เจ้าฟ้าอภัยทศ
เจ้าฟ้าอภัยทศ (พ.ศ. 2185–2231) หรือ พระอภัยชาติ (คำให้การขุนหลวงหาวัด)[2] เอกสารบางแห่งเรียก เจ้าฟ้าง่อย[3] เพราะมีพระวรกายพิกลพิการ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ถือเป็นหนึ่งในเจ้านายผู้มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ถูกสมเด็จพระเพทราชาสำเร็จโทษไปเสีย
เจ้าฟ้าอภัยทศ | |
---|---|
ประสูติ | พ.ศ. 2185[1] กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
สิ้นพระชนม์ | พ.ศ. 2231 (46 ปี) ตำบลวัดทราก เมืองลพบุรี อาณาจักรอยุธยา |
ราชวงศ์ | ปราสาททอง |
พระบิดา | สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง |
พระมารดา | พระปทุมาเทวี |
ศาสนา | พุทธ |
ถูกกล่าวหา | ภัยต่อราชบัลลังก์ |
รับโทษ | สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ |
พระประวัติ
แก้พระชนม์ชีพช่วงต้น
แก้เจ้าฟ้าอภัยทศ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ใน คำให้การชาวกรุงเก่า และ คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าพระองค์มีพระมารดามีพระนามว่าพระปทุมาเทวี[2][4] และเป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีพระชนมายุห่างกันมากเปรียบพระเชษฐาเป็นพระชนกได้[5] แต่ คู่มือทูตตอบ ซึ่งเป็นเอกสารของราชบัณฑิตอยุธยา ระบุว่าเจ้าฟ้าอภัยทศมีพระชันษา 39 ปี ใน พ.ศ. 2224[1] พระองค์มีพระอนุชาที่มีพระชันษาไล่เลี่ยกันคือเจ้าฟ้าน้อย[6] โดยสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูพระอนุชาทั้งสองพระองค์นี้ราวกับเป็นพระบิดา[7] ทั้งทรงหมายมั่นที่จะมอบราชสมบัติแด่พระอนุชาพระองค์นี้ แต่ล้มเลิกในกาลต่อมา[5][8]
พระองค์มีพระวรกายพิการ กล่าวคือมีพระเพลาอ่อนแรงทั้งสองข้างใช้การมิได้[5] บาทหลวงปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต (ฝรั่งเศส: Pierre Lambert de La Motte) ที่เคยเข้าเฝ้าเจ้าฟ้าอภัยทศในปี ค.ศ. 1668 บันทึกว่าทรงเป็นง่อย[9] บางแห่งว่าเป็นอัมพาต[10] คนทั่วไปจึงออกพระนามว่าเจ้าฟ้าง่อย[3] พระพักตร์มีไฝ[11] ทั้งมีพระอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย และโปรดเสวยน้ำจัณฑ์เป็นนิจ[5] ทั้งยังเคยกล่าววาจาหยาบช้าต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยไม่เกรงกลัวพระอาญา ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงถูกกักในเขตพระราชฐาน แต่ก็มีพระบรมราชานุญาตให้เสด็จออกไปเที่ยวเตร่ในเมืองได้[5]
หลังเกิดกบฏพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ไม่ไว้วางพระทัยในพระราชอนุชาทั้งสองอีกเลย แม้จะไม่ประหาร แต่ก็มิได้สถาปนาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช[9] นอกจากนี้สมเด็จพระนารายณ์ยังเคยตั้งข้อกล่าวหาว่าเจ้าฟ้าอภัยทศทรงสมคบคิดกับแขกมลายูเพื่อประทุษร้ายองค์พระมหากษัตริย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุมตัวไว้เสียที่ตำหนัก[5] และในปลายรัชกาล กลุ่มขุนนางฝ่ายปกครองและประชาคมมุสลิมอิหร่านผู้เสียผลประโยชน์ ได้ให้การสนับสนุนเจ้าฟ้าอภัยทศขึ้นครองราชสมบัติ และได้วางแผนก่อรัฐประหารในพระราชวัง[9] พระองค์จึงถูกกุมขังเดี่ยวภายในพระราชวังอยุธยา[12]
การผลัดแผ่นดิน
แก้ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งขณะนั้นยังทรงพระประชวรใกล้แก่กาลสวรรคต พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พระราชอนุชาเสวยราชสมบัติ[10] ด้วยเหตุนี้พระเพทราชาจึงวางอุบายเพื่อจะสำเร็จโทษเจ้านายผู้มีสิทธิธรรมในการสืบราชบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าฟ้าอภัยทศทรงเป็นหนึ่งในนั้นตามกฎมนเทียรบาล[5] เพราะสมเด็จพระนารายณ์ไม่มีพระราชโอรส พระเพทราชาจึงแสร้งไปทูลเจ้านายสามพระองค์ว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรเพียบหนัก และเป็นหน้าที่ของตนที่จะสถาปนาเจ้านายที่เหลือขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์[13] เหล่าพระราชอนุชาและพระราชธิดาจึงเสด็จขึ้นไปยังเมืองลพบุรีด้วยความลังเล[14] เจ้าฟ้าอภัยทศเข้าพระทัยว่าจริง จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งไปยังเมืองลพบุรี ครั้นไปถึงวัดพระพรหม ตำบลปากน้ำโพสพ ก็เสด็จแวะหาพระพรหมครูครู่หนึ่ง แล้วนมัสการลาลงเรือพระที่นั่งไปลพบุรี[15]
เมื่อเจ้าฟ้าอภัยทศเสด็จไปถึง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคตไปแล้วครู่หนึ่ง[15] เบื้องต้นพระเพทราชาได้ถวายการต้อนรับเหล่าเจ้านายเป็นอย่างดี ก่อนลอบประหารพระยาวิไชเยนทร์ ต่อมาหลวงสรศักดิ์ เป็นผู้สำเร็จการแทนตำแหน่งพระมหาอุปราช ให้ข้าหลวงไปคุมพระราชอนุชาทั้งสองพระองค์และพระราชโอรสบญธรรมคลุมด้วยผ้ากำมะหยี่แล้วทุบด้วยท่อนจันทน์[16] ณ วัดซาก (ต้นฉบับเขียนวัดทราก) แขวงเมืองลพบุรี[11][15] ได้แก่ เจ้าฟ้าอภัยทศ เจ้าฟ้าน้อย[17] และพระปีย์[6] แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่าเจ้านายที่ถูกสำเร็จโทษเป็นพระราชอนุชาสองพระองค์คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระอินทรราชาหรือพระองค์อินท์ และพระราชบุตรบุญธรรมคือพระปีย์[18] ส่วนกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาทรงถูกสงวนไว้สำหรับเป็นพระมเหสีของพระเพทราชา[19][20] แต่พระปีย์ พระราชบุตรบุญธรรมถูกสำเร็จโทษด้วยการผ่าร่างออกเป็นสามส่วน[21]
หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในวันถัดมา[16] พระเพทราชาจึงปราบดาภิเษกตนเองเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่[22]
ชีวิตส่วนพระองค์
แก้ใน บันทึกความทรงจำของบาทหลวงเดอ แบซ ระบุถึงโทสจริตของพระองค์หลายครั้ง เป็นต้นว่า ครั้งหนึ่งพระองค์เคยตามเสด็จสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสำหรับประพาสล่าสัตว์โดยทรงพระคชาธารเข้าร่วมขบวนเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าฟ้าอภัยทศทรงบังคับช้างเข้าชนกับช้างเถื่อนที่แหวกวงล้อมออกมา สมเด็จพระนารายณ์ก็เกรงว่าพระอนุชาจะเป็นอันตรายจึงทรงตรัสห้าม แต่เจ้าฟ้าอภัยทศทรงมองว่าพระเชษฐาธิราชสบประมาทพระองค์ว่าขลาดเขลา จึงแสดงพระโทสะ ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงระงับโทสจริตและมิได้แสดงพระอาการโกรธกริ้วออกมา[5] และในกาลต่อมาได้มีช้างพลายตกมันออกอาละวาดในเมือง ชนสิ่งของต่าง ๆ กระจัดกระจาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงรับสั่งเจ้าฟ้าอภัยทศให้แสดงศักยภาพในการปราบช้าง แต่ทว่าเจ้าฟ้าอภัยทศทำไม่สำเร็จ ทั้งยังถูกช้างชนจนตกลงพื้น พระองค์จึงรู้สึกอับอายขายพระพักตร์[5]
นอกจากนี้บาทหลวงเดอ แบซ ยังบันทึกว่าเจ้าฟ้าอภัยทศเคยศึกษาพระคริสต์ธรรม ทรงเก็บรักษาไม้กางเขนที่มงซีเญอร์เดอเมเตโลโปลิส (Monseigneur de Métellopolis) ถวายไว้ภายในพระตำหนักส่วนพระองค์ ทาสคนหนึ่งของเจ้าฟ้าอภัยทศอ้างว่าพบเจ้าฟ้าอภัยทศทรงเคารพบูชาไม้กางเขนนี้ด้วยการกราบบ่อยครั้ง[5]
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของเจ้าฟ้าอภัยทศ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 ไมเคิล ไรท์ (4 กุมภาพันธ์ 2548). "ภูมิประวัติศาสตร์สยาม: เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่". ศิลปวัฒนธรรม 26:4, หน้า 93
- ↑ 2.0 2.1 คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 339
- ↑ 3.0 3.1 สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ (11 กันยายน 2552). "พงศาวดารกระซิบเรื่องโอรสลับสมเด็จพระนารายณ์". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 99, 116
- ↑ คำให้การชาวกรุงเก่า, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 92
- ↑ 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 220-221
- ↑ 6.0 6.1 เพ็ญสุภา สุขคตะ (16 ธันวาคม 2559). "ปริศนาโบราณคดี : 'แช่แข็งสยาม' ยามแผ่นดินอาเพศ ยุคพระเพทราชา". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 225
- ↑ กิเลน ประลองเชิง (17 กันยายน 2552). "พงศาวดารอยุธยา". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 9.0 9.1 9.2 การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์, หน้า 36
- ↑ 10.0 10.1 เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 227
- ↑ 11.0 11.1 คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 416
- ↑ เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 158
- ↑ จดหมายเหตุ เรื่องการจลาจลครั้งใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และการขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกจากกรุง, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 522
- ↑ ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, หน้า 18
- ↑ 15.0 15.1 15.2 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน, หน้า 369
- ↑ 16.0 16.1 ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, หน้า 39
- ↑ เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 230
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 81, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 509
- ↑ ชิงบัลลังก์พระนารายณ์, หน้า 40
- ↑ เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์, หน้า 231
- ↑ หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน, หน้า 22
- ↑ จดหมายเหตุ เรื่องการจลาจลครั้งใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และการขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกจากกรุง, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 531
- บรรณานุกรม
- ขจร สุขพานิช. ออกญาวิไชเยนทร์ หรือการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2560. 256 หน้า. ISBN 978-616-437-012-8
- เดส์ฟาร์จ, นายพล (เขียน) ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561. 120 หน้า. ISBN 978-974-02-1610-0
- นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. 112 หน้า. ISBN 974-323-832-8
- โบชอง, พันตรี (เขียน) ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. 100 หน้า. ISBN 978-974-02-1111-2
- สปอร์แตช, มอร์กาน (เขียน) กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. 280 หน้า. ISBN 978-974-02-0768-9
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2008) จำกัด, 2563. 488 หน้า. ISBN 978-616-514-650-0