พระเจ้ามังระ (พม่า: ဆင်ဖြူရှင်မင်း ซีน-พยูชีนมี่น) เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ในจำนวน 6 พระองค์ของพระเจ้าอลองพญา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โก้นบอง ได้ขึ้นเป็นพระเจ้าอังวะพระองค์ที่ 3 ของราชวงศ์ในปี พ.ศ. 2306 พระองค์ได้ตามเสด็จพระเจ้าอลองพญาออกรบตั้งแต่อายุ 15 ปี เมื่ออายุ 17 ปี ก็สามารถเป็นผู้นำทัพเข้ายึดกรุงอังวะจากทหารมอญทั้งที่มีกำลังพลน้อยกว่ามากได้อย่างน่าทึ่ง ครั้นอายุ 20 ปีก็ช่วยพระเจ้าอลองพญารวมแผ่นดินสถาปนาราชวงศ์โก้นบองได้สำเร็จ อีกทั้งยังได้ติดตามพระราชบิดามาทำสงครามกับอยุธยาในการบุกครั้งแรกด้วย โดยในพงศาวดารของฝั่งพม่าได้กล่าวถึงมังระราชบุตรว่า เป็นผู้เตือนพระบิดาคือพระเจ้าอลองพญาว่า การบุกคราวนี้ยังไม่พร้อมพอที่จะเอาชัยชนะต่อกรุงศรีอยุธยาที่มีปราการธรรมชาติระดับนี้ได้ ซึ่งการณ์ก็เป็นไปดังนั้น และพระองค์ยังต้องเสียพระราชบิดาไปในศึกคราวนี้ด้วย

พระเจ้ามังระ
ซีน-พยูชีนมี่น
พระเจ้าอังวะ
ครองราชย์28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2306 – 10 มิถุนายน พ.ศ. 2319 (12 ปี 164 วัน)
ก่อนหน้าพระเจ้ามังลอก
ถัดไปพระเจ้าจิงกูจา
พระราชสมภพ12 กันยายน พ.ศ. 2279
มุกโชโบ
สวรรคต10 มิถุนายน พ.ศ. 2319 (39 พรรษา)
อังวะ
คู่อภิเษกแมละ
พระชายาอีก 19 พระองค์
พระราชบุตรพระราชโอรส 20 พระองค์
พระราชธิดา 20 พระองค์
พระรัชกาลนาม
สิริสูริยธัมมะ มหาธัมมราชา ราชาธิบดี
ราชวงศ์ราชวงศ์อลองพญา
พระราชบิดาพระเจ้าอลองพญา
พระราชมารดาแมยู่นซาน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2306 หลังจากขึ้นครองราชย์ พระองค์ปรารภในที่ประชุมขุนนางว่า "อยุธยาไม่เคยแพ้อย่างราบคาบมาก่อน" พระองค์สืบทอดเจตนารมณ์ของพระราชบิดาด้วยการส่งเนเมียวสีหบดีเข้ามากวาดต้อนผู้คนและกำลังพลจากหัวเมืองทางเหนือก่อนในปี พ.ศ. 2307 และได้ส่งทัพจากทางใต้คือมังมหานรธาเข้ามาเสริมช่วยอีกทัพหนึ่ง ทั้ง 2 ทัพได้ล้อมกรุงศรีอยุธยานานถึง 1 ปีกับสองเดือน แม้ถึงฤดูน้ำหลากก็ไม่ยกทัพกลับ สามารถเข้าตีพระนครได้เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ตรงกับวันอังคาร ขึ้นเก้าค่ำ เดือนห้า ปีกุน[1][2]

พระนาม

แก้

พระเจ้ามังระมีพระนามที่ปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า ซีน-พยูชีน โดยเป็นพระนามที่พระองค์ตั้งเอง อันเป็นพระนามเดียวกับพระเจ้าบุเรงนองซึ่งแปลว่า "พระเจ้าช้างเผือก" ก่อนที่จะยกทัพตีอยุธยา พระเจ้ามังระได้ยกความชอบธรรมเหนือดินแดนอยุธยามาแต่ครั้งพระเจ้าบุเรงนอง

ส่วนพระนาม มังระ หรือ มองระ ในพงศาวดารไทย มีที่มาจากพระนามจริงของพระองค์ คือ หม่องรวะ (မောင်ရွ)

พระเจ้ามังระทรงเป็นนักรบและนักการทหารที่เก่งกาจที่สุดพระองค์หนึ่ง โดยจะเห็นได้จากการทำสงครามแต่ละครั้งพระองค์จะทรงเป็นผู้มองภาพรวม วางยุทธศาสตร์ใหญ่ ก่อนจะมอบหมายงานให้แม่ทัพแต่ละคนได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ โดยในยุคของพระองค์มีแม่ทัพที่เก่งกาจอยู่มาก ทั้งอะแซหวุ่นกี้, มังมหานรธา, เนเมียวสีหบดี, เนเมียวสีหตู และบะละมี่นทีน โดยจะมีพระองค์เป็นจอมทัพที่จะคอยกำหนดภาพรวมของสงครามและคอยสนับสนุนแม่ทัพต่าง ๆ เมื่อถึงเวลา

การสงครามตลอดพระชนม์ชีพ

แก้
  • รัฐมณีปุระ (พ.ศ. 2307–2308) ชนะ
  • อาณาจักรล้านนา (พ.ศ. 2308) ชนะ
  • อาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ. 2308) ชนะ
  • อาณาจักรอยุธยา (พ.ศ. 2308–2310) ชนะ
  • อาณาจักรต้าชิง (พ.ศ. 2308–2312) ชนะ
  • รัฐมณีปุระก่อกบฎ (พ.ศ. 2313) ชนะ
  • อาณาจักรมอญก่อกบฎ (พ.ศ. 2313) ชนะ
  • รัฐมณีปุระแปรพักตร์เข้าร่วมอัสสัม (พ.ศ. 2318–2319) ชนะ
  • บุกเข้าไปในเขตอัสสัมของอินเดีย (พ.ศ. 2318–2319) ชนะ
  • กรุงธนบุรี (พ.ศ. 2318–2319) ไม่ทราบผลเนื่องจากสวรรคตก่อน

ศึกกับอาณาจักรอยุธยา

แก้

พระองค์ทรงเป็นผู้ที่เคยติดตามพระบิดาคือ พระเจ้าอลองพญา มาทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยา โดยพงศาวดารพม่าได้กล่าวถึงพระเจ้ามังระว่าเป็นผู้เตือนพระบิดาถึงความยากลำบากในการเข้าตีกรุงศรีอยุธยาที่มีปราการธรรมชาติยิ่งใหญ่ขนาดนี้ หากจะอาศัยแต่กำลังพลและเสบียงอาหารเท่าที่มีอยู่นั้น เห็นจะไม่สามารถปิดล้อมสายส่งกำลังบำรุงทั้งทางเหนือและใต้ของกรุงศรีอยุธยาได้หมด และหากยุทธปัจจัยของกรุงศรีอยุธยายังบริบูรณ์ พม่าจะไม่มีทางทำอะไรกรุงศรีอยุธยาได้เลย ควรยกทัพกลับไปวางแผนใหม่จะดีกว่า แต่พระเจ้าอลองพญาเชื่อมั่นในความสามารถของพระองค์จึงได้ทำการรบพุ่งต่อ สุดท้ายการณ์ก็เป็นอย่างที่พระเจ้ามังระตรัสไว้ แม้พระเจ้าอลองพญาจะพยายามอย่างมากแต่ก็ไม่สามารถหาทางข้ามแม่น้ำเข้ากรุงศรีอยุธยาได้ ด้วยครั้งนั้นอยุธยายังเพียบพร้อมไปด้วยอาวุธและกำลังพล อีกทั้งสายส่งกำลังบำรุงจากทางเหนือและใต้ก็ยังสามารถส่งอาหารและกระสุนดินดำเข้าสู่พระนครได้อยู่ และครั้งนั้นกรุงศรีอยุธยายังได้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรออกบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ทั้งทหารและประชาชนในพระนครเป็นอันมาก จนพระเจ้าอลองพญาต้องมาสวรรคตด้วยกระสุนปืนใหญ่แตกใส่ (ตามพงศาวดารฝ่ายไทย หากอิงตามพงศาวดารพม่าก็จะระบุว่าสวรรคตเพราะประชวร)

อย่างไรก็ตาม การที่พระเจ้ามังระต้องมาเห็นพระบิดาของพระองค์สิ้นไปในศึกครั้งนี้ทำให้พระองค์มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะพิชิตอาณาจักรอยุธยาเพื่อสานต่อปณิธานของบิดา รวมไปถึงการอ้างสิทธิมาแต่ครั้งพระเจ้าบุเรงนองเหนืออาณาจักรอยุธยา อีกทั้งทรงมองออกว่าการที่กบฏต่าง ๆ สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ในเวลาอันรวดเร็วนั้น ก็เพราะมีมหาอำนาจอย่างอยุธยาเป็นผู้หนุนหลังอยู่ ทำให้ไม่ว่าจะปราบอย่างไรก็จะไม่มีวันสิ้นสุด

โดยในศึกครั้งนี้พระองค์ได้ปรารภในสภาขุนนางว่า "อาณาจักรอยุธยายังไม่เคยถึงกาลต้องพินาศลงอย่างเด็ดขาดมาก่อน หากแต่จะอาศัยกำลังของเนเมียวสีบดีที่ยกไปทางเชียงใหม่แต่เพียงทัพเดียวนั้นย่อมยากที่จะตีอยุธยาให้สำเร็จได้ จำเป็นต้องให้มังมหานรธายกไปช่วยกระทำการอีกด้านหนึ่งการณ์นี้จึงจะสำเร็จ" ทรงกำหนดวิธีการพิชิตอาณาจักรอยุธยาโดยส่งแม่ทัพมังมหานรธา และเนเมียวสีหบดีโดยแบ่งเป็นฝ่ายเหนือ-ใต้ ให้ไล่ยึดหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อโดดเดียวอยุธยา จากนั้นก็ให้รวมไพร่พลระหว่างการเดินทัพ ซึ่งการมาครั้งนี้เป็นการจงใจมาในจังหวะที่อาณาจักรอยุธยาอ่อนแอ เนื่องจากแม่ทัพห่างสงครามมายาวนาน และภายในก็ระส่ำระส่ายจากขุนนางฉ้อฉล

พระองค์ทรงมีบทเรียนมาจากคราวทำศึกกับอาณาจักรอยุธยาครั้งแรก โดยมองออกว่าแม้ตัวเมืองอยุธยานั้นจะบุกได้ยากเนื่องจากมีลักษณะเป็นเกาะ แต่นั้นก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะหากเกาะที่ขาดกำลังบำรุงแม้จะแข็งแกร่งหรือมีไพร่พลมากซักเพียงใด สุดท้ายอาหารก็ต้องหมด การรักษาภาพรวมเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนผ่านฤดูน้ำหลากไปได้ ภายในเมืองย่อมระส่ำระสาย และการณ์ก็เป็นเช่นนั้น เมื่อกองทัพพม่าสามารถพิชิตกรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ตรงกับวันอังคาร ขึ้นเก้าค่ำ เดือนห้า ปีกุน และนั้นแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พระองค์คิดนั้นถูกต้อง กองทัพพม่าสามารถยึดกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ได้[3]

สงครามจีน–พม่า

แก้

สงครามจีน–พม่าเริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2308 มีเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างพม่ากับจีนในเรื่องหัวเมืองไทใหญ่ ซึ่งกองทัพพม่าได้ยกเข้าดินแดนไทใหญ่และรุกคืบไปเรื่อย ๆ ทำให้พวกเจ้าฟ้าไทใหญ่ได้ไปขอความช่วยเหลือจากจีน แต่จีนก็ยังไม่ส่งกำลังมาช่วยโดยรอเวลาที่เหมาะสมอยู่ และเวลานั้นก็มาถึงเมื่อจีนเห็นพม่ากำลังทำศึกติดพันอยู่กับอยุธยา จึงเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกำราบพม่าลง แต่การณ์ก็ไม่ได้เป็นไปดังนั้น เมื่อกองทัพของพม่าที่นำโดยอะแซหวุ่นกี้, เนเมียวสีหตู, บะละมี่นทีน และเนเมียวสีหบดีที่กลับมาช่วยในภายหลังนั้นกลับเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะต่อกองทัพต้าชิงอันเกรียงไกร ทำให้แม่ทัพของราชวงศ์ชิงอย่างหลิวเจ้าแม่ทัพกองธงเขียว (บุกครั้งที่ 1) หยางอิงจวี่แห่งกองธงเขียว (บุกครั้งที่ 2) รวมถึงพระนัดดาหมิงรุ่ยแห่งกองธงเหลือง (ขึ้นตรงต่อฮ่องเต้) ขุนพลเอกแห่งราชวงศ์ชิงผู้พิชิตมองโกลและเติร์ก (บุกครั้งที่ 3) ต้องฆ่าตัวตายหนีความอัปยศ[4][5]

หลังทรงทราบข่าวความพ่ายแพ้ของหมิงรุ่ย จักรพรรดิเฉียนหลงทรงตกพระทัยและกริ้วยิ่งนัก จึงทรงมีรับสั่งเรียกตัวองค์มนตรีฟู่เหิงซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของหมิงรุ่ย นักการทหารผู้ยิ่งใหญ่แห่งต้าชิงกลับมารับตำแหน่ง พร้อมด้วยแม่ทัพแมนจูอีกหลายนายเช่น เสนาบดีกรมกลาโหมอากุ้ย, แม่ทัพใหญ่อาหลีกุ่น, รวมทั้งเอ้อหนิงสมุหเทศาภิบาลมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว ให้มารวมตัวกันเพื่อเตรียมบุกพม่าเป็นครั้งที่สี่ นับเป็นการรวมตัวกันของเสนาบดีระดับสูงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในยุคของพระองค์ โดยอาศัยกำลังทั้งจากทัพแปดกองธงและกองธงเขียว การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด โดยฝ่ายจีนพยายามอย่างมากในการเข้ายึดหมู่บ้านก้องโตนอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ แต่บะละมี่นทีนก็ยังสามารถต้านเอาไว้ได้อย่างน่าประหลาดใจ ส่วนอีกด้านหนึ่งกองทัพจีนก็รุกคืบได้ช้ามาก เนื่องจากอะแซหวุ่นกี้ได้ส่งเนเมียวสีหตูคอยทำสงครามจรยุทธปั่นป่วนแนวหลังของต้าชิงเอาไว้ ทำให้ต้าชิงต้องพะวงหลังตลอดการศึก ถึงอย่างนั้นอะแซหวุ่นกี้เองก็มีกำลังไม่มากพอที่จะเอาชนะต้าชิงได้ในตอนนี้[6]

แต่แล้วจุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง เมื่อกองทัพของเนเมียวสีหบดีกลับมาถึงหลังจากพิชิตกรุงศรีอยุธยาลงได้แล้ว อะแซหุว่นกี้จึงเปลี่ยนแผนโดยใช้กองทัพเข้าโจมตีจุดสำคัญในเวลาพร้อม ๆ กัน เพื่อบีบให้กองทัพต้าชิงที่กระจายตัวอยู่ถอยกลับมารวมกับกองทัพใหญ่ จากนั้นกองทัพพม่าจึงเข้าตีกระหนาบและล้อมกองทัพต้าชิงไว้ได้ แม้ชัยชนะจะอยู่ต่อหน้าแล้ว แต่อะแซหวุ่นกี้ก็ไม่ได้สั่งให้ทหารพม่าเข้าทำลายกองทัพต้าชิง ทำแต่เพียงล้อมเอาไว้แล้วบีบให้ยอมเจรจา[7] หลังจากการรบยืดเยื้อจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2312 พม่าและจีนก็พักรบเนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างเหนื่อยล้าเต็มทน และยิ่งนานไปยิ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งคู่ โดยฝ่ายต้าชิงที่ติดอยู่ในวงล้อมตัดสินใจยอมเจรจากับทางพม่า การสู้รบที่ยาวนานถึง 4 ปีก็จบลงมีการทำสนธิสัญญาก้องโตน เป็นการจบสงครามระหว่างพระเจ้ามังระกับจักรพรรดิเฉียนหลงลงในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2312

การรบครั้งนี้ทำให้ต้าชิงต้องสูญเสียฟู่เหิงและอาหลีกุ่น แม่ทัพใหญ่และรองแม่ทัพ ด้วยไข้มาลาเรีย หลังจากนั้น 20 ปี เมื่อพระเจ้ามังระสิ้นไปแล้ว ราชวงศ์โก้นบองและจีนก็ได้ฟื้นความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ในยุคของพระเจ้าปดุงหลังพระองค์ทรงพ่ายแพ้ต่อกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 2 ครั้ง โดยพม่ายอมส่งบรรณาการให้แก่อาณาจักรต้าชิง แลกกับการที่จีนยอมรับราชวงศ์โก้นบองของพม่า[8]

บทสรุปของสงคราม

แก้
  • ฝ่ายราชวงศ์ชิง ในสงครามจีน–พม่านี้นับเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของราชวงศ์ชิง และถือเป็นรอยด่างเล็ก ๆ ของจักรพรรดิเฉียนหลง จักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก อีกทั้งพระองค์ยังต้องสูญเสียเสนาบดีกลาโหมผู้ร่วมแผ่เสนยานุภาพแทนพระองค์ถึง 2 คน ไม่ว่าจะเป็นหมิงรุ่ย, ฟู่เหิง และแม่ทัพใหญ่อาหลีกุ่น แต่ถึงแม้ต้าชิงจะไม่สามารถสยบพม่าได้อย่างราบคาบ แต่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้พม่าเห็นถึงศักยภาพในการระดมกองทัพขนาดใหญ่ ที่สามารถสั่นคลอนราชวงศ์โก้นบองได้ตลอดเวลา
  • ฝ่ายราชวงศ์โก้นบอง เป็นการรบครั้งใหญ่ที่สุดและสูญเสียมากที่สุดในยุคของพระเจ้ามังระ แต่นั้นก็ทำให้ได้เห็นถึงความแข็งแกร่งของพระองค์ รวมถึงการใช้คนแบ่งงานให้แม่ทัพแต่ละนายได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ แม้จะสูญเสียทหารไปมากแต่ก็สามารถรักษาแผ่นดินเอาไว้ได้ ถือเป็นผลงานชิ้นเอกที่พระองค์ฝากไว้ให้ราชวงศ์โก้นบอง หลังจากสิ้นยุคพระองค์ไปแล้ว ขีดความสามารถทางการทหารของพม่าก็ไม่เคยกลับไปอยู่จุดเดิมได้อีกเลย

หมายพิชิตกรุงธนบุรี

แก้

พระเจ้ามังระทราบว่าขณะนี้ทางอยุธยากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ราชธานีแห่งใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นนั้นคือกรุงธนบุรี แต่ในช่วงเวลานี้ภัยคุกคามจากต้าชิงสำคัญกว่ามาก เพราะหากพลาดพลั้งนั้นหมายถึงการล่มสลายของอาณาจักรโก้นบองที่พระองค์เพียรสร้างขึ้น ดังเช่นอาณาจักรพุกามที่ถูกกองทัพมองโกลทำลายล้างในอดีต หลังจากจบศึกกับต้าชิง พระองค์ประเมินแล้วว่าอาณาจักรของพระองค์บอบช้ำเกินกว่าจะทำศึกต่อไปได้อีก พระองค์จึงทรงให้ไพร่พลได้พักฟื้นถึง 5 ปี ในระหว่างพักพื้นนั้นก็ได้มีการตระเตรียมเสบียงอาหารเอาไว้ เพื่อใช้สำหรับทำศึกกับอาณาจักรที่เพิ่งก่อตั้งอย่างกรุงธนบุรี หลังเตรียมการเป็นอย่างดีในปี พ.ศ. 2318 พระเจ้ามังระได้ให้อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพใหญ่ลงมาทำศึกด้วยตนเอง อะแซหวุ่นกี้ได้นำทัพ 35,000 นาย พิชิตหัวเมืองต่าง ๆ มาได้ตลอดทางรวมแล้วมีกำลังพลมากกว่า 50,000 นาย จนสามารถตีเมืองพิษณุโลกแตกและเตรียมรวมทัพมุ่งสู่กรุงธนบุรี อีกเส้นพระองค์ได้ให้เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพไปปราบปรามหัวเมืองทางเหนือจนสามารถยึดเชียงใหม่ได้ เตรียมนำกองทัพลงไปสมทบกับอะแซหวุ่นกี้ที่เป็นแม่ทัพใหญ่อีกทางหนึ่ง ส่วนทัพทางใต้ก็สามารถตีเมืองกุย เมืองปราณได้สำเร็จพร้อมนำทัพบุกเข้ากรุงธนบุรีอีกทางหนึ่ง แต่แล้วในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2319 ราชสำนักอังวะได้แจ้งข่าวมาถึงอะแซหวุ่นกี้ว่า พระเจ้ามังระได้เสด็จสวรรคตแล้ว พระเจ้าจิงกูจา กษัตริย์พระองค์ใหม่ มีบัญชาให้อะแซหวุ่นกี้ยกทัพกลับกรุงอังวะในทันที[9][10]

สวรรคต

แก้

พระเจ้ามังระสวรรคตอย่างกะทันหันในปี พ.ศ. 2319 ขณะพระชนมายุเพียง 39 พรรษา ทรงครองราชย์ได้ 12 ปี 164 วัน โดยก่อนจะสวรรคตพระองค์ลังเลที่จะมอบราชบัลลังก์ให้แก่พระเจ้าจิงกูจา เนื่องจากทรงเห็นอุปนิสัยตั้งแต่เด็กว่าชอบดื่มสุราและมีอารมณ์ฉุนเฉียวโหดร้าย ครั้นจะยกราชสมบัติให้ราชบุตรองค์รองเจ้าชายแชลงจาซึ่งมีสติปัญญาดีและอ่อนโยนกว่า ก็คิดว่าพระเจ้าจิงกูจาต้องไม่ยอมเป็นแน่ ไม่แคล้วคงเกิดสงครามระหว่างพี่น้องจึงได้ตัดสินพระทัยมอบราชสมบัติแก่พระเจ้าจิงกูจาโดยหวังว่าเมื่อได้สมบัติแล้วคงไม่คิดทำร้ายน้อง แต่ครั้งนี้พระองค์คิดผิด เมื่อพระเจ้าจิงกูจาได้ราชสมบัติแล้วก็สั่งปลดอะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพคู่บารมีของพระองค์ ทั้งที่เป็นผู้ส่งต่ออำนาจให้พระเจ้าจิงกูจาอย่างมั่นคง และที่น่าเศร้ากว่านั้นคือพระเจ้าจิงกูจาทรงระแวงพระอนุชาว่าจะคิดแย่งราชสมบัติ จึงสั่งให้นำเจ้าชายแชลงจาไปประหารด้วยเสียอีกคน[11][12]

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. Myint-U, p. 90
  2. Myint-U, pp. 88–91
  3. Phayre, pp. 188–190
  4. Htin Aung 1967, pp. 178–179.
  5. Dai, p. 145
  6. Hall 1960, pp. 27–29.
  7. Harvey 1925, p. 255–257.
  8. Htin Aung 1967, pp. 181–183.
  9. Phayre, pp. 207–208
  10. Phayre, p. 206
  11. Hall, p. 26
  12. Myint-U, p. 299, p. 308
บรรณานุกรม
  • Buyers, Christopher. "The Royal Ark: Burma – Konbaung Dynasty". Retrieved January 2011. Check date values in: |access-date= (help); |chapter= ignored (help)
  • Charney, Michael W. (2006). Powerful Learning: Buddhist Literati and the Throne in Burma's Last Dynasty, 1752–1885. Ann Arbor: University of Michigan.
  • Dai, Yingcong (2004). "A Disguised Defeat: The Myanmar Campaign of the Qing Dynasty". Modern Asian Studies. Cambridge University Press. 38: 145. doi:10.1017/s0026749x04001040.
  • Hall, D.G.E. (1960). Burma (3rd ed.). Hutchinson University Library. ISBN 978-1-4067-3503-1.
  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
  • Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press.
  • Kyaw Thet (1962). History of Union of Burma (in Burmese). Yangon: Yangon University Press.
  • James, Helen (2004). "Burma-Siam Wars". In Keat Gin Ooi. Southeast Asia: a historical encyclopedia, from Angkor Wat to East Timor, Volume 2. ABC-CLIO. ISBN 1-57607-770-5.
  • Lieberman, Victor B. (2003). Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c. 800–1830, volume 1, Integration on the Mainland. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-80496-7.
  • Min Zin (August 2000). "Ayutthaya and the End of History:Thai views of Burma revisited". The Irrawaddy. The Irrawaddy Media Group. 8 (8).
  • Myint-U, Thant (2006). The River of Lost Footsteps—Histories of Burma. Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-0-374-16342-6.
  • Phayre, Lt. Gen. Sir Arthur P. (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta.
  • Ratchasomphan, Sænluang; David K. Wyatt (1994). David K. Wyatt, ed. The Nan Chronicle (illustrated ed.). Ithaca: Cornell University SEAP Publications. ISBN 978-0-87727-715-6.
  • Tarling, Nicholas. The Cambridge history of South East Asia: From c. 1500 to c. 1800. 1. Cambridge University Press. ISBN 9780521663700.-->
ก่อนหน้า พระเจ้ามังระ ถัดไป
พระเจ้ามังลอก   พระเจ้าอังวะ
(อาณาจักรพม่ายุคที่ 3)

(พ.ศ. 2306–2319)
  พระเจ้าจิงกูจา