ธนาคารธนชาต
ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Thanachart Bank Public Company Limited (TBANK)) เป็นอดีตธนาคารพาณิชย์ที่มีจำนวนสาขามากเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย โดยมีสาขาทั้งหมดกว่า 600 สาขา เริ่มเปิดดำเนินการวันแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2545 ปัจจุบันได้ควบรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย และกลายเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต
ประเภท | ธนาคารพาณิชย์ |
---|---|
อุตสาหกรรม | ธนาคาร |
ก่อตั้ง | 22 เมษายน พ.ศ. 2545 |
เลิกกิจการ | 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 (5 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 ) (ธนาคารธนชาตเดิม) |
สาเหตุ | รวมกิจการเข้ากับธนาคารทหารไทย |
ถัดไป | ธนาคารทหารไทยธนชาต |
สำนักงานใหญ่ | 444 ศูนย์การค้าเอ็มบีเค ทาวเวอร์ ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 (บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน)) |
ประวัติ
แก้ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในกลุ่มธนชาต กลุ่มธุรกิจการเงินที่มีอายุมากกว่า 35 ปี เดิมเป็นสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจในชื่อ บริษัทเงินทุน เอกชาติ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ในชื่อแรก "บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอกชาติ จำกัด (มหาชน)" เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เปลี่ยนชื่อครั้งที่ 2 เป็น "บริษัทเงินทุน เอกชาติ จำกัด (มหาชน)" เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2541
ธนาคารธนชาตเปิดให้บริการ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2545 ภายใต้ใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์แบบจำกัดขอบเขตธุรกิจจากกระทรวงการคลัง หลังจากนั้นได้รับใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2547
พ.ศ. 2550 ธนาคารแห่งโนวาสโกเทีย (สโกเทียแบงก์) ธนาคารที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นธนาคารที่มีความมั่นคงอันดับต้น ๆ ของโลก ได้เข้ามาร่วมถือหุ้นธนาคารธนชาตอยู่ 24.99% ก่อนที่จะถือเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในปี พ.ศ. 2552 ส่วนหุ้นอีก 51% ของธนาคารธนชาต เป็นการถือโดย บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีผู้ถือหุ้น ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปไม่มีตระกูลใดถือหุ้นใหญ่
พ.ศ. 2553 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเติบโตของธนาคารธนชาต เนื่องจากเป็นปีที่ธนาคารประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทย จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และจากการขอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของธนาคารนครหลวงไทยจากผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยอื่น (Tender offer) ทำให้ธนาคารธนชาตเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารนครหลวงไทย
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 การเข้าซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทยของธนาคารธนชาตเสร็จสิ้นสมบูรณ์ นับเป็นการควบรวมและเข้าซื้อกิจการที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการธนาคารพาณิชย์ไทย และเป็นไปตามนโยบายของทางการที่ต้องการให้ธนาคารต่าง ๆ รวมกิจการกันเป็นธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่ระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ การรวมกิจการครั้งนั้นทำให้ธนาคารธนชาตมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน มีช่องทางในการให้บริการทั้งลูกค้าบุคคล (Retail) และลูกค้าสถาบัน (Corporate) ได้มากขึ้น ในธุรกิจที่หลากหลายยิ่งขึ้น ทำให้ธนาคารมีเสถียรภาพในการบริหารจัดการรายได้ ส่งผลให้มีความมั่นคงและพร้อมสำหรับการเติบโตเป็นอย่างยิ่ง
ภายหลังควบรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาตเปลี่ยนชื่อนิติบุคคลเป็น บริษัท ทีบีซีโอ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564[1] และจดทะเบียนชำระบัญชีกับกระทรวงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 อันเป็นการเลิกกิจการอย่างสมบูรณ์[2]
ความหมาย “ธนชาต”
แก้“ธนชาต” คำนี้มีความหมาย เริ่มแรกทุกบริษัทในกลุ่มธนชาต ใช้ชื่อว่า “ธนชาติ” ซึ่งตามรูปศัพท์หมายถึง การเกิดแห่งทรัพย์ ต่อมาเมื่อเปิดดำเนินการ ธนาคารธนชาต จึงใช้ชื่อว่า “ธนชาต” เนื่องจากติดข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่อนุญาตให้ใช้คำว่า “ชาติ” เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของชื่อของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น เพื่อเป็นการง่ายต่อการสร้างความจดจำในการสื่อสารเรื่องแบรนด์ ทุกบริษัทในกลุ่มธนชาตจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “ธนชาต” (ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงกับ “ธนชาติ”) ตั้งแต่นั้นมา โดย “ธนชาต” ตามรูปศัพท์ หมายถึง ทรัพย์ที่เกิดแล้ว
บริษัทในกลุ่มธนชาต
แก้- บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจการลงทุน (Holding Company) เป็นบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนชาต
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจอื่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาต ได้แก่ การเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย การเป็นนายหน้าประกันชีวิต รวมถึงตัวแทนสนับสนุนการจำหน่ายหน่วยลงทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ ได้แก่การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน การเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม และผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคล การค้าและจัดจำหน่ายหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ การให้บริการเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์และการเป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับทองคำ
- บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ประกอบธุรกิจ ดังนี้
- ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้แก่ การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน กิจการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การเป็นตัวแทนสนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน การเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์
- ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเอง
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารธนชาต (ถือหุ้นร้อยละ 75) กับธนาคารออมสิน (ถือหุ้นร้อยละ 25) ประกอบธุรกิจจัดการกองทุนรวม ธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน
- บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจให้บริการประกันภัย ครอบคลุมถึงการบริการรับประกันวินาศภัย ได้แก่ การประกันอัคคีภัย การประกันภัยรถยนต์ การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง การประกันภัยเบ็ดเตล็ด และธุรกิจการลงทุน
- บริษัท ธนชาตกรุ๊ป ลีสซิ่ง จำกัด ประกอบธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ทุกประเภท
- บริษัท ราชธานี ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจการให้บริการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อและสินเชื่อสัญญาเช่าทางการเงิน โดยมุ่งเน้นไปที่รถยนต์มือสองประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
- บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็น เอฟ เอส จำกัด ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โดยรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินในกลุ่มธนชาตมาบริหาร
- บริษัทบริหารสินทรัพย์ แม๊กซ์ จำกัด ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โดยรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินมาบริหาร
- บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โดยรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารธนชาต ทั้งสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสินทรัพย์รอการขายมาบริหาร
- บริษัท ประกันชีวิตนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ทุนธนชาต (ถือหุ้นร้อยละ 53.5 )และบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (ถือหุ้นร้อยละ 46.5 ) ประกอบธุรกิจประกันชีวิต โดยเน้นการทำตลาดลูกค้าบุคคลที่มีรายได้ระดับกลางขึ้นไป
- ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
พัฒนาการสำคัญของกลุ่มธนชาต
แก้- พ.ศ. 2523 ก่อตั้ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) ธนชาติ จำกัด
- พ.ศ. 2532 บงล.ธนชาติ เข้าถือหุ้น บงล.เอกชาติ
- พ.ศ. 2540 แยกกิจการหลักทรัพย์และกิจการเงินทุนออกจากกัน โดยบริษัทเงินทุน (บง.) ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจด้านเงินทุน, บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาติ จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านหลักทรัพย์ก่อตั้ง บริษัท ธนชาติประกันชีวิต จำกัด และ บริษัท ธนชาติประกันภัย จำกัด
- พ.ศ. 2541 บง.ธนชาติ เข้าถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมออมสิน จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ธนชาติ จำกัด
- พ.ศ. 2543 ก่อตั้ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) แม๊กซ์ จำกัด และ บบส.เอ็น เอฟ เอส โดยกลุ่มซูริค ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับธนชาติและได้เข้าถือหุ้นใน บจก.ธนชาติประกันชีวิต และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ธนชาติซูริคประกันชีวิต จำกัด
- พ.ศ. 2545 กลุ่มธนชาติได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จากกระทรวงการคลัง บง.เอกชาติ เปลี่ยนการประกอบธุรกิจจากเงินทุนเป็นธนาคารพาณิชย์โดยใช้ชื่อว่า ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
- พ.ศ. 2548 -
- บง.ธนชาติ ซื้อหุ้น บจก.ธนชาติซูริคประกันชีวิต คืนจากกลุ่มซูริค และเปลี่ยนชื่อกลับไปเป็น บจก.ธนชาตประกันชีวิต
- กระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างการประกอบธุรกิจสถาบันการเงินของกลุ่มธนชาตให้เป็นสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
- พ.ศ. 2549 บง.ธนชาติ คืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุน พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของกระทรวงการคลัง
- พ.ศ. 2550 ปรับโครงสร้างการถือหุ้นบริษัทในกลุ่มธนชาตใหม่ โดย บมจ.ทุนธนชาต ถือหุ้นเฉพาะธนาคารธนชาตกับกลุ่ม บบส. และธนาคารธนชาตถือหุ้นในบริษัทย่อย ที่ประกอบธุรกิจการเงินและธุรกิจสนับสนุน ธนาคารแห่งโนวาสโกเทียเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับธนาคารธนชาต โดยเข้าถือหุ้นจำนวน 24.99% หลังจากนั้นได้ถือเพิ่มเป็น 49% ในปี พ.ศ. 2552
- พ.ศ. 2553 ธนาคารธนชาตเข้าซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทย ร้อยละ 47.58 จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และซื้อจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น (Tender offer) ทำให้ธนาคารธนชาตถือหุ้นในธนาคารนครหลวงไทยรวมทั้งสิ้นร้อยละ 99.95
- พ.ศ. 2554 ธนาคารนครหลวงไทยโอนขายกิจการทั้งหมดให้แก่ธนาคารธนชาตในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ทำให้ธนาคารธนชาตเติบโตเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ มีสินทรัพย์ ช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าทั้งสาขาและตู้เอทีเอ็ม รวมถึงฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น
- พ.ศ. 2556 ธนาคารธนชาต และพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต ร่วมมือทางธุรกิจในการแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการด้านประกันชีวิต ผ่านสาขาของธนาคารธนชาต มีกำหนดระยะเวลา 15 ปี และธนาคารธนชาตได้ดำเนินการโอนหุ้นที่ถืออยู่ใน ธนชาตประกันชีวิต ทั้งหมดจำนวนร้อยละ 100 ให้แก่พรูเด็นเชียล
- พ.ศ. 2557 บริษัท ทุนธนชาต และ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ประกันชีวิตนครหลวงไทย จากธนาคารธนชาต ทำให้ปัจจุบัน ประกันชีวิตนครหลวงไทย มีทุนธนชาตถือหุ้นร้อยละ 53.5 และเอ็มบีเค ถือร้อยละ 46.5
- พ.ศ. 2562 ธนาคารธนชาตและธนาคารแห่งโนวาสโกเทียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจโอนขายกิจการแก่ธนาคารทหารไทย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทั้งสองธนาคาร
- พ.ศ. 2563 ธนาคารทหารไทยธนชาต เปิดให้บริการทุกสาขาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน
- พ.ศ. 2564 -
- วันที่ 23 เมษายน ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติการเปลี่ยนชื่อธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารทหารไทยธนชาต
- วันที่ 7 พฤษภาคม เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต
- วันที่ 5 กรกฎาคม เสร็จสิ้นการโอนขายกิจการอย่างสมบูรณ์
รายนามประธานกรรมการ
แก้- นายวิจิตร สุพินิจ (พ.ศ. 2545-2548)
- พลเอก ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ (พ.ศ. 2548-2549)
- พลเอก อภิชาติ เพ็ญกิตติ (พ.ศ. 2549-2551)
- นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ (พ.ศ. 2551-2553)
- นายบันเทิง ตันติวิท (พ.ศ. 2553-2554)
- นายสาธิต รังคสิริ (พ.ศ. 2554-2557)
- นายวิทยา เวชชาชีวะ (พ.ศ. 2557-2558)
- นางนิสดารก์ เวชยานนท์ (พ.ศ. 2558-2560)
- พลเอก สกล ชื่นตระกูล (พ.ศ. 2560-2561)
- นายเข็มชัย ชุติวงศ์ (พ.ศ. 2561-2563)
- นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (พ.ศ. 2563-2564)
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "เอกสารเผยแพร่ - ทีบีซีโอ จำกัด (มหาชน) : TBANK". สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์.
- ↑ อีไฟแนนซ์ไทย, สำนักข่าว. "TTB โชว์กำไรปี 66 ที่ 1.84 หมื่นลบ. โต 30% รับรายได้ดอกเบี้ยพุ่งตามพอร์ตสินเชื่อรายย่อย". efinancethai.com.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เก็บถาวร 2010-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า | ธนาคารธนชาต | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ธนาคารนครหลวงไทย | ธนาคารธนชาต (22 เมษายน พ.ศ. 2545 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564) |
ธนาคารทหารไทยธนชาต |