สงครามเก้าทัพ พม่ายกมา 9 ทัพ 5 ทาง เป็นสงครามครั้งแรก[4] ระหว่างราชวงศ์โก้นบองของพม่ากับอาณาจักรรัตนโกสินทร์แห่งราชวงศ์จักรี

สงครามเก้าทัพ
ส่วนหนึ่งของ สงครามพม่า–สยาม

เขียว หมายถึง เส้นทางเดินทัพของพม่า
แดง หมายถึง เส้นทางเดินทัพของสยาม
วันที่กรกฎาคม พ.ศ. 2328 – มีนาคม พ.ศ. 2329 และกันยายน พ.ศ. 2329 - มีนาคม 2330
สถานที่
ภาคตะวันตก, เหนือ และใต้ของสยาม, อาณาจักรล้านนา
ผล สยามได้รับชัยชนะทางการป้องกัน ประชากรทางฝั่งตะวันตกของสยามมีจำนวนลดลงจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1870[1]
คู่สงคราม
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า) อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
อาณาจักรล้านนา
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าปดุง
ตะแคงจามะ
ตะแคงจักกุ
เมียงหวุ่นแมงยี
เมียนเมหวุ่น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
พระยามาหาโยธา
พระยาจ่าแสนยากร
เจ้าพระยากาวิละ
เจ้าคำน้อย
เจ้าคำโสม
กำลัง
144,000 คน[2][3] 70,000 คน
ความสูญเสีย
หนัก ไม่ทราบ

พระเจ้าปดุงแห่งพม่ามีความทะเยอทะยานที่จะขยายพระราชอำนาจของพระองค์เข้ามาในสยาม ในปี พ.ศ. 2328 หรือ 3 ปีหลังจากสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแห่งใหม่และสถาปนาราชวงศ์จักรี พระเจ้าปดุงได้ยกทัพใหญ่จำนวน 144,000 นายบุกสยามถึง 9 ทัพ 5 ทิศทาง[4] ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ล้านนา ตาก ถลาง (ภูเก็ต) และคาบสมุทรมลายูตอนใต้ อย่างไรก็ตาม การสู้รบที่ยืดเยื้อและการขาดแคลนเสบียงถือว่าการรบของพม่าในครั้งนี้ล้มเหลว สยามภายใต้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระราชอนุชาคือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ป้องกันการรุกรานของพม่าได้สำเร็จ ในต้นปี พ.ศ. 2329 พระเจ้าปดุงมีพระบรมราชโองการให้ถอยทัพเนื่องจากเสบียงขาดแคลน

ภายหลังการพักรบระหว่างฤดูฝนเพื่อรวบรวมเสบียงไพร่พล พระเจ้าปดุงมีพระบรมราชโองการให้กลับมาทำศึกอีกครั้งในปลายปี พ.ศ. 2329 พระเจ้าปดุงส่งพระราชโอรสองค์โต คือเจ้าชายตะโดเมงสอ พระมหาอุปราช มุ่งยกทัพมาตีเมืองกาญจนบุรีเพียงทางเดียวเพื่อรุกรานสยาม สยามพบพม่าที่ท่าดินแดง แขวงเมืองกาญจนบุรี จึงเรียกสงครามครั้งนั้นว่า "สงครามท่าดินแดง" พม่าพ่ายแพ้อีกครั้งและสยามสามารถป้องกันชายแดนด้านตะวันตกได้ การรุกรานที่ล้มเหลวทั้งสองครั้งนี้กลายเป็นการรุกรานสยามแบบเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายของพม่า

ภูมิหลัง

แก้

ความขัดแย้งเรื่องอิทธิพลในหัวเมืองมอญ เมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี[5] และแนวคติความเป็นพระจักรพรรดิราชนำไปสู่การรุกรานอาณาจักรสยามของพม่า หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงขับอิทธิพลของพม่าออกไปและฟื้นฟูอาณาจักรสยามขึ้นอีกครั้ง ในสงครามอะแซหวุ่นกี้ การรบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในหัวเมืองเหนือ ได้แก่สวรรคโลก สุโขทัย และพิษณุโลก ทำให้หัวเมืองเหนือได้รับความเสียหายและหลงเหลือประชากรอยู่น้อย เนื่องจากสูญเสียกำลังพลไปในการรบ[6]

ในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างกรุงเทพมหานครขึ้น เพื่อให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ของสยามและทรงปราบดาภิเษกสถาปนาพระราชวงศ์จักรี[7] ในปีเดียวกันนั้น พระเจ้าปดุง (Badon Min) ทรงปลดพระเจ้าหม่องหม่องออกราชราชสมบัติและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรพม่า ในรัชสมัยของพระเจ้าปดุง อาณาจักรพม่าภายใต้ราชวงศ์โก้นบองเรืองอำนาจขึ้นอีกครั้ง พระเจ้าปดุงทรงส่งพระโอรสอินแซะ (Ainshe หรือ Einshay) มหาอุปราชยกทัพไปโจมตีเมืองธัญญวดีหรือเมืองมเยาะอู้ ซึงเป็นราชธานีของอาณาจักรยะไข่ จนสามารถผนวกอาณาจักรยะไข่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าได้สำเร็จใน พ.ศ. 2328 หลังจากที่ทรงปราบกบฏของตะแคงแปงตะเลพระอนุชาได้สำเร็จในปีเดียวกัน ด้วยคติความเป็นพระจักรพรรดิราช พระเจ้าปดุงจึงดำริที่จะกรีฑาทัพเข้ารุกรานอาณาจักรสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ หลังจากที่สถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีได้เพียงสามปี เพื่อสร้างอาณาจักรพม่าให้มีอำนาจเกรียงไกรดังเช่นที่เคยเป็นในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองและพระเจ้ามังระ

การเตรียมการ

แก้

การจัดเตรียมทัพฝ่ายพม่า

แก้

ในพ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุงมีพระราชโองการให้เกณฑ์กำลังไพร่พลจำนวนมหึมารวมทั้งกำลังพลจากประเทศราชต่างๆเพื่อยกทัพเข้าโจมตีสยามจากหลายทิศทาง เอกสารฝ่ายไทยระบุว่าเป็นจำนวนเก้าทัพ จำนวนทั้งสิ้น 144,000 คน[7][6] ในขณะที่พงศาวดารพม่าระบุว่าทัพที่ยกมาในครั้งนี้มีห้าเส้นทาง จำนวนทั้งสิ้น 134,000 คน[8] โดยแบ่งการเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์ออกเป็นดังนี้;

  • ทัพที่ 1; นำโดยแมงยีแมงข่องจอ (Mingyi Mingaung Kyaw)[8] ยกทัพจำนวน 10,000 คน[7] แบ่งเป็นทัพบกเข้าโจมตีหัวเมืองประเทศราชทางปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองชุมพรจนถึงเมืองนครศรีธรรมราชและสงขลา และทัพเรือเข้าโจมตีหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งแต่ตะกั่วป่าไปจนถึงเมืองถลาง พระเจ้าปดุงมีพระราชโองการให้แมงยีแมงข่องจอยกทัพจำนวน 10,000 คน ลงมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2328[6] มาตั้งที่เมืองมะริด เพื่อรวบรวมเตรียมเสบียงสำหรับทัพหลวงขนาดใหญ่ที่กำลังจะยกลงมา ในเวลาต่อมาเมื่อแมงยีแมงข่องจอไม่สามารถค้นหาเสบียงได้เพียงพอสำหรับทัพหลวง พระเจ้าปดุงพิโรธให้ประหารชีวิตแมงยีแมงข่องจอเสีย[6] แล้วตั้งให้แกงหวุ่นแมงยี (Kinwun Mingyi) มหาสีหสุระ (Maha Thiha Thura) อรรคเสนาบดีเป็น"โบชุก"หรือแม่ทัพใหญ่ของทัพนี้แทน
  • ทัพที่ 2; นำโดย อะนอกแฝกคิดวุ่น[7] (Anaukpet Taik Wun) หรือเนเมียวนรธา (Nemyo Nawratha)[8] ยกทัพจำนวน 10,000 คน มาตั้งที่เมืองทวาย เพื่อยกเข้าผ่านทางด่านบ้องตี้ (อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี) เพื่อโจมตีเมืองราชบุรีและเมืองเพชรบุรี จากนั้นจึงไปสมทบกับทัพที่ 1 ที่ชุมพร โดยแบ่งให้เจ้าเมืองทวายนำทัพจำนวน 3,000 คน เป็นทัพหน้ายกมาก่อนทางด่านเจ้าขว้าว (อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี)
  • ทัพที่ 3 นำโดยเจ้าชายสะโดศิริมหาอุจนา (Thado Thiri Maha Uzana) เจ้าเมืองตองอู ยกทัพจำนวน 30,000 คน[6] เข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือทางเมืองเชียงแสน ยกเข้าโจมตีเมืองลำปาง ตั้งแต่หัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาสมทบกับทัพที่ 9 ที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เพื่อตีเมืองตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์
  • ทัพหลวงทัพใหญ่ของพระเจ้าปดุง จำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 88,000 คน ยกมาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เพื่อยกทัพผ่านด่านเจดีย์สามองค์เข้าโจมตีเมืองกาญจนบุรี จากนั้นจึงรอสมทบกับทัพเหนือและใต้เพื่อเข้าโจมตีกรุงเทพฯ ประกอบด้วย;
    • ทัพที่ 4; เมียนวุ่น เป็นทัพหน้าที่หนึ่ง ยกทัพจำนวน 10,000 คน
    • ทัพที่ 5; เมียนเมวุ่น เป็นทัพหน้าที่สอง ยกทัพจำนวน 5,000 คน
    • ทัพที่ 6; เจ้าชายศิริธรรมราชา (Thiri Damayaza) หรือตะแคงกามะ พระโอรสองค์ที่สามของพระเจ้าปดุง ยกทัพจำนวน 12,000 คน เป็นทัพหน้าที่หนึ่งของทัพหลวง
    • ทัพที่ 7; เจ้าชายสะโดเมงสอ (Thado Minsaw) หรือตะแคงจักกุ พระโอรสองค์ที่สองของพระเจ้าปดุง ยกทัพจำนวน 11,000 คน เป็นทัพหน้าที่สองของทัพหลวง
    • ทัพที่ 8; ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงเป็นจอมพล มีกำลังพลมากที่สุดถึง 50,000 คน ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เพื่อรอสมทบกับทัพเหนือ และใต้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ารบกับกรุงเทพฯ
  • ทัพที่ 9; นำโดยนรธาจอข่อง (Nawratha Kyawgaung) ยกทัพจำนวน 5,000 คน เข้ามาทางด่านแม่ละเมา แม่สอด เมืองระแหง (เมืองตาก)

การจัดเตรียมทัพฝ่ายไทย

แก้

เดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2328 กองทหารมอญลาดตระเวนพบกองทัพพม่ามาตั้งอยู่ที่เมืองสมิ จึงจับชาวพม่าสามคนส่งเข้ามาให้แก่ทางกรุงเทพฯ[8] เชลยพม่าสามคนนั้นให้การว่า พม่ากำลังเตรียมกองทัพขนาดใหญ่เพื่อยกเข้ารุกรานพระนครจากหลายทิศทาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบข่าวการศึกแล้วจึงดำรัสให้ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาเสนาบดีทั้งหลาย ปรึกษาราชการสงคราม"เป็นหลายเวลา"[7] ฝ่ายสยามรวบรวมกองกำลังทั้งหมดได้ประมาณ 70,000 คน จากนั้นทางกรุงเทพฯจึงออกหนังสือแจ้งเมืองต่างๆ ได้แก่ เมืองถลาง เมืองชุมพร เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองกำแพงเพชร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองตาก เมืองลำปาง แจ้งข้อราชการการศึกพม่าซึ่งยกมาหลายทาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชโองการให้จัดกระบวนทัพเข้ารับศึกกับพม่าดังนี้[7];

ทางกรุงเทพมหานครนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นผู้คุมทัพคอยเป็นกำลังหนุน จำนวน 20,000 คน[6] เมื่อทัพไหนเพลี้ยงพล้ำก็จะคอยเป็นกำลังหนุน ส่วนทางแหลมมลายูทางใต้และหัวเมืองชายทะเลตะวันตกนั้น ยังไม่ได้มีการแต่งทัพออกไปสู้รบเนื่องจากศึกใกล้พระนครมีมาก[7] รวมจำนวนกองทัพฝ่ายสยามทั้งสิ้นประมาณ 70,000 คน[6]

ลำดับเวลา

แก้

การรบที่กาญจนบุรี

แก้
 
ด่านเจดีย์สามองค์ เป็นทางเข้าของกองทัพพม่าเข้าสู่ที่ราบลุ่มเจ้าพระยาภาคกลางของประเทศไทยหลายครั้งในสงครามพม่า-สยาม

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพจำนวน 30,000 คน ออกจากพระนครในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2328 มีพระราชบัณฑูรให้พระยากลาโหมราชเสนาและพระยาจ่าแสนยากรเป็นทัพหน้า เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เป็นเกียกกาย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาเป็นยกกระบัตรทัพ เสด็จยกทัพไปถึงตำบลลาดหญ้าเมืองกาญจนบุรีที่เชิงเขาบรรทัด ทรงให้จัดจั้งทัพที่ทุ่งลาดหญ้าตั้งค่ายชักปีกกาถึงกัน มีพระราชบัณฑูรให้พระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) คุมกองทัพมอญจำนวน 3,000 คน ไปตั้งขัตตาทัพพม่าที่ด่านกรามช้าง (บริเวณอุทยานแห่งชาติเอราวัณในปัจจุบัน)

ทัพหลวงขนาดใหญ่ของพระเจ้าปดุงยกทัพเข้ามาทางกาญจนบุรีผ่านด่านเจดีย์สามองค์ จากนั้นทัพที่ 4 ของเมียนวุ่นจึงยกเข้ามาก่อนผ่านเมืองไทรโยคข้ามมายังแม่น้ำแควใหญ่ที่ท่ากระดาน[6] จากนั้นเลียบแม่น้ำแควใหญ่มาจนถึงด่านกรามช้าง ทัพที่ 4 ของเมียนวุ่น ตีทัพของพระยามหาโยธา (เจ่ง) แตกพ่ายหนีเข้ามา ทัพที่ 4 ของเมียนวุ่น จำนวน 10,000 คน มาตั้งทัพที่ลาดหญ้า หลังจากนั้นทัพที่ 5 ของเมียนเมวุ่นจำนวน 5,000 คน จึงยกตามมาสมทบ รวมทั้งสิ้น 15,000 คนของฝ่ายพม่าที่ลาดหญ้า

ทัพที่ 6 ของเจ้าชายศิริธรรมราชาตะแคงกามะตั้งอยู่ที่ท่าดินแดง ทัพที่ 7 ของเจ้าชายสะโดเมงสอตะแคงจักกุตั้งอยู่ที่สามสบ ทัพที่ 8 ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงตั้งอยู๋ที่ปลายลำน้ำลอนชี[6]หรือแม่น้ำรันตี[8] ซึ่งอยู่ห่างจากด่านเจดีย์สามองค์ไม่มากนัก ฝ่ายสยามส่งเชลยชาวพม่าซึ่งถูกจับมาตั้งแต่สงครามอะแซหวุ่นกี้ชื่องะกาน[8] หรือนาข่าน เป็นทูตไปเจรจากับพระเจ้าปดุงที่แม่น้ำรันตีแต่ไม่ประสบผล กองทัพฝ่ายพม่าประสบปัญหาเรื่องความขาดแคลนเสบียงและการลำเลียงสะเบียง ฝ่ายพม่าไม่สามารถค้นหาเสบียงที่เพียงพอสามารถเลี้ยงกองทัพขนาดใหญ่ได้ เสบียงที่ขนมาจากแดนไกลต้องลำเลียงไปให้แก่ทัพหน้า

การรบที่ทุ่งลาดหญ้า

แก้
 
ยุทธการสยาม ณ สมรภูมิทุ่งลาดหญ้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ที่ลาดหญ้าเชิงเขาบรรทัดนั้น แม่ทัพพม่าทั้งสอง ได้แก่ เมียนวุ่นและเมียนเมวุ่น มีคำสั่งให้ตั้งค่ายชักปีกกาถึงกัน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้ฝ่ายไทยแม่ทัพทั้งปวงยกทัพโจมตีทัพพม่า ฝ่ายพม่าสามารถต้านทานได้ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายพม่าต่างสร้างหอรบขนปืนใหญ่ขึ้นยิงใส่กันและกัน ได้รับความเสียหายและล้มตายกันทั้งสองฝ่าย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้สร้างครกขนาดใหญ่ขึ้นสามอัน ดำรัสว่าหากผู้ใดถอยหนีจากข้าศึกพม่ามาจะให้ใส่ครกตำเสีย[7]

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททอดพระเนตรเห็นจุดอ่อนของฝ่ายพม่าในเรื่องเสบียง จึงมีพระราชบัณฑูรให้พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ และพระยาเพชรบุรี ยกกองกำลังจำนวน 500 คน ไปซุ่มโจมตีเส้นทางลำเลียงเสบียงของฝ่ายพม่าที่ตำบลพุไคร้ ปรากฏว่าพระยาทั้งสามเกรงกลัวต่อข้าศึกไปหลบซ่อนอยู่ ขุนหมื่นในกองนั้นมาทูลฟ้องแก่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทว่าพระยาทั้งสามเกรงกลัวข้าศึก จึงมีพระราชบัณฑูรให้พระยามณเฑียรบาล (สด) ไปชำระความ หากเป็นความจริงให้ตัดศีรษะพระยาทั้งสามมาถวาย พระยามณเฑียรบาลเดินทางไปพบกันพระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ และพระยาเพชรบุรี พบว่าข้อกล่าวหาเป็นความจริง จึงประหารชีวิตพระยาทั้งสามตัดศีรษะใส่ชะลอมนำมาถวาย[7] จากนั้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้พระองค์เจ้าขุนเณร นำกองกำลังจำนวน 1,500 คน ไปซุ่มโจมตีเส้นทางลำเลียงเสบียงของพม่าแบบกองโจร ทำให้ฝ่ายพม่าประสบปัญหาไม่สามารถลำเลียงเสบียงไปยังลาดหญ้าได้

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้นำปืนใหญ่ลูกไม้ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงธนบุรี ขึ้นหอรบยิงใส่ค่ายของพม่า ค่ายของพม่าได้รับความเสียหายมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระวิตกว่าการรบที่ลาดหญ้าจะไม่ได้ชัยชนะในเวลารวดเร็ว จึงยกทัพเสด็จออกจากกรุงเทพฯในเดือนมกราคมพ.ศ. 2329 เสด็จนำทัพจำนวน 20,000 คน มายังทุ่งลาดหญ้าทางชลมารค กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จออกมารับ กราบทูลว่าฝ่ายพม่านั้นขาดเสบียงประสบกับความอดอยาก ใกล้จะได้ชัยชนะแล้วขออย่าทรงวิตก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงยกทัพเสด็จนิวัติพระนคร

ฝ่ายพม่าเมื่อเห็นทัพหลวงยกมาจากกรุงเทพฯจำนวนมากจึงทูลพระเจ้าปดุง พระเจ้าปดุงดำริว่าเสบียงขาดแคลนและถูกฝ่ายไทยโจมตีเส้นทางลำเลียง เห็นสมควรล่าถอยแต่ให้รอดูท่าทีก่อน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทดำริกลอุบาย ให้กองกำลังลอบยกไปยังเมืองกาญจนบุรีในเวลากลางคืน และแสร้งให้กองกำลังจากกาญจนบุรียกเข้ามายังค่ายทุ่งลาดหญ้าในเวลากลางวัน เสมือนว่าฝ่ายไทยมีกองกำลังคอยเสริมตลอดเวลา ฝ่ายพม่าอ่อนกำลังและขาดเสบียง พงศาวดารพม่าระบุว่า กองทัพพม่าขาดแคลนเสบียงอย่างมาก จนต้องขุดหาเผือกมันและรากไม้กิน และฆ่าสัตว์พาหนะในกองทัพกิน[6] รวมทั้งเกิดโรคระบาดขึ้นในกองทัพฝ่ายพม่า

ในวันศุกร์ เดือนสามแรมสี่ค่ำ[7] (วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2329) กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททอดพระเนตรว่าฝ่ายพม่าอ่อนกำลังลงมากแล้ว จึงมีพระราชบัณฑูรให้แม่ทัพทั้งปวงยกกำลังเข้าโจมตีค่ายพม่าอีกครั้งอย่างเต็มที่ ฝ่ายพม่าต้านทานได้อยู่ตั้งแต่เช้าจนค่ำจนเหลือกำลังที่ฝ่ายพม่าจะสามาถต้านได้จึงแตกถอยร่นหนีไป การรบที่ทุ่งลาดหญ้าฝ่ายไทยจึงได้รับชัยชนะในที่สุดหลังจากการรบที่กินเวลายาวนานประมาณสองเดือน พงศาวดารพม่าระบุว่าฝ่ายพม่าสูญเสียกำลังพลไปในศึกครั้งนี้ประมาณ 6,000 คน[6] กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้ยกทัพติดตามฝ่ายพม่าที่หนีจนถึงชายแดน ตามจับได้เชลยศึกและอาวุธต่างๆจำนวนมาก ฝ่ายพม่าที่หนีไปต้องเผชิญกับกองกำลังของพระองค์เจ้าขุนเณรที่คอยอยู่ ทัพที่ 6 เจ้าชายศิริธรรมราชาทรงทราบว่าทัพหน้าถูกฝ่ายไทยตีแตกพ่ายมาแล้วจึงแจ้งแก่ทัพที่ 7 เจ้าชายสะโดเมงสอจึงทูลต่อพระเจ้าปดุง พระเจ้าปดุงมีพระราชโองการให้ถอยทัพทั้งหมดกลับไปยังเมืองเมาะตะมะ ทัพฝ่ายไทยยกติดตามไปจนถึงทัพของเจ้าชายพม่าทั้งสองที่ท่าดินแดงและสามสบ

การรบที่ราชบุรี

แก้

หลังจากการรบที่ทุ่งลาดหญ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้พระยากลาโหมราชเสนาและพระยาจ่าแสนยากรยกทัพบกลงมายังเมืองราชบุรี แล้วจึงทรงเรือพระที่นั่งเสด็จทางชลมารคยกทัพมายังเมืองราชบุรี

ฝ่ายทัพพม่าทัพที่ 2 อะนอกแฝกคิดวุ่นและเจ้าเมืองทวายยังไม่ทราบว่าทัพที่กาญจนบุรีล่าถอยไปแล้ว อะนอกแฝกคิดวุ่นนำทัพเดินทางข้ามด่านบ้องตี้ซึ่งเป็นเส้นทางภูเขาสูงชันยากลำบาก[6] ทำให้เดินทัพไม่พร้อมกันกับทัพหน้าของเจ้าเมืองทวายจำนวน 3,000 คน ซึ่งเดินทางผ่านด่านเจ้าขว้าวเข้ามาตั้งทัพที่เขางู ทหารพม่าเข้ามาเก็บมะพร้าวและผลไม้ต่างๆในสวนของแขวงเมืองราชบุรีกลับไปให้แก่กองทัพพม่า จิกสิบโบเป็นทัพหลังจำนวน 3,000 คนตั้งอยู่ที่ด่านเจ้าขว้าว อะนอกแฝกคิดวุ่นยกทัพจำนวน 4,000 คน มาตั้งที่ท้องชาตรี (ทุ่งจอมบึง) เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ (บุญรอด) และพระยายมราช (ทองอิน) ยังไม่ทราบข่าวว่าทัพพม่ายกล่วงเลยมาใกล้เมืองราชบุรีมากแล้ว พระยากลาโหมราชเสนาและพระยาจ่าแสนยากรยกทัพมาพบกับทัพพม่าของเจ้าเมืองทวายที่เขางู นำไปสู่การรบที่เขางู แม่ทัพทั้งสองสามารถตีทัพพม่าแตกพ่ายไปได้สำเร็จ ทัพหน้าของเจ้าเมืองทวายแตกหนีหลับไปหาทัพของจิกสิบโบที่ด่านเจ้าขว้าว ฝ่ายไทยไล่ติดตามไปจนถึงด่านทัพที่ด่านก็แตกพ่ายไปเช่นกัน

เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงทราบว่าเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์และพระยายมราชมีความประมาท[7]ปล่อยให้ทัพพม่ายกเข้ามาถึงเขางูก็พิโรธ ลงพระอาญาให้จำเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์และพระยายมราชไว้ แล้วทรงมีใบบอกไปยังกรุงเทพฯทูลของพระราชทานลงพระราชอาญาประหารชีวิตเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์และพระยายมราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงขอไว้ชีวิตเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์และพระยายมราช เนื่องด้วยคุณความชอบในอดีต[7] กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงทรงลงพระอาญาให้ถอดเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์และพระยายมราชออกจากตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ ให้โกนศีรษะเป็นรูปสามแฉกและแห่ประจานรอบค่าย[7]

หลังจากการรบที่ราชบุรี กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงเสด็จยกทัพกลับคืนกรุงเทพมหานคร

การรบทางเหนือ

แก้
 
พระเจ้ากาวิละแห่งลำปางทรงยึดเมืองนี้ไว้เพื่อต่อต้านการล้อมของพม่าเป็นเวลาสี่เดือนในปี พ.ศ. 2328-29 จนกระทั่งสยามได้จัดเตรียมกองกำลังเสริม ต่อมาได้ขึ้นเป็นผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ และได้รับการสวมมงกุฎเป็นพระมหากษัตริย์เชียงใหม่โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชในปี พ.ศ. 2346

สะโดศิริมหาอุจนาเจ้าเมืองตองอูยกทัพจำนวน 30,000 มาตั้งที่เมืองเชียงแสน เนื่องจากเมืองเชียงใหม่นั้นเป็นเมืองร้างตั้งแต่พ.ศ. 2319 เสียให้แก่พม่าในสมัยกรุงธนบุรี จึงไม่มีบทบาทในสงครามครั้งนี้ จากนั้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2328 สะโดศิริมหาอุจนาและอาประกามนี (ธาปะระกามะนี) จึงยกทัพจากเชียงแสนเข้าโจมตีล้อมเมืองลำปางไว้ เจ้ากาวิละเจ้าเมืองลำปางสามารถป้องกันเมืองลำปางไว้ได้ สะโดศิริมหาอุจนาแบ่งให้เนเมียวสีหซุยนำทัพจำนวน 3,000 ยกทัพจากเมืองลำปางลงมาโจมตีเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย และเมืองพิษณุโลก ประชากรในหัวเมืองเหนือนั้นเบาบางเนื่องจากได้รับความเสียหายในสงครามอะแซหวุ่นกี้เมื่อครั้งกรุงธนบุรี ทำให้ไม่สามารถรวบรวมกำลังพลได้อย่างเพียงพอที่จะต่อสู้กับทัพฝ่ายพม่าได้ ทั้งพระยาพิษณุโลก พระยาสุโขทัย และพระยาสวรรคโลกเจ้าเมืองทั้งสามจึงสละเมืองของตนเองและหลบหนีเข้าป่า[7] ไม่ได้ออกสู้รบกับพม่า เนเมียวสีหซุยจึงยกทัพเลยผ่านเมืองทั้งสามมาตั้งทัพอยู่ที่ปากพิงฝั่งตะวันออก (ตำบลวังน้ำคู้ อำเภอเมืองพิษณุโลกในปัจจุบัน) ทางใต้ของเมืองพิษณุโลก

ในขณะเดียวทัพที่ 9 ของนรธาจอข่องยกทัพจำนวน 5,000 คน ผ่านด่านแม่ละเมามาถึงเมืองระแหง (เมืองตาก) ฝ่ายเจ้าเมืองตากเห็นว่ากำลังไม่เพียงพอไม่สามารถสู้กับพม่าได้จึงสละเมืองหนีเข้าป่าเช่นกัน ในพงศาวดารพม่าระบุว่าเจ้าเมืองตากยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี นรธาจอข่องจับตัวเจ้าเมืองตากและชาวเมืองตากอีก 500 คน ส่งกลับไปยังพม่า[6]

สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ เสด็จยกทัพจากพระนครฯขึ้นไปตั้งที่นครสวรรค์ มีพระบัญชาให้เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ยกทัพหน้าไปตั้งที่พิจิตร ให้พระยาพระคลัง (หน) และพระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) ตั้งทัพที่ชัยนาทเพื่อคอยรบกับทัพพม่าที่จะมาจากเมืองตากและอุทัยธานี ทั้งทัพฝ่ายไทยและฝ่ายพม่าต่างคอยสังเกตการณ์คุมเชิงกันอยู่ ยังไม่เข้าสู้รบซึ่งกันและกัน

ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชโองการให้พระยาเทพสุดาวดี (สน) นำพระราชโองการไปถวายแด่กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ฯ เนื้อความแจ้งว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จไปปราบปัจจามิตรที่กาญจนบุรีสำเร็จแล้ว หากกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ฯทรงกระทำการไม่สำเร็จ พระเศียรก็จะไม่ได้คงอยู่กับพระกายเป็นแน่แท้[7] และในขณะนี้กำลังจะเสด็จนำทัพหลวงขึ้นไปทางเหนือแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จนำทัพหลวงจำนวน 30,000 คน จากกรุงเทพฯขึ้นไปทางชลมารค พร้อมทั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ไปประทับตั้งทัพที่เมืองอินทร์บุรี ฝ่ายกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ฯหลังจากที่ทรงทราบเนื้อความในพระราชสาส์นแล้ว จึงมีพระบัญชาให้เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ยกทัพหน้าเข้าโจมตีทัพของเนเมียวสีหซุยที่ปากพิง เจ้าพระยามหาเสนามีคำสั่งให้พระยาสระบุรีนำทัพหน้าล่วงหน้าไปก่อน พระยาสระบุรียกทัพไประหว่างทางเจอฝูงนกกระทุงเข้าใจว่าเป็นพม่าข้าศึกจึงล่าถอยกลับมา เจ้าพระยามหาเสนาเห็นว่าพระยาสระบุรีมีความขี้ขลาดจึงมีคำสั่งให้ลงโทษประหารชีวิตพระยาสระบุรีเสีย กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ฯทรงยกทัพตามไปสมบทกับเจ้าพระยามหาเสนาที่พิจิตร

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงเสด็จยกทัพขึ้นไป มีพระราชโองการให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ฯยกทัพไปสมบทกับทัพของพระยาพระคลัง (หน) และพระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) ที่ชัยนาท เพื่อยกทัพผ่านปากน้ำโพนครสวรรค์ไปตั้งรับกับทัพพม่าทัพที่ 9 ซึ่งมาจากทางเมืองตาก สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกประทับตั้งทัพหลวงที่บางข้าวตอก (พิจิตรในปัจจุบัน) มีพระราชโองการให้กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ฯและเจ้าพระยามหาเสนาที่พิจิตรยกทัพเข้าตีค่ายพม่าของเนเมียวสีหซุยที่ปางพิงให้แตกพ่ายภายในหนึ่งวัน มิฉะนั้นจะทรงลงพระราชอาญาประหารชีวิต[7] กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ฯและเจ้าพระยามหาเสนาจึงยกทัพจากพิจิตรเข้าโจมตีค่ายปากน้ำพิงของพม่า นำไปสู่การรบที่ปากน้ำพิงในวันเสาร์เดือนสี่แรมสี่ค่ำ (18 มีนาคม พ.ศ. 2329) ทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้กันเป็นสามารถ ตั้งแต่เช้าจนค่ำจนกระทั่งเนเมียวสีหซุยถอยแตกพ่ายไปในที่สุด ทหารพม่าจำนวนมากหนีจากค่ายปากพิงฝั่งตะวันออกข้ามแม่น้ำน่านไปยังฝั่งตะวันตก ทหารไทยไล่ติดตามเข้าสังหาร ทั้งทหารพม่าและม้าเสียชีวิตในแม่น้ำน่านเป็นจำนวนประมาณ 800 คน จนน้ำไม่สามารถกินได้

เมื่อได้รับชัยชนะที่ปากพิงแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชโองการให้กรมหลวงจักรเจษฎาฯเสด็จยกทัพไปสมทบกับทัพของเจ้าพระยามหาเสนาที่ปากพิง แล้วยกขึ้นไปทางเหนือไปช่วยเมืองลำปางซึ่งกำลังถูกสะโดศิริมหาอุจนาล้อมอยู่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมทั้งกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ฯและกรมหลวงนรินทร์รณเรศ เสด็จยกทัพกลับมายังเมืองนครสวรรค์คอยฟังข่าวเหตุการณ์

ฝ่ายกรมหลวงเทพหริรักษ์ฯ พระยาพระคลัง และพระยาอุไทยธรรม ยกทัพไปจนถึงกำแพงเพชรแล้ว กรมหลวงเทพหริรักษ์ฯมีพระบัญชาให้พระยาพระคลังและพระยาอุไทยธรรมยกทัพล่วงหน้าไปก่อน ฝ่ายนรธาจอข่องแม่ทัพพม่าที่เมืองระแหงทราบข่าวว่าทัพพม่าของเนเมียวสีหซุยที่ปากพิงถูกตีแตกพ่ายไปแล้ว จึงถอยทัพกลับพม่าทางด่านแม่ละเมา พระยาพระคลังและพระยาอุไทยธรรมให้กองสอดแนมไปสืบทราบว่าทัพพม่าที่ตากถอยกลับไปแล้ว จึงนำความทูลกรมหลวงเทพหริรักษ์ฯ กรมหลวงเทพหริรักษ์ฯทูลแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงมีพระราชโองการให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ฯทรงถอยทัพกลับ แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงเลิกทัพกลับไปยังกรุงเทพพระนคร

เนเมียวสีหซุยหลังจากพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายไทยที่ปากพิงแล้วเดินทางกลับไปเมืองลำปางพบกับสะโดศิริมหาอุจนาและอาประกามนี แจ้งว่าทัพพม่าพ่ายแพ้ที่ปางพิงและทัพฝ่ายไทยกำลังยกติดตามมาใกล้ถึงเมืองลำปางแล้ว กรมหลวงจักรเจษฎาฯและเจ้าพระยามหาเสนายกทัพมาถึงเมืองลำปางในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2329 ยกทัพเข้าโจมตีทัพพม่าที่ล้อมเมืองลำปางอยู่ ทัพพม่าล่าถอยออกจากเมืองลำปางสะโดศิริมหาอุจนาและอาประกามนีกลับไปยังเมืองเชียงแสน หลังจากที่เจ้ากาวิละต้านทานการล้อมเมืองลำปางของพม่าอยู่นานถึงสามเดือนจึงได้รับการช่วยเหลือในที่สุด

การรบที่แหลมมลายูทางใต้

แก้

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2328 แกงหวุ่นแมงยีแม่ทัพพม่าซึ่งตั้งทัพจำนวน 10,000 คนอยู่ที่เมืองมะริด แบ่งทัพออกเป็นสองส่วน ให้ยี่หวุ่นคุมกองทัพเรือจำนวน 3,000 คน ยกลงมาโจมตีเมืองทางชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง และเมืองถลาง และให้เนเมียวคุงนะรัตคุมทัพจำนวน 2,500 คน เป็นทัพหน้ายกทัพข้ามฝั่งไปโจมตีเมืองฝั่งอ่าวไทยได้แก่ เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช ส่วนตัวแกงหวุ่นแมงยีเองนั้น ยกทัพจำนวน 3,500 คน ติดตามทัพของเนเมียวคุงนะรัตไปฝั่งอ่าวไทย รวมทัพพม่าฝั่งอ่าวไทยทั้งสิ้น 7,000 คน

การรบที่เมืองถลาง

แก้
 
ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร นำทหารและชาวเมืองถลางออกรบป้องกันเมืองถลาง ภาพวาดโดย เหม เวชกร

ยี่หวุ่นแม่ทัพเรือพม่ายกทัพเข้าโจมตียึดเมืองตะกั่วป่าและตะกั่วทุ่งได้สำเร็จ จากนั้นจึงยกทัพเข้าโจมตีเมืองถลาง ในขณะนั้นเมืองถลางตั้งอยู่บ้านดอน (ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง) ทางฝั่งเหนือของเกาะภูเก็ต เรียกว่า "เมืองถลางบ้านดอน" เจ้าเมืองคือพระยาถลาง (ขัน) ภรรยาของพระยาถลางคือคุณหญิงจัน คุณหญิงจันต้องคดีถูกจับไปกุมขังไว้ที่เมืองปากพระฝั่งพังงา เมื่อทัพพม่าตีเมืองปากพระแตกแล้ว คุณหญิงจันจึงเดินทางกลับมายังเมืองถลาง ในเวลานั้นเองพระยาถลาง (ขัน) ล้มป่วยถึงแก่กรรม ยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่มาแทนที่ คุณหญิงจันภรรยาของพระยาถลางจึงร่วมกับน้องสาวคือคุณหญิงมุก และพระปลัดเมืองถลาง (ทองพูน) รวบรวมกำลังพลทั้งชายและหญิงขึ้นเพื่อต้านทานการรุกรานของพม่า นำไปสู่วีรกรรมของคุณหญิงจันและคุณหญิงมุก คุณหญิงจันตั้งค่ายรับทัพพม่าที่บ้านค่าย ที่วัดพระนางสร้าง และที่ทุ่งนางตัก ซึ่งที่ทุ่งนางตักนั้นพระปลัด (ทองพูน) เป็นผู้คุมมีปืนใหญ่ชื่อพระพิรุณสังหาร ยี่หวุ่นยกทัพขึ้นเกาะที่ท่าเรือตะเภา ตั้งค่ายล้อมเมืองถลางที่ปากช่อง นาโคกและนากลาง ทั้งฝ่ายเมืองถลางและฝ่ายพม่าต่างต่อสู้กัน การสู้รบดำเนินเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือนกว่า[6]ฝ่ายพม่ายังไม่สามารถเข้ายึดเมืองถลางได้ และฝ่ายเมืองถลางเข้าโจมตีค่ายพม่า จนถอยกลับไปในที่สุด ในวันจันทร์เดือนสี่ขึ้นสิบสี่ค่ำ (13 มีนาคม พ.ศ. 2329)

การรบที่ฝั่งอ่าวไทย

แก้

แกงหวุ่นแมงยีและเนเมียวคุงนะรัตยกทัพจำนวน 7,000 คน ผ่านเมืองระนองและเมืองกระบุรี ข้ามเทือกเขาที่ปากจั่น[6] แล้วเข้าโจมตีเมืองชุมพร เนื่องจากในขณะนั้นทางกรุงเทพฯยังไม่สามารถรวบรวมกำลังพลมาป้องกันการรุกรานของพม่าทางแหลงมลายูได้เนื่องจากติดพันกับศึกสงครามทางกาญจนบุรีและทางเหนือ และเจ้าเมืองชุมพรไม่สามารถรวบรวมกำลังพลได้อย่างเพียงพอที่จะสู้กับทัพพม่าได้ เจ้าเมืองชุมพรจึงสละเมืองหลบหนีเข้าป่า แกงหวุ่นแมงยีและเนเมียวคุงนะรัตเข้ายึดและเผาทำลายเมืองชุมพรและจากนั้นจึงโจมตีเมืองไชยา เช่นเดียวกับเมืองชุมพรเจ้าเมืองไชยาไม่สามารถรวบรวมกำลังพลสู้กับพม่าได้จึงสละเมืองหนีเข้าป่าเช่นกัน ทัพพม่าเข้ายึดและเผาทำลายเมืองไชยาจากนั้นแกงหวุ่นแมงยีและเนเมียวคุงนะรัตจึงเดินทางต่อไปยังนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) จัดตั้งทัพจำนวน 1,000 คน ไปตั้งรับทัพพม่าที่ท่าข้ามแม่น้ำหลวง (สะพานพระจุลจอมเกล้าข้ามแม่น้ำตาปีในปัจจุบัน) แกงหวุ่นแมงยีให้นำชาวไทยเมืองไชยามาตะโกนให้แก่ทัพของเมืองนครศรีธรรมราชว่า "เมืองบางกอกเสียแล้วพวกเองจะมาตั้งสู้รบเห็นจะสู้ได้แล้วหรือ ให้เร่งไปบอกเจ้านายให้มาอ่อนน้อมยอมเข้าโดยดีจึงจะรอดชีวิต แม้นขัดแข็งอยู่จะฆ่าเสียให้สิ้นทั้งเมืองแต่ทารกก็มิให้เหลือ"[7] ทหารเมืองนครฯจึงนำความกลับมาแจ้งแก่เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ว่ากรุงเทพฯเสียให้แก่ข้าศึกแล้ว เจ้าพระยานครฯเห็นว่าเป็นความจริงเนื่องจากถึงเวลานั้นยังไม่มีกองทัพจากกรุงเทพฯมาช่วยเหลือ เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) จึงตัดสินใจสละเมืองพาครอบครัวหลบหนีเข้าป่าบนเขาทางทิศตะวันตก บรรดาชาวเมืองนครฯเมื่อเห็นว่าเจ้าเมืองหลบหนีเข้าป่าแล้วจึงพากันกระจัดกระจายหลบหนีเข้าป่าเช่นกัน แกงหวุ่นแมงยีจึงนำทัพเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราช และให้ตามจับเชลยชาวเมืองนครฯที่เข้าป่าให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงเตรียมการยกไปตีเมืองพัทลุงต่อไป

ฝ่ายกรมการเมืองพัทลุง เมื่อทราบข่าวว่าทั้งเมืองชุมพร เมืองไชยา และเมืองนครศรีธรรมราชต่างเสียให้แก่พม่าแล้ว จึงเตรียมที่จะสละเมืองหลบหนีเข้าป่าอีกเช่นกัน พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า ช่วย หรือพระมหาช่วย เป็นเจ้าอธิการอยู่ ณ วัดแห่งหนึ่งในเมืองพัทลุง เป็นผู้มีวิชาอาคม พระมหาช่วยสร้างกำลังใจให้แก่ชาวเมืองพัทลุงโดยการสร้างวัตถุมงคลต่างๆ[7]ได้แก่ ตะกรุด และผ้าประเจียด แจกจ่ายให้แก่กรมการเมืองและชาวบ้านเมืองพัทลุง และรวมรวมสมัครกำลังพลเมืองพัทลุงได้ 1,000 คน และรวบรวมอาวุธได้แล้ว จึงเชิญพระมหาช่วยขึ้นคานหาม พระมหาช่วยและพระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) เจ้าเมืองพัทลุง ยกทัพชาวเมืองพัทลุงออกไปตั้งรับทัพพม่า ทัพของเมืองพัทลุงและทัพของพม่าพบกันที่คลองท่าเสม็ด[9] (ตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด นครศรีธรรมราช) ตั้งค่ายเตรียมที่จะสู้กัน แต่ฝ่ายพม่าถอนทัพกลับไปเสียก่อนเนื่องจากทัพฝ่ายไทยโจมตีมาจากทางเหนือ

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จจากราชบุรีนิวัติพระนครฯในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2329 ทรงปรึกษาด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่าขณะนี้ทัพพม่าทางกาญจนบุรีและราชบุรีถูกตีแตกพ่ายไปแล้ว สมควรที่จะจัดทัพเข้าสู้รับกับทัพพม่าซึ่งเข้าโจมตีบรรดาหัวเมืองชายทะเลทางใต้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงมีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพเรือลงไปปราบทัพพม่าทางใต้ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2329 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงเสด็จยกทัพเรือจำนวน 20,000 คน ทางชลมารคยกลงไปทางใต้ เสด็จไปถึงเมืองชุมพร มีพระราชบัณฑูรให้พระยากลาโหมราชเสนาและพระยาจ่าแสนยากรยกทัพหน้าไปยังเมืองไชยา ฝ่ายแกงหวุ่นแมงยีกำลังจะยกทัพลงมาตีเมืองพัทลุงทราบข่าวว่ากองทัพไทยบุกมาทางเหนือที่เมืองชุมพรและไชยา จึงส่งเนเมียวคุงนะรัตยกพม่ามารับกองทัพไทยที่ไชยา นำไปสู่การรบที่ไชยา พระยากลาโหมราชเสนาและพระยาจ่าแสนยากรยกทัพเข้าล้อมทัพของเนเมียวคุงนะรัต ทั้งฝ่ายไทยและพม่าต่างขุดสนามเพลาะเตรียมสู้รบกัน ขณะนั้นฝนตกทำให้ปืนใหญ่ของฝ่ายไทยใช้งานไม่ได้ เนเมียวคุงนะรัตจึงสามารถฝ่าวงล้อมออกไปได้ ตองพยุงโบนายกองพม่าถูกปืนตายในที่รบ พระยากลาโหมราชเสนาและพระยาจ่าแสนยากรยกทัพตามไปสังหารฝ่ายพม่าและจับเชลยพม่ามาถวายที่เมืองชุมพร กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้บรรดาเจ้าเมืองรวบรวมราษฎรที่หนีเข้าป่าให้หลับมาอยู่ในเมืองตามเดิม

ฝ่ายแกงหวุ่นแมงยีแม่ทัพพม่า ซึ่งกำลังยกทัพมาสมทบกับทัพของเนเมียวคุงนะรัตที่ไชยา เมื่อทัพของเนเมียวคุงนะรัตถูกฝ่ายไทยตีแตกพ่ายที่ไชยาแล้ว จึงยกทัพถอยกลับไปทางภูเขาทางตะวันตกไปยังเมืองกระบี่เพื่อกลับพม่าไปในที่สุด กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จจากเมืองชุมพรมมายังเมืองไชยา จากนั้นจึงทรงให้พระยากลาโหมราชเสนาและพระยาจ่าแสนยากรยกทัพหน้ามาทางบกไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนพระองค์เองนั้นเสด็จทางชลมารคมายังเมืองนครฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชบัณฑูรให้ชาวเมืองนครฯออกตามหาตัวเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) มารับพระราชอาญา เมื่อเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯที่เมืองนครศรีธรรมราช กรมพระราชวังบวรฯทรงมีพระวินิจฉัยว่าทัพฝ่ายพม่ามีกำลังเกินกว่าเจ้าพระยานครฯจะสู้รบด้วยได้ จึงทรงภาคทัณฑ์เจ้าพระยานครฯไว้ก่อนแล้วมีพระราชบัณฑูรให้เจ้าพระยานครฯรวบรวมราษฎรชาวเมืองนครศรีธรรมราชให้กลับมาอยู่ในเมืองตามเดิม เมื่อฝ่ายไทยสามารถเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชกลับคืนมาได้แล้ว สงครามเก้าทัพจึงสิ้นสุดลง

ผลลัพธ์และบทสรุป

แก้
 
ตราประจำจังหวัดภูเก็ต รูปท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร

การรุกรานของพม่าในครั้งสงครามเก้าทัพนี้มีความแตกต่างจากการรุกรานในครั้งก่อนหน้า ฝ่ายพม่าจัดทัพเข้ามาหลายช่องทาง แต่การที่ฝ่ายพม่าจัดทัพเข้ามาหลายเส้นทางทำให้ยากที่จะประสานร่วมมือกันหรือเดินทางให้มาถึงที่หมายพร้อมกัน[6] อีกทั้งปัญหาที่สำคัญสำหรับพระเจ้าปดุงและทัพฝ่ายพม่าคือภาวะขาดแคลนเสบียง เป็นสาเหตุสำคัญ[8]ที่ทำให้สงครามในครั้งนี้พม่าต้องประสบกับความปราชัย

หลังจากที่สงครามเก้าทัพสิ้นสุดลง มีการปูนบำเหน็จผู้ที่มีความชอบต่างๆในสงครามครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชโองการให้แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ"กรมพระราชวังหลัง" คุณหญิงจันและคุณหญิงมุกแห่งเมืองถลาง ผู้นำกำลังป้องกันการรุกรานของพม่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ตามลำดับ พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยายมราช เจ้ากรมพระนครบาลแทนที่พระยายมราชคนเดิมที่ถูกปลดจากตำแหน่งไป สำหรับอดีตเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ (บุญรอด) และอดีตพระยายมราช (ทองอิน) นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่าเป็นผู้มีความชอบมาแต่ครั้งอดีต และรู้ธรรมเนียมในกรมวังและกรมพระนครบาลอย่างดี แม้มีความประมาทในการสงคราม จึงทรงแต่งตั้งอดีตเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ (บุญรอด) เป็นพระยาศรีธรรมาธิราช ช่วยราชการกรมวัง และทรงแต่งตั้งอดีตพระยายมราช (ทองอิน) เป็นพระยามหาธิราช ช่วยราชการกรมพระนครบาล ตามลำดับ

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) และหลวงสงขลา (บุญหุ้ย) เข้าเฝ้า กรมพระราชวังบวรฯตรัสถามว่ามีเจ้าเมืองใดตั้งอยู่สู้กับพม่าบ้างหรือไม่ พระยาพัทลุงทูลว่าเมืองพัทลุงมีพระมหาช่วยคุ้มครองให้ตั้งทัพออกไปสู้กับพม่า แต่ยังไม่ทันรบพม่ากลับไปเสียก่อน กรมพระราชวังบวรฯจึงมีพระราชบัณฑูรให้พระมหาช่วยปริวรรตออกจากสมณเพศ และทรงแต่งตั้งพระมหาช่วยให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ แห่งเมืองพัทลุง ช่วยราชการเมืองพัทลุง จากนั้นหลวงสงขลา (บุญหุ้ย) จึงทูลว่าขณะนี้หลวงรองราชมนตรี (ฉิม) กรมการเมืองสงขลาเป็นกบฏ[10]ยึดเมืองสงขลาไว้อยู่ ขอพระราชทานทัพไปปราบกบฏของหลวงรองราชมนตรี กรมพระราชวังบวรฯจึงยกทัพเสด็จไปยังเมืองสงขลา หลวงรองราชมนตรียอมสวามิภักดิ์[10] กรมพระราชวังบวรฯประทับที่เมืองสงขลา มีพระราชบัณฑูรให้เจ้าเมืองหัวเมืองมลายู[7] ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ส่งบุหงามาศ ต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้แก่สยามดังเช่นที่เคยเป็นมา สุลต่านมูฮาหมัด (Muhammad) เจ้าเมืองปัตตานีปฏิเสธไม่ส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทอง[7] กรมพระราชวังบวรฯมีพระราชบัณฑูรให้พระยากลาโหมราชเสนา[11]ยกทัพไปโจมตียึดเมืองปัตตานี พระยากลาโหมราชเสนายกทัพเข้ายึดเมืองปัตตานีได้สำเร็จ

ฝ่ายบรรดาทัพพม่าที่ถอยร่นกลับไปนั้น สูญเสียกำลังไพร่พลไปจากการสู้รบโรคระบาดและภาวะความอดอยากไปประมาณครึ่งหนึ่ง[7][6]ของกำลังทั้งหมด แกงหวุ่นแมงยี่ยกทัพกลับไปตั้งที่เมืองมะริด พระเจ้าปดุงซึ่งประทับอยู่ที่เมืองเมาะตะมะยังไม่ทรงยอมแพ้ในการรุกรานสยาม มีพระราชโองการให้แกงหวุ่นแมงยียกทัพจากมะริดมาตั้งพักฤดูฝนเมืองทวาย และให้ทัพเมืองทวายยกจากเมืองทวายมายังเมืองเมาะตะมะ เพื่อรอคอยโอกาสการรุกรานสยามอีกในปีถัดไป ส่วนพระเจ้าปดุงยกทัพเสด็จกลับเมืองอังวะพร้อมกับทัพที่เหลือทั้งหมด ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2329 สิ้นสุดฤดูฝนพระเจ้าปดุงมีพระราชโองการให้พระโอรสคือ อินแซะมหาอุปราช ยกทัพจำนวน 50,000 คน มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ ยกทัพเข้าโจมตีสยามครั้งนี้เพียงทางเดียวโดยมาทางด่านเจดีย์สามองค์เข้าทางกาญจนบุรี นำไปสู่สงครามท่าดินแดง อินแซะมหาอุปราชให้เมียนวุ่นและเมียนเมวุ่นยกทัพหน้ามาตั้งที่ท่าดินแดง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพ 30,000 คน เข้าโจมตีทัพของเมียนวุ่นและเมียนเมวุ่นแตกพ่ายไป อินแซะมหาอุปราชจึงยกทัพกลับไป

หลังจากสงครามเก้าทัพและสงครามท่าดินแดง การรุกรานของพม่าทางภาคตะวันตกจึงสิ้นสุดลง การรุกรานของพม่าในครั้งต่อมาเข้าผ่านทางเมืองเชียงแสนมายังหัวเมืองล้านนาเป็นหลัก (สงครามพม่าตีเมืองลำปาง พ.ศ. 2330 สงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340 และ พ.ศ. 2345) มีการจัดตั้งเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้งและทางกรุงเทพฯแต่งตั้งพระยากาวิละขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการรุกรานของพม่าจากทางเหนือใน พ.ศ. 2340 และ พ.ศ. 2345 ทางฝั่งภาคตะวันตกฝ่ายสยามกลับขึ้นเป็นฝ่ายรุก นำไปสู่สงครามตีเมืองทวายใน พ.ศ. 2330 และ พ.ศ. 2334

อ้างอิง

แก้
  1. Baker, Chris; Phongpaichit, Pasuk (2014). A History of Thailand (3 ed.). Cambridge University Press. doi:10.1017/CBO9781139656993. ISBN 9781139656993. S2CID 153098957.
  2. "สงครามเก้าทัพ กระทรวงวัฒนธรรม - Ministry of Culture". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-14. สืบค้นเมื่อ 2012-04-02.
  3. "มหาศึกกรุงรัตนโกสินทร์ สงครามเก้าทัพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-25. สืบค้นเมื่อ 2012-04-02.
  4. 4.0 4.1 Wyatt, David K. (2003). Thailand: A Short History (Second ed.). Yale University Press.
  5. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงศรีอยุทธยา.
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 6.14 6.15 6.16 6.17 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
  7. 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 7.13 7.14 7.15 7.16 7.17 7.18 7.19 7.20 7.21 7.22 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ๒๕๓๑.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 ชุตินธรานนท์, สุเนตร. พม่ารบไทย: ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทบกับพม่า. พิมพ์ครั้งที่ ๑๕. กรุงเทพฯ:มติชน,๒๕๖๒.
  9. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๕: พงศาวดารเมืองพัทลุง. เล่ม
  10. 10.0 10.1 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 53: พงษาวดารเมืองสงขลา. เล่ม
  11. พงศาวดารเมืองปัตตานี. เล่ม