สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี

สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี บางแห่งสะกดว่า สมเด็จพระรูปสิริโสภาคย์มหานาคนารี[2] มีพระนามเดิมว่า สั้น หรือ มาก (ราว พ.ศ. 2254 — พ.ศ. 2344) เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี[3] เป็นพระสัสสุ (แม่ยาย) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี
ประสูติราว พ.ศ. 2254
อาณาจักรอยุธยา
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2344[1][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
พระสวามีทอง
พระบุตร10 คน
ราชสกุลณ บางช้าง
ราชวงศ์จักรี (สถาปนา)
พระมารดาถี
ศาสนาเถรวาท

พระประวัติ แก้

สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี มีพระนามเดิมว่า สั้น หรือ มาก[3][4][5] พระมารดาชื่อถี แต่ไม่ปรากฏนามบิดา[6][7] พระมารดาเป็นธิดาของแสน มีพี่สาวชื่อเมือง ซึ่งเป็นยายของเจ้าพระยาราชบุรี (เสม วงศาโรจน์) พระองค์มีพระเชษฐา 1 องค์ และพระเชษฐภคินี 2 องค์[8]

ขณะที่ยังเป็นสามัญชนนั้นพระองค์ได้สมรสกับทอง ณ บางช้าง บุตรของพรและชี และเป็นหลานปะขาวพลาย พี่น้องร่วมบิดามารดาของแสน[9] ทั้งสองมีโอรสธิดาด้วยกัน 10 คน ได้แก่[10]

  1. เจ้าคุณหญิงแวน
  2. เจ้าคุณหญิงทองอยู่ สมรสกับขุนทอง มีธิดา คือ เจ้าจอมหงส์ ในรัชกาลที่ 1
  3. เจ้าคุณชายชูโต (ต้นสกุลชูโต, แสง-ชูโต และสวัสดิ์-ชูโต)
  4. สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (มีพระนามเดิมว่า นาค หรือ นาก)
  5. เจ้าคุณชายแตง
  6. เจ้าคุณหญิงชีโพ
  7. เจ้าคุณชายพู
  8. เจ้าคุณหญิงเสม
  9. เจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล สมรสกับเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ต้นสกุลบุนนาค[11]
  10. เจ้าคุณหญิงแก้ว ภรรยาพระแม่กลองบุรี (ศร) (ต้นสกุล ณ บางช้าง)

พระกรณียกิจ แก้

สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี ได้ถวายนิวาสนสถานเดิมของพระองค์อุทิศให้สร้างวัดขึ้นก่อนในขณะที่ยังมีพระชนมชีพอยู่ สันนิษฐานกันว่าพระองค์ผนวชเป็นรูปชีแล้วในขณะนั้น เดิมเรียกกันว่าวัดอัมพวา ตามชื่อคลองอัมพวา ต่อมาสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี และบรรดาเหล่าราชินิกุลบางช้าง ได้โดยเสด็จพระราชกุศลสร้างเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระปรางค์ขึ้นประดิษฐานพระบรมราชสรีรังคารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสร้างกุฎีใหม่ทั้งพระอาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะพระอุโบสถ สร้างเสมาขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า วัดอัมพวันเจติยาราม[12]

นอกจากวัดอัมพวันเจติยารามแล้ว สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดโบราณอีกวัดหนึ่ง ซึ่งทรุดโทรมสิ้นสภาพแล้ว ชื่อ วัดทอง ต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ พระราชทานนามว่า วัดกาญจนสิงหาสน์

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงสถาปนาวัดโบราณในคลองบางพรหม ซึ่งเดิมชื่อ วัดเงิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์เช่นกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม แล้วพระราชทานชื่อว่าวัดรัชฎาธิษฐาน เพื่อให้คล้องจองกับวัดกาญจนสิงหาสน์ ทั้งสองวัดจึงเป็นวัดเงิน-วัดทอง คู่กันของสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีและสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี[12]

สิ้นพระชนม์ แก้

เมื่อสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีได้สิ้นพระชนม์ในรูปชี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานพระโกศไม้สิบสองหุ้มทองคำ สำหรับทรงพระศพเจ้านาย ทำให้สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงปลื้มปิติ ถึงกับเอ่ยพระโอษฐ์ด้วยความชื่นพระทัยว่า "แม่ข้าได้เป็นเจ้า"[12]

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสถาปนาพระอัฐิเป็น สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี[12]

พระเกียรติยศ แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ

พระอิสริยยศ แก้

  • ไม่ปรากฏ : สั้น หรือ มาก
  • สมัยรัชกาลที่ 4 : สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี (สถาปนาพระอัฐิ)

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. ปฐมวงศ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้พระศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ์) จดหมายเหตุตามพระราชนิพนธ์
    "...ได้ปรากฏพระนามว่า สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี เป็นที่คำนับบูชาของพระราชวงศานุวงศ์ ดำรงพระชนม์อยู่ ๙๐ ปีเศษจึงสิ้นพระชนม์เมื่อ ปีระกานักษัตรตรีศก แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พุทธศาสนกาล ๒๓๔๔ พรรษา จุลศักราช ๑๑๖๓..."
  2. คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และสายไหม จบกลศึก (บรรณาธิการ) (2555). ราชาศัพท์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. p. 37.[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2015-09-03.
  4. ราชินิกูลในรัชกาลที่ 5. พระนคร : ราชบัณฑิตยสภา, 2476, หน้า 10, 12
  5. อธิบายราชินิกูลบางช้าง. พระนคร : ราชบัณฑิตยสภา, 2471, หน้า 1
  6. ลำดับราชินิกูลบางช้าง. พระนคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร. 2501. p. 63.
  7. เทพ สุนทรศารทูล. พงศาวดารราชินีกุลบางช้าง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พระนารายณ์, พ.ศ. 2540. 232 หน้า. หน้า 22.
  8. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ปฐมวงศ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2470. 57 หน้า. หน้า 10.
  9. เทพ สุนทรศารทูล. ประวัติวัดอัมพวันเจติยาราม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พระนารายณ์, พ.ศ. 2541. 192 หน้า. หน้า 34.
  10. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-222-648-2
  11. "ชมรมสายสกุลบุนนาค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-28. สืบค้นเมื่อ 2010-02-18.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 "สกุลไทย:วัดที่เจ้านายฝ่ายในสร้าง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-07-04. สืบค้นเมื่อ 2010-02-18.