วัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนาราม หรือ วัดชัยวัฒนาราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง[1] วัดไชยวัฒนาราม ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา
วัดไชยวัฒนาราม มุมจากโดรนเมื่อปี พ.ศ. 2565 | |
ที่ตั้ง | ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
---|---|
ประเภท | วัด |
ส่วนหนึ่งของ | อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา |
ความเป็นมา | |
ผู้สร้าง | สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง |
สร้าง | พ.ศ. 2173 |
ละทิ้ง | พ.ศ. 2310 |
สมัย | อยุธยา |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ขุดค้น | พ.ศ. 2530–2535 |
ผู้ขุดค้น | กรมศิลปากร |
สภาพ | ซากปรักหักพัง |
ผู้บริหารจัดการ | กรมศิลปากร |
การเปิดให้เข้าชม | ทุกวัน 08.00-18.30 น. |
สถาปัตยกรรม | |
รูปแบบสถาปัตยกรรม | อยุธยา |
วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173[2]โดยเดิมบริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพระราชมารดาที่ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระเจ้าปราสาททองได้เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ พระองค์จึงได้สร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้นเพื่ออุทิศผลบุญนี้ให้กับพระราชมารดาของพระองค์ และอีกประการหนึ่งวัดนี้อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือเขมรด้วย จึงทำให้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งมาจากปราสาทนครวัด[3]
ประวัติ
แก้วัดไชยวัฒนาราม ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนที่ที่เป็นบ้านเดิมของพระองค์เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระราชมารดา แต่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือนครละแวกโดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด
วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์สืบต่อมาหลังจากนั้นทุกพระองค์ จึงได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชสมัย เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตก็ได้ถวายพระเพลิงที่วัดนี้
ก่อนกรุงแตก พ.ศ. 2310 วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง วัดไชยวัฒนารามได้ถูกปล่อยทิ้งให้ร้างเรื่อยมา บางครั้งมีผู้ร้ายเข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติ เศียรพระพุทธรูปถูกตัดขโมย มีการรื้ออิฐที่พระอุโบสถ และกำแพงวัดไปขาย แต่ในปี พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาอนุรักษ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535
สถาปัตยกรรม
แก้ฐานภายใน
แก้วัดไชยวัฒนาราม มีปรางค์ประธานและปรางค์มุมอยู่บนฐานเดียวกัน พระปรางค์ประธานนำรูปแบบของพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นมาก่อสร้าง แต่ปรางค์ประธานที่วัดไชยวัฒนารามทำมุขทิศยื่นออกมามากกว่า บนยอดองค์พระปรางค์ใหญ่อาจเคยประดิษฐานเจดีย์ขนาดเล็ก สื่อถึงพระเจดีย์จุฬามณีบนยอดเขาพระสุเมรุ รอบพระปรางค์ใหญ่ล้อมรอบไปด้วยระเบียงคตที่เดิมนั้นมีหลังคา ภายในระเบียงคตประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่เคยลงรักปิดทองจำนวน 120 องค์ เป็นเสมือนกำแพงเขตศักดิ์สิทธิ์ ตามแนวระเบียงคตตรงทิศทั้งแปดสร้างเมรุทิศ และ เมรุมุม (เจดีย์รอบ ๆ พระปรางค์ใหญ่) ภายในเมรุทุกองค์ประดิษฐานพระพุทธรูป ภายในซุ้มเรือนแก้วล้วนลงรักปิดทอง ฝาเพดานทำด้วยไม้ประดับลวดลายลงรักปิดทองเช่นกัน
พระอุโบสถ
แก้พระอุโบสถ สร้างอยู่ทางด้านหน้ากำแพงเมรุทิศเมรุราย นอกระเบียงคต ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน ข้าง ๆ มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง มีกำแพงล้อมรอบโบราณสถานสำคัญแหล่านี้ถึง 3 ชั้น และ มีปรางค์เจดีย์ขนาดย่อมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งสร้างเพิ่มในภายหลัง
เมรุทิศเมรุราย
แก้เมรุทิศเมรุราย ตั้งล้อมรอบพระปรางค์อยู่ทั้งสิ้น 8 องค์ โดยผนังภายในเมรุเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปใบไม้ใบกนก ซึ่งลบเลือนไปมากแล้ว ผนังด้านนอกของเมรุมีภาพปูนปั้นพุทธประวัติ จำนวน 12 ภาพ ซึ่งในปัจจุบันเลือนไปแล้วเช่นกัน แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วยังสามารถเห็นได้ชัด เมรุเป็นทรงปราสาท ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 7 ชั้น รองรับส่วนยอดที่ ชื่อที่มานั้นนำมาจากเมรุ พระบรมศพพระมหากษัตริย์สมัยพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีแนวความคิด มาจากคติเขาพระสุเมรุอีกต่อหนึ่ง พระพุทธรูปปูนปั้นที่ประดิษฐานอยู่ภายในเมรุทิศเมรุมุม ของระเบียงคตวัดไชยวัฒนาราม มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ (หรือพระพุทธนิมิต) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ประดิษฐานอยู่ที่วัดหน้าพระเมรุ ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เช่นเดียวกัน
อุทกภัย พ.ศ. 2554
แก้จากเหตุอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรหลังวัดไชยวัฒนาราม ระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร ซึ่งจากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พบว่า โบราณสถานในเขตเกาะเมืองได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมดแล้ว ด้านกรมศิลปากรเตรียมบูรณะ คาดใช้งบไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท[4]
คลังภาพ
แก้-
วัดไชยวัฒนารามในยามค่ำคืนเมื่อปี พ.ศ. 2561
-
วัดไชยวัฒนารามมุมมองจากทิศใต้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
-
ซากฐานและเสาพระอุโบสถวัดไชยวัฒนารามมุมมองจากทิศตะวันตกเมื่อปี พ.ศ. 2565
-
ปรางค์ประธานเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
-
เมรุทิศเมรุราย ตั้งล้อมรอบพระปรางค์อยู่ทั้งสิ้น 8 องค์
-
วัดไชยวัฒนารามมุมมองจากทิศตะวันตกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
อ้างอิง
แก้- ↑ วัดไชยวัฒนาราม | วัดโบราณในพระนครศรีอยุธยา
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-16. สืบค้นเมื่อ 2015-04-25.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-16. สืบค้นเมื่อ 2015-04-25.
- ↑ อยุธยาอาการหนักน้ำ 2 เมตรท่วมวัดไชยวัฒนาฯ
- วิไลรัตน์. 2546. กรุงศรีอยุธยา. อมรินทร์พริ้นติ้ง