วัดใหญ่ชัยมงคล
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
วัดใหญ่ชัยมงคล เดิมชื่อ "วัดป่าแก้ว" หรือ "วัดเจ้าไท" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะพระนคร ปัจจุบันเป็นพื้นที่ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จุดเด่นของวัดได้แก่เจดีย์องค์ใหญ่ที่เชื่อกันว่า ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ภายในได้มีการค้นพบชัยมงคลคาถาบรรจุอยู่ ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชัยมงคล พระประธานที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด นอกจากนี้แล้ว ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2544 อีกด้วย
วัดใหญ่ชัยมงคล | |
---|---|
เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลมุมมองจากทิศตะวันตกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 | |
ชื่อสามัญ | วัดใหญ่ชัยมงคล |
ที่ตั้ง | 40/3 หมู่ 3 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธชัยมงคล |
เจ้าอาวาส | พระครูสิริชัยมงคล (สำรอง ชยธมฺโม) |
ความพิเศษ | โบราณสถาน |
เวลาทำการ | ทุกวัน 08.00 - 17.00 น. |
จุดสนใจ | พระเจดีย์ชัยมงคล อุโบสถ วิหารพระนอน พระบรมราชานุสาวรีย์พระนเรศวรมหาราช |
กิจกรรม | บวชชีพราหมณ์ทุกวัน จัดอบรมปฏิบัติธรรมทุกเทศกาล |
หมายเหตุ | เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้สมัยกรุงศรีอยุธยา
แก้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรืออีกพระนามหนึ่งคือ สมเด็จพระเจ้าอู่ทองพระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้ง พ.ศ. 1900 สมเด็จพระเจ้าอู่ทองได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขุดศพเจ้าแก้วและเจ้าไท ซึ่งทิวงคตด้วยอหิวาตกโรคขึ้นมาเผา ที่ปลงศพนั้นโปรดให้สถาปนาเป็นพระอาราม นามว่า วัดป่าแก้ว ต่อมาคณะสงฆ์สำนักวัดป่าแก้วที่ได้บวชเรียนมา จากสำนักรัตนมหาเถระในประเทศศรีลังกาคณะสงฆ์นี้ได้เป็นที่เคารพเลื่อมใสแก่ชาวกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก ทำให้ผู้คนต่างมาบวชเรียนในสำนักสงฆ์คณะป่าแก้วมากขึ้น สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง จึงทรงตั้งอธิบดีสงฆ์นิกายนี้เป็นสมเด็จพระวันรัตน์ มีตำแหน่งเป็นพระสังฆราชฝ่ายขวาคู่กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายคันถธุระ กาลต่อมาเป็นที่พำนักของพระภิกษุคณะป่าแก้ว ซึ่งมี สมเด็จพระวันรัตน์เป็นประธานสงฆ์ จึงได้ชื่อว่า วัดเจ้าพระยาไทยคณะป่าแก้ว
เรื่องราวสำคัญในประวัติศาสตร์ของวัดป่าแก้วมีอยู่ว่า อุโบสถของวัดเคยเป็นที่ซึ่งคณะคิดกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์มาประชุมเสี่ยงเทียนอธิษฐาน ครั้งนั้นได้รับผลสำเร็จจึงอัญเชิญพระเฑียรราชาลาผนวช ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิพ.ศ. 2104 ในรัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้นเอง ได้มีพระบรมราชโองการให้เอาสังฆราชวัดป่าแก้วไปสำเร็จโทษ ฐานฝักใฝ่ให้ฤกษ์ยามแก่ฝ่ายกบฏพระศรีศิลป์ พ.ศ. 2135
ในแผ่นดินของพระนเรศวรมหาราช มีเหตุการณ์สำคัญที่ชวนให้เข้าใจว่ามีการสร้างปฏิสังขรณ์เจดีย์ประธานวัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศของพระองค์ที่ได้ชัยชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่า จึงทำให้เชื่อว่าเป็นที่มาของชื่อวัดใหญ่ชัยมงคล
เจดีย์ชัยมงคลอนุสรณ์แห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงรบชนะ มังกะยอชวาพระมหาอุปราชาของหงษาวดี ที่ต.หนองสาหร่าย จ.สุพรรณบุรีในครั้งนั้นพม่าได้ยกทัพเข้ามาในขอบขันฑสีมา สมเด็จพระนเรศวรฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถผู้เป็นพระอนุชาจึงได้นำทัพไปรับศึก และได้ขับช้างเข้าไปอยู่ในวงล้อมของข้าศึกทีคอยระดมยิงปืนเข้าใส่พระและพระคชาธาร โดยที่เหล่าแม่ทัพนายกองวิ่งตามพระองค์มาไม่ทัน พระองค์จึงประกาศด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ไยในร่มไม้เล่าเชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีกษัตริย์ที่จะได้กระทำยุทธหัตถีแล้ว พระมหาอุปราชาของพม่าจึงไสยช้างออกมากระทำยุทธหัตถีด้วยกันในการทำยุทธหัตถีครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงใช้พระแสงพลพ่ายฟาดฟันพระมหาอุปราชาขาดตะพายแล่ง
เมื่อกลับมาสู่พระนครแล้ว พระองค์ก็จะลงโทษเหล่าทหารที่ตามไปไม่ทันตอนกระทำศึกยุทธหัตถี ซึ่งตามกฏระเบียบแล้วต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต ช่วงเวลาที่รออาญาสมเด็จพระพันรัตน พระสังฆราชพร้อมด้วยพระสงฆ์ 25 รูปได้ขอให้พระนเรศวรพระราชทานอภัยยกเว้นโทษให้กับทหารเหล่านั้น โดยให้เหตุผลว่าพระองค์เปรียบดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แวดล้อมด้วยหมู่มารก่อนที่จะตรัสรู้ เป็นการประกาศเกียรติและบารมีความกล้าหาญและเก่งกาจของพระองค์ให้ขจรกระจายไปทั่วแคว้นทั่วแผ่นดิน สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความมีน้ำพระทัยของพระองค์ ที่มีต่อเหล่าทหารเหล่านั้น และพระะราชทานนามว่า เจดีย์ชัยมงคล ในปี พ.ศ. 2135 มีความสูง 1 เส้น 1 วา เป็นเจดีย์ ที่สูงที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาจนทุกวันนี้
วัดป่าแก้ว หรือวัดเจ้าไท ต้องร้างลงเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2309 อาณาจักรคองบองได้ยกพลมาประชิดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยาตรมรินทร์โปรดเกล้า ให้ยกทัพเรือออกจากพระนครไปตั้งอยู่ที่วัดป่าแก้ว แต่ทัพเรือสยามเสียทีข้าศึก พระยาเพชรบุรีถูกสังหาร กองทัพอาณาจักรคองบองบางส่วนได้ยึดเอาวัดป่าแก้วเป็นฐานปฏิบัติการ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310 วัดแห่งนี้จึงได้ร้างลง
ยุคฟื้นฟู
แก้หลังจากที่วัดใหญ่ หรือ วัดป่าแก้ว หรือ วัดเจ้าไท ได้ร้างลงกว่า 400 ปี ได้มีพระภิกษุ สามเณร แม่ชี กลุ่มหนึ่ง โดยการนำของพระฉลวย สุธมฺโม ได้เข้ามาหักร้างถางพงที่รกเรื้อปกปิดอารามอันเก่าแก่แห่งนี้เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมได้ประมาณ 4 ปี ท่านต้องการออกจาริกอีกครั้งจึงได้ไปนิมนต์พระครูภาวนาพิริยคุณ เจ้าอาวาส วัดยม อำเภอบางบาล ให้มาดูแลวัดใหญ่ชัยมงคลต่อ
พระครูภาวนาพิริยคุณ (เปลื้อง วิสฏฺโฐ) ได้นำคณะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และแม่ชี หักร้างถางพง ฟื้นฟูวัดแห่งนี้จนได้รับการยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดราษฎร์ที่มีพระภิกษุจำพรรษา ในปี พ.ศ. 2500 โดยได้ชื่อว่าวัดใหญ่ชัยมงคล ส่วนพระครูภาวนาพิริยคุณ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูภาวนารังสี
ยุคปัจจุบัน
แก้หลังจากที่พระครูภาวนารังสีได้มรณภาพในปี พ.ศ. 2536 พระปลัดแก่น ปุญฺญสมฺปนฺโน หรือปัจจุบันเป็นพระครูพิสุทธิ์บุญสาร ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และได้ร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และแม่ชี พัฒนาวัดใหญ่ชัยมงคล จนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น และสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แห่งที่ ๓
วัดใหญ่ชัยมงคลถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายยุคสมัย และเป็นวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมมามาก ด้ววยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ชมเจดีย์ที่สูงที่สุดในพระนครศรีอยุธยา ด้านหลังวัดมีตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้ผู้นับถือศรัทธาเข้ามากราบไหว้ นอกจากนี้ บริเวณ รอบๆ ยังมีมีสวนหย่อมที่สวยงามให้พักผ่อนอีกด้วย
เมื่อ พ.ศ. 2557 วัดใหญ่ชัยมงคลได้รับการยกสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ[1]
รายนามผู้บริหารวัดใหญ่ชัยมงคล
แก้รายนามผู้บริหารวัดใหญ่ชัยมงคล
- พระครูสิริชัยมงคล (สำรอง ชยธมฺโม) - เจ้าอาวาสวัดใหญ่ชัยมงคล, รองเจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา
- พระมหาบรรณ์ ปญฺญาธโร ป.ธ.๙ - ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใหญ่ชัยมงคล, รองเจ้าคณะตำบลหันตรา
- พระใบฎีกาธวัชชัย สุจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใหญ่ชัยมงคล
- นายปรีชา มีวุฒิสม - ไวยาวัจกร
อ้างอิง
แก้- ↑ "มหาเถรสมาคม เพิ่ม 'พระอารามหลวง' 9 วัด รวม 21 วัด และมีมติถอนวัดอโศการาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-25. สืบค้นเมื่อ 2021-08-25.
- เพิ่มศักดิ์ วรรลยางค์กูล, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดใหญ่ชัยมงคล, อมรินทร์พริ้นติ้งฯ, 2548,ISBN 974-9931-71-8 - นำมาเขียนในหัวข้อประวัติวัดใหญ่ชัยมงคล
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ทางการของวัดใหญ่ชัยมงคล เก็บถาวร 2020-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ประวัติพระครูพิสุทธิ์บุญสาร เก็บถาวร 2009-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ประวัติพระฉลวย สุธมฺโม เก็บถาวร 2009-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ประวัติพระครูภาวนาพิริยคุณ (เปลื้อง วิสฏฺโฐ) เก็บถาวร 2009-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดใหญ่ชัยมงคล
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์