วัดอัมพวันเจติยาราม

วัดในจังหวัดสมุทรสงคราม

วัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม อยู่ติดกับอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นวัดของตระกูลราชินิกุลบางช้าง

วัดอัมพวันเจติยาราม
พระอุโบสถ วัดอัมพวันเจติยาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดอัมพวันเจติยาราม, วัดอัมพวัน, วัดอัมพวา
ที่ตั้งตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110
ประเภทพระอารามหลวงชั้นโท
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อทรงธรรมหรือหลวงพ่อดำ
เจ้าอาวาสพระวชิรเจดีย์ (วิทยา วรปุญฺโญ)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดอัมพวันเจติยารามวรวิหารเดิมเรียกกันว่า วัดอัมพวา คาดว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(รัชกาลที่ 1)โดยสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีสร้างถวายแด่สมเด็จพระมารดา (สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี) หลังวัดแห่งนี้เคยเป็นนิวาสสถานเก่าของหลวงยกกระบัตร (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) และคุณนาค (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) และยังเชื่อว่าบริเวณพระปรางค์ของวัดนี้เป็นสถานที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(รัชกาลที่ 2)ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3)วัดได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกุฏิ พระวิหาร และพระที่นั่งทรงธรรม (ซึ่งแต่เดิมสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีทรงบวชเป็นแม่ชีและฟังธรรมในพระที่นั่งนี้) และทรงอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของสมเด็จพระบรมชนกนาถมาบรรจุไว้ในพระปรางค์ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4)พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถทั้งหลังและพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอัมพวันเจติยาราม"[1] ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5)พระองค์เสด็จประพาสต้นมาวัดแห่งนี้[2]

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวัดอัมพวันเจติยารามเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ พ.ศ. 2500 พระอุโบสถตลอดจนถาวรวัตถุในวัดนี้ส่วนใหญ่เป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น บริเวณวัดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[3] ในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัชกาลที่ 9)พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์ โดยมีกรมศิลปากรดำเนินงานสนองพระราชดำริ วาดจิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และจัดภูมิทัศน์รอบบริเวณพระอาราม[4]

โบราณสถาน

แก้
 
กุฏิทรงไทยยกพื้นสูงของวัด

พระปรางค์ของวัดมีลักษณะก่ออิฐถือปูน ย่อมุมไม้ยี่สิบ ฐานเป็นสิงห์ซ้อนกันชั้น ๆ เรือนธาตุมีซุ้มทั้งสี่ด้าน มีวิหารคดล้อมรอบซึ่งมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ภายในวิหารคดประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่โดยรอบ ด้านหนึ่งประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์

พระที่นั่งทรงธรรม วิหารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องมีชายคาปีกนกคลุมทั้งสี่ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป "หลวงพ่อทรงธรรมหรือหลวงพ่อดำ" และรอยพระพุทธบาทจำลองสี่รอย พระอุโบสถของวัดเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องด้านหน้าและมีพาไลยื่นออกมา หน้าบันประดับกระจกสี ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเขียนช่วงปี พ.ศ. 2540–2542 เป็นภาพแสดงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง ไกรทอง คาวี และ อิเหนา และบริเวณประตูด้านหน้าเป็นภาพการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค วัดยังมีกุฏิทรงไทยยกพื้นสูง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[1]

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

แก้
  • จุฬารัตน์ เชื้อทหาร. (2546). จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสุมทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (ไทยศึกษา). นครปฐม: บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฏนครปฐม.
  • บุญเตือน ศรีวรพจน์, บรรณาธิการ. (2559). จิตรกรรมฝีพระหัตถ์และจิตรกรรมตามแนวพระราชดําริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี: วัดอัมพวันเจติยาราม. กรุงเทพฯ: กระทรวงวัฒนธรรม.
  • บุหลง ศรีกนก. (2543). จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม. ศิลปากร. 43(1): 4-21.
  • สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ และสุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. (2566). จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดอัมพวันเจติยาราม: จากวัฒนธรรมอัมพวา สู่รัตนโกสินทร์. ใน ชีวิตและงาน อาจารย์ คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา. บรรณาธิการโดย วิมลวรรณ ปีตธวัชชัย. น. 287-319. กรุงเทพฯ: มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
  • เสรภูมิ วรนิมมานนท์. (2546). การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังวัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (ไทยศึกษา). กรุงเทพฯ: โครงการบัณฑิตศึกษา สถาบันราชภัฏธนบุรี.

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "วัดอัมพวันเจติยาราม". กระทรวงวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-20. สืบค้นเมื่อ 2020-07-10.
  2. "ท่องเที่ยววัดอัมพวันเจติยาราม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.
  3. "วัดอัมพวันเจติยาราม". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
  4. "วัดอัมพวันเจติยาราม". ระบบฐานข้อมูลพระกฐินพระราชทาน กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.