คลองผดุงกรุงเกษม
คลองผดุงกรุงเกษม (อักษรโรมัน: Khlong Phadung Krung Kasem) เป็นคลองขุดรอบพระนครชั้นนอก (ชั้นที่สาม) ขุดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุดเมื่อ พ.ศ. 2394 ทรงพิจารณาเห็นว่าบ้านเมืองเจริญขึ้น ผู้คนก็มากกว่าเมื่อเริ่มสร้างกรุง ควรขยับขยายพระนครออกไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ว่าที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง เจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นกงสีจ้างจีนขุดคลองพระนครออกไปอีกชั้นหนึ่ง โดยขุดถัดจากคลองรอบกรุงออกไปทางชานพระนคร เริ่มขุดจากปากคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเทวราชกุญชร (วัดสมอแครง) ย่านเทเวศร์ มีแนวขนานไปกับคลองคูเมืองเดิม ผ่านย่านหัวลำโพง ตัดผ่านคลองมหานาคไปทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่งบริเวณวัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา คลองนี้ขุดเสร็จในปี พ.ศ. 2395 ได้รับพระราชทานชื่อว่า "คลองผดุงกรุงเกษม"
คลองผดุงกรุงเกษม | |
---|---|
คลองผดุงกรุงเกษมในปัจจุบัน | |
ตำแหน่ง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ข้อมูลจำเพาะ | |
ความยาว | 5.5 km (3.4 ไมล์) |
ประตูกั้นน้ำ | 2 |
ประวัติ | |
ชื่อทั่วไป | คลองผดุง |
หัวหน้าวิศวกร | สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) |
วันที่อนุมัติ | พ.ศ. 2394 |
เริ่มก่อสร้าง | พ.ศ. 2394 |
วันที่เปิดใช้ | พ.ศ. 2395 |
วันที่แล้วเสร็จ | พ.ศ. 2395 |
ข้อมูลภูมิศาสตร์ | |
ทิศ | ใต้ |
จุดเริ่มต้น | แม่น้ำเจ้าพระยา แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร และแขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต |
จุดสิ้นสุด | แม่น้ำเจ้าพระยา แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ และแขวงบางรัก เขตบางรัก |
สาขาของ | แม่น้ำเจ้าพระยา |
เชื่อมต่อกับ | แม่น้ำเจ้าพระยา |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | คลองผดุงกรุงเกษม ตลอดแนวคลอง |
ขึ้นเมื่อ | 29 เมษายน พ.ศ. 2519 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0000014 |
คลองนี้ตัดผ่านคลองมหานาค บริเวณสี่แยกมหานาค ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญ ผ่านบริเวณหัวลำโพงในปัจจุบัน ผ่านวัดมหาพฤฒาราม (เดิมเรียกว่า วัดท่าเกวียน) ในสมัยที่ทำการขุดมีขนาดกว้าง 20 เมตร ลึก 3 เมตร ยาว 5.5 กิโลเมตร การขยายครั้งนี้ทำให้มีพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 5,552 ไร่ (8.883 ตารางกิโลเมตร; 3.430 ตารางไมล์).[1]
อนึ่ง คลองผดุงกรุงเกษมเป็นเส้นแบ่งการปกครองระหว่างเขตหลายเขตในฝั่งพระนคร ดังนี้
- แบ่งเขตสัมพันธวงศ์กับเขตบางรัก ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งใต้จนถึงสะพานเจริญสวัสดิ์
- แบ่งเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกับเขตปทุมวัน ตั้งแต่สะพานเจริญสวัสดิ์จนถึงคลองแสนแสบ
- แบ่งเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกับเขตดุสิต ตั้งแต่คลองแสนแสบจนถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์
- แบ่งเขตพระนครกับเขตดุสิต ตั้งแต่สะพานมัฆวานรังสรรค์จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งเหนือ
ประวัติ
แก้คลองผดุงกรุงเกษมเป็นคลองเมืองชั้นนอกที่ขุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่าง พ.ศ. 2394 ถึง พ.ศ. 2395 ในการขุดคลองได้จ้างแรงงานชาวจีนเป็นผู้ขุดเพื่อขยายชุมชนออกไปทางทิศตะวันออกของพระนคร ระยะทางรวมราว 5.5 กิโลเมตร เริ่มทางทิศเหนือที่วัดสมอแครงหรือวัดเทวราชกุญชร ขนานไปกับคลองบางลำพู-โอ่งอ่าง ตัดผ่านคลองมหานาคจนกลายเป็นย่านการค้าที่สำคัญคือ สี่แยกมหานาค ผ่านวัดวัดหัวลำโพง วัดท่าเกวียนหรือวัดมหาพฤฒารามไปจนจรดแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้แถววัดแก้วแจ่มฟ้า การขุดคลองทำให้เกิดวัดและชุมชนเรียงรายไปตามลำคลองเพิ่มขึ้น เช่น วัดสามจีน (วัดไตรมิตรฯ) วัดพลับพลาไชย วัดโสมนัสราชวรวิหาร วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดบางขุนพรหม วัดเทวราชกุญชร เป็นต้น
ตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา มีการขยายพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนจากเมืองพระนครมาทางฝั่งตะวันออกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดวัดขึ้นเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพิ่มตามขึ้นมาเช่นวัดพระพิเรนทร์ วัดชัยชนะสงคราม วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดกันมาตุยาราม วัดสัมพันธวงศ์ วัดปทุมคงคา วัดใหม่ยายแฟง วัดคณิกาผล วัดพลับพลาไชย เป็นต้น เมื่อมีการขุดคลองเมืองพระนครชั้นนอกคือคลองผดุง-กรุงเกษมขึ้นมานั้น ได้ทำให้วัดต่างๆ ดังกล่าวนี้เข้ามาอยู่ภายในเขตเมืองกรุงเทพมหานคร
สะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม
แก้สะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้คล้องจองกันทั้งหมด
- สะพานเทเวศรนฤมิตร - อยู่บนถนนสามเสน บริเวณใกล้ทางแยกเทเวศร์ เป็นย่านการค้าเก่า
- สะพานวิศุกรรมนฤมาน - อยู่ระหว่างถนนประชาธิปไตยกับถนนนครราชสีมา ตรงทางแยกประชาเกษม (ทางแยกเมล์แดง) ใกล้เคียงกับคุรุสภาและวัดมกุฏกษัตริยาราม
- สะพานมัฆวานรังสรรค์ - อยู่บนถนนราชดำเนินนอก บริเวณทางแยกมัฆวาน สถานที่สำคัญได้แก่ ที่ทำการองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ และทำเนียบรัฐบาล
- สะพานเทวกรรมรังรักษ์ - อยู่บนถนนนครสวรรค์ บริเวณทางแยกเทวกรรม ย่านนางเลิ้งเป็นชุมชนเก่าแก่ อยู่ใกล้วัดโสมนัสวิหารและทำเนียบรัฐบาล
- สะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ หรือ "สะพานขาว" อยู่บนถนนหลานหลวง ทางแยกสะพานขาว ใกล้กับตลาดมหานาค
สะพานอื่น ๆ ที่ไม่ได้สร้างในสมัยนั้น และไม่ได้มีชื่อคล้องจอง
- สะพานพิทยเสถียร อยู่บนถนนเจริญกรุง
- สะพานกษัตริย์ศึก (สะพานยศเส) อยู่บนถนนพระรามที่ 1
- สะพานเจริญสวัสดิ์ อยู่บนถนนพระรามที่ 4
ดูเพิ่ม
แก้- คลองคูเมืองเดิม คลองรอบกรุงชั้นแรก ขุดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
- คลองรอบกรุง คลองรอบกรุงชั้นที่สอง ขุดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
อ้างอิง
แก้- ↑ คณะกรรมการจัดงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี (1982). จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. Department of Fine Arts. Reproduced in "กว่าจะมาเป็นกรุงเทพฯ". BMA Data Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 December 2014. สืบค้นเมื่อ 24 December 2016.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ คลองผดุงกรุงเกษม
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°44′52″N 100°31′00″E / 13.747722°N 100.516663°E