วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร

วัดในกรุงเทพมหานคร
(เปลี่ยนทางจาก วัดกาญจนสิงหาสน์)

วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 170/1 ริมคลองบางพรมฝั่งเหนือ แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย'[1]

วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร
ที่ตั้งเลขที่ 170/1 ริมคลองบางพรมฝั่งเหนือ แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายมหานิกาย (เถรวาท)
พระประธานพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ขนาดพระเพลากว้าง 4 ศอก สูงตลอดพระรัศมี 5 ศอก 10 นิ้ว
เจ้าอาวาสพระครูกาญจนกิจจารักษ์ (บัณฑิต ปภสฺสโร)
จุดสนใจสักการบูชา พระพุทธศิริกาญจโนภาส, หลวงพ่อทอง
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

อาณาเขต

แก้
  • ทิศเหนือ ติดโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (กาญจนสิงหาสน์ อุปถัมภ์)
  • ทิศตะวันออก จดสวนราษฎร
  • ทิศใต้ จดคลองบางพรม
  • ทิศตะวันตก ติดถนนแก้วเงินทอง

บริเวณวัดมีเนื้อที่รวมเขตธรณีสงฆ์แล้วประมาณ 21 ไร่ .[2]

ประวัติ

แก้

วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร เดิมชื่อ วัดทอง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้างและปีที่สร้าง[3] แต่ตามประวัติที่เล่าสืบต่อ ๆ กันมาว่า เมื่อในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีพ่อค้าชาวจีนสองพี่น้อง แซ่ตัน ชาวบ้านเรียกกันว่า เจ้าขรัวเงินและเจ้าขรัวทอง'ได้เข้ามาตั้งรกรากค้าขายจนร่ำรวยแล้วจึงได้สร้างวัดขึ้นที่บริเวณสองฝั่งปากคลองนี้[4] คือ วัดเงินกับวัดทอง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 วัดนี้ทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี โปรดให้ทำการบูรณะเสียใหม่ และโปรดให้สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นเป็น 3 คณะ คือ คณะกลาง สร้างเป็นกุฏิชนิด 4 ห้อง ปลูกขวางทิศเหนือกับกุฏิชนิดแถว 2 แถว แถวละ 6 ห้อง โดยมีหอฉันอยู่ตรงกลาง และสร้างหอระฆังไว้ด้านหน้า ส่วนคณะตะวันออกและคณะตะวันตก สร้างเป็นหอฉันขวางทางทิศเหนือ 2 คณะ ทางทิศใต้ สร้างหอพระไตรปิฏกอยุ่ติดกับกำแพง นอกจากนี้ ยังโปรดให้สร้างศาลาการเปรียญไว้ริมคลองหน้าพระอุโบสถ ศาลาสามหน้า และศาลา 2 หลัง หลังหนึ่งตั้งอยู่หน้าปรก อีกหลังหนึ่งอยู่ข้างศาลาการเปรียญทางทิศตะวันออก พร้อมทั้งโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่น ๆ จนครบบริบูรณ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ให้บูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม แล้วทรงสถาปนาวัดทองขึ้นเป็นพระอารามหลวง ทั้งยังทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเพื่ออุทิศถวายแด่ สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีด้วย[5]

เมื่อ พ.ศ. 2397 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า "วัดกาญจนสิงหาสน์" ต่อมาใน พ.ศ. 2406 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์แล้วลงรักปิดทองพระประธานและฐานชุกชี นับจากนั้นมาก็ไม่ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกทำให้เสนาสนะชำรุดทรุดโทรมและหักพังลงเป็นส่วนมาก มีเพียงพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และศาลาสามหน้า ที่ยังคงเป็นรูปเดิมอยู่[6] ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา จนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทำให้วัดมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก

เสนาสนะ

แก้
  • 1.1 อุโบสถหลังเก่า (พระวิหาร) มีลักษณะแบบศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีพาไลด้านหน้าและด้านหลัง ยาว 14 วา กว้าง 5 วา 1 คืบ สูงตั้งแต่พื้นถึงเพดาน 3 วา 2 ศอก ตั้งแต่เพดานถึงอกไก่ 3 วา ด้านในกว้าง 4 วา 15 นิ้ว ยาว 8 วา 1 ศอก 11 นิ้ว เพดานเขียนลวดลายดาว มีหน้าต่าง 12 หน้าต่าง เขียนลายรดน้ำเป็นลายดอกลอยพุ่มข้าวบิณฑ์ มีประตู 4 ประตู เขียนลายรดน้ำเป็นภาพต้นไม้และรูปสัตว์ต่าง ๆ หน้าบรรณเป็นปูนปั้นลายพรรณพฤกษา ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หลังคามุงกระเบื้องดินเผา มีกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ มีประตูกำแพงแก้ว 4 ประตู ซุ้มประตูเป็นลายอย่างฝรั่งและจีน มุมกำแพงแก้วเป็นเสาหัวเม็ด ทรงมัณฑ์ ภายในกำแพงแก้วมีพระปรางค์แลเจดีย์ พระอุโบสถหลังนี้ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานตั้งแต่ พ.ศ. 2495 และมีการวางแนวเขตใน พ.ศ. 2528 ปัจจุบันพระอุโบสถหลังเก่านี้ได้ทำพิธีถอนสีมาแล้ว ใช้เป็นพระวิหาร และได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นมาแทน
  • 2 พระอุโบสถหลังใหม่ กว้าง 30 เมตร ยาว 50 เมตร มุงกระเบื้องเกล็ดปลา ลักษณะ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงจีนแบบโบราณ มีระเบียงครอบหลังคาเป็นแบบหลังคากันสาด ภายในสร้างเลียนแบบพระอุโบสถหลังเดิม.'[7]
  • 1.3 ศาลาการเปรียญ กว้าง 4 วา 3 ศอก 11 นิ้ว ยาว 8 วา 11 นิ้ว สูงตั้งแต่พื้นถึงอกไก่ 15 วา 3 ศอก 3 นิ้ว
  • 1.4 ศาลาอเนกประสงค์ เป็นอาครก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว มีกระจกรอบ หลังคาเป็นกันสาดรอบ หน้าบันลายปูนปั้นเขียนสีทอง ไม่มีช่อฟ้าใบระกา
  • 1.5 ศาลาท่าน้ำ มี 2 หลัง เป็นอาคารโถง เครื่องไม้ มีมาแต่เดิม และได้รับการบูรณะซ่อมแซมบ้าง หลังคาจั่ว เครื่องปิดเครื่องมุงเป็นเครื่องลำยองประดับกระจก หน้าบันแกะสลักเขียนสีทองเป็นลายใบไม้ดอกไม้
  • '1.4 โรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 4 ชั้น แบบสถาปัตยกรรมไทย มีมุขด้านหน้า แต่ละชั้นมีคันทวยรองรับหลังคากันสาดโดยรอบ เครื่องปิดเครื่องมุงเป็นรวยระกา.[8]
  • นอกจากนี้ ยังมี ศาลาขวางทางริมคลอง 1 หลัง ศาลาขวางทางทิศเหนือ 1 หลัง กุฏิ 18 หลัง เตียงอาสนสงฆ์ 12 เตียง ธรรมาสน์ของเดิม 1 ธรรมาสน์ และยังมีของที่ได้รับพระราชทานและมีผู้ให้ไว้สำหรับวัดคือ ธรรมาสน์ลายทองในงานถวายพระราชทานพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 1 ธรรมาสน์ พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ 5 พร้อมทั้งตู้สำหรับบรรจุ 1 ตู้ ธรรมาสน์ปาติโมกข์และเชิงเทียนทองเหลืองในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตน์โกสินทร์ 1 ชุด พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องยศจอมพลทหารบก 1 องค์ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 1 องค์ โต๊ะหมู่ลายทองในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ 1 ชุดกุฏิเจ้าอาวาส หอระฆัง ศาลาบำเพ็ญกุศล ฌาปนสถาน โรงครัว เรือนเก็บพัสดุอีกด้วย.[9]
 
พระพุทธศิริกาญจโนภาส พระประธานในพระอุโบสถ
 
หลวงพ่อทอง พระประธานในพระวิหาร

ศาสนวัตถุ

แก้
  • 1.1 พระประธานในอุโบสถ พระพุทธศิริกาญจโนภาส พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ขนาดพระเพลากว้าง 4 ศอก สูงตลอดพระรัศมี 5 ศอก 10 นิ้ว
  • 1.2 หลวงพ่อทอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอยุธยา '.[10]

ลำดับเจ้าอาวาส

แก้
ลำดับเจ้าอาวาส
ลำดับที่ รายนาม/สมณศักดิ์ เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1. พระดำ - -
2. พระสน - -
3. พระครูนิโรธรักขิต (นา) - -
4. พระครูนิโรธรักขิต (มี) - -
5. พระครูนิโรธรักขิต (เนตร) - -
6. พระครูนิโรธรักขิต (ตุ้ม) - -
7. พระครูนิโรธรักขิต (ตุ๋ย) - -
8. พระครูนิโรธรักขิต (อบ) พ.ศ. 2467 พ.ศ. 2476
9. พระนิโรธรักขิต (อ่อน จนฺทสโร) พ.ศ. 2478 พ.ศ. 2531
10. พระราชสุทธิญาณ (เฉลียว อุปลวณฺโณ) พ.ศ. 2531 พ.ศ. 2565
11. พระครูกาญจนกิจจารักษ์ (บัณฑิต ปภสฺสโร) พ.ศ. 2565 ปัจจุบัน

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสในปัจจุบัน 1.พระครูอนุกูลวิบูลกิจ (อุดม รกฺขิโต) 2.พระมหาโสมินทร์ อคฺคธมฺโม ป.ธ.๙ 3.พระครูศรีกาญจนสุนทร (วันทอง มหาปญฺโญ) 4.พระครูใบฎีกาเทเลอร์ สุเมโธ 5.พระมหาอุบล ญาณเมธี ป.ธ.๓ 6.พระปลัดพิเชฐ ปญฺญาธโร

ระเบียงภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. หนังสือประวัติวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร]],ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก. งานถวายผ้ากฐินพระราชทานพุทธศักราช 2553 หน้า 7 , ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ:ราชบัณฑิตยสถาน.
  2. หนังสือประวัติวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร,ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก. งานถวายผ้ากฐินพระราชทานพุทธศักราช 2553 หน้า 7 , ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ:ราชบัณฑิตยสถาน.
  3. http://wattong-library.freeoda.com/
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-28. สืบค้นเมื่อ 2021-09-30.
  5. http://wattong-library.freeoda.com/
  6. http://wattong-library.freeoda.com/
  7. หนังสือประวัติวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร, ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก. งานถวายผ้ากฐินพระราชทานพุทธศักราช 2553 หน้า 22-25 , ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ : ราชบัณฑิตยสถาน.
  8. หนังสือประวัติวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร, ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก. งานถวายผ้ากฐินพระราชทานพุทธศักราช 2553 หน้า 28-32 , ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ : ราชบัณฑิตยสถาน.
  9. หนังสือประวัติวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร, ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก. งานถวายผ้ากฐินพระราชทานพุทธศักราช 2553 หน้า 22-25 , ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ : ราชบัณฑิตยสถาน.
  10. หนังสือประวัติวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร, ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก. งานถวายผ้ากฐินพระราชทานพุทธศักราช 2553 หน้า 21,26 , ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ : ราชบัณฑิตยสถาน.