมู่บ้าน
4. บ้านร่อม (Ban Rom) 9 หมู่บ้าน 9. หนองขนาก (Nong Khanak) 10 หมู่บ้าน
5. ศาลาลอย (Sala Loi) 15 หมู่บ้าน 10. ท่าเจ้าสนุก (Tha Chao Sanuk) 9 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

แก้

ท้องที่อำเภอท่าเรือประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลท่าเรือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าเรือทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลท่าหลวง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลจำปาและตำบลท่าหลวง
  • องค์การบริหารส่วนตำบลจำปา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจำปา (นอกเขตเทศบาลตำบลท่าหลวง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท่าหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าหลวง (นอกเขตเทศบาลตำบลท่าหลวง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านร่อม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านร่อมทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลอย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศาลาลอยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวังแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังแดงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์เอน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพธิ์เอนทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลปากท่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปากท่าทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองขนากครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองขนากทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเจ้าสนุก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าเจ้าสนุกทั้งตำบล

เศรษฐกิจ

แก้

อำเภอท่าเรือแต่เดิมเป็นเขตเกษตรกรรมมีการเพาะปลูกข้าวและการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาจากสายน้ำแห่งแม่น้ำป่าสัก มีเขื่อนพระราม 6 ซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยว

แก้

อำเภอท่าเรือมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจและเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้แก่

  1. เขื่อนพระราม 6 เป็นเขื่อนทดน้ำเพื่อการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย
  2. วัดสะตือ พุทธไสยาสน์ ซึ่งเป็นสถานที่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี เกิดในเรือซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดแห่งนี้ จึงได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ประดิษฐานปางไสยาสน์อยู่ในวัดแห่งนี้
  3. วัดบึงลัฏฐิวัล เป็นวัดสายปฏิบัติธรรม มีพระธาตุเจดีย์ศรีอยุธยาสัมมาสัมโพธิญาณ และมีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม
  4. วัดหนองแห้ว วัดตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลท่าเรือมีพระองค์ใหญ่ไม่มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ โดยชาวบ้านเรียกว่า'หลวงพ่อใหญ่'ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเป็นที่เคารพและนับถือของชาวบ้าน
  5. วัดไม้รวก วัดนี้สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มีภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณ มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์และพระพุทธรูปปางไสยาสน์จำลองประดิษฐานอยู่ภายในวัด
  6. วัดศาลาลอย ตั้งอยู่ในตำบลศาลาลอย เดิมมีชื่อว่าวัดศิลาลอยเนื่องจากมีศิลาลอยน้ำมาชาวบ้านจึงช่วยกันอันเชิญศิลาขึ้นมาแต่ไม่สำเร็จ ปัจจุบันศิลานั้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเทพจันทร์ลอย อำเภอนครหลวง สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือพระองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานในวิหาร
  7. วัดไก่จ้น เป็นถิ่นกำเนิดสมเด็จพระพุฒาจารย์มีรูปปั้นจำลงอสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต  พรหมรังสี) และพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ ประดิษฐานในวิหาร
  8. Sriayuthaya Lion Park ศรีอยุธยาไลอ้อนปาร์ค

การขนส่ง

แก้
 
สถานีรถไฟท่าเรือ
  • ถนนสายหลัก:
    • ถนนสายภาชี - ท่าเรือ
    • ถนนสายนครหลวง - ท่าเรือ
    • ถนนสายท่าเรือ-พระพุทธบาท
    • ถนนสายท่าเรือ - ท่าลาน

ขนมขึ้นชื่อประจำอำเภอ

แก้

ขนมบ้าบิ่น เป็นขนมที่มีชื่อเสียงชนิดหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขนมบ้าบิ่นที่ขึ้นชื่อนั้นเป็นขนมบ้าบิ่นของอำเภอท่าเรือ ซึ่งเป็นขนมที่มีรสชาติหวานมันหอม ในปัจจุบันนี้ผู้ผลิตได้พัฒนาให้มีถึง 3 ชนิด คือ ชนิดสีขาวทำจากมะพร้าวอ่อน ชนิดสีเขียวทำมาจากใบเตย ชนิดสีดำหรือสีม่วงทำมาจากข้าวเหนียวดำ ชาวบ้าน ทำไว้สำหรับบริโภคภายในครัวเรือนและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน และเป็นอาชีพที่ ทำรายได้แก่ประชาชนชาวอำเภอท่าเรือ อีกอย่างหนึ่งด้วย[ต้องการอ้างอิง]

สถานศึกษา

แก้

โรงเรียนมัธยมศึกษา

แก้

สถานที่ราชการและสถานที่สำคัญ

แก้

วัดราษฏร์ในอำเภอท่าเรือ

แก้

วัดราษฏร์มหานิกาย

แก้

วัดราษฏร์ธรรมยุติกนิกาย

แก้

เหตุการณ์สำคัญ

แก้
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังไล่ล่าโจรปล้นตลาดท่าเรือในทุ่ง

ในวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2508 เวลาประมาณ 16.20 น. เกิดเหตุการณ์คนร้ายจำนวน 17 คน พร้อมกับอาวุธปืนจำนวนมากบนรถ ได้ขับรถอีซูซุสีเทามายังตลาดเทศบาลตำบลท่าเรือ เพื่อทำการปล้นและชิงทรัพย์ หลังจากนั้นกลุ่มคนร้ายได้กระจายกำลังไปยังหน้าสถานีตำรวจและที่ว่าการอำเภอเพื่อข่มขู่เจ้าหน้าที่ ส่วนคนร้าย 5 คนได้ปล้นร้านทอง 5 แห่งในตลาดท่าเรือ ขณะที่แก้ว แซ่หล่า เจ้าของร้านทองเล่าย่งเฮงกำลังปิดร้านทองเล่าย่งเฮงเขาได้เห็นทวี เฉลิมสมัยหนึ่งในคนร้ายซึ่งเคยเรียนโรงเรียนเดียวกันกำลังถือปืนสั้นเข้ามาในร้านจึงร้องว่า "อ้ายวี มึงเองหรือ?” ทวีจึงยิงนายแก้วเสียชีวิต แล้วคนร้ายก็ใช้พานท้ายปืนทุบตู้ทอง ก่อนจะกวาดทองไปเป็นมูลค่า 9 หมื่น 5 พันบาทใส่ถุงแล้วออกจากร้านทองเล่าย่งเฮง หลังจากออกจากร้านกลุ่มโจรได้เห็นจอม เปี่ยมสาคร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลท่าเจ้าสนุก แต่งเครื่องแบบเพื่อไปร่วมงานวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของรัชกาลที่ 9ที่อำเภอ ส่งผลให้กลุ่มโจรเข้าใจผิดว่าจอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทวีจึงยิงจอมเสียชีวิต ในร้านทองย่งฮวด ตังสิ่น แซ่ตั้ง ซึ่งเป็นเจ้าของร้านได้พยายามขัดขืนคนร้ายจึงถูกยิงเสียชีวิต ส่วนในหนังสือประวัติ อำเภอท่าเรือ เรียบเรียงโดย อาจารย์ สุรศักดิ์ พุ่มวันเพ็ญ ได้เขียนว่า"ตั้งสิน แซ่ตั้งถูกคนร้ายใช้พานท้ายปืนของคนร้ายตีที่ศีรษะจนเสียชีวิตในสภาพศพมันสมองกระจาย เนื่องจากขณะคนร้ายบังคับให้เขาเปิดตู้ทอง จากความชราเชื่องช้าของเขาไม่ทันใจคนร้าย จึงถูกคนร้ายใช้พานท้ายปืนฟาดที่ศีรษะจนเสียชีวิต" ที่ร้านทองฮั่วซ่งหลี เล่าท้อ แซ่ฮั้ว และเซี๊ยะกิม แซ่ฮั้ว กำลังจะนำทองไปซ่อนแต่กลุ่มคนร้ายถูกปืนได้บุกเข้ามาในร้าน ทำให้ทั้งคู่กลัวจนไม่ได้ขยับตัว เมื่อคนร้ายกำลังจะออกจากร้าน คนร้ายได้ยิงปืนกลเพื่อข่มขวัญ ส่งผลให้เซี๊ยะกิมหัวใจวายเสียชีวิต และหนึ่งในคนร้ายยังได้พาตัวของนางสาวเซี๊ยะคิ้มออกจากร้านไปด้วย การปล้นสิ้นสุดลงหลังจากหัวหน้าของกลุ่มคนร้ายได้ตะโกนว่า"อ้ายเสือถอย" เพื่อให้กลุ่มคนร้ายกลับมาขึ้นรถแล้วใช้ปืนยิงไปรอบๆส่งผลให้นิภา เกตุอ่ำซึ่งกำลังให้นมลูกถูกยิงที่ขา กลุ่มคนร้ายได้ขับรถสองแถวไปจนถึงตำบลบ้านร่อมซึ่งห่างจากที่เกิดเหตุ 3 กิโลเมตร คนร้ายได้ปล่อยตัวเซี๊ยะคิ้มลงข้างทางหลังจากเธอร้องขอชีวิตไปตลอดทาง หลังจากนั้นคนร้ายได้ลงจากรถสองแถวและปล่อยตัวของวิชัย มานะกิจมงคลคนขับซึ่งถูกกลุ่มร้ายจี้ไป ก่อนจะเดินตัดทุ่งไป[13]

พ.ต.ท.สมหวัง เพ็ญสูตร ผู้กำกับการตำรวจภูธรภาค 1[14] ได้รับข่าวว่าคนร้ายได้ลงจากรถที่บ้านร่อมและกำลังเดินตัดทุ่งเพื่อหลบหนี จึงนำเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามคนร้ายไปจนทัน เมื่อคนร้ายเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตามมาจึงจับชาวนาเป็นโล่มนุษย์และยิงปะทะ ทำให้เป็นอุปสรรคในการยิงปะทะกับคนร้ายของเจ้าหน้าที่ เมื่อถึงเวลากลางคืนกลุ่มคนร้ายทั้งหมดได้อาศัยความมืดเพื่อหลบหนีไป ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจนทราบว่าหัวหน้ากลุ่มคนร้ายคือ ใบ กุลแพ หรือฉายาเจ้าพ่อกำแพงเขย่ง และเป็นคนใช้ปืนจี้คนรับรถสองแถว โดยมีละมาย ภู่แสนสะอาด หรือเสือมาย เป็นผู้วางแผนปล้นและเป็นคนพาตัวของนางสาวเซี๊ยะคิ้มออกจากร้าน สองวันหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าล้อมบ้านของใยที่ตำบลดอนโพธิ์และสามารถจับกุมใบได้ วันถัดมาได้มีสายตำรวจรายงานว่า สมบุญ มากฤทธิ์ หนึ่งในกลุ่มคนร้ายได้หลบหนีไปอยู๋บ้านพรรคพวกในตำบลโพธิ์เอน พ.ต.ท.สมหวัง เพ็ญสูตร จึงนำกำลังตำรวจไปล้อมบ้านตั้งแต่เวลา 03.00 น. แล้วบุกเข้าไปจับกุมเมื่อสว่าง สมบุญได้พยายามหยิบปืน แต่ถูกตำรวจหลายนายใช้ปืนจ่อ จึงยอมให้ถูกจับกุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามรถยึดปืนพก 1 กระบอก และกระสุนจำนวน 102 นัด พร้อมกับนาฬิกา 1 เรือนและเครื่องทองอีกเป็นจำนวนมาก ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเดียวกันได้จับกุม ทวี เฉลิมสมัย ที่บ้านแม่ของเขา พร้อมกับของกลางจำนวน 48 รายการ วันที่ 27 ธันวาคม สายตำรวจรายงานว่า บุญเลิศ ปลอดเกิด หนึ่งในคนร้ายหลบหนีไปยังตลาดโคกตูม จังหวัดลพบุรี เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังไปถึง ตำรวจท้องที่ได้ชี้ไปยังชายคนหนึ่งที่ขับขี่รถจักรยานสวนทางมาและพูดว่า“นั่นไอ้บุญเลิศนี่ครับ” เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสามารถจับกุมบุญเลิศได้โดยบุญเลิศไม่ได้ขัดขืน วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2509 ลำพอง มหาวิจิตร ได้มอบตัวกับตำรวจ ในอีก 5 วัน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม มะลิ คาลามานนท์ ที่บ้านญาติของเขาใน จังหวัดลำปาง ในเวลาเดียวกันศิริ กุลวิบูลย์ และแบน วงษ์ขำ ได้สังหารสายตำรวจ 3 นาย เนื่องจากพลาดท่าให้คนร้ายรู้ตัวจึงถูกฆ่า โดยตำรวจพบว่าศิริกับแบนกำลังวางแผนปล้นบ้านคหบดีที่บ้านดงสัก ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำกำลังไปซุ่มรอ เวลา 22.00 น. ตำรวจได้เห็นชาย 2 คนลัดเลาะชายป่าจนจนเข้าใกล้ระยะยิงปืน ตำรวจจึงแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่และชายทั้งสองก็ยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นระยะเวลา 15 นาที จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สามารถวิสามัญฆาตกรรมศิริและแบนซึ่งคือชายทั้งสอง 8 วันต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วิสามัญฆาตกรรม นาย ศักดิ์ นันโทที่อำเภอบ้านแพรก ขณะที่ศักดิ์กำลังหลบหนีลงคลองเนื่องจากศักดิ์แขวนพระจำนวน 30 องค์ จึงหลบหนีลงคลองไม่ทันให้เขาถูกวิสามัญฆาตกรรม ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2509 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมน้อย เจริญสุขซึ่งกำลังจะไปเอาของกลางที่ฝากไว้ที่บ้านหนองเบี้ยว ต่อมาในคืนของวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2509 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดล้อมละมายและพรรคพวกที่งานผูกพัทธสีมาวัดดอนทองในอำเภอบ้านหมอ และเกิดการยิงปะทะส่งผลให้ละมายถูกวิสามัญฆาตกรรม[15]

 
หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยรายงานข่าวเกี่ยวกับการประหารชีวิตนักโทษทั้ง 6 คนที่สนามหน้าโรงเรียนท่าเรือนิตยานุกุล

ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2509 จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้มีมติให้ใช้มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย สั่งการให้ประหารชีวิตใบ กุลแพ, สมบุญ มากฤทธิ์, ทวี เฉลิมสมัย, บุญเลิศ ปรอดเกิด, มะลิ คาลามานนท์ และ น้อย เจริญสุข ส่วน ลำพอง มหาจิตร สั่งจำคุก 20 ปี โดยการประหารชีวิตนักโทษทั้ง 6 คน ถูกกำหนดไว้วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2509 เวลา 14.00 น. ที่สนามหน้าโรงเรียนท่าเรือนิตยานุกุล บริเวณหลังรั้วของโรงเรียนข้างทางรถไฟ ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2509 เวลาประมาณ 14.00 น. ทั้ง 6 คนได้ถูกเบิกตัวออกจากเรือนจำมายังสนามโรงเรียนท่าเรือนิตยานุกุล เมื่อมาถึงสนาม เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือและเขียนพินัยกรรม นักโทษบางคนได้รับประทานไก่เป็นอาหารมื้อสุดท้าย เมื่อมีการอ่านคำสั่งประหารชีวิต พ.ต.อ.จรุง เศวตนันท์ ซึ่งเป็นผู้อ่านคำสั่งประหารชีวิต ได้สังเกตว่านักโทษบางคนหน้าซีดเหมือนมีอาการซ็อกเช่นมะลิ คาลามานนท์ ส่วนนักโทษคนอื่นก็มีสีหน้าซีดเมื่อรู้ชะตากรรมชีวิตของตัวเองว่าจะถูกยิงเป้า หลังจากอ่านคำสั่งประหารชีวิต ได้นำตัวนักโทษทั้ง 6 คน เข้าสู่หลักประหาร โดยมีหลักประหารทั้งหมด 6 หลัก เป็นแบบไม้กางเขน โดยมีผ้าสีขาวเป็นฉากบังทั้ง 3 ด้านและมีเป้าสีดำวงกลมอยู่ที่ด้านหน้าโดยตรงกับหัวใจของนักโทษ โดยในการประหารชีวิตจะใช้เพชฌฆาตซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 6 นาย ซึ่งใช้ปืนคาร์ไบน์ในการประหารชีวิต โดยนักโทษทั้ง 5 คนเสียชีวิตจากการยิงชุดแรกซึ่งใช้กระสุนจำนวน 15 นัด แต่ใบ กุลแพต้องยิงถึง 2 ชุด ใช้กระสุนทั้งหมด 22 นัด หลังจากการประหารชีวิตศพของนักโทษถูกนำใส่ไปรอญาติเพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลที่วัดหนองแห้ว หลังจากการประหารชีวิตประชาชนที่มาชมการประหารชีวิตได้ไปฉีกผ้าขาวที่ใช้บังหรือค้นหาหัวกระสุนจนกระสอบทรายพังทลายลงมา ในช่วงเช้าของวันถัดมาได้มีนักมวยมอาชีพจากพระนครขับจักรยานยนต์จำนวน 10 คัน มารื้อแผงผ้าดิบเพื่อเอาไปทำผ้าคาดศีรษะขึ้นเวที โดยเกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นเพราะอยากได้ผ้าดิบของใบ กุลแพ[16]

วิชิต เกตุคำศรี หรือ เปี๊ยก กีวี
เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังผูกมัดวิชิตกับหลักประหาร

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่าคนที่ไปติดต่อเช่ารถสองแถวก่อนจะกลุ่มคนร้ายจะจี้คนขับรถแล้วปล้นคือ วิชิต เกตุคำศรี หรือ เสือท็อก เขาเคยเป็นโก๋หลังวังโดยมีฉายา"“เปี๊ยก กีวี" และเป็นอันธพาลเมืองหลวงรุ่น พ.ศ. 2499 เขาถูกจับกุมในคดีขว้างระเบิดขวดใส่ทหาร ส่งผลให้ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี แต่เขาเข้ากับอัทธพาลรุ่นเดียวกันในคุกลาดยาวไม่ได้ จึงขอย้ายไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดสระบุรี และรู้จักถูกคอกับสมบุญ จนกระทั่งวิชิตมีความดีความชอบจนสมารถทำงานนอกเรือนจำทำให้สมบุญได้พาวิชิตหนีไปอย่อาศัยละมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ข่าวว่าวิชิตเดินทางไปยังจังหวัดราชบุรี พ.ต.ท.สมหวัง เพ็ญสูตร จึงชวน ร.ต.ท. ประสาร ธนสุกาญจน์ ไปตามหาตัวของวิชิตในงานฉลองศาลเจ้าหลักเมืองในค่ายภาณุรังษี โดยสันนิษฐานว่าวิชิตน่าจะออกมาเที่ยวหาความสนุกสนานในงานนี้ตามนิสัยของเขา ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2509 พ.ต.ท.สมหวังและ ร.ต.ท. ประสารได้พบพบวิชิตเดินมากับชายคนจำนวน 4-5 คน พ.ต.ท.สมหวังจึงเข้าไปแนะนำตัว โดยพูดว่า“อั๊วชื่อสมหวัง เพ็ญสูตร มาจับโจรปล้นตลาดท่าเรือ” ทำให้คนทั้งกลุ่มเกิดอาการกลัว ก่อนที่คนกลุ่มนั้นจะขยับตัว ร.ต.ท.ประสารก็โดดเข้าล็อคคอและจับกุมวิชิต ส่วนชายที่เดินมาด้วยได้วิ่งหนีไป หลังจากนั้นวิชิตถูกนำตัวมาคุมขังยังเรือนจำกลางบางขวาง วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้วิสามัญฆาตกรรม บุญมา กลิ่นจำปาและเชื้อ พวงรักษ์ สองใน 17 คนร้าย ที่บ้านนายาว อำเภอพระพุทธบาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งว่า จำเนียร สีม่วง จะเข้าวิวาห์ที่บ้านไร่ที่ตำบลมะนาวหวาน อำเภอพัฒนานิคม ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2510 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยกกำลังและจู่โจมบ้านพักในเวลาที่จำเนียรจะเข้าหอ เวลา 20.00 น. และเกิดการยิงปะทะขึ้นเมื่อสิ้นสุดการยิงปะทะได้มีผู้เสียชีวิตในบ้าน และพบศพของจำเนียร สีม่วงในชุดเจ้าบ่าวอยู่ในป่า โดยมีข่าวลือเสือขาวไม่ใช่จำเนียร และเสือขาวตัวจริงยังมีชีวิตอยู่ [17] ส่วนวิชิตถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าตามคำสั่งจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี โดยใช้อำนาจมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ในคดีปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ วิชิตถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าที่เรือนจำกลางบางขวาง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2510 เวลา 18.42 น. โดยเพี้ยน คนแรงดีเป็นเพชฌฆาต ส่วน จุ่น ผลหาร กับสง่า เฉลิมทรัพย์ หลบหนีไปได้และยังลอยนวลอยู่จนถึงปัจจุบัน[18][19]

อ้างอิง

แก้
  1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ. เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 34 ตอนที่ ๐ก วันที่ 29 เมษายน 2460
  2. [1] เก็บถาวร 2012-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด พุทธศักราช ๒๔๗๙
  3. [2]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  4. [3]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  5. "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พุทธศักราช ๒๔๘๗" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 61 (77 ก): 1167–1171. 26 ธันวาคม 2487.
  6. [4]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  7. [5]พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอในท้องที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดแพร่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดพัทลุง พ.ศ. ๒๔๙๙
  8. [6]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล [จำนวน ๕๙ แห่ง]
  9. [7] เก็บถาวร 2012-01-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่ออำเภอและตำบลบางแห่ง พ.ศ. ๒๕๐๔
  10. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 80 (17 ง): 439–441. 15 กุมภาพันธ์ 2506.
  11. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 91 (180 ง): 3926–3927. 29 ตุลาคม 2517.
  12. "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๕๒๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 98 (211 ก): (ฉบับพิเศษ) 7-11. 24 ธันวาคม 2524.
  13. โจรผยองปิดตลาดปล้น! นายกฯใช้ ม.๑๗ สั่งปล้นที่ไหนยิงเป้าที่นั่นโดย ๖ นาย ตร.ประกบ ๖ โจร!!
  14. โจรผยองปิดตลาดปล้น! นายกฯใช้ ม.๑๗ สั่งปล้นที่ไหนยิงเป้าที่นั่นโดย ๖ นาย ตร.ประกบ ๖ โจร!!
  15. คดีดัง!! เปิดตำนานขุนโจร "เสือขาว" ผู้เคยปิดตลาดท่าเรือ ปล้น!! สุดท้ายหักหลังกันเอง แต่!! ถูกจับ โดนประหารชีวิตถึง 6 คน!!
  16. [หนังสือประวัติ อำเภอท่าเรือ เรียบเรียงโดยสุรศักดิ์ พุ่มวันเพ็ญ ]
  17. โจรผยองปิดตลาดปล้น! นายกฯใช้ ม.๑๗ สั่งปล้นที่ไหนยิงเป้าที่นั่นโดย ๖ นาย ตร.ประกบ ๖ โจร!!
  18. ตำนานนักโทษประหาร
  19. โจรผยองปิดตลาดปล้น! นายกฯใช้ ม.๑๗ สั่งปล้นที่ไหนยิงเป้าที่นั่นโดย ๖ นาย ตร.ประกบ ๖ โจร!!

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้