อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ 4,810 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือ ตามถนนสายเอเซีย ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร ได้รับการพิจารณาเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ในนาม นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา[1]
นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
พิกัด | 14°20′52.0″N 100°33′38.0″E / 14.347778°N 100.560556°E |
ประเทศ | ไทย |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
ประเภท | มรดกทางวัฒนธรรม |
เกณฑ์พิจารณา | (iii) |
อ้างอิง | 576 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2534 (คณะกรรมการสมัยที่ 15) |
พื้นที่ | 289 เฮกตาร์ |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
ประวัติ
แก้พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใน พ.ศ. 1893 และได้ถูกพม่าทำลายลงในพุทธศตวรรษที่ 23 แม้จะถูกทำลายลงก็ยังคงมีร่องรอยความยิ่งใหญ่และความเจริญรุ่งเรืองของเมืองดังที่ปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี ได้มีการรื้ออิฐจากสถาปัตยกรรมในกรุงศรีอยุธยาเพื่อไปก่อสร้างกรุงเทพมหานคร ทำให้โบราณสถานต่าง ๆ ถูกทำลายและทิ้งร้างไป[2] ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อนุรักษ์และฟื้นฟูโบราณสถานในกรุงศรีอยุธยาขึ้นอีกครั้ง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาโบราณราชธานินท์ ข้าหลวงมณฑลกรุงเก่าทำการขุดแต่งโบราณสถาน และปรับปรุงสภาพในพระราชวังโบราณ
เมื่อปี พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานหลายแห่งในเกาะรอบเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ รวม 69 แห่ง ต่อมาในสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้เริ่มโครงการบูรณะพระที่นั่งและวัดต่าง ๆ โดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแล
ปี พ.ศ. 2512 ได้มีโครงการชื่อ โครงการสำรวจขุดแต่งและบูรณะปรับปรุงโบราณสถาน โดยมีความพยายามที่จะประสานงานร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในอันที่จะอนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาไว้
ในที่สุด พ.ศ. 2519 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของงานชิ้นใหม่ แล้วจัดทำโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาขึ้น และเริ่มทำการบูรณะปรับปรุงโบราณสถานเป็นต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 และในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 ปี พ.ศ. 2534 ณ เมืองคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย นครประวัติศาสคร์พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก
ขอบเขตของอุทยานประวัติศาสตร์
แก้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีขอบเขตพื้นที่ตามประกาศกรมศิลปากรเรื่องกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน รวมพื้นที่ทั้งสิ้นราว 4,810 ไร่[3] โดยได้มีการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 รวมพื้นที่ประมาณ 1,810 ไร่[4][5] ซึ่งในเขตที่ดินโบราณสถานดังกล่าวมีโบราณสถานที่สำคัญ ดังนี้
เลขที่ | ชื่อ | รูปภาพ | สร้าง | ผู้สร้าง |
---|---|---|---|---|
1 | พระราชวังโบราณ | พ.ศ. 1893 | สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 | |
2 | วัดมหาธาตุ | พ.ศ. 1917 หรือ พ.ศ. 1927 |
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 | |
3 | วัดพระศรีสรรเพชญ์ | พ.ศ. 1991 | สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ | |
4 | วัดราชบูรณะ | พ.ศ. 1967 | สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 | |
5 | วัดพระราม | พ.ศ. 1912 | สมเด็จพระราเมศวร | |
6 | วิหารพระมงคลบพิตร | ? | สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[6] |
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี อีก 3,000 ไร่ ในปี พ.ศ. 2540[7] โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำการอนุรักษ์และพัฒนาให้เหมาะสมกับการที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลก[8] ซึ่งในเขตที่ดินเพิ่มเติมนี้ มีโบราณสถานที่สำคัญ อาทิ
ทั้งนี้ เขตที่ดินโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก คือเขตที่ดินในส่วนก่อนมีประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2540 เท่านั้น เนื่องจากไม่ได้มีการเสนอขอขยายเขตที่ดินตามประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณเพิ่มเติมให้เป็นมรดกโลก
เหตุผลที่ได้รับคัดเลือกเป็นมรดกโลก
แก้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อ "นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 เมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์พิจารณาให้เป็นมรดกโลก ดังนี้
- (iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
อ้างอิง
แก้- ↑ Historic City of Ayutthaya
- ↑ ศิลปากร, กรม. หน้า 32.
- ↑ ประวัติที่มาและความสำคัญ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
- ↑ ตามราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พุทธศักราช 2519
- ↑ "ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 93 (102): 2149. 2015-08-07.
- ↑ รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต) หน้า 247 - E-Book Buffet : ห้องสมุดประชาชน อ.ท่าบ่อ | พลิก PDF ออนไลน์ | PubHTML5
- ↑ ตามราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 114 ตอนที่ 62 หน้าที่ 40 ลงวันที่ 21 มกราคม พุทธศักราช 2540
- ↑ "ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเพิ่มเติม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (6ง): 40. 2015-08-07.
บรรณานุกรม
แก้- ศิลปากร, กรม. (2543). อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. บริษัท ศรีเมืองการพิมพ์ จำกัด. ISBN 974-417-472-2. 212 หน้า.