เขตบางรัก
บางรัก เป็นหนึ่งในห้าสิบเขตในฝั่งพระนครของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับเขตปทุมวันทางทิศเหนือและตะวันออก เขตสาทรทางทิศใต้ และติดต่อกับเขตสัมพันธวงศ์และเขตคลองสาน (ตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา) ทางตะวันตก
เขตบางรัก | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Khet Bang Rak |
เขตบางรักและแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อมองจากไอคอนสยาม | |
คำขวัญ: เขตเศรษฐกิจแท้จริง โซนนิงสถานบริการ ถิ่นตำนานแห่งความรัก ย่านที่พักโรงแรมหรู แหล่งเรียนรู้โรงเรียนดัง บางรัก บาง...รักประชาชน | |
แผนที่กรุงเทพมหานคร เน้นเขตบางรัก | |
พิกัด: 13°43′51″N 100°31′27″E / 13.73083°N 100.52417°E | |
ประเทศ | ไทย |
เขตปกครองพิเศษ | กรุงเทพมหานคร |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 5.54 ตร.กม. (2.14 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 42,921[1] คน |
• ความหนาแน่น | 7,747.47 คน/ตร.กม. (20,065.9 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 10500 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 1004 |
ที่อยู่ สำนักงาน | เลขที่ 5 ถนนนเรศ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 |
เว็บไซต์ | www |
เขตบางรักเป็นบริเวณหนึ่งที่ชาวยุโรปเข้ามาตั้งรกรากเป็นบริเวณแรก ๆ ในกรุงเทพมหานคร เช่น คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ซึ่งตั้งสวนท่านเป็นโบสถ์โรมันคาทอลิก (ปัจจุบันคือ อาสนวิหารอัสสัมชัญ) การตั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยของคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน, การตั้งสถานทูตฝรั่งเศสและโปรตุเกส และการตั้งโกดังเก็บสินค้าไปจนถึงอาคารสำนักงานของบริษัทอีสต์เอเชียติก เป็นต้น[2] ในปี 2559 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้ย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่จากที่เขตคลองเตย มาอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลาง ในเขตบางรัก พร้อมทั้งสนับสนุนและประกาศให้พื้นที่รอบถนนเจริญกรุงในเขตบางรักให้เป็นเขตธุรกิจสร้างสรรค์[3]ในชื่อ "สร้างสรรค์เจริญกรุง"[4] คำขวัญของเขตบางรักได้ให้ลักษณะของเขตว่าเป็น "โซนนิงสถานบริการ" (เช่น พัฒน์พงศ์, อดีตซอยประตูชัย), "ย่านที่พักโรงแรมหรู" (เช่น โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ, โรงแรมเชอราตัน) และ "แหล่งเรียนรู้โรงเรียนดัง" (เช่น โรงเรียนเอกชนเก่าแก่ โรงเรียนอัสสัมชัญ, โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย, โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์) นอกจากนี้เขตบางรักยังเป็นที่รู้จักจากอาคารเก่าสถาปัตยกรรมโคโลเนียลและตะวันตก[5] เช่น ศุลกสถาน, อาคาร อีสต์ เอเชียติก, ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ และพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ในปัจจุบันเขตบางรักยังเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงาน ตึกระฟ้าจำนวนมากในย่านสีลม ซึ่งเป็นหนึ่งในบริเวณที่มีมูลค่าที่ดินสูงที่สุดในประเทศไทย อยู่ที่ 1.7 ล้านบาท ต่อตารางวา ในการคาดการณ์ปี 2560 สูงเป็นอันดับที่สามในประเทศไทยรองจากย่านสยามสแควร์ และย่านชิดลมในเขตปทุมวัน[6]
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้เขตบางรักมีพื้นที่ทั้งหมด 5.54 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) มีอาณาเขตติดต่อกับเขตต่าง ๆ เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้[7]
- ทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตปทุมวัน มีถนนพระรามที่ 4 ฟากใต้ เป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศใต้ ติดต่อกับเขตสาทร มีคลองสาทรเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตคลองสาน มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต
- ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับเขตสัมพันธวงศ์ มีคลองผดุงกรุงเกษมเป็นเส้นแบ่งเขต
สัญลักษณ์
แก้สัญลักษณ์ประจำเขตบางรัก ได้แก่[7]
- ตราประจำเขตบางรัก ประกอบรูปกังหันลมสีเหลืองบนพื้นหลังสีม่วง รูปกังหันลม 5 แฉกสื่อถึง โรงสีซึ่งในอดีตมีมากบนถนนสีลมซึ่งเป็นที่มาของชื่อถนนสีลม ส่วนแฉกทั้ง 5 สื่อถึงแขวง 5 แขวงในเขตบางรัก ด้านล่างเป็นพวงดอกรัก ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำเขต
- ดอกไม้ประจำเขตบางรัก คือ ดอกรัก ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานของที่มาของชื่อเขตบางรัก
- สีประจำเขตบางรัก คือ สีม่วง
- คำขวัญประจำเขต คือ
“เขตเศรษฐกิจ แท้จริง
โซนนิ่ง สถานบริการ
ถิ่นตำนาน แห่งความรัก
ย่านที่พัก โรงแรมหรู
แหล่งเรียนรู้ โรงเรียนดัง”
บางรัก บาง...รักประชาชน
ศัพทมูล
แก้ที่มาของชื่อเขตบางรักมีการสันนิษฐานอยู่หลายทฤษฎี ได้แก่
- สันนิษฐานว่าบริเวณเขตบางรักนี้ในอดีตมีคลองเล็ก ๆ สายหนึ่งที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีซุงของต้นรักขนาดใหญ่ในคลองนั้น จึงเรียกชื่อบริเวณนี้ตามชื่อไม้ว่า "บางรัก" ส่วนบริเวณที่เคยเป็นคอลงที่มีซุงนั้น เชื่อว่าเป็นบริเวณตรอกซุงในปัจจุบัน[8]
- สันนิษฐานว่าบริเวณนี้ในอดีตมีต้นรักขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากจนเป็นที่มาของชื่อ “บางรัก“[9] ความเชื่อนี้ในปัจจุบันได้รับการยอมรับมาก สังเกตจากตราสัญลักษณ์ประจำเขตนั้นก็ใช้รูปดอกรักประกอบ ตามความเชื่อว่าเป็นที่มาของชื่อเขต[7]
- สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “บางรักษ์” ซึ่งมาจากสำนักงานอำเภอในอดีตตั้งอยู่ตรงข้ามกับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่เป็นที่รู้จัก อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ถูกคัดค้านว่ามาจากถูกเข้าใจผิดจากชื่อของ อำเภอบางรักษ์ ในย่านบ้านทวาย (บริเวณต่อระหว่างเขตสาทร กับเขตบางรักในปัจจุบัน)[8]
- สันนิษฐานว่าในอดีต เป็นย่านที่มีชื่อว่าคลองบางขวางล่างใต้ เนื่องด้วยเป็นบริเวณที่มีการทะเลาะวิวาทถึงขั้นฆ่ากันตายบ่อยครั้ง ชาวบ้านจึงขอให้ใช้ชื่อที่เป็นมงคลเรียกย่านนี้ว่า "บางรัก" แทนชื่อเดิม[9]
ในปัจจุบันเป็นที่เชื่อกันในความเป็นสิริมงคลของชื่อเขตบางรัก ว่ามีความเกี่ยวข้องกับความรัก ในทุก ๆ ปี สำนักงานเขตจะจัดพิธีจดทะเบียนสมรสหมู่ขึ้นในวันวาเลนไทน์ของทุกปี แสดงให้เห็นความนิยมในชื่อของ “รัก” ที่ปรากฏในชื่อเขตในฐานะของความรัก[9]
ประวัติ
แก้อำเภอบางรักก่อตั้งขึ้นเป็นทางการในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2450 โดยการรวมพื้นที่อำเภอชั้นในของพระนคร 4 อำเภอตามประกาศกระทรวงนครบาล นับเป็น 1 ใน 8 อำเภอของกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ต่อมาใน พ.ศ. 2515 หลังการประกาศของคณะปฏิวัติให้จัดตั้งกรุงเทพมหานครขึ้นแทนที่นครหลวงกรุงเทพธนบุรีซึ่งเกิดจากการรวมกันของจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี อำเภอบางรักจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ส่วนตำบลต่าง ๆ ก็เปลี่ยนสถานะฐานะเป็นแขวงแทน[8]
เขตการปกครอง
แก้เขตบางรักแบ่งหน่วยการปกครองย่อยออกเป็น 5 แขวง ดังนี้[7]
หมาย เลข |
อักษรไทย | อักษรโรมัน | พื้นที่ (ตร.กม.) |
จำนวนประชากร (ธันวาคม 2566) |
ความหนาแน่น (ธันวาคม 2566) |
แผนที่ |
---|---|---|---|---|---|---|
1. |
มหาพฤฒาราม | Maha Phruettharam | 0.889 |
9,865 |
11,096.74 |
|
2. |
สีลม | Si Lom | 2.074 |
16,311 |
7,864.51
| |
3. |
สุริยวงศ์ | Suriyawong | 0.820 |
4,172 |
5,087.81
| |
4. |
บางรัก | Bang Rak | 0.689 |
2,413 |
3,502.18
| |
5. |
สี่พระยา | Si Phraya | 1.064 |
10,160 |
9,548.87
| |
ทั้งหมด | 5.540 |
42,921 |
7,747.47
|
ประชากร
แก้สถิติประชากรตามทะเบียนราษฎร เขตบางรัก[10] | ||
---|---|---|
ปี (พ.ศ.) | ประชากร | การเพิ่มและการลด |
2535 | 77,412 | ไม่ทราบ |
2536 | 70,838 | -6,574 |
2537 | 69,210 | -1,628 |
2538 | 68,081 | -1,129 |
2539 | 65,966 | -2,115 |
2540 | 64,989 | -977 |
2541 | 64,345 | -644 |
2542 | 63,038 | -1,307 |
2543 | 61,994 | -1,044 |
2544 | 61,175 | -819 |
2545 | 60,775 | -400 |
2546 | 60,300 | -475 |
2547 | 50,443 | -9,857 |
2548 | 50,023 | -420 |
2549 | 49,730 | -293 |
2550 | 49,124 | -606 |
2551 | 48,506 | -618 |
2552 | 47,503 | -1,003 |
2553 | 47,053 | -450 |
2554 | 46,087 | -966 |
2555 | 46,112 | +25 |
2556 | 46,114 | +2 |
2557 | 46,472 | +358 |
2558 | 46,777 | +305 |
2559 | 47,308 | +531 |
2560 | 47,817 | +509 |
2561 | 48,207 | +390 |
2562 | 48,227 | +20 |
2563 | 45,757 | -2,470 |
2564 | 45,015 | -742 |
2565 | 43,914 | -1,101 |
2566 | 42,921 | -993 |
เศรษฐกิจ
แก้ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้สนับสนุนให้บริเวณเขตบางรักช่วงถนนเจริญกรุงเป็นพื้นที่เขตธุรกิจสร้างสรรค์ ในปัจจุบันเขตบางรักเป็นที่ตั้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสร้างสรรค์ คือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)[11] นอกจากนี้ในเขตบางรักประกอบไปด้วยอาคารสำนักงานและอาคารระฟ้าหลายแห่ง เช่น จิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์, คิง เพาเวอร์ มหานคร และตึกสเตท
การท่องเที่ยว
แก้เขตบางรักเป็นที่ตั้งของโรงแรมหรูที่มีอายุเก่าแก่หลายแห่ง เช่น โรงแรมดุสิตธานี, โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ, โรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ, โรงแรมแชงการีลา นอกจากนี้เขตบางรักยังเป็นที่รู้จักจากสถานที่ท่องเที่ยวกลุ่มอาคารเก่าแก่สถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียลและตะวันตก เช่น ศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม), ตึกเก่าอาคาร อีสต์ เอเชียติก, บ้านสาทร, พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก, อาคารไปรษณีย์กลาง และ ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์
สถานที่สำคัญ
แก้สถานทูต
แก้ในเขตบางรักเป็นที่ตั้งของสถานทูตดังต่อไปนี้[12]
- สถานทูตกรีซ
- สถานทูตคาซัคสถาน
- สถานทูตรัสเซีย
- สถานทูตเบลเยียม
- สถานทูตแคนาดา
- สถานทูตซาอุดีอาระเบีย
- สถานทูตโปรตุเกส
- สถานทูตฝรั่งเศส
- สถานทูตพม่า
สถานศึกษา
แก้เขตบางรักเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงเก่าแก่หลายแห่ง ดังที่ปรากฏในคำขวัญเขตวรรค “แหล่งเรียนรู้โรงเรียนดัง” โดยในเขตบางรักเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเอกชนเก่าแก่ของประเทศไทย เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกในประเทศไทย, โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย, โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ โรงเรียนสตรีคาทอลิกแห่งแรกในประเทศไทย และโรงเรียนเอกชนของคาทอลิกอื่น ๆ คือ โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา และโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ โรงเรียนรัฐบาลที่เป็นที่รู้จัก เช่น โรงเรียนปวโรฬาร, โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม สำหรับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือวิชาชีพ เช่น วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร, สถาบันการโรงแรม เลอ กอร์ดอง เบลอ และ วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา
สถานพยาบาล
แก้ในเขตบางรักประกอบด้วยโรงพยาบาล 4 แห่ง ได้แก่[13] โรงพยาบาลรัฐบาล 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย[14], โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน (สังกัดสภาคริสตจักรในประเทศไทย) และ โรงพยาบาลมเหสักข์ (สังกัดเครือโรงพยาบาลวิภาราม)
ศาสนสถาน
แก้เขตบางรักประกอบวัดในศาสนาพุทธ 5 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นพระอารามหลวง 2 แห่ง คือ วัดมหาพฤฒารามและวัดหัวลำโพง นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของโบสถ์คริสต์ ของโรมันคาทอลิก เช่น อาสนวิหารอัสสัมชัญ ที่ตั้งของเขตมิสซังกรุงเทพฯและเป็นศูนย์กลางของการควบคุมดูแลคาทอลิกในประเทศไทย และอารามคาร์แมล กรุงเทพฯ ของโปรเตสแตนต์ เช่น คริสตจักรสัจจศึกษา, คริสตจักรสะพานเหลือง และของแองกลิคันคือ คริสตจักรไคร้สต์เชิร์ช ส่วนมัสยิดประกอบด้วย มัสยิดบ้านอู่, มัสยิดฮารูณ, มัสยิดมิตรภาพไทย-ปากีสถาน, มัสยิดนูรุ้ลนะซีฮะห์, มัสยิดบูรัลนะซีฮาร์
นอกจากสามศาสนาหลักของประเทศไทย แล้วยังเป็นที่ตั้งของโบสถ์พราหมณ์แบบอินเดียใต้ คือ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี และศาลเจ้าจีนต่าง ๆ เช่น ศาลเจ้าปุ้นเถ้ากง, ศาลเจ้าเจียวเอ็งเนี้ยว
การคมนาคม
แก้ระบบถนน
แก้ถนนสายหลัก ได้แก่
และถนนสายรอง เช่น
- ถนนสี่พระยา
- ถนนสุรวงศ์
- ถนนนเรศ
- ถนนทรัพย์
- ถนนมหาเศรษฐ์
- ถนนมเหสักข์
ระบบขนส่งมวลชน
แก้- รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ประกอบด้วยสถานีช่องนนทรี, สถานีเซนต์หลุยส์ สถานีสุรศักดิ์, สถานีศาลาแดง และสถานีสะพานตากสิน
- รถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร–ราชพฤกษ์ ประกอบด้วยสถานีสาทร
- รถไฟฟ้ามหานคร ประกอบด้วยสถานีสีลม
- เรือด่วนเจ้าพระยา ประกอบด้วยท่าสาทร, ท่าโอเรียนเต็ล และท่าวัดม่วงแค
เหตุการณ์สำคัญ
แก้ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
22 เมษายน พ.ศ. 2553 ได้เกิดเหตุระเบิด 5 ครั้งบริเวณถนนสีลม โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. รวมตัวการชุมนุมอยู่แยกศาลาแดงฝั่งถนนสีลม ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของตำรวจ โดยเสียงระเบิดดังขึ้น 3 ครั้ง ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง เสียงระเบิดทำให้ประชาชนที่อยู่บนสถานีและกลุ่มต่อต้าน นปช. เกิดความโกลาหล ระเบิดลูกที่ 4 ได้ระเบิดขึ้นบริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี ใต้ทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (สกายวอล์ก) ต่อมา เวลา 20.45 น. ระเบิดลูกที่ 5 ก็ระเบิดขึ้นที่หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาศาลาแดง
7 พฤษภาคม เวลา 22.45 น. บริเวณแยกศาลาแดง เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนเฝ้าที่หน้าธนาคารกรุงไทย สาขาย่อย อาคารซูลิก เฮ้าส์ ถนนสีลม ทำให้กระจกหน้าธนาคารกรุงไทย ใกล้ตู้เอทีเอ็ม แตก 1 บาน มีรอยร้าว มีรูกระสุน 1 รู มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย[ต้องการอ้างอิง] ทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม
ทัศนียภาพ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "สถิติประชากรและบ้าน - จำนวนประชากรแยกรายอายุ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age.php เก็บถาวร 2020-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้น 25 มกราคม 2567.
- ↑ อลิษา ลิ้มไพบูลย์. 7 กุมภาพันธ์ 2562. ชวนเดินดูประวัติศาสตร์ย่านบางรัก ชุมชนเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำเมื่อครั้งแรกๆ ที่ชาวตะวันตกเข้ามาเยือนสยาม. Retrieved from https://readthecloud.co/walk-west-side-story/
- ↑ Creative Thailand. 1 เมษายน 2560. Revalue Charoenkrung คุณค่าใหม่ เจริญกรุง. Retrieved from https://web.tcdc.or.th/th/articles/detail/Revalue-Charoenkrung--คุณค่าใหม่-เจริญกรุง
- ↑ TCDC. 9 ธันวาคม 2558. โครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง Co-create Charoenkrung. Retrieved from http://www.tcdc.or.th/projects/co-create-charoenkrung/?lang=th
- ↑ อังคณา นาคเกิด. 9 พฤศจิกายน 2560. Hidden Gem in Old Town: หลงเสน่ห์เมืองเก่าเพราะ “ที่นี่…บางรัก”. Retrieved from https://urbancreature.co/bangrak-hidden-gem-in-old-town/
- ↑ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ จำกัด อ้างถึงใน สำนักข่าวเนชั่น. 16 พฤษภาคม 2560. 5 อันดับที่ดินแพงที่สุด กทม. "สยามสแควร์" ครองแชมป์ ตารางวาละ 2 ล้าน 1 แสนบาท. Retrieved from https://www.nationtv.tv/main/content/378547613/
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 สำนักงานเขตบางรัก. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับเขตบางรัก. Retrieved from http://www.bangkok.go.th/bangrak/page/sub/8026/ เก็บถาวร 2020-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 8.0 8.1 8.2 สำนักงานเขตบางรัก. 30 กันยายน 2562. ประวัติความเป็นมาของเขตบางรัก. Retrieved from http://www.bangkok.go.th/bangrak/page/sub/2936/ประวัติความเป็นมา-Background เก็บถาวร 2021-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 9.0 9.1 9.2 หนุ่มลูกทุ่ง. 12 มิถุนายน 2550. สุขสันต์วันเกิด ครบ 100 ปี "บางรัก". Retrieved from https://mgronline.com/travel/detail/9500000068110
- ↑ สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "จำนวนประชากรและบ้าน." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.dopa.go.th/xstat/popyear.html 2556. สืบค้น 3 เมษายน 2556.
- ↑ Creative Economy Agency. About Us. Retrieved from https://www.cea.or.th/th/about
- ↑ "Diplomatic and Consular List" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-16. สืบค้นเมื่อ 16 August 2019.
- ↑ สำนักงานเขตบางรัก. สถานพยาบาลในเขตบางรัก. Retrieved from http://www.bangkok.go.th/bangrak/page/sub/8031/โรงพยาบาล เก็บถาวร 2021-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช. ประสบการณ์กว่า 120 ปี สู่บริการทางการแพทย์. Retrieved from https://www.bnhhospital.com/th/เกี่ยวกับบีเอ็นเอช/ เก็บถาวร 2021-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์สำนักงานเขตบางรัก
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ เขตบางรัก
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์