รัก (ไม้พุ่ม)

(เปลี่ยนทางจาก ดอกรัก)

รัก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Calotropis gigantea (Linn.) R.Br.ex Ait.) เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กในวงศ์ Apocynaceae วงศ์ย่อย Asclepiadoideae ลำต้นสูง 1.5–3 เมตร ดอกมีสีขาวหรือม่วง มีรยางค์เป็นคล้ายมงกุฎ

รัก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: แอสเทอริด
อันดับ: ดอกหรีดเขา
วงศ์: วงศ์ตีนเป็ด
สกุล: Calotropis
(L.) Dryand.
สปีชีส์: Calotropis gigantea
ชื่อทวินาม
Calotropis gigantea
(L.) Dryand.
ชื่อพ้อง[1]
  • Asclepias gigantea L.
  • Calotropis gigantea (L.) R. Br. ex Schult.
  • Madorius giganteus (L.) Kuntze
  • Periploca cochinchinensis Lour.
  • Streptocaulon cochinchinense (Lour.) G. Don
ผลแตกแนวเดียว
เมล็ดที่เตรียมกระจาย

รักเป็นพืชพื้นเมืองของกัมพูชา, เวียดนาม, บังกลาเทศ, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไทย, ศรีลังกา, อินเดีย, จีน, ปากีสถาน และเนปาล[2] ดอกของพืชชนิดนี้เรียกว่า ดอกรัก

ศัพทมูลวิทยา แก้

รัก เชื่อว่ามาจากภาษาที่ใช้กันในอินเดียที่ใช้เรียกพืชชนิดนี้ว่า "อรัก" และกร่อนมาเป็นคำว่า "รัก" ในภาษาไทย[3]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

ต้นสูง 1.5–3 เมตร ทุกส่วนมียางขาวเหมือนน้ำนม ตามกิ่งมีขน ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม รูปรีแกมขอบขนาน ปลายแหลมโคนเว้า กว้าง 6–8 เซนติเมตร ยาว 10–14 เซนติเมตร เนื้อใบหนา ใต้ใบมีขนนุ่ม ก้านสั้น ดอกสีขาวหรือสีม่วง ออกเป็นช่อตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 2–3 เซนติเมตร มีรยางค์เป็นคล้ายมงกุฎ 5 สัน มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ส่วนนี้เองที่นำมาใช้ร้อยมาลัย ผลเป็นฝักคู่ รูปรีปลายแหลมกว้าง 3–4 เซนติเมตร ยาว 6–8 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกและปล่อยเมล็ดแบนสีน้ำตาลจำนวนมาก ที่มีขนสีขาวเป็นพู่กระจุกอยู่ที่ตรงกลางปลายด้านหนึ่ง ให้ปลิวไปตามลม

การขยายพันธุ์ แก้

ปกติแล้วรักมักขึ้นอยู่ตามที่รกร้าง ไม่ค่อยมีการเพาะปลูกกัน แต่สำหรับอุตสาหกรรมในครัวเรือนอาจจะต้องปลูกไว้ใช้ รักขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือการปักชำ ระยะเวลาเติบโตจนออกดอกประมาณ 8 เดือน ใส่ปุ๋ย 16-16-16 เดือนละครั้ง

สรรพคุณ แก้

  • ดอก รักษาอาการไอ หอบหืด และหวัด ช่วยให้เจริญอาหาร
  • เปลือกและราก ใช้รักษาโรคบิด ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ขับน้ำเหลืองเสีย และทำให้อาเจียน
  • ยาง ถ้าถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง แต่ก็มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย สามารถบรรเทาอาการปวดฟัน ปวดหู ขับพยาธิ รักษากลากเกลื้อน และใช้เป็นยาขับเลือด

ประเพณีและความเชื่อ แก้

 
ดอกรักที่ร้อยเป็นมาลัย

ตามประเพณีในประเทศไทยนิยมนำดอกรักมาร้อยเป็นมาลัยร่วมกับดอกมะลิ ดาวเรือง จำปา หรือกุหลาบ ใช้ในงานมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับความรัก เพราะดอกรักสื่อความหมายถึงความรัก เช่น งานหมั้น และงานแต่งงาน โดยใช้ในขันหมากหมั้น ขันหมากแต่ง จัดพานรองรับน้ำสังข์ ร้อยเป็นมาลัยบ่าวสาว และโปรยบนที่นอนในพิธีปูที่นอน เป็นต้น ส่วนชาวฮาวายถือว่ามาลัยดอกรักที่ทำเป็นสร้อยคอ (lei) คือสัญลักษณ์ของความเป็นกษัตริย์ แต่ในอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดดั้งเดิมถือว่าเป็นวัชพืชไม่มีประโยชน์[3]

อ้างอิง แก้

  1. "The Plant List: A Working List of All Plant Species". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-12. สืบค้นเมื่อ 11 July 2014.
  2. "Calotropis gigantea (L.) W.T.Aiton | Plants of the World Online | Kew Science". Plants of the World Online (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-05-27.
  3. 3.0 3.1 หน้า ๑๑๒-๑๑๓. รัก...ไม่รัก โดย "สถาปนิกต่างดาว". อนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๕๖ ฉบับที่ ๗: กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

แหล่งข้อมูลอื่น แก้