โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์

โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร

โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เป็นโรงเรียนเอกชนคาทอลิกสตรีลำดับที่ 3 ในเครือคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร แห่งประเทศไทย[b] ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2450 โดย มาแมร์ แซงต์ ซาเวียร์ (Mère Saint-Xavier) อธิการิณีจากคณะภคินีฯ บนเนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา ของเขตมิสซังกรุงเทพ บนถนนคอนแวนต์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร[2] เพื่อให้การอบรมศึกษาแก่บรรดาเด็กหญิง โดยนามของโรงเรียนมาจากนามของนักบุญโยเซฟ พระบิดาของพระเยซูคริสตเจ้า

โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์
ละติน: Saint Joseph Convent School
ที่ตั้ง
แผนที่
ข้อมูล
ชื่ออื่นซ.ย. (SJC) (St.Joseph Convent)
ประเภทโรงเรียนเอกชน
คำขวัญศึกษาดี มีวินัย ใจเมตตา ใฝ่หาคุณธรรม เลิศล้ำการงาน
นิกายโรมันคาทอลิก
สถาปนา5 ธันวาคม พ.ศ. 2450 (116 ปี 304 วัน)
เขตการศึกษากรุงเทพมหานคร
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน
ไทย ภาษาไทย
ฝรั่งเศส ภาษาฝรั่งเศส
สหราชอาณาจักร ภาษาอังกฤษ[a]
จีน ภาษาจีนกลาง
สี   น้ำเงิน - เหลือง
เพลงศรีเซนต์โย | Saint Paul Hymn
สังกัดคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร แห่งประเทศไทย
เว็บไซต์http://www.sjc.ac.th/

ประวัติ

แก้

การก่อตั้ง

แก้

โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เดิมชื่อโรงเรียนพระกุมารเยซูคอนแวนต์ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2449 ภายใต้มิสซังคาทอลิก โดยคณะภคินีเซนต์มอร์ ที่ย่านถนนสีลม

ที่ตั้งของโรงเรียน เดิมเป็นที่นาตราจองในตำบลทุ่งวัวลำพอง บนถนนสีลม ซึ่งถูกรวบรวมจัดซื้อโดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ในปี พ.ศ. 2449 ท่านได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบริจาคที่ดินด้านหลังบ้านจำนวน 9 ไร่ ให้แก่คณะภคินีเซนต์มอร์เพื่อนำไปจัดตั้งโรงเรียน[c][3] ได้มีการรังวัดปักเขตกำหนดเส้นรุ้ง-แวง ดังนั้นรูปแปลงที่ดินที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีบริจาคให้จึงน่าจะเป็นแปลงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง 3 เส้น ยาว 3 เส้น และมีที่ดินทั้ง 3 ด้านติดที่ดินของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ส่วนอีกด้านหนึ่งที่เหลือติดถนนที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์ตัดขึ้นใหม่ แต่ปัจจุบันโรงเรียนมีที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น 16 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา ซึ่งน่าจะมีการจัดซื้อเพิ่มเติมในภายหลัง

ซิสเตอร์คณะเซนต์มอร์ ได้มอบหมายให้ นายอัลเฟรโด ริกาซซี (Alfred Rigazzi) สถาปนิกชาวอิตาเลียน ผู้ซึ่งออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม และสถานีหัวลำโพง[d] ออกแบบก่อสร้างอาคารโรงเรียน เริ่มแรกเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูนหลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องว่าว กล่าวว่าเดิมใต้ถุนใช้เป็นที่เก็บน้ำ และฐานรากอาคารทำด้วยขอนไม้ขนาดใหญ่ ในบริเวณปลูกต้นไม้ร่มรื่น มีคูระบายน้ำรอบโรงเรียน และมีการแบ่งที่ดินส่วนหนึ่งเป็นที่เลี้ยงหมูและไก่งวง

ในปี พ.ศ. 2450 คณะภคินีเซนต์มอร์มีเหตุให้ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย จึงได้ยกกิจการให้กับมิสซังคาทอลิก คิดมูลค่าสิ่งก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 115,000 ฟรังก์ โดยคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร รับผิดชอบที่จะเป็นผู้จ่ายเอง มิสซังคาทอลิกจึงมอบกิจการโรงเรียนให้คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เข้าดำเนินการต่อ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์[1] ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปี พ.ศ. 2451 แมร์กังดีด ได้สถาปนาให้โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เป็นศูนย์กลางที่ตั้งแห่งคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ในสยาม เนื่องจากมีอาณาบริเวณกว้างขวางเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางของคณะฯ และมีพื้นที่ใหญ่กว่าโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และโรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ ประกอบกับที่ตั้งของ 2 โรงเรียนดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในเขตอาสนวิหาร ดังนั้น การย้ายสำนักภคินีมาจัดตั้งที่โรงเรียนแห่งนี้ถือเป็นที่เฉพาะที่จะมีแต่นักบวชหญิง โดยไม่มีบาทหลวงของมิสซังคาทอลิกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในขณะเดียวกันคณะภคินีก็ได้มอบหมายให้ เซอร์แซงต์ ซาเวียร์ อธิการิณี จากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ย้ายมาดำรงตำแหน่งเป็นอธิการิณี ผู้จัดการและครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนแห่งนี้[4]

การจัดการศึกษาในระยะแรก

แก้

เมื่อเริ่มแรกก่อตั้งโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ สมัยที่ยังไม่มีเครื่องแบบนักเรียน มีนักเรียนจำนวน 55 คน แบ่งเป็นผู้เรียนในแผนกฝรั่งเศส 15 คน และแผนกอังกฤษ 40 คน ในจำนวนนี้มีนักเรียน 21 คน เป็นนักเรียนประจำ และ 14 คน เป็นเด็กกำพร้านอกเหนือจากนั้นเป็นนักเรียนไป-กลับ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 จำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้นเป็น 78 คน และได้เพิ่มมากขึ้นทุกปี

ในปี พ.ศ. 2456 โรงเรียนได้จัดสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่อีกจำนวน 6 ห้องเรียนทางปีกซ้ายของอาคารเรียนเดิม

ในช่วงสองทศวรรษแรกหลังการจัดตั้ง นักเรียนส่วนใหญ่ที่เข้าศึกษาเป็นบุตรและธิดาชาวยุโรปที่เข้ามาพำนัก อาศัยในประเทศไทย หลักสูตรการศึกษาจึงเน้นหนักไปทางด้านภาษา ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก ในการเรียนการสอน วิชาการที่เน้นศึกษาได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ จริยธรรม วาดเขียน ดนตรีและการฝีมือ ต่อมาบรรดาคหบดี ข้าราชการ และ พ่อค้าไทย เริ่มส่งบุตรหลานของตนมาเข้ารับการศึกษาในโรงเรียน ทำให้จำนวนนักเรียน เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมีนักเรียนไทยเข้าศึกษามากขึ้น โรงเรียนจึงพัฒนาหลักสูตรและปรับปรุงให้เหมาะสมกับ ภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป มีการจัดระบบการเรียนการสอนใหม่ให้สอดคล้องกับแนวทางของระบบการศึกษาไทย

ในปี พ.ศ. 2469 เปิดนวกสถานของคณะภคินีเซนต์ปอลฯ เพื่ออบรมหญิงสาวที่ปรารถนาจะเป็นนักบวช โดยมีเซอร์เดซีเร เป็นนวกาจารย์ท่านแรก และมีเซอร์ 3 ท่านแรกที่เข้าใน นวกสถานแห่งนี้ คือ 1. เซอร์เอมิเลียน ปานประดับ 2. เซอร์มาเรีย อันโตเนียว 3. เซอร์ออกุสตา-โจเซฟ อันโตเนียว โดยก่อนหน้านี้ผู้ที่ปรารถนาจะเข้าคณะฯ ต้องเดินไปเมืองชาร์ตร ประเทศฝรั่งเศส หรือ ที่ไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม เพื่อรับการฝึกอบรม[1]

ผู้บริหารโรงเรียน

แก้

ผู้รับใบอนุญาต & ผู้จัดการ

แก้
ลำดับ รายนาม วันที่รับใบอนุญาต วันที่เริ่มเป็นผู้จัดการ
1 สังฆราชเรอเนแปร์รอส[5] 31 ธันวาคม 2480 (ผู้ก่อตั้งโรงเรียน) -
2 นางสาวรจิต กิจเจริญ 26 กุมภาพันธ์ 2484 21 พฤษภาคม 2499
3 นางสาวนิภา กิจเจริญ 30 พฤศจิกายน 2538 18 กันยายน 2515
4 นางสาวจันทร์เพ็ญ ชีรานนท์ 13 พฤษภาคม 2540 5 มิถุนายน 2540
5 นางสาวศรีสมร ชำนาญธรรม 24 พฤษภาคม 2550 24 พฤษภาคม 2550
6 นางสาวมุกดา มุ่งหมาย 1 ตุลาคม 2553 27 กันยายน 2553
7 นางสาวยุภี กิจเจริญ 21 พฤษภาคม 2557 15 พฤษภาคม 2557
8 นางสาวอัจฉรา ศุภาไวย์ 22 มิถุนายน 2566 ปัจจุบัน

ผู้อำนวยการ

แก้
ลำดับ รายนาม ปีการศึกษา พ.ศ.
1 เซอร์เดซองช โอชู 2480 - 2491
2 นางสาวรจิต กิจเจริญ 2491 - 2527
3 นางสาวมุกดา มุ่งหมาย 2527 - 2533
4 นางสาวจันทร์เพ็ญ ชีรานนท์ 2533 - 2536
5 นางสาวมุกดา มุ่งหมาย 2536 - 2539
6 นางสาววิภา เลค 2539 - 2545
7 นางสาวมุกดา มุ่งหมาย 2545 - 2557
8 นางสาวยุภี กิจเจริญ 2557 - 2566
9 นางสาวอัจฉรา สุภาไวย์ 2566-ปัจจุบัน

ความหมายของสัญลักษณ์ของโรงเรียน

แก้

ตราประจำโรงเรียน

แก้

ประกอบด้วยปริมณฑลภายในวงกลม มีเส้นขอบ มีเส้นโค้งขึ้น โค้งลง บังเกิดเป็นกลีบ เจ็ดกลีบ กลางปริมณฑล มีโล่ป้องกันศัสตราวุธ ภายในมีโล่ แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนบนมีอักษร ซ.ย. อยู่หน้าเส้นตรงตั้งส่วนกลาง เว้นว่าง ส่วนล่างมีตะเกียงเปล่งประทีป วางอยู่บนหนังสือสองเล่มซ้อนกันมีเส้นนอนเป็นฐาน มีดาบขัดอยู่หลังโล่ ปลายดาบปรากฏที่ด้านบนขวา ด้ามดาบปรากฏที่ด้านล่างซ้าย มองเห็นใบไม้ ทอดปลายด้านบนซ้าย และด้านล่างขวา

  • วงกลม คือ ความมุ่งหมายร่วมกันในการพัฒนาเยาวชนให้เป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามคุณค่าแห่งศาสนธรรม วัฒนธรรมและวิชาความรู้ ขณะเดียวกันหมายถึงการรวมศรัทธาธรรมของนักบวช เข้ากับ ความรักของผู้ปกครองเมตตาธรรมของครูและการแสวงหาความรู้ความเจริญของนักเรียน
  • เส้นประดับเจ็ดกลีบ แทนพระคุณเจ็ดประการของพระจิตเจ้า คือ พระดำริ สติปัญญา ความคิดความอ่าน กำลังความรู้ ความศรัทธา ความยำเกรง
  • โล่ แสดงนัยของคุณธรรมว่าความรู้เป็นเครื่องปกป้องภัย
  • ดาบคม คือ ปัญญา ด้าม คือ สติ ดาบนี้เป็นเครื่องประหารความเขลาและความไม่ชอบธรรมทั้งหลาย และป้องกันตนเองด้วยดาบที่อยู่ทางซ้าย จึงต้องใช้ด้วยความสุขุมคัมภีร์ภาพ และอย่างองอาจกล้าหาญ
  • ใบไม้ แทนใบมะกอก ใบของพืช คือ ส่วนที่ทำหน้าที่หายใจ ใบมะกอกจึงแทนการดำรงชีวิตในสันติสุขและ เพื่อสันติสุข
  • หนังสือสองเล่ม แทนคู่มือปลูกฝังคุณค่าทางจิตใจ และคุณค่าทางวิชาชีพ ความสมดุลของคุณค่าทั้งสอง เปรียบประดุจตะเกียงที่เปล่งแสงสว่างนำชีวิตไปถูกทาง

ดอกไม้ประจำโรงเรียน

แก้

ดอกลิลลี่ (Fleur de lis) หมายถึง ความซื่อตรง เที่ยงตรง ถ่อมตน สุภาพ มีความบริสุทธิ์สดใส เป็นแบบฉบับอันดีงาม สัญลักษณ์ดอกลิลลี่กลางวงกลมสองชั้น มีความหมายว่า จุดหมายของมนุษย์ คือ การรู้และเข้าถึงสัจธรรมด้วยการดำเนินชีวิต มีระเบียบวินัย สุภาพราบเรียบประกอบการงานและเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ดอกลิลลี่ผุดขึ้นจากดิน ชูก้านตรงสู่ความไพศาล และความสว่าง มีดอกสีขาวที่งดงามให้เป็นที่ชื่นชมเปรียบ ได้กับปรัชญาชีวิตว่า เจ้าของชีวิตพึงพัฒนาตนด้วยความตรงสองประการคือ ซื่อตรงและเที่ยงตรงมีความถ่อมตน สุภาพและหนักแน่นอยู่เนืองนิจ ดุจดังแผ่นพื้นพสุธามีความบริสุทธิ์สดใสเป็นความงามประจำตนและเป็นแบบฉบับ แม้ต้นกำเนิดจะอยู่ในที่อับ ก็พึงเจริญชีวิตสู่ความสว่างให้เป็นแบบฉบับดีงามที่ประจักษ์

โรงเรียนใช้สีของดอกลิลลี่ หรือดอกลิส หรือที่เรียกกันว่า "โบว์" เป็นสัญลักษณ์ติดบนอกเสื้อของนักเรียนเพื่อแยกรุ่นนักเรียนแต่ละชั้น โดยโรงเรียนมีการเริ่มใช้สีดอกลิสเพื่อแยกรุ่นต่างๆตั้งแต่ราวๆปีพ.ศ. 2515 เป็นต้นมา แต่ละรุ่นใช้สีที่แตกต่างกัน เริ่มจาก สีแดง สีฟ้า สีเหลือง สีน้ำเงิน สีชมพู สีม่วง สีส้ม สีเขียว ตามลำดับ โดยที่สีน้ำเงินและสีชมพู ถูกนำมาใช้กับนักเรียนจบปีการศึกษา พ.ศ. 2542 - 2543 แค่สองรุ่นเท่านั้น ปัจจุบันเลิกใช้สองสีดังกล่าวแล้ว[6]

ดอกลิส (โบว์) จบปีการศึกษา ชื่อรุ่น จบปีการศึกษา ชื่อรุ่น จบปีการศึกษา ชื่อรุ่น จบปีการศึกษา ชื่อรุ่น จบปีการศึกษา ชื่อรุ่น จบปีการศึกษา ชื่อรุ่น
แดง 2522 R1 Focus 2527 R2 RaaR 2533 R3 Poinsettia 2539 R4 Radiant Sun 2547 R5 Paint Me Red 2553 R6 Little Red Riding Hood
ฟ้า 2523 B1 ฟ้าประธาน 2528 B2 Ghost 2534 B3 Sky Blue 2540 B4 Blue Jeans 2548 B5 Seafarer 2554 B6 Planet Neptune
เหลือง 2524 Y1 ยอดสน 2529 Y2 Rainy Camp 2535 Y3 Daffodil 2541 Y4 Clair De Lune 2549 Y5 Mellow Yellow 2555 Y6 Beeternally
น้ำเงิน 2542 Navy Blue
ชมพู 2543 In The Pink
ม่วง 2525 V1 MS5 Lavender 2530 V2 Violette 2536 V3 Bo Muang 2544 V4 Verve 2550 V5 Rainbow's End
ส้ม 2531 O1 Auranja 2537 O1 Orangeries 2545 O3 Autumn Leaves 2551 O4 Solarilunar
เขียว 2526 G1 เขียวเสียวยกรุ่น 2532 G2 Tsa Vorites 2538 G3 Evergreen 2546 G4 Dioz 2552 G5 Verdure

สีประจำโรงเรียน

แก้

สีน้ำเงิน แสดงถึงความดีงาม ความสงบสำรวม ความมีกฎเกณฑ์ ความเป็นเลิศและความเป็นฝ่ายข้างมาก

สีเหลือง แสดงถึงวุฒิภาวะ หรือความเจริญเต็มที่ เป็นสีของความสว่าง เป็นสัญลักษณ์ของธรรมะ ถือได้ว่าเป็นสีของชีวิตใหม่ เช่น อรุณของทิวาวาร อันหมายถึงการเริ่มต้น

สีน้ำเงิน-เหลือง หมายรวมถึง การดำรงตนอยู่ในธรรมะด้วย ความสงบสำรวม มีความเป็นผู้ประกอบกิจการที่มุ่งสู่ความดี ความสามารถรักษาศักดิ์ศรีเฉพาะตนและส่วนรวม ด้วยความซื่อตรง พร้อมที่จะปรับปรุงตนให้ดีขึ้นทุกวัน ความเป็นบุคคลตั้งอยู่ในศีลในธรรม คือเกียรติยศของบุคคล สีทั้งสองเป็นแม่สีเปรียบได้ดังหลักการของทุกสิ่งทุกอย่าง ในทางวิชาการว่าด้วยทฤษฎีเรื่องสี เมื่อนำสีทั้งสองผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากันจะได้สีใหม่อีกหนึ่งสี คือ สีเขียว ซึ่งเป็นสีของพืชต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ ของความมีชีวิต

เพลงประจำโรงเรียน

แก้

เพลง ศรีเซนต์โย[7] - ประพันธ์คำร้องโดย ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ทำนองโดย นารถ ถาวรบุตร

เพลง Saint Paul Hymn - บทเพลงประจำคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ถูกใช้ในพิธีมอบประกาศนียบัตรสำหรับนักเรียนที่จบชั้นมันธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนทั้งหมดในเครือเซนต์ปอลฯ ณ หอประชุมทรินิตี้ ของโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ โดยจะให้นักเรียนในเครือเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ร่วมกันขับร้อง ประสานเสียงไปพร้อมกับวงดุริยางค์ โดยแต่ละโรงเรียนจะมีการเตรียมซ้อมล่วงหน้าก่อนวันพิธี และมีการจัดคิวแบ่งหน้าที่ของแต่ละโรงเรียนเพื่อมอบหมายคีย์เสียงในการร้อง ซึ่งจะมีการแบ่งโทนเสียงในการขับร้อง เช่น เสียงสูง เสียงกลาง เสียงต่ำ[8]

อาคารต่างๆภายในโรงเรียน

แก้

หอประชุมทรินิตี้ Trinity Hall

แก้

หลังจากคณะภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ได้เข้ามาดำเนินการต่อจากภคินีคณะเซนต์มอร์ และสถาปนาให้โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เป็นศูนย์กลางที่ตั้งแห่งสำนักภคินีเซนต์ปอล เดอ  ชาร์ตร ในประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่นั้นมา หอประชุมทรินิตี้ ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆในเครือคณะเซนต์ปอล มาโดยตลอด

โบสถ์น้อย

แก้

หรือ วัดน้อย อยู่ส่วนปีกขวาของโรงเรียน ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2463 เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ การรับศีลกำลัง การรับศีลมหาสนิท ออกแบบโดยนายอัลเฟรโด ริกาซซี่ เป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 ชั้น มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว รูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิครีไววัล (Classic Revival) องค์ประกอบและระเบียบทางสถาปัตยกรรมเน้นความสงบและสง่างาม ใจกลางอาคารเป็น ห้องประกอบพิธี (Nave) ขนาบด้วยทางเดิน (Gallery) 2 ชั้น บริเวณแท่นบูชา (Apse) เป็นซุ้มโค้งรูปแบบปัลลาเดียน (Palladian motif) รอบอาคารเป็นหน้าต่างบานเกล็ดไม้ ทำให้อาคารมีความโปร่ง ระบายอากาศได้ดี เหมาะกับภูมิอากาศของประเทศไทย

แต่ราวๆปี พ.ศ. 2529 - 2531 โบสถ์น้อยถูกเพลิงไหม้ไปบางส่วน โดยภาพเขียนเก่าภายในได้เสียหายไปในครั้งนั้นด้วย ทำให้ต้องมีการซ่อมแซมใหม่ เช่น ในส่วนของฝ้าเพดาน แต่การบูรณะก็ได้พยายามรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้ แม้ว่าทางโรงเรียนได้มีอาคารต่างๆสร้างขึ้นเพื่อขยายการเรียนการสอน อาทิ อาคาร 72 ปี หอประชุมทรินิตี้ ทำให้โฉมหน้าของโรงเรียนในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก อย่างไรก็ดี โบสถ์น้อยซึ่งได้รับการอนุรักษ์และมีการใช้สอยอยู่จนปัจจุบัน ยังคงดำรงอยู่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของโรงเรียน[9]

ปัจจุบันโบสถ์น้อยเป็นสิ่งปลูกสร้างเพียงอย่างเดียวที่คงอยู่ตั้งแต่สมัยการก่อตั้งโรงเรียนเมื่อเริ่มแรก และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารปูชนียสถานและวัดวาอารามจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2550[4]

ถ้ำพระแม่มารีย์

แก้

ถ้ำแม่พระ หรือ ถ้ำพระแม่มารีย์ มารดาพระเยซู เป็นถ้ำและรูปปั้นจำลองพระนางมารีพรหมจารี หรือ แม่พระแห่งลูร์ด (Our Lady of Lourdes) รูปปั้นพระแม่มารีย์ ถูกนำมาประดิษฐานที่โรงเรียนฯ โดยคุณพ่อแฟร์บ (Faivre) โครงสร้างถ้ำทำด้วยซีเมนต์เพื่อทดแทนก้อนหินขนาดใหญ่

พิธีเสกถ้ำเกิดขึ้นพร้อมงานฉลองของโรงเรียนในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2463 (ค.ศ.1920)

"เพื่อพระนางได้ประทานพระหรรษทานและความเมตตาสงสาร ต่อครอบครัวมากมาย และเด็กหญิงในโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เพื่อจะได้เลียนแบบคุณธรรมของพระแม่มารี" มาแมร์แซงต์ ซาเวียร์ อธิการิณีคนแรกของโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ (ค.ศ.1905-1923)[10]

บุคคลที่มีชื่อเสียง

แก้
ดูบทความหลักที่: บุคคลจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์

เชิงอรรถ

แก้
  1. พ.ศ. 2540 โรงเรียนได้เปิดโปรแกรมการเรียนการสอนโดยใช้สื่อการสอน และผู้สอนเป็นภาษาอังกฤษ (English Program)[1]
  2. คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร กลุ่มคณะนักบวชสตรีในคริสต์ศาสนาที่เดินทางมาจากฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2441 เพื่อเข้ามาเผยแพร่ธรรมและช่วยส่งเสริมงานพัฒนาสังคมไทยด้านการศึกษาการรักษาพยาบาลและการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ยากไร้
  3. เดิมคณะภคินีเซนต์มอร์ (เอกสารบางฉบับเรียกว่า "แซงต์มอร์") มีการสอนเด็กหญิงอยู่ก่อนแล้ว บริเวณเหนือปากคลองผดุงกรุงเกษมริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แต่สถานที่ดังกล่าวทรุดโทรมเพราะถูกน้ำเซาะพังทลายขึ้นทุกปี เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงบริจาคที่ดินที่ถนนสีลมให้ภคินีคณะเซนต์มอร์จัดตั้งเป็นโรงเรียนขึ้น
  4. นายอัลเฟรโด ริกาซซี เดินทางเข้ามารับราชการเป็นนายช่างสถาปนิกของกระทรวงโยธาธิการ ในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ออกแบบสถานีรถไฟเชียงใหม่, โรงแรมรถไฟหัวหิน กรมไปรษณีย์กลาง ฯลฯ

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 ก้าวที่สาม...เริ่มต้นพันธกิจด้านการศึกษาของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร และก้าวต่อ ๆ มาในดินแดนสยาม, spcthai.org, สืบค้นเมื่อวันที่ 2021-07-27
  2. "ประวัติโรงเรียน". sjc.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-26. สืบค้นเมื่อ 2021-07-26., สืบค้นเมื่อ 2021-07-26
  3. หนังสือตึกเก่า-โรงเรียนเดิม, By ยุวดี ศิริ, Matichon Public Company Limited, 2014., หน้า 121-129
  4. 4.0 4.1 "๑๐๔ ปี เซนต์โยเซฟคอนเวนต์กับโรงเรียนคาทอลิกหญิงในประเทศสยาม" หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๔
  5. พระสังฆราชแปร์รอส, หอจดหมายเหตุ, สืบค้นเมื่อ 2021-07-27
  6. "Chart รหัสรุ่น". SJC Loves Teachers (Fund). 2013-07-03.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. ศรีเซนต์โย, สืบค้นเมื่อ 2021-07-26
  8. Bossnme, สืบค้นเมื่อ 2021-07-28
  9. "โบสถ์น้อยโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์". asaconservationaward.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์), สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, 8 กันยายน 2559
  10. "111SJC ปูมประวัติ ๐๕" St. Joseph's Alumnae Association, จากหนังสือหนึ่งศตวรรษ รัตนวาร เซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ครบรอบ 100 ปี ค.ศ.2007

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°43′36″N 100°32′06″E / 13.726538°N 100.534912°E / 13.726538; 100.534912