พระราชวังจันทรเกษม

พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก (คลองคูขื่อหน้า) ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระราชวังที่ปรากฏหลักฐานตามพระราชพงศาวดารสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2120 ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยามเสด็จจากเมืองพิษณุโลกเพื่อมาเฝ้าพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา พระราชวังแห่งนี้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้เป็นกองบัญชาการรับศึกหงสาวดีเมื่อปี พ.ศ. 2129 นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชที่สำคัญถึง 8 พระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์

พระราชวังจันทรเกษม
พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์
แผนที่
ชื่ออื่นวังหน้า
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปลี่ยนสภาพ
ประเภทพระราชวัง
ที่ตั้งตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา
เมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2120
ปรับปรุงพ.ศ. 2436
เจ้าของกรมศิลปากร

เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 พระราชวังจันทรเกษมได้ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2404 ทรงโปรดฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชิดเชื้อพงศ์เป็นแม่กองในการดูแลก่อสร้างพระตำหนักและพลับพลาที่ประทับ จึงได้มีปรับปรุงบูรณะ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาที่พระองค์เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และโปรดพระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2436 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่า โดยใช้พระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นที่ทำการ จนพระยาโบราณราชธานินทร์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้มีการจัดสร้างอาคารที่ทำการภาค ขึ้น แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจากพระที่นั่งพิมานรัตยามาตั้งที่อาคารที่ทำการภาค พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้รวบรวมวัตถุสิ่งของสำคัญในบริเวณกรุงเก่าและบริเวณใกล้เคียงไว้เป็นจำนวนมาก มาเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังจันทรเกษม จนในปี พ.ศ. 2445 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงแนะนำให้พระยาโบราณราชธานินทร์ จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่เรียกว่า โบราณพิพิธภัณฑ์ โดยใช้ตึกโรงม้าพระที่นั่งเป็นที่เก็บรวมรวม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัตถุต่างๆ จากโรงม้าพระที่นั่งเข้ามาเก็บรักษาและตั้งแสดงที่บริเวณอาคารพลับพลาจตุรมุข และต่อเติมระเบียงตามแนวอาคารด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก เพื่อจัดตั้งวัตถุ ศิลาจารึก และประติมากรรมต่างๆ ใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์ว่า อยุธยาพิพิธภัณฑ์ ต่อมา ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2479 กรมศิลปากร ได้ประกาศให้อยุธยาพิพิธภัณฑ์เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในนาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

สถาปัตยกรรม

แก้
 
พระราชวังจันทรเกษม

สิ่งก่อสร้างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และที่ทำการมณฑลเทศาภิบาล จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้ง

  • กำแพงพระราชวัง ปัจจุบันก่อเป็นกำแพงอิฐ มีใบเสมา มีประตูด้านละ 1 ประตู รวม 4 ด้าน แต่เดิมนั้นคาดว่ามีกำแพง 2 ชั้น เช่นเดียวกับวังหลวง
  • พลับพลาจตุรมุข ตั้งอยู่บริเวณกำแพงด้านหน้าชานของพลับพลา ในสมัย ร.4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารพลับพลาทรงจตุรมุขแฝด เพื่อใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกงานว่าราชการ และที่ประทับในเวลาเดียวกันต่อมาแต่เดิมทีบริเวณที่ตั้งพลับพลาจตุรมุขซากแนวอาคารก่ออิฐถือปูน
  • พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นหมู่ตึกกลางพระราชวัง มี 4 หลัง คือ อาคารปรัศว์ซ้าย อาคารปรัศว์ขวา พระที่นั่งพิมานรัตยา และศาลาเชิญเครื่อง
  • พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอส่องกล้อง) ตั้งอยู่บริเวณกำแพงด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ เป็นอาคารหอสูง 4 ชั้น ที่สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาในสมัย ร. 4 ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งตามแนวรากฐานอาคารเดิม และใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดวงดาว
  • ตึกโรงม้าพระที่นั่ง ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น
  • อาคารสโมสรเสือป่า ตั้งอยู่บริเวณกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันออก สร้างขึ้นในสมัย ร.6
  • ตึกที่ทำการภาค (อาคารมหาดไทย) เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างขนานไปกับแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ สร้างขึ้นในสมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า
  • ระเบียงจัดตั้งศิลาจำหลัก ใช้สำหรับเป็นที่เก็บรักษาบรรดาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ แต่เดิมสร้างเป็นระเบียงหลังคามุงสังกะสี ยาวไปตามแนวกำแพงด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก

อ้างอิง

แก้