วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร

วัดในกรุงเทพมหานคร
(เปลี่ยนทางจาก วัดรัชฎาธิษฐาน)

วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร ในแขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ริมคลองบางพรมฝั่งใต้ ตรงข้ามฝั่งคลองกับวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหารที่ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือ

วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร
วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดรัชฎาธิฐาน, วัดเงิน, วัดเงินบางพรม, วัดรัชฎา
ที่ตั้งเลขที่ 692 ถนนแก้วเงินทอง แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระธรรมวัชรวิมล (ประเวช ธนปญฺโญ)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ในชื่อ วัดเงิน สร้างโดยเจ้าขรัวเงิน พระภัสดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ขณะที่เจ้าขรัวทองซึ่งเป็นน้องชายได้สร้างวัดคนละฝั่งคลองบางพรม คือ วัดทอง ต่อมาในรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงสถาปนาวัดเงินเป็นพระอารามหลวง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระอมรินทรา พระราชมารดา โปรดให้สร้างพระอุโบสถขึ้น และมีพระราชพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ. 2366 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จนปี พ.ศ. 2397 รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานนามวัดเงินเป็น วัดรัชฎาธิฐาน

ในปี พ.ศ. 2495 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนพระอุโบสถและวิหารเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดรัชฎาธิษฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 มีการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ และหอไตร แล้วเสร็จในปี 2557 ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร พระวิหารน้อย ซุ้มประตูและกำแพงเขตพุทธาวาส รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์[1]

 
พระอุโบสถหลังใหม่
 
พระประธานในพระอุโบสถ
 
พระวิหาร

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ

แก้

รูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดสร้างตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือมีพาไลรอบ หน้าบันก่ออิฐถือปูนประดับลายปูนปั้นเครือเถาลายพุดตาน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา วัดมีใบเสมาเป็นเสมาเดี่ยวขนาดใหญ่หนามาก ความเก่าแก่น่าจะราวรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถหรือพระเจ้าทรงธรรมลงมา รอบพระอุโบสถหลังเดิมมีกำแพงแก้วล้อมรอบ แยกออกจากพระวิหารหลังเดิมหรือพระอุโบสถหลังปัจจุบัน

พระอุโบสถหลังใหม่สร้างในตำแหน่งของพระวิหารเดิมที่ชำรุดพังทลาย โดยเริ่มสร้างปี พ.ศ. 2531 เป็นทรงไทย มีหน้าบันประดับภาพตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบของรัชกาลที่ 9 พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หล่อด้วยโลหะ ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.50 เมตร ไม่ปรากฏพระนาม

เจดีย์ประดิษฐานอยู่รายรอบพระอุโบสถหรือพระวิหารหลังเดิม เป็นมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองจำนวน 9 องค์ เมื่อรื้อพระวิหารเพื่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ก็ยังคงรักษาเจดีย์เหล่านี้ไว้ พระวิหารน้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกหรือด้านหลังพระอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานสูง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ซุ้มประตูทำเลียนแบบศิลปะจีน คาดว่าสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ด้านหน้ามีบานประดูลายรดน้ำของเก่า เขียนเป็นลายพันธุ์พฤกษา ด้านล่างเป็นภาพทหารฝรั่งสวมหมวกปีกกว้างขี่ม้า[2]

หอพระไตรปิฎก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 บ้างสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ก่อนที่จะได้รับการปฏิสังขรณ์สร้างใหม่ทั้งหมด (แต่อาจสร้างขึ้นตามผังเดิม) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ศาลาการเปรียญของวัด เดิมเป็นพระตำหนักของกรมพระศรีสุดารักษ์ที่พระราชทานมาให้สร้างเป็นศาลาการเปรียญในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ได้ย้ายตำแหน่งในปี พ.ศ. 2502 ภายในมีธรรมาสน์บุษบก ประดิษฐานอยู่ ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ ลักษณะเป็นแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีเชิงกลอนซ้อน 5 ชั้น งดงามมาก

วัดมีโรงเรียนพระปริยัติราชวรเวที เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น ทรงไทยประยุกต์ ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาส สร้างเมื่อ พ.ศ. 2545

รายนามเจ้าอาวาส

แก้
ลำดับ นาม ดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.)
1. พระวิสุทธิสังวรเถร (เสม)
2. พระวินัยกิจการีเถร (ภู่) ครองวัดถึง พ.ศ. 2432
3. พระวินัยกิจการีเถร (ปั้น) 2432 – 2469
4. พระครูภาวนาภิรมย์ (ซุ่ม) 2469 – 2472
5. พระครูภาวนาภิรมย์ (พลอย พฺรหฺมโชโต) 2472 – 2488
6. พระครูภาวนาภิรมย์ (สาย) 2488 – 2503
7. พระสรภาณโกศล (สมบูรณ์ โชติปาโล) 2504 – 2529
8. พระธรรมวัชรวิมล (ประเวช ธนปญฺโญ) 2529 - ปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้
  1. "รักษ์วัดรักษ์ไทย : ธรรมาสน์บุษบกงามตา ศาลาการเปรียญทรงคุณค่า ณ วัดรัชฎาธิษฐาน". ผู้จัดการออนไลน์. 1 พฤษภาคม 2558.
  2. "วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.