สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

(เปลี่ยนทางจาก โรงเรียนเอกชน)

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) (อังกฤษ: Office of the Private Education Commission : OPEC) เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดิมมีชื่อว่า "สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน"

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
Office of the Private Education Commission
ตราสัญลักษณ์
ภาพรวมหน่วยงาน
หน่วยงานก่อนหน้า
  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน
สำนักงานใหญ่ไทย
319 วังจันทรเกษม ถนนราชดำเนินนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • มณฑล ภาคสุวรรณ์[1], เลขาธิการ
  • คมกฤษ จันทร์ขจร, รองเลขาธิการ
  • ว่าง, รองเลขาธิการ
ต้นสังกัดหน่วยงานสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
เว็บไซต์OPEC.go.th

ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545[2] ทำให้ สช. ถูกควบรวมกับหลายหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ แล้วเปลี่ยนเป็น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2559 ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้โอนอำนาจหน้าที่ของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในส่วนของการอาชีวศึกษาไปสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อันมีผลทำให้สถาบันอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนถูกควบรวมเข้าด้วยกันโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ภูมิหลังของการศึกษาเอกชน

แก้

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเอกชนในประเทศไทย เชื่อว่าการศึกษาประเภทนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว โดยเริ่มในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) จดหมายเหตุของมองสิเออสานิเยร์ กล่าวว่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ได้สร้างโรงเรียนราษฎร์ไว้หลายโรงเรียน และจากจดหมายเหตุของบาทหลวงเดอซัวลี ซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2228 ได้กล่าวถึงโรงเรียนราษฎร์ 3 โรง คือ โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนนมัสแพรนด์ และโรงเรียนสามเณร

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ที่บุกเบิกการต่อตั้งโรงเรียนราษฎร์ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นมิชชั่นนารีซึ่งเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย โรงเรียนราษฎร์ซึ่งได้รับการจัดตั้งและสนับสนุนโดยมิชชั่นนารี ได้แก่ โรงเรียนของนามัททูน (Mrs. Mattoon) มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน ซึ่งถือเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกในสมัยนั้น โรงเรียนคริสเตียนไฮสกูล (The Christian High School) ปัจจุบันคือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2395 เปิดสอนเฉพาะเด็กผู้ชาย สำหรับโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (Kunsatree Wang Lang School) ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เปิดสอนเฉพาะเด็กผู้หญิง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2417 และโรงเรียนไทย – ฝรั่ง (Thai Farang School) ปัจจุบันคือ โรงเรียนอัสสัมชัญ (Assumption College) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2420

โรงเรียนราษฎร์ทั้ง 3 แห่งดังกล่าว ในระยะเริ่มแรกดำเนินงานเป็นเอกเทศ มิได้ถูกควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2448 กระทรวงธรรมการ (ซึ่งต่อมาคือ กระทรวงศึกษาธิการ) จึงเข้ามามีบทบาทในการดูแลโรงเรียนราษฎร์ทั้ง 3 แห่ง และในช่วงระยะเวลานี้เองโรงเรียนราษฎร์ซึ่งมีคนไทยเป็นเจ้าของ ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นชื่อโรงเรียนบำรุงวิทยา (Bamrung Wittaya School) และลงทะเบียนขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการเช่นเดียวกัน

การศึกษาเอกชนของประเทศขยายตัวมากขึ้นในปี พ.ศ. 2461 รัฐบาลจึงได้ประกาศพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนครั้งแรก โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะตรวจนิเทศโรงเรียนเอกชนทั่วราชอาณาจักร และเพื่อปรับปรุงแก้ไข กฎระเบียบ ของโรงเรียนเอกชน

ในปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลจึงได้ประกาศพระราชบัญญัติกระทรวงศึกษาธิการขึ้น โดยจัดตั้งกองโรงเรียนราษฎร์ สังกัดกรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อควบคุมดูแลโรงเรียนราษฎร์ทั้งหมด

อำนาจหน้าที่

แก้

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550[3] ดังต่อไปนี้

  1. รับผิดชอบงานธุรการและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ
  2. เสนอแนะนโยบายยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาการศึกษาเอกชนต่อคณะกรรมการ
  3. ส่งเสริม สนับสนุนด้านวิชาการ การประกันคุณภาพ การวิจัยและพัฒนาเพื่อประกันคุณภาพการศึกษาเอกชน
  4. รับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับกองทุน
  5. ดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนการศึกษาเอกชนตามมาตรการที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 13 (4)
  6. เป็นศูนย์ส่งเสริมสนับสนุนข้อมูล และทะเบียนกลางทางการศึกษาเอกชนตลอดจนติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาเอกชน
  7. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

อ้างอิง

แก้
  1. มติคณะรัฐมนตรี 3 ตุลาคม 2565
  2. พระราชบัญญัติปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอน 99 ก วันที่ 2 ตุลาคม 2545
  3. พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอน 7 ก วันที่ 11 มกราคม 2550