สมเด็จพระศรีสุลาลัย

สมเด็จพระศรีสุลาลัย[3] บางแห่งสะกดว่าสมเด็จพระศรีสุลาไลย[4][note 1] พระนามเดิม เรียม (28 มกราคม พ.ศ. 2314 – 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380)[1] เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[5] และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระศรีสุลาลัย
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง[1]
ดำรงพระยศ13 กันยายน พ.ศ. 2367 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380
สถาปนา13 กันยายน พ.ศ. 2367[2]
ก่อนหน้ากรมพระอมรินทรามาตย์
ถัดไปกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์
พระราชสมภพ28 มกราคม พ.ศ. 2314
เมืองนนทบุรี อาณาจักรธนบุรี
สวรรคต17 ตุลาคม พ.ศ. 2380 (66 ปี)
กรุงเทพพระมหานคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์
บรรจุพระอัฐิหอพระธาตุมณเฑียร
พระราชสวามีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระราชบุตร
ราชวงศ์จักรี (โดยสถาปนา)
พระราชบิดาพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน
พระราชมารดาคุณหญิงเพ็ง
ศาสนาเถรวาท

พระราชประวัติ

พระชนม์ชีพตอนต้น

สมเด็จพระศรีสุลาลัย มีพระนามเดิมว่า เรียม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือน 3 ขึ้น 13 ค่ำ ปีขาลโทศก ศักราช 1132 ตรงกับวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2314[1] เป็นธิดาเพียงคนเดียวของพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) กับคุณหญิงเพ็ง นนทบุรีศรีมหาอุทยาน มีนิวาสถานเดิมอยู่ที่เมืองนนทบุรีด้วยพระชนกเป็นผู้ว่าราชการเมืองดังกล่าว[6] พระองค์มีพระอนุชาต่างมารดาชื่อ นาค สมรสกับน้องสาวคนหนึ่งของพระอักษรสมบัติ (หม่อมทับ) บิดาเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ในรัชกาลที่ 3[7] พระอนุชานาคนี้เป็นต้นสกุลของพระยารัตนอาภรณ์ (แตง)[8]

บุรพชนฝ่ายพระชนกนั้นไม่ใคร่ปรากฏหลักฐานนัก ทราบแต่เพียงว่าเป็นชาวไทยมาจากย่านบางเชือกหนัง[9] ส่วนฝ่ายพระชนนีคือ คุณหญิงเพ็งนั้นมีบิดาเป็นมุสลิมสุหนี่ชื่อพระยาราชวังสัน (หวัง) ที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุลัยมานแห่งสงขลา[10][11] กับมารดาชื่อท่านชู สตรีชาวไทยย่านสวนวัดหนัง คลองบางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี[9] คุณหญิงเพ็งมีน้องอีกสองคน ได้แก่[12]

  • ท่านปล้อง สมรสกับพระยาพัทลุง (ทองขาว ณ พัทลุง) มีบุตรธิดาทั้งหมด 9 คน เป็นยายของเจ้าจอมมารดาทรัพย์ในรัชกาลที่ 3 และเป็นเทียดของพระนมปริก
  • พระนมรอด สมรสกับพระยาศรีสรราช (เงิน) ต่อมาได้เป็นพระนมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เพ็งสมรสกับพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) ที่ต่อมาได้รับราชการไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองนนทบุรีแล้วย้ายไปตั้งบ้านเรือนที่นั่น และมีธิดาด้วยกันเพียงเดียวคือเรียม ภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างพระอารามถวายแด่พระบรมราชชนนีในนิวาสถานเดิมซึ่งปัจจุบันคือ วัดเฉลิมพระเกียรติ ลุมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างช่างไปเขียนฝาผนังอุโบสถ ให้เขียนเป็นลายรดน้ำมีปราสาทตราแผ่นดิน และเขียนเป็นรูปดวงจันทร์เต็มบริบูรณ์ ทรงออกพระนามว่า "เพ็งองค์ ๑ จันทร์องค์ ๑" คือพระชนกพระชนนีของสมเด็จพระศรีสุลาลัยนั่นเอง[13]

เข้ารับราชการฝ่ายใน

คุณเรียมเริ่มรับราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ด้วยทอดพระเนตรเห็นคุณเรียมขณะลงเล่นน้ำที่ท่าหน้าบ้านแล้วต้องพระทัย[14] และตามเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังเดิม ถือเป็นหม่อมห้ามคนที่สองในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ส่วนหม่อมท่านแรก คือ เจ้าจอมมารดาสี ธิดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช)

เจ้าจอมมารดาเรียมได้ประสูติพระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ พระราชวังเดิม จำนวน 3 พระองค์ ได้แก่

  1. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (31 มีนาคม พ.ศ. 2330 – 2 เมษายน พ.ศ. 2394) มีพระราชโอรสธิดา 51 พระองค์
  2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าป้อม (7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2333 – พ.ศ. 2336)
  3. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดำ หรือ หนูดำ[15] (พ.ศ. 2335 – พ.ศ. 2336)

หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสวยราชสมบัติ เจ้าจอมมารดาเรียมได้ตามเสด็จไปประทับ ณ พระบรมมหาราชวัง ดำรงตำแหน่งพระสนมเอกดูแลห้องเครื่องต้นทั้งปวงจนชาววังออกนามว่า เจ้าคุณ ถือเป็นสตรีที่มีบทบาทโดดเด่นในราชสำนัก เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2367 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระพันปีหลวงเป็น กรมพระศรีสุลาลัย[3]

การสวรรคตของรัชกาลที่ 2

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันหลังจากการผนวชของเจ้าฟ้ามงกุฎเพียงไม่นาน ทำให้สมเด็จพระศรีสุราลัยทรงถูกครหาว่าเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ยิ่งจากการสวรรคตในครั้งนี้ เนื่องจากกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระราชโอรสได้สืบราชสมบัติ[16][17] กรณีดังกล่าวปรามินทร์ เครือทอง ได้เขียนบทความ "ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๒ จริงหรือข่าวลือ?" จึงตั้งข้อสังเกตโดยอาศัยเอกสาร เช่น

หนังสือราชสำนักสยามฯ ที่เขียนโดยนายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ แพทย์หลวงประจำรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวถึงสิ่งที่เขาได้ฟังมาว่า "หลังจากที่ทรงผนวชได้เพียง 2 สัปดาห์ พระราชบิดาของพระองค์ [รัชกาลที่ 2] ก็เสด็จสวรรคตลงอย่างปัจจุบันทันด่วน พระนั่งเกล้าฯ พระเชษฐาซึ่งมีตำแหน่งสำคัญในราชอาณาจักรและยังทรงได้รับการสนับสนุนจากพระมารดาซึ่งแม้จะมีฐานะเป็นเพียงเจ้าจอมแต่ก็เป็นหญิงที่มีเล่ห์เหลี่ยม ทำให้พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบทอดราชสมบัติ" ซึ่งก่อนหน้านั้นสมัยรัชกาลที่ 4 แอนนา ลีโอโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยามก็เคยได้ยินคำเล่าลือทำนองนี้มาเช่นกัน[16]

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัช ได้เขียนบทความ "ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ กรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ" เพื่อโต้แย้งบทความของนายปรามินทร์ เครือทอง เนื่องจากเห็นว่าเป็นบทความที่มีความไม่ถูกต้องและไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้กล่าวหาสมเด็จพระศรีสุลาลัยโดยปราศจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้เลยแม้แต่น้อย นอกจากประวัติศาสตร์ที่เป็นลักษณะบัตรสนเท่ห์หาสาระอะไรไม่ได้เลยเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่พระองค์[18]

นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัช ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า มีพระอาการที่เหมือนกันกับโรคสมองอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสค่อนข้างมาก ตั้งแต่ปวดพระเศียร ปวดเมื่อย มึนพระองค์ มีพระไข้ ซึมลง ตรัสไม่ได้ และเสวยพระโอสถไม่ได้ นอกจากนี้ พระอาการยังมีความคล้ายกับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเช่นกัน แต่พระอาการพระศอแข็งไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เนื่องจากไม่มีบันทึกโดยแพทย์หลวงหรือปรากฏในเอกสารชิ้นใดเลย แต่พระอาการของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกลับไม่เหมือนกับโรคเลือดออกในสมองหรือโรคเนื้องอกของสมอง ดังนั้น นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัชจึงมีความเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยน่าจะทรงพระประชวรและสวรรคตด้วยพระโรคติดเชื้อของสมอง ซึ่งอาจเป็นโรคสมองอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสหรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมากที่สุด[18]

สวรรคต

สมเด็จพระศรีสุลาลัยทรงพระประชวรไข้พิษ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันอังคาร เดือน 11 แรม 3 ค่ำ เวลา 3 ยาม ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380[1] สิริพระชนมายุ 68 พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท[1] มีการจัดสร้างพระเมรุมาศ และถวายเพลิงพระบรมศพ ก่อนที่จะนำพระบรมอัฐิอัญเชิญสู่พระบรมมหาราชวัง[19]

พระอิสริยยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระศรีสุลาลัย
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ
  • 28 มกราคม พ.ศ. 2314 - สมัยรัชกาลที่ 1 : เรียม
  • สมัยรัชกาลที่ 1 – 8 กันยายน พ.ศ. 2352 : หม่อมเรียม ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
  • 8 กันยายน พ.ศ. 2352 – 13 กันยายน พ.ศ. 2367 : เจ้าจอมมารดาเรียม ในรัชกาลที่ 2
  • 13 กันยายน พ.ศ. 2367 – 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380 : กรมพระศรีสุลาลัย
  • สมัยรัชกาลที่ 4 – สมัยรัชกาลที่ 6 : กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย
  • สมัยรัชกาลที่ 6 : สมเด็จพระศรีสุลาลัย

พงศาวลี

หมายเหตุ

  1. พระนามของพระองค์มีการสะกดได้หลายทาง ได้แก่
    • สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชว่า "ศรีสุราไลย" (สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ. ราชินิกูลรัชชกาลที่ 3, 19 กันยายน พ.ศ. 2471)
    • เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดีว่า "ศรีสุลาลัย" (เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2547, หน้า 3)
    • ส.พลายน้อยว่า "ศรีสุราลัย" (ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บำรุงสาสน์. 2530, หน้า 35)

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 191
  2. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 39
  3. 3.0 3.1 จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1, หน้า 62
  4. ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชกุศลดิถีซึ่งคล้ายกับวันประสูตรพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, เล่ม 17, ตอน 52, 24 มีนาคม พ.ศ. 2443, หน้า 755
  5. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 40
  6. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ภาคต้น). ธนบุรี : สำนักพิมพ์อโยธยา, ม.ม.ป., หน้า 97
  7. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ภาคต้น). ธนบุรี : สำนักพิมพ์อโยธยา, ม.ม.ป., หน้า 165
  8. "อิสลาม มอญ และจีน ในราชินีกุลรัชกาลที่ ๓ และราชินีกุลรัชกาลที่ ๕". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-31. สืบค้นเมื่อ 2012-06-27.
  9. 9.0 9.1 ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ภาคต้น). ธนบุรี : สำนักพิมพ์อโยธยา, ม.ม.ป., หน้า 98
  10. Putthongchai, Songsiri (2013). What is it Like to be Muslim in Thailand?. England: University of Exeter, p. 98.
  11. จักรพันธ์ กังวาฬ. และคนอื่น ๆ. กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ:มติชน, 2550, หน้า 162
  12. สุจิตต์ วงษ์เทศ. (25 ธันวาคม พ.ศ. 2551). "ชุมชน "ข้าหลวงเดิม" บนเส้นทางคมนาคม "คลองด่าน" ฝั่งธนบุรี แม่น้ำลำคลองสายประวัติศาสตร์". มติชนรายวัน. 31:11247, หน้า 21
  13. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์ , หน้า 66
  14. "ตอนที่ 29 รักซ่อนปมของกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย". เดลินิวส์. 2 ธันวาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาพันธุวงศ์วรเดช. ราชินิกูลรัชชกาลที่ ๓. พระนคร:ราชบัณฑิตยสถาน. 2471, หน้า 12
  16. 16.0 16.1 วิภา จิรภาไพศาล (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555). "ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๒ จริงหรือข่าวลือ?". มติชน. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  17. ส.ศิวรักษ์. รากงอกก่อนตาย. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2555, หน้า 198
  18. 18.0 18.1 นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัช (14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556). "ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ กรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ". มติชน. สืบค้นเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  19. พระราชประวัติรัชกาลที่ 3 พระราชประวัติสมเด็จพระศรีสุราลัย[ลิงก์เสีย]
บรรณานุกรม
ก่อนหน้า สมเด็จพระศรีสุลาลัย ถัดไป
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี   สมเด็จพระพันปีหลวง
(13 กันยายน พ.ศ. 2367 – 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380)
  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี   กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(18 ตุลาคม พ.ศ. 2372 – 17 ตุลาคม พ.ศ. 2380)
  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ