วัดธรรมิกราช
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
วัดธรรมิกราช เดิมชื่อ วัดมุขราช เป็นอดีตพระอารามหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ติดกับพระราชวังโบราณ และวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดธรรมิกราช สร้างขึ้นโดย พระยาธรรมิกราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง จึงสันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นก่อนที่จะสถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งเดิมชื่อวัดมุขราช ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตามผู้สร้างเป็นวัดธรรมิกราช[1]
ที่ตั้ง | ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
---|---|
ประเภท | วัด |
ส่วนหนึ่งของ | อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา |
ความเป็นมา | |
สร้าง | ก่อนกรุงศรีอยุธยา |
ละทิ้ง | พ.ศ. 2310 |
สมัย | อยุธยา |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ผู้ขุดค้น | กรมศิลปากร |
สภาพ | ซากปรักหักพัง |
ผู้บริหารจัดการ | กรมศิลปากร |
การเปิดให้เข้าชม | ทุกวัน 08.00-18.30 น. |
สถาปัตยกรรม | |
รูปแบบสถาปัตยกรรม | อยุธยา |
วัดธรรมมิกราช มีจุดเด่นที่สำคัญคือเป็นวัดที่มีการพบเศียรพระธรรมิกราชซึ่งนับเป็นเศียรพระพุทธรูปสำริดที่มีขนาดใหญ่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย[2] ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และเจดีย์ทรงกลมที่มีปูนปั้นรูปสิงห์ล้อมที่หาชมได้ยาก เพราะส่วนใหญ่ที่พบคือวัดที่มีรูปปูนปั้นเป็นช้าง ในสมัยสุโขทัย เรียกว่า วัดช้างล้อม ซึ่งในวัดแห่งนี้เดิมมีสิงห์ล้อมถึง 52 ตัว แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 20 ตัว[3]
ปัจจุบันยังเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาและปฏิบัติธรรมอยู่ โดยมีพระครูธรรมิกาจารคุณ (ธรรมภณ ธมฺมพโล) เป็นเจ้าอาวาส
ประวัติ
แก้เมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้ง สร้างวัดพนัญเชิงนั้น พระราชโอรส คือพระเจ้าธรรมิกราช โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นที่บริเวณเมืองเก่าชื่อเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ทางหน้าประตูด้านทิศเหนือคือ พระเจดีย์สิงห์ล้อม 52 ตัวที่แตกต่างไปจากเจดีย์ทั่วไป นับเป็นพระเจดีย์สิงห์แห่งเดียวในพระนครศรีอยุธยา ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา ในสมัยต่อมา พระมหากษัตริยได้ทรงบูรณะมาโดยตลอด โดยสังเกตจากร่องรอยการซ่อม และพื้นที่ของวัดที่อยู่ทางทิศตะวันออกของพระนครฯ ตามคติโบราณถือว่าเป็นทิศมงคล ในสมัยสมเด็จพระไตรโลกนาถทรงธรรม (พ.ศ. 2153) ทรงบูรณะวัด และสร้างพระวิหารหลวง เพื่อฟังธรรมในวันธรรมสวนะ (วันพระ) สำหรับพระวิหารพระพุทธไสยยาสน์ (พระนอน) นั้น พระราชมเหสีของพระองค์มีพระราชธิดาประชวร ทรงอธิษฐานไว้เมื่อพระราชธิดาหายแล้วจึงสร้างพระวิหารถวาย น้ำพระพุทธมนต์ในพระวิหารนี้กล่าวกันว่ามี ความศักดิ์สิทธิ์มากมีประชาชนมาอธิษฐาน ขอไปใช้ตามความปรารถนาจำนวนมาก
พระราชพงศาวดารว่าเมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าสามกรมต่างรวบรวมผู้คนเพื่อจะชิงราชสมบัติ พระธรรมโคดมวัดธรรมิกราช และพระราชาคณะวัดกุฏีดาว วัดพุทไธสวรรย์ วัดรามรามาวาส ไปเทศน์โปรดให้เจ้าทั้งสามกรมให้สามัคคีกันและให้กระทำสัตย์สาบาล
ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอุทุมพรผนวชที่วัดนี้พร้อมด้วยมหาดเล็กชื่อนายหง โดยตั้งพระทัยว่าถ้าบ้านเมืองเกิดศึกจะออกไปช่วยรบ ต่อมาเมื่อทัพข้าศึกยกมาถึงตำบลภูเขาทอง นายหงลาสิกขาก่อนออกรบและแตกพ่ายไปเข้ากับพระยาตาก (สิน) เมื่อกู้อิสรภาพแล้วต่อมาได้รับพระราชทานเป็นพระยาเพชรพิชัยจนต่อสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ บุตรของพระยาเพชรพิชัยที่รับราชการต่อมาก็เป็นพระยาเพชรพิชัยสืบมา จนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ภริยาพระยาเพชรพิชัยตามเสด็จมาที่วัดเกิดศรัทธาจึงบูรณะวัดขึ้น ในสมัยที่พระครูธรรมิกาจารคุณ (ฟัก) เป็นเจ้าอาวาส โดยบูรณะพระอุโบสถและพระวิหารใหม่และจะขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวง แต่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดีสวรรคตก่อน มีสถานที่ตั้งเครื่องรับเสด็จและบ่อน้ำโบราณศักดิ์สิทธิ์ของวัด ประมาณปี 2484 พระอุโบสถเดิมพระประธานเป็นศิลปสมัยรัตนโกสินทร์เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ผนังด้านตะวันออกเขียนเป็นภาพพุทธประวัติโดยนายช่างแข ก่อนจะทรุดตัวลง หลังคาได้ทรุดลงมาก่อนทางวัดได้มุงสังกระสีไว้ ยังไม่ทันบูรณะผนังพระอุโบสถก็ทรุดพังลง ทางวัดเตรียมการจะบูรณะ แต่ทางกรมศิลปากรได้เข้ามาซ่อมแทน เดิมเขตกุฎีสงฆ์ที่เป็นเขตสังฆาวาสนั้นอยู่หลังพระอุโบสถติดกับศาลพระเจ้าธรรมิกราช สมัยที่นายปรีดีพนมยงค์สร้างวัดพนมยงค์นั้น เริ่มทำการบูรณะพระวิหารมงคลบพิตรแล้วจะนำช่างชุดเดียวกันมาบูรณะวัดธรรมิกราชต่อ แต่มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น ต่อมาสมัยจอมพลแปลกพิบูลสงคราม เป็นนายกฯ ได้มาสร้างกำแพงวัดปูพื้นพระวิหารพระนอนและกุฏิสงฆ์ ยังไม่แล้วเสร็จก็เกิดเหตุทางการเมืองขึ้นอีกจนกรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการต่อ
เศียรพระพุทธรูปหล่อสำฤทธิ์เป็นศิลปะสมัยอู่ทอง เดิมอยู่ในวิหารหลวงมีความศักดิ์สิทธิ์มาก กล่าวว่าผู้ใดเป็นคดีความกันมาสาบานต่อหน้าพระพักตร์คนผิดต้องตายหรือมีอันเป็นไปทุกคนเป็นที่กล่าวขานกันมาก สมัยที่พระยาโบราณราชธานินทร์ เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในพระราชวังจันทรเกษม ได้นำเศียรพระพุทธรูปนี้ไป ต่อมากรมศิลปากรจึงนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ความศักดิ์สิทธิ์จึงคลายไป
-
วิหารเก้าห้อง วัดธรรมิกราช เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556
-
วิหารเก้าห้อง วัดธรรมิกราชเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
-
พระนอน ในวิหารพระนอน
-
เศียรพระประธานวัดธรรมิกราชภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
-
เจดีย์สิงห์ล้อม
-
เจดีย์สิงห์ล้อมมุมจากทิศตะวันออก
อ้างอิง
แก้- ↑ 03.วัดธรรมิกราช | วัดโบราณในพระนครศรีอยุธยา ,เว็บไซด์:https://watboran.wordpress.com/ .สืบค้นเมื่อ 07/01/2560
- ↑ เศียรพระธรรมิกราช - กรมศิลปากร เก็บถาวร 2018-01-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซด์:www.finearts.go.th/ .วันที่ 07/01/2560
- ↑ ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว วัดธรรมิกราช,เว็บไซด์: www.siamfreestyle.com .สืบค้นเมื่อ 07/01/2560