เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์ ณ นคร)

เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) หรือ เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชชัย มไหสุริยาธิดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ หรือ เจ้าพระยานครพัฒน์ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์คนที่ 2 บุตรเขยในพระเจ้านครศรีธรรมราช กษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี
(พัฒน์)
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช
ก่อนหน้าพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู)
ถัดไปเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เสียชีวิตพ.ศ. 2357
คู่สมรสท่านผู้หญิงชุ่ม (หรือนวล)
ท่านผู้หญิงปราง
บุตร10 คน
บุพการี
  • ปลัดไม่ปรากฏนาม (บิดา)
  • "คุณหญิง" (มารดา)
ความสัมพันธ์ชี (พี่สาว)

ประวัติ

แก้

เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) เป็นบุตรชายของปลัดไม่ปรากฏนาม (เอกสารบางแห่งเรียก ขุนปลัดเมืองคนก่อน) กับมารดาซึ่งเรียกว่า คุณหญิง (บ้างว่าชื่อหญิง)[1][2] มีพี่สาวคนหนึ่งชื่อ ชี[1] ประวัติตอนต้นนั้นไม่ปรากฏ ปรากฏแต่เพียงว่าเดิมได้บุตรสาวคนใหญ่ของเจ้านครศรีธรรมราชชื่อ คุณชุ่ม (ทางธนบุรีเรียกนวล) เป็นภรรยา[2] เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เจ้านครศรีธรรมราชตั้งตนขึ้นเป็นเจ้า ท่านพัฒน์จึงไปเป็นมหาอุปราช เรียกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ ก็ต้องเข้ามาอยู่กรุงธนบุรีด้วย ต่อมาพระเจ้านครศรีธรรมราชได้กลับออกไปครองเมืองอีกครั้ง อุปราชพัฒน์ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้กลับออกไปเป็นวังหน้าตามเดิม

พระมหาอุปราช (พัฒน์) นั้นคราวหนึ่งไปราชการทัพ คุณชุ่มหรือนวลถึงแก่กรรมลง ธิดาทั้งสองจึงเป็นกำพร้า ครั้นเสร็จราชการสงครามแล้ว อุปราชพัฒน์เข้ามาเฝ้าเมื่อ พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตรัสปลอบว่า "อย่าเสียใจนักเลย จะให้น้องสาวไปแทนที่จะได้เลี้ยงลูก" จึงพระบรมราชโองการให้ท้าวนางส่งตัวเจ้าจอมปรางไปพระราชทานเป็นภรรยาเจ้าพัฒน์ ท้าวนางกราบบังคมทูลว่า เจ้าจอมปรางขาดระดูมา 2 เดือนแล้ว มีพระราชดำรัสว่า "ได้ลั่นวาจายกให้แล้ว จงส่งตัวออกไปเถิด" เจ้าจอมปรางจำใจไปตามพระบรมราชโองการ และเจ้าพัฒน์ก็จำใจรับไว้เป็นศรีเมืองนครศรีธรรมราช[3]

พ.ศ. 2327 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าให้พระเจ้านครศรีธรรมราชพ้นจากตำแหน่งและมารับราชการในกรุงเทพ ทรงตั้งเจ้าพัฒน์เป็น เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชชัย มไหสุริยาธิดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช และคืนเมืองสงขลาให้กลับไปขึ้นนครศรีธรรมราช

ในปี พ.ศ. 2354 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ขอกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานคร (พัฒน์) เป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ศรีโศกราชวงศ์ เชฏฐพงศ์ฤๅชัย อนุทัยธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ จางวางเมืองนครศรีธรรมราช แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเจ้าพระยานคร (น้อย) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งขณะนั้นดำรงยศเป็นพระบริรักษ์ภูเบศร์ ปลัดเมืองนครขึ้นเป็น พระยาศรีธรรมาโศกราช ว่าราชการเมืองแทน[4]

เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) รับราชการในตำแหน่งจางวางเมืองนครศรีธรรมราชมาอีก 3 ปีก็ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2357 อัฐิของท่านส่วนหนึ่งบรรจุอยู่ ณ พระปรางค์เบื้องหลังหอพระพุทธสิหิงค์ บริเวณหน้าศาลากลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหอพระอัฐิและอัฐิสำคัญบรรพชนสกุล ณ นคร[5]

บุตรธิดา

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช (PDF). พระนคร: รุ่งเรืองรัตน์. 2505. p. 66.
  2. 2.0 2.1 พระยาโกมารกุลมนตรี (2505). วงศ์เจ้าพระยานครของพระยาโกมารกุลมนตรี (PDF). พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย. p. 10.
  3. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. ISBN 974-222-648-2
  4. "ประวัติสกุล ณ นคร - Nanagara". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-31. สืบค้นเมื่อ 2017-05-28.
  5. "บทที่ ๒ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-16. สืบค้นเมื่อ 2021-07-16.