พิพิธภัณฑสถาน

(เปลี่ยนทางจาก พิพิธภัณฑ์)

พิพิธภัณฑสถาน หรือ พิพิธภัณฑ์ (อังกฤษ: Museum) เป็นอาคารหรือสถาบัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเก็บรักษาวัตถุที่มนุษย์ทำขึ้น[1]

ท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ พิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้แห่งแรกของโลก ตั้งอยู่ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
หอศิลป์อุฟฟีซี เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในอิตาลี
เกาะพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ที่เบอร์ลิน
พิพิธภัณฑ์บริติช ตั้งอยู่ที่ลอนดอน
พิพิธภัณฑ์อินเดีย ตั้งอยู่ที่โกลกาตา ประเทศอินเดีย เป็นพิพิธภัณฑเก่าและใหญ่ที่สุดในอินเดีย
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติฟินแลนด์ ตั้งอยู่ที่เฮลซิงกิ

คำจำกัดความ แก้

 
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอิหร่าน ตั้งอยู่ที่เตหะราน ประเทศอิหร่าน
 
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ที่มอสโก

พิพิธภัณฑสถาน หรือ พิพิธภัณฑ์ เป็นสถานที่ หรือสถาบัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาและนอกการศึกษาในลักษณะสันทนาการความรู้ที่ได้รับจากการจัดแสดง ร่วมกับการอนุรักษ์จัดเก็บฟื้นฟูสภาพ โดยจัดแสดงทั้งในรูปแบบของวัตถุที่มนุษย์ทำขึ้น ได้แก่โบราณวัตถุ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และ วัตถุที่เกิดจากธรรมชาติ ได้แก่ วัตถุทางธรณีวิทยา ชีววิทยา ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ โดยจัดให้ผู้คนสามารถเข้าชมได้ถาวร หรือจัดแสดงชั่วคราว พิพิธภัณฑสถานมักจะให้บริการแก่สาธารณชน เพื่อแสดงความภูมิใจของท้องถิ่น ดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยมีผู้ดูแลพิพิธภัณฑสถาน เรียกว่า ภัณฑารักษ์

ปัจจุบันแนวคิดของพิพิธภัณฑสถาน ยังมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น จากแค่เป็นการเก็บรักษาและจัดแสดง เป็นการให้ประสบการณ์ และมีการโต้ตอบแลกเปลี่ยนความรู้ ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต โดยมีการจัดเก็บสิ่งของประเภทต่างๆจำนวนมากและจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน โดยทั้งแบบถาวรและชั่วคราว เพื่อการหมุนเวียนงานแสดงได้อย่างหลากหลาย

เป้าหมาย แก้

พิพิธภัณฑ์มีเป้าหมายในการเก็บรักษาและดูแลสิ่งของที่สำคัญทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และศิลปะ เพื่อจัดแสดงต่อสาธารณชน พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่มักจะตั้งอยู่ภายในเมืองใหญ่ที่สำคัญของโลกซึ่งมักจะมีผลงานแสดงที่หลากหลาย ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่กระจายอยู่ตามทั่วโลกมักจะจัดแสดงผลงานของท้องถิ่นนั้น หรือเฉพาะวัตถุที่เกิดจากความสนใจของเจ้าของพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ภายหลังจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ต ได้มีพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงเกิดขึ้นมากมายในลักษณะของเว็บไซต์ที่มีการจัดแสดงภาพ และเสียงให้ผู้เข้าชมได้ดูและฟัง

พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้ผู้เข้าชมจับต้องกับวัตถุที่จัดแสดง แม้กระนั้นพิพิธภัณฑ์บางประเภทอย่างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มักจะพยายามแนะนำให้ผู้เข้าชมจับต้องและเล่นกับสิ่งของที่จัดแสดงเพื่อการเรียนรู้

พิพิธภัณฑ์บางแห่งจะเก็บค่าเข้าชม ในขณะที่การเข้าชมพิพิธภัณฑ์บางแห่งเปิดให้เข้าชมฟรี หรือเปิดให้เข้าชมฟรีฟรีเฉพาะบางวันในสัปดาห์นั้น พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่ความรู้และวัฒนธรรมซึ่งจะไม่เน้นการหากำไรเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ โดยทางพิพิธภัณฑ์เองจะมีเงินสนับสนุนจากหน่วยงานทางภาครัฐ หรือภาคเอกชน ซึ่งจะแตกต่างจากพวกห้องโชว์ภาพที่มีจุดมุ่งหมายในการเปิดให้ชมเพื่อขายงานศิลปะ

ชนิด แก้

พิพิธภัณฑ์โบราณคดี
พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ และบางแห่งจัดเป็นโบราณสถานเอง ซึ่งมีลักษณะของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ตัวอย่างเช่น อาโครโปลิสแห่งเอเธนส์
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงความรู้จากประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างช่วงเวลานั้นจนถึงปัจจุบัน ในพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่จะมีการจัดแสดงประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันบางพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงประวัติแสดงเฉพาะประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้น ตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เช่น บ้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นบ้านที่มีความสำคัญในตัวอาคารเองในเชิงสถาปัตยกรรมหรือเป็นบ้านเกิดของบุคคลที่มีชื่อเสียง อุทยานประวัติศาสตร์เองก็นับเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หรือ อุทยานประวัติศาสตร์เดียร์ฟิลด์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อีกประเภทหนึ่งได้แก่ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของชุมชนในสมัยก่อนที่ยังคงเก็บรักษาและนำมาแสดงให้คนรุ่นปัจจุบันได้ดู
พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติ
พิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องราวของธรรมชาติในโลก โดยเน้นถึงตัวธรรมชาติและวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการเกิดของไดโนเสาร์ บุคคลในยุคหิน ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติฟีลด์ในชิคาโก
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
พิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะนำงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญมาแสดงในรูปแบบที่เข้าใจง่าย พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มักจะสนับสนุนให้ผู้เข้าชมมีปฏิสัมพันธ์กับทางวัตถุหรือเหตุการณ์ที่นำมาแสดง เพื่อให้เรียนรู้ได้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การทดลองอย่างง่าย หรือการใส่แว่นสามมิติเพื่อเข้ามชม ตัวอย่างเช่น ท้องฟ้าจำลอง
พิพิธภัณฑ์ศิลปะ
พิพิธภัณฑ์ศิลปะ หรือรู้จักในชื่อหอศิลป์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงงานศิลปะในหลายรูปแบบ ไม่ว่า ภาพเขียน ภาพถ่าย ประติมากรรม ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ศิลปะบางแห่งยังมีการแสดงเฉพาะศิลปะสมัยใหม่ เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ในนิวยอร์กซิตี
พิพิธภัณฑ์อื่น

นิยามศัพท์คำว่า "พิพิธภัณฑ์" และ "พิพิธภัณฑสถาน" แก้

พิพิธภัณฑ์ (พิ-พิด-ทะ-พัน) มาจากคำว่า วิวิธ สมาสกับคำว่า ภัณฑ์ หมายถึงของใช้ที่แตกต่างกัน ซึ่งในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้คำนิยามว่า "สิ่งของต่างๆ ที่ได้ถูกรวบรวมไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา" ในขณะเดียวกันคำว่า พิพิธภัณฑสถาน หมายถึง สถานที่เก็บรวบรวมสิ่งต่างๆ ไว้เพื่อการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันความหมายของพิพิธภัณฑ์เอง ได้ถูกเรียกหมายถึงพิพิธภัณฑ์สถานเช่นเดียวกัน[2]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Edward Porter Alexander, Mary Alexander; "Museums in motion: an introduction to the history and functions of museums". Rowman & Littlefield. 2008. ISBN 0-7591-0509-X. สืบค้นเมื่อ 2009-10-06.
  2. "คำว่า "พิพิธภัณฑสถาน"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-20. สืบค้นเมื่อ 2010-04-24.