โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ
โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ (อังกฤษ: Mandarin Oriental, Bangkok) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก โดยในอดีตมีชื่อว่า "โรงแรมโอเรียนเต็ล" โดยปัจจุบันบริหารงานโดย บริษัท OHTL จำกัด (มหาชน) (เดิมมีชื่อว่า บริษัท โรงแรมโอเรียนเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)) เป็นโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย และเคยเป็นหนึ่งในโรงแรมที่ถือว่าดีที่สุดของโลกจากนิตยสารอินสติติวชั่นแนล อินเวสเตอร์ นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ เป็นเวลา 10 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2524-2533[1]
โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพมหานคร | |
---|---|
Mandarin Oriental, Bangkok | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | โรงแรม |
สถาปัตยกรรม | นีโอคลาสสิก โมเดิร์น |
เมือง | 48 โอเรียนเต็ลอเวนิว ซอยเจริญกรุง 40 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก และ 597 ถนนเจริญนคร แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2413 (แรกเริ่ม) 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 (เปิดอย่างเป็นทางการ) |
ผู้สร้าง | ซี. ซาลเจ (แรกเริ่ม) ฮันส์ นีลส์ แอนเดอร์เซน (เปิดอย่างเป็นทางการ) |
เจ้าของ | กลุ่มโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
รางวัล | อนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี พ.ศ. 2545 |
เว็บไซต์ | |
MandarinOriental.com/bangkok |
ประวัติ
แก้จากหลักฐานพบว่าโรงแรมตั้งขึ้น ประมาณปี พ.ศ. 2413 โดยนาย ซี. ซาลเจ กะลาสีเรือชาวเดนมาร์ก[2] เป็นผู้ซื้อกิจการมาดำเนินการ ต่อมานายฮันส์ นีลส์ แอนเดอร์เซน เข้ามาบริหารงาน และในปี 2428 ได้ปรับปรุงโรงแรมให้ทันสมัย มีการออกแบบอาคารขึ้นใหม่ เรียกว่า “ออเธอร์ส วิง” และได้เปิดโรงแรมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 ต่อมาในปี พ.ศ. 2434 ได้มีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกในโรงแรม
โรงแรมโอเรียนเต็ลเปลี่ยนเจ้าของและปรับปรุงมาหลายครั้ง หลายยุคสมัย ได้แก่
- พ.ศ. 2436 หลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ เป็นเจ้าของ
- พ.ศ. 2500 แหม่ม ครูลล์ เป็นเจ้าของ
- พ.ศ. 2510 บริษัท สยาม ซินดิเคท ในเครือบริษัทอิตัลไทยจำกัด เป็นเจ้าของ
โรงแรม โอเรียนเต็ล เคยต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ อาทิ โจเซฟ คอนราด นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2431, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จเยี่ยมโรงแรมในปี พ.ศ. 2433, มกุฎราชกุมารนิโคลัสแห่งรัสเซียในปี พ.ศ. 2434, เจ้าชายลุยจี อาเมดิโอ เชื้อพระวงศ์อิตาลี ในปี พ.ศ. 2438, ซอมเมอร์เซท มอมห นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2466 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังเคยเป็นกองบัญชาการกองทัพญี่ปุ่น และมีพระบรมวงศานุวงศ์เคยเสด็จมาด้วย การต้อนรับพระประมุขครั้งสำคัญครั้งหนึ่งคือในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ใน พ.ศ. 2549 พระประมุขและผู้แทนพระองค์ส่วนใหญ่ประทับ ณ โรงแรมแห่งนี้
1 กันยายน พ.ศ. 2551 กลุ่มกิจการแมนดาริน โอเรียนเต็ล ซึ่งเป็นกลุ่มโรงแรมที่มีชื่อเสียงกลุ่มหนึ่งของเอเชีย ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการของโรงแรม หลังจากนั้นก็ได้มีการเปลื่ยนชื่อบริษัทจาก บริษัท โรงแรมโอเรียนเต็ล ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) มาเป็น บริษัท OHTL จำกัด (มหาชน) และโรงแรมได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ " ทำให้มีการปรับภาพลักษณ์และกระบวนทัศน์ของการบริหารงานโรงแรม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรอบ 132 ปี
องค์ประกอบ
แก้โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือพื้นที่ฝั่งถนนเจริญกรุง เป็นที่ตั้งของตึกโรงแรมหลักจำนวนสองอาคาร คือ ออเธอส์ วิง และริเวอร์ วิง มีห้องพัก 331 ห้อง ในจำนวนนี้เป็นห้องสวีท 60 ห้อง โดยห้องสวีทจำนวนหนึ่งตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญ อาทิ โจเซฟ คอนราด จิม ทอมป์สัน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้น[3] ส่วนที่สองคือพื้นที่ฝั่งถนนเจริญนคร เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนทำอาหารไทย[4] และโอเรียนเต็ลสปา[5]
นอกจากนี้โรงแรมยังประกอบด้วยภัตตาคารต่าง ๆ กระจายตัวอยู่ในทั้งสองพื้นที่ดังกล่าว อาทิ ภัตตาคารอาหารฝรั่งเศสร่วมสมัย "เลอ นอร์มังดี บาย อแลง รูซ์", ร้านอาหารทะเล "ลอร์ด จิมส์", ภัตตาคารอาหารไทย "ศาลาริมน้ำ" และ "เทอร์เรซริมน้ำ", ภัตตาคารอาหารนานาชาติ "เดอะ เวอรันดาห์" เป็นต้น[6] รวมถึงยังมี "ดิ ออเธอส์ เลาจน์" และ "เดอะ แบมบู บาร์" อีกด้วย[6]
เกียรติประวัติ
แก้- อาคารออเธอร์ส วิง ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ในปี พ.ศ. 2545[7]
- ภัตตาคารอาหารฝรั่งเศส เลอ นอร์มังดี ได้รับรางวัลดาวมิชลินสองดวง ตั้งแต่การจัดอันดับในมิชลินไกด์ประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 จนถึงครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2565
อ้างอิง
แก้- ↑ 143ปี “แมนดารินโอเรียนเต็ล” ยั่งยืนเพราะ “รักษาชื่อเสียง”
- ↑ ตำนาน “โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ“
- ↑ "Press Kits - Mandarin Oriental Hotel Group". Mandarinoriental.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-12. สืบค้นเมื่อ 29 December 2014.
- ↑ "5-Star Hotel in Bangkok - Mandarin Oriental Hotel, Bangkok". Mandarinoriental.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-05. สืบค้นเมื่อ 29 December 2014.
- ↑ "Bangkok Luxury Spa - Mandarin Oriental Hotel, Bangkok". Mandarinoriental.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-01. สืบค้นเมื่อ 29 December 2014.
- ↑ 6.0 6.1 "Bangkok Fine Dining - Mandarin Oriental Hotel, Bangkok". Mandarinoriental.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-04. สืบค้นเมื่อ 29 December 2014.
- ↑ โรงแรมโอเรียนเต็ล-asaconsevationaward