กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์

กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์ พระนามเดิม เจ้าอาทิตย์ เป็นพระราชโอรสในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์

กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์
ราชวงศ์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระบิดาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์

ตัวตนในพระราชพงศาวดาร แก้

ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ปรากฏ ชื่อ "เจ้าฟ้าอาทิตยวงศ์" ว่าเป็นพระราชโอรสในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ครั้งแรกช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศว่าได้เป็นผู้ไปเชิญกรมขุนอนุรักษ์มนตรีมาเฝ้าพระบิดาขณะประชวรหนัก โดยมีข้อความปรากฏว่า

"ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีซึ่งผนวชอยู่ ณ วัดละมุด ได้ทราบว่าทรงพระประชวรหนัก ก็ลาผนวชมาอยู่ ณ พระตำหนักสวนกระต่าย และ เจ้าอาทิตย์ ราชบุตรกรมพระราชวังซึ่งทิวงคตนั้นออกไปเชิญเสด็จเข้ามา ณ พระที่นั่งทรงปืน แย้มฉากทอดพระเนตรดูสักครู่หนึ่ง ก็เสด็จกลับไปยังสวนกระต่าย" [1]

หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าสามกรม ได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพและกรมหมื่นเสพภักดี ก่อการคิดกบฏต่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เมื่อเจ้าสามกรมมาเฝ้าพระเจ้าอุทุมพรสั่งให้วางคนไว้พร้อม แล้วจึงจับเจ้าสามกรมไปจำไว้ แล้วมีพระราชบัณฑูรแก่เจ้าอาทิตย์ ให้ลงพระราชอาญาสำเร็จโทษ โดยปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"ครั้นถึง ณ วันแรม ๑๑ ค่ำ เพลาบ่าย กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และ กรมหมื่นเสพภักดี เสด็จมาเฝ้ากรมพระราชวังและกรมขุนอนุรักษ์มนตรี ณ พระตำหนักตึก ขณะนั้นมีพระราชบัณฑูรเป็นความลับกับกรมขุนอนุรักษ์มนตรี สั่งให้วงคนไว้พร้อม และเจ้าสามกรมมิทันรู้พระองค์ จึงให้กุมเอากรมหมื่นสุนทรเทพ ไปจำไว้ ณ หอพระมณเฑียรธรรม ให้กุมเอากรมหมื่นเสพภักดี ไปจำไว้ ณ ตึกพระคลังศุภรัต ให้กุมเอากรมหมื่นจิตรสุนทร ไปจำไว้ ณ ตึกพระคลังวิเศษ แล้วตรัสสั่ง เจ้าอาทิตย์ ว่าเขาทำแก่ฉันใด จงกระทำตอบแทนฉันนั้น" และ "เจ้าฟ้าอาทิตยวงศ์ จึงสั่งเจ้าพนักงานให้ลงท่อนจันทน์สำเร็จโทษเจ้าสามกรมสิ้นพระชนม์แล้ว ให้เอาพระศพไปฝัง ณ วัดโคกพระยา ตามโบราณราชประเพณี"

การสถาปนาให้ทรงกรม แก้

เจ้าอาทิตย์ได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์โดยปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการให้ตั้งกรมหลวงพิพิธมนตรี พระราชมารดา เป็นสมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตย์ แล้วโปรดตั้ง เจ้าอาทิตยวงศ์ เป็น กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร"[2]

นอกจากนี้ ยังได้เป็นแม่กองในการปฏิสังขรณ์เครื่องบนของพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ เมื่อคราวที่ยอดพระมหาปราสาทพังทลายลงเพราะปืนใหญ่ของพระเจ้าอลองพญา ท่านชายอาทิตยวงศ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นผู้นำกำลังทหารต่อสู้กับกองทัพพม่าอย่างสุดกำลังที่บริเวณป้อมมหาชัย ในคืนที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ท่านชายสิ้นพระชนม์ในชุดทหาร สวมหมวกทรงประพาส บริเวณเจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่พระยา เยื้องกับวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, หน้า 247
  2. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, หน้า 251-252

บรรณานุกรม แก้

  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนพระราชกุศลทานมัยในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา, พระอรรคชายาเธอ กรมขุนอรรควรราชกัญญา, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี. พ.ศ. 2455.