ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ

ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2492 ปัจจุบันควบรวมกิจการเข้ากับธนาคารทหารไทย (ปัจจุบันคือธนาคารทหารไทยธนชาต) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ
ประเภทบริษัทมหาชน
ก่อตั้ง1 มีนาคม พ.ศ. 2492
เลิกกิจการ1 กันยายน พ.ศ. 2547 (55 ปี)
สาเหตุรวมกิจการเข้ากับธนาคารทหารไทย (ปัจจุบันคือธนาคารทหารไทยธนชาต)
สำนักงานใหญ่393 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

ประวัติ แก้

ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งและจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2492 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

รายพระนามและรายนามผู้ก่อตั้ง แก้

  1. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต
  2. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
  3. หม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล
  4. หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล
  5. พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ)
  6. นายประจวบ บุรานนท์
  7. นายเซียว ไก่ ซวน
  8. พระทำนุนิธิผล (เพิ่ม เศาภายน)

การดำเนินการ แก้

ต่อมา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2492 ธนาคาร ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการธนาคาร และได้เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2492 ณ สำนักงานชั่วคราว ถนนพระพิทักษ์ สี่แยกบ้านหม้อ ต่อจากนั้น เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2498 ธนาคารได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ทำการแห่งใหม่เลขที่ 943 มุมถนนมหาไชย-เยาวราช หน้าวังบูรพา แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และได้รับพระราชทานตราตั้งให้เป็นธนาคารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 หลังจากนั้น ได้ย้ายสำนักงานอีกครั้ง มาอยู่ที่ 393 ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2516

ธนาคารได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2519 จากนั้นในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและเปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคาร ไทยทนุ จำกัด (มหาชน)” โดยทุนจดทะเบียน เพิ่มจาก 10 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2491 เป็น 150 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2524, 200 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2528, 350 ล้านบาทในปี 2532, 700 ล้านบาท และ 910 ล้านบาทในปี 2538[1] ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินในปี พ.ศ. 2540 ทำให้ธนาคารไทยทนุ ต้องขอความช่วยเหลือจาก ธนาคารดีบีเอส ในเครือเทมาเส็กโฮลดิ้งส์จากสิงคโปร์ให้เข้าถือหุ้นใหญ่ และเปลี่ยนชื่อธนาคารเป็น ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2542

ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ได้ควบรวมกิจการเข้ากับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมกันกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย[2] และคืนตราตั้งแก่สำนักพระราชวัง เมื่อปี พ.ศ. 2547[3]

ลักษณะการประกอบธุรกิจ แก้

ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทุกประเภทตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ และประกาศที่เกี่ยวข้องซึ่งออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยธนาคารได้ให้บริการด้านการเงินการพาณิชย์ต่าง ๆ อันได้แก่ การรับฝากเงิน การให้สินเชื่อ การทำธุรกิจต่างประเทศ วิเทศธนกิจ และบริการด้านอื่น ๆ ได้แก่ บริการด้านอิเล็กทรอนิคส์ บริการเสริมต่าง ๆ ทั้งในสำนักงานใหญ่ และสาขา ซึ่งธนาคาร ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลัง ให้สามารถประกอบธุรกิจ 3 ประเภท ตามใบอนุญาต ดังนี้ คือ

  • ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์
  • ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ วิเทศธนกิจ
  • ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ การเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์

รายพระนามและชื่อประธานกรรมการ แก้

  1. หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล (พ.ศ. 2492-2497)
  2. พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) (พ.ศ. 2497-2500)
  3. หม่อมเจ้าสมรศรีโสภา เทวกุล (พ.ศ. 2501-2506)
  4. จอมพล ผิน ชุณหะวัณ (พ.ศ. 2506-2511)
  5. พลตำรวจโท ต่อศักดิ์ ยมนาค (พ.ศ. 2511-2513)
  6. พลเรือเอก กมล สีตกะลิน (พ.ศ. 2513-2516)
  7. พลอากาศเอก บุญชู จันทรุเบกษา (พ.ศ. 2516-2519)
  8. นายเยื่อ สุสายัณห์ (พ.ศ. 2519-2522)
  9. นายวิทย์ ตันตยกุล (พ.ศ. 2522-2525)
  10. นายบัณฑิต บุณยะปานะ (พ.ศ. 2525-2528)
  11. พลโท อุดม ติตถะศิริ (พ.ศ. 2528-2530)
  12. นายพจน์ สารสิน (พ.ศ. 2530-2535)
  13. ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ (พ.ศ. 2535-2538)
  14. พลเรือเอก วินัย นัยนานนท์ (พ.ศ. 2538-2541)
  15. พลอากาศเอก ธนนิตย์ เนียมทันต์ (พ.ศ. 2541-2542)
  16. นายสมใจนึก เองตระกูล (พ.ศ. 2543-2544)
  17. นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล (พ.ศ. 2544-2547)

อ้างอิง แก้

  1. "ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ ยังต้องปรับตัวอีกมาก". gotomanager.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-10. สืบค้นเมื่อ 2022-06-21.
  2. "TBANK ควบ SCIB "เราจะโต"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-05. สืบค้นเมื่อ 2011-09-14.
  3. ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง รับคืนตราตั้ง (ธนาคารไทยทนุ จำกัด)

ดูเพิ่ม แก้