สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พันเอกหญิง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระโสทรเชษภคินีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี) และพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า [1]
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ | |
---|---|
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | |
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง | |
ดำรงพระยศ | 4 ธันวาคม พ.ศ. 2453 - 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 (8 ปี 320 วัน) |
ก่อนหน้า | กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ |
ถัดไป | สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ |
พระอัครมเหสี | |
ดำรงพระยศ | 4 เมษายน พ.ศ. 2440 — 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 (13 ปี 202 วัน) |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา |
ถัดไป | สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี |
พระราชสมภพ | 1 มกราคม พ.ศ. 2407 พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร ประเทศสยาม |
สวรรคต | 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 (55 พรรษา) พระราชวังพญาไท จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
พระราชสวามี | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระราชบุตร | 8 พระองค์ |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระราชบิดา | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระราชมารดา | สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา |
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทำให้พระองค์ทรงเป็นปฐมบรมราชินีนาถของประเทศไทย และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์สภานายิกา สภากาชาดไทยพระองค์แรกอีกด้วย[2]
พระราชประวัติ
พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 66 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ 5 ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม (ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา) ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันศุกร์ แรม 7 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน เบญศก จ.ศ. 1225 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 (นับแบบปัจจุบันคือ พ.ศ. 2408) พระองค์ได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระบรมราชบิดาเมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 10 ค่ำ โดยมีรายละเอียด ดังนี้[3]
"ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้พระบิดา ขอตั้งนามบุตรีหญิงซึ่งประสูติแต่เปี่ยมเป็นมารดา ในวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปีกุน เบญศกนั้นว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี วรรคบริวารนามเดิมเป็นอาทิและอันตอักษร ขอพรคุณพระรัตนตรัยและพรเทวดารักษาพระนครและพระราชวัง จงได้โปรดให้เจริญชนมายุพรรณสุขพลปฏิภาณสารสิริสมบัติศรีสวัสดิพิพัฒมงคล ศุภผลพิบูลยทุกประการ เทอญ"
นอกจากนี้ พระองค์ยังได้รับพระราชทานพรเป็นภาษาบาลีจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า[4]
"ขอธิดาของเรา ซึ่งเป็นบุตรีอันดีของเปี่ยมคนนี้ จงปรากฏโดยนามว่าโสภาสุทธสิริมตี (เสาวภาผ่องศรี) เถิด ขอเธอจงมีสุข แลไม่มีโรค มีอิสริยยศประเสริฐสุด ปราศจากโทษ อันใคร ๆ อย่าคุมเหงได้ทุกเมื่อ จงเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์ใหญ่ มีโภคสมบัติมาก อันคนเป็นอันมากนิยมนับถือ ขอเธอจงรักษาเกียรติยศของบิดามารดาไว้ทุกเมื่อ จงทำนุบำรุงพี่น้องชายหญิงอันดี ขออานุภาพพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จงรักษาเธอทุกเมื่อเทอญ"
พระองค์มีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ
เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์นั้น พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีพระปัญญาที่เฉียบแหลมมาก แต่ก็ทรงไม่เชื่อฟังมากเช่นเดียวกัน เช่น เวลาทรงพระอักษร ก็ทรงไม่ยอมทรงอ่านดัง ๆ พระอาจารย์อ่านถวายไปเท่าใด พระองค์ท่านก็ทอดพระเนตรตามไปเฉย ๆ พระองค์ใฝ่พระทัยในการศึกษาหมั่นซักถามแสวงหาความรู้ด้วยพระวิริยะอุตสาหะและทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วอันเป็นเครื่องแสดงถึงการที่ มีพระวิริยะพระปัญญา ปราดเปรื่องหลักแหลม[5]
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี จึงเปลี่ยนเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี
สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก
พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 |
---|
สุนันทากุมารีรัตน์ |
สว่างวัฒนา |
เสาวภาผ่องศรี |
พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ก็มีพระสิริโฉมงดงาม เป็นที่พอพระทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ขณะที่มีพระชนม์ 15 พรรษา โดยมีพระองค์เจ้าหญิง พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 ที่รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับพระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี และพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา โดยครั้งแรกที่พระองค์ได้รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระองค์ให้เป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และในปีถัดมาก็ได้รับการสถาปนาเป็น พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี[6]
พระภรรยาเจ้าทั้ง 4 พระองค์มีพระเกียรติยศเสมอกันทุกพระองค์ พระเกียรติยศที่จะเพิ่มพูนนั้นขึ้นอยู่กับการมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็นสำคัญ [7] จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2423 เกิดเหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์โดยเรือพระประเทียบล่มระหว่างโดยเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังบางปะอิน จึงทำให้เกิดปัญหาในการจะออกพระนามในประกาศทางราชการ ซึ่งนำมาสู่การจัดระเบียบภายในพระราชสำนักว่าด้วยตำแหน่งพระภรรยาเจ้าให้เป็นที่เรียบร้อย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระราชเทวี"[8] ซึ่งถือเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรก และ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์ต่อไป เฉลิมพระนามาภิไธยว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี" โดยในวันงานพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ก็ได้มีประกาศยืนยันฐานะสมเด็จพระอัครมเหสีให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้นโดยเพิ่มคำว่า “บรม” เข้าไปในคุณศัพท์ของคำว่าราชเทวีอีกหนึ่งคำ ดังนั้น พระนางเจ้าสว่างวัฒนาจึงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี" ซึ่งเป็นตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสี เนื่องจากพระองค์เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 5 ส่วนพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีนั้นได้รับการสถาปนาเป็น พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี[9] เนื่องจากพระองค์เป็นพระอัครมเหสีลำดับที่สาม
ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสในพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพระองค์ต่อไป และในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2438 จึงโปรดให้ออกพระนามพระราชชนนีแห่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชนั้นว่า สมเด็จพระนางเจ้า พระอรรคราชเทวี[10] ในฐานะเป็นพระชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์ใหม่ ซึ่งเป็นพระยศพระอัครมเหสีเช่นเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2440 เพื่อตรวจดูแบบแผนราชการแล้วนำมาเปรียบเทียบปรบปรุงการปกครองของราชอาณาจักรสยาม พร้อมกันนั้นก็เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับอารยประเทศในยุโรป พระองค์จึงทรงมอบหมายให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินได้เรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ด้วยพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถจรรยนุวัติปฏิบัติ ประกอบด้วยพระราชอัธยาศัยสภาพสมด้วยพระองค์เป็นขัติยนารีนาถ และกอปรด้วยพระกรุณภาพยังสรรพกิจทั้งหลายที่ได้พระราชทานปฏิบัติมาล้วนแต่เป็นเกียรติคุณแก่ประเทศสยามทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธย จาก สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ"[11] เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกในประเทศไทย[12]
ส่วนคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศวโรปการ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ และเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (โรลังยัคมินส์) โดยมีพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม เป็นราชเลขานุการ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 6
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงพระราชดำริว่า พระราชประเพณีได้เคยมีมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกใหม่ ได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศแลเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระพันปีหลวงฉลองพระเดชพระคุณเป็นปฐม เพื่อเป็นศุภมงคลและราชสมบัติ พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า "สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี"[13] บางครั้งออกพระนามว่า "สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง"[14] และทูลเชิญพระองค์เสด็จมาประทับที่พระราชวังพญาไท ในการนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง กรมมหาดเล็กในพระราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ก็เสด็จประทับที่พระราชวังแห่งนี้จนกระทั่งสวรรคต และในวันที่ 18 มิถุนายน 2463 ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมมหาดเล็กนี้ลงเสียเนื่องจากไม่มีงานราชการแล้ว[15]
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี มีพระราชโอรสและพระราชธิดา 14 พระองค์ ซึ่งต้องมีพระราชภาระในการเลี้ยงดู ซึ่งพระราชโอรส 2 พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน อีกทั้งพระราชโอรสองค์อื่น ๆ ก็ได้เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท นำพาความเจริญสู่ชาติบ้านเมืองเป็นอันมาก อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งนับว่าพระองค์เป็นพระบิดาผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนเสนาธิการทหารบก[16]
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตนั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ก็ทรงทุกข์ระทมในพระราชหฤทัย ทำให้พระองค์ประชวรและปฏิบัติพระราชกรณียกิจไม่ได้มากหลังจากนั้น[17] พระองค์ต้องประทับอยู่แต่ที่พระราชวังพญาไท ไม่ให้ผู้ใดรบกวน ห้ามไม่ให้รถยนต์ รถม้าถนนใกล้ขับเคลื่อนเสียงดังโดยเด็ดขาด เหตุที่ห้ามก็เพราะว่า พระองค์จะบรรทมหลับในเวลากลางวัน แม้แต่เสียงนกร้อง ก็ต้องมีข้าราชบริพารในวังเอาไม้ส่องไปเป่าไล่ เพื่อไม่ให้ส่งเสียงรบกวนพระองค์ นายแพทย์สมิธ ซึ่งเป็นแพทย์ชาวอังกฤษที่มีหน้าที่ถวายการรักษาพระอาการของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี เขียนไว้ในหนังสือ "A physician at the court of Siam" ว่า
"พระนางตื่นบรรทมระหว่างหกโมงถึงสองทุ่ม เมื่อทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์เสร็จแล้วเจ้าพนักงานก็จะโทรศัพท์มาตามหมอสมิธที่บ้าน เพื่อให้มาตรวจพระอาการ ถ้ามีอาการประชวรก็จะจัดยาให้ แต่ถ้าไม่มีอาการประชวร พระนางก็โปรดสนทนาเกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ทรงมีความรู้อย่างดีเลิศเกี่ยวกับพระราชวงศ์ในมหาประเทศต่าง ๆ ในด้านตะวันตกของโลก ไม่โปรดอ่านหนังสือเอง แต่จะให้ข้าราชบริพารอ่านให้ฟังเสมอ ก่อนบรรทม จะต้องมีคนอ่านวรรณคดีหรือหนังสือพิมพ์ถวาย"[18]
สวรรคต
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ทรงพระประชวรเรื้อรัง มีพระอาการไข้ รวมทั้งมีพระอาการพิษขึ้นในพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) และการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตนั้น ได้นำความวิปโยคแสนสาหัส ที่กระทบกระเทือนพระราชหฤทัย[19]และการที่พระองค์ประทับอยู่แต่ประแท่นบรรทม ทรงไม่ออกกำลังพระวรกาย ทำให้มีน้ำหนักพระองค์มาก จึงทำให้กระดูกเปราะ จะเสด็จไปที่ใดก็ลำบากและพระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ มีพระโรคาพาธมาประจำพระองค์คือ พระวักกะอักเสบเรื้อรัง ซึ่งแพทย์หลวง ได้ถวายการรักษาอย่างดีตลอดมา แต่พระอาการไม่ดีขึ้นได้ นายแพทย์สมิธ นายแพทย์ประจำพระองค์ เล่าว่า
"คืนหนึ่งพระนางป่วยหนัก มีอาการอาเจียรทั้งคืน พอตีสองพระนางสิ้นสติปลุกไม่ตื่น มีอาการไข้ขึ้นสูงไม่ได้สติ แต่พระวรกายยังอาเจียร เปรียบเสมือนคนหลับแต่ยังอาเจียรตลอด"
นายแพทย์สมิธระบุว่าเป็นเพราะพระยกนะ (ตับ) วายหรือพระยกนะเสีย ทุกฝ่ายทั้งแพทย์ และข้าราชบริพารช่วยกันเต็มที่ที่จะรักษาพระองค์ จนวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 เวลา 08.00 น. ก็เสด็จสวรรคต[20] มีบันทึกว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้ทรงอยู่ดูแลพระมารดาทั้งคืนจนรุ่งเช้า เมื่อข่าวการประชวรหนักของพระองค์ พระโอรส พระประยูรญาติและ ข้าราชบริพารต่างก็มาเฝ้าดูแลพระอาการด้วยความห่วงใย โอรสพระองค์เดียวที่ไม่ได้เสด็จมาเลยก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[21]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์สรงน้ำพระบรมศพ และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพประกอบพระลองทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก ภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนี[22]และโปรดให้มีการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 และได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารมาประดิษฐาน ณ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ภายในพระอุโบสถ[23]
พระราชโอรส-ธิดา
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 15 พระองค์ เป็นพระราชโอรส 7 พระองค์ เป็นพระราชธิดา 2 พระองค์ และตกเสียก่อนเป็นพระองค์ 6 ดังต่อไปนี้
ลำดับ | พระรูปและพระนาม | เพศ | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่อภิเษกสมรส | พระบุตร |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ | ญ. | 19 ธันวาคม พ.ศ. 2421 | 27 สิงหาคม พ.ศ. 2430 | - | - |
2 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า | ตกเมื่อ 13 มกราคม พ.ศ. 2423 | - | - | ||
3 | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | ช. | 1 มกราคม พ.ศ. 2424 | 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 | สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา | - |
พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) | - | |||||
พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ | - | |||||
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี | สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี | |||||
4 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง | ช. | 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2425 | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2430 | - | - |
5 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ | ช. | 3 มีนาคม พ.ศ. 2426 | 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 | หม่อมเจ้าชวลิตโอภาศ กิติยากร | - |
หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ | |||||
6 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า | ตกเมื่อ พ.ศ. 2425 | - | - | ||
7 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า | ตกเมื่อ พ.ศ. 2427 | - | - | ||
8 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ | ช. | 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 | 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 | - | - |
9 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า | ตกเมื่อ พ.ศ. 2429 | - | - | ||
10 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า | ญ. | 13 ธันวาคม พ.ศ. 2430 | ในวันประสูติ | - | - |
11 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา | ช. | 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2432 | 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 | แผ้ว สนิทวงศ์เสนี | - |
12 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า | ตกเมื่อ พ.ศ. 2432 | - | - | ||
13 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า | ตกเมื่อ พ.ศ. 2433 | - | - | ||
14 | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย | ช. | 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 | 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 | หม่อมเจ้าบุญจิราธร จุฑาธุช | - |
หม่อมละออ จุฑาธุช ณ อยุธยา | พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา | |||||
หม่อมระวี จุฑาธุช ณ อยุธยา | พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช | |||||
15 | พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | ช. | 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 [24] | 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 | สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี | - |
พระราชจริยวัตร
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชหฤทัยตั้งมั่นอยู่ในราชจริยธรรม[25] จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยและทรงเมตตากรุณาอย่างที่สุด[26] ซึ่งสามารถจำแนกพระราชจริยวัตร โดยสังเขปดังนี้
- ทรงเคียงคู่พระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากการที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงได้รับการสถาปนาไว้ในตำแหน่งพระมเหสีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และการที่พระองค์รู้พระทัยพระราชสวามี โดยได้ถวายงาน และรับใช้ใกล้ชิดเสมอ จึงเป็นที่โปรดปราน โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่วิกฤตต่าง ๆ พระองค์ก็ทรงแบ่งเบา พระราชภาระและทรงกอบกู้สถานการณ์ได้เสมอ อาทิ ในห้วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความทุกข์ในพระราชหฤทัยอย่างแสนสาหัส โดยทรงเก็บพระองค์แต่ในที่ซึ่งมิมีผู้ใดกล้าเข้าเฝ้าในห้วงที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สิ้นพระชนม์ด้วยเหตุเรือพระที่นั่งล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะเสด็จสู่พระราชวังบางปะอิน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 นั้น พระองค์ก็เอาพระทัยใส่ และทรงเข้าเฝ้าด้วยพระอุตสาหะ จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคลายระทมทุกข์[27] ทรงพระเกษมสำราญ สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ในที่สุด หรือในห้วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประชวรหนักใกล้สวรรคต พระองค์ก็ทรงเฝ้าถวายการดูแล เป็นแม่กองควบคุมการถวายพยาบาล มิได้ห่าง[28] จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่สวรรคาลัย
- ทรงปกครองข้าราชบริพารฝ่ายใน
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงให้เกียรติพระเชษฐภคินีโดยมิเคยเสด็จพระราชดำเนินนำหน้า และทรงหมอบถวายบังคมสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อเสด็จออกท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ด้วยความเคารพเสมอ[29]
พระองค์มีน้ำพระทัยกว้างโดย มิเคยรังเกียจข้าบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่สบายพระราชหฤทัยในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งพระตำหนักที่พระองค์ประทับนั้นกล่าวกันว่าเป็นที่ที่มีความสนุกสนานครื้นเครงที่สุดในวังหลวง ข้าหลวงพนักงานก็มีการทำงาน ฝีมือกันมาก โดยมีข้าบาทบริจาริกาที่สังกัดในพระตำหนักของพระองค์นี้ประกอบด้วย เจ้าจอมมารดาชุ่ม เจ้าจอมมารดาเลื่อน เจ้าจอมมารดาแส เจ้าจอมอ้น และเจ้าจอมศรีพรหม ด้วยน้ำพระทัยที่เมตตานี้ จึงมีผู้เข้าถวายตัวและถวาย ลูกหลานอยู่ในพระราชสำนักจำนวนมากหลายรุ่น[30]
- ทรงเป็นผู้นำสตรีไทยในยุคแรกแห่งการพัฒนาแบบสากล
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นครูผู้บำเพ็ญวิทยาทานต่อเหล่าพระประยูรญาติราชนัดดาเชื้อพระวงศ์และเยาวกุมารีทั้งหลาย สนพระราชหฤทัยในงานพัฒนาสตรี ซึ่งในห้วงดังกล่าว มีโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงเพียงแห่งเดียว คือโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง[31] ก่อตั้งโดยคณะผู้สอนคริสต์ศาสนาจากสหรัฐอเมริกา
พระองค์สนพระทัยงานทางศิลปะ งานคหกรรมศาสตร์[32] ด้านต่าง ๆ อาทิ งานเย็บปัก ถักร้อย งานดอกไม้ งานปรุงเครื่องร่ำน้ำหอม งานแกะสลักผลไม้ งานปักสะดึงตลอดจนวรรณคดี ทั้งยังโปรดศิลปะทางดนตรี นาฏศิลป์[33] และทรงดูแลการจัดสร้างพร้อมทั้งทรงรับพระราชภาระในงาน พิธีเฉลิมฉลอง พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระราชวังดุสิต และพระที่นั่งวิมานเมฆ
ในส่วนของพระภูษาทรงนั้นโปรดชุดไทยเดิม เมื่อมิได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ โดยโปรดสีที่ไม่ฉูดฉาด เครื่องประดับ ก็มิโปรดประดับเกินงาม ซึ่งพระองค์ทรงดัดแปลงผสมผสานรูปแบบตะวันตก ให้เกิดความงดงามพอดี และเข้ากับสมัย ซึ่งทำให้บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ และกุลสตรีชาววังดำเนินรอยตามพระราชนิยม อันก่อให้เกิดความกลมกลืน ทั้งแบบไทยและสากล นับว่าพระองค์ทรงเป็น “ผู้นำศิลปะการแต่งกายของสตรีไทย ในยุคที่ก้าวสู่ความทัดเทียมอารยประเทศ” อย่างแท้จริง[34]
พระราชกรณียกิจ
การศึกษา
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สนพระทัยในการพัฒนาสตรีและมีพระราชดำริว่าความรุ่งเรืองของบ้านเมืองย่อมอาศัยการศึกษาเล่าเรียนที่ดี ดังนั้นในปี พ.ศ. 2444 จึงทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงแห่งที่สองขึ้นในกรุงเทพมหานคร พระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนสตรีบำรุงวิชา” และในปี พ.ศ. 2447 ทรงเปิดโรงเรียนสำหรับกุลธิดาของข้าราชสำนักและบุคคลชั้นสูงคือ “โรงเรียนสุนันทาลัย” ให้การอบรมด้านการบ้านการเรือน กิริยามารยาท และวิชาการต่าง ๆ อีกทั้งทรงจ่ายเงินเดือนครู และค่า ใช้สอยต่าง ๆ สำหรับเป็นค่าเล่าเรียนแก่กุลบุตรกุลธิดาของข้าราชการใหญ่น้อยและราษฎรอีก เป็นจำนวนมาก ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ตั้งโรงเรียน และจ่ายเงินเดือนครูในโรงเรียนต่าง ๆ [35] เช่น
- โรงเรียนราชินี
- โรงเรียนราชินีบน
- โรงเรียนทวีธาภิเศก
- โรงเรียนเสาวภา ปัจจุบันคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา
- โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล ปัจจุบัน คือ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- โรงเรียนวิเชียรมาตุ และ โรงเรียนสภาราชินี (จังหวัดตรัง)
- โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
- โรงเรียนราชินีบูรณะ (จังหวัดนครปฐม)
- โรงเรียนศรียานุสรณ์ (จังหวัดจันทบุรี)
- โรงเรียนสตรีราชินูทิศ (จังหวัดอุดรธานี)
- โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร เสด็จมาทรงควบคุมการก่อสร้างแทนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ศาสนา
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภิกาในบวรพุทธศาสนา โดยบำเพ็ญพระราชกุศลมิได้ขาดทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างเจดีย์วัตถุ พระพุทธรูป พระธรรมคัมภีร์ เช่น พระไตรปิฎกสยามรัฐในรัชกาลที่ห้า ทรงสร้างพระวิหารสมเด็จที่วัดเบญจมบพิตร และปฏิสังขรณ์พระอารามต่าง ๆ ทั้งในพระนครและหัวเมืองต่าง ๆ [28] แม้พระพุทธเจดียฐาน นอกพระราชอาณาจักรก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์ด้วยกัน
โดยนอกจากการบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นพิเศษตามพระราชจารีตประเพณีที่จัดขึ้น อาทิ วันประสูติ พระราชพิธีโสกัณฑ์ และ วันสำคัญอื่น ๆ แล้ว ยังได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ถวายเป็นกิจวัตรแด่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร พร้อมทั้งพระราชทานค่าน้ำประปา ค่าชำระปัดกวาด รักษาพระอาราม และการทำนุบำรุงซ่อมแซม ดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด[27]
การเสด็จประพาสทั้งภายในและต่างประเทศ
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มักตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองชนบทในพระราชอาณาจักรเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท และเสด็จประพาสต่างประเทศเสมอ ๆ [36] ซึ่ง บางคราวต้องเสด็จพระราชดำเนินรอนแรมไปในถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวกเช่นในปัจจุบัน โดยต้องเสด็จผ่านบ้านป่า บางคราว ต้องทรงช้าง ทรงม้าหรือประทับเกวียนเป็น พระราชพาหนะ ซึ่งพระองค์มิได้ทรงหวาดหวั่น[37] ตามเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินดังกล่าวนั้น ประชาราษฎรจะมาเฝ้ารับเสด็จ และเมื่อพระองค์ทรงพบเห็นก็พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับราษฎร ตลอดจนที่แห่งใดที่ถนนหนทาง สะพานหรือที่สาธารณะอื่น ๆ ชำรุดทรุดโทรม ก็ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์ทะนุบำรุงซ่อมสร้างให้ดีขึ้น ส่วนตำบลใดขาดน้ำบริโภคใช้สอย ก็โปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อน้ำสาธารณะ และปีใดที่มีอากาศหนาวก็พระราชทานผ้าห่มกันหนาว รวมทั้งตำบลใดที่ขาดแคลนหมอและยารักษาโรคก็จะโปรดเกล้าพระราชทานพระราชทรัพย์ ให้ข้าราชบริพารจัดซื้อมาแจกจ่าย
ในการเสด็จประพาสนอกพระราชอาณาจักรนั้น พระองค์ก็ทรงตามเสด็จด้วยในบางครั้ง เช่น การเสด็จประพาสเมืองสิงค์โปร์ ชวา และมลายู [38]
การแพทย์และพยาบาล
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีความห่วงใยความเจ็บไข้ได้ป่วยของราษฎรและทหารเป็นอย่างยิ่ง โดยทรงสนับสนุนการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราชซึ่งนับว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ตั้งโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ขึ้นในโรงพยาบาลแห่งนี้สำหรับเป็นสถานศึกษาวิชาพยาบาลและผดุงครรภ์ของสตรี ทั้งยังทรงจ่ายเงินเดือนแพทย์ มิชชั่นนารี ช่วยเหลือค่าใช้จ่าย ตลอดจนค่าอาหารของนักเรียน และพระราชทานเงินให้แก่หญิงอนาถา[39] ที่มาคลอดบุตรในโรงพยาบาลศิริราชเพื่อเป็นค่าใช้สอยทุกคน
พระองค์ทรงเป็นผู้นำชักชวนสตรีไทย ให้เลิกการคลอดบุตรในลักษณะที่ต้องอยู่ไฟมาใช้วิธีการพยาบาลแบบสากล ที่สุขสบายและได้ผลดีกว่า นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระราชดำริจัดตั้งสภาอุณาโลมแดงและได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2436 เพื่อเป็นศูนย์กลางบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ซึ่งต่อมาภายหลังที่ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส เรื่องเขตแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อ พ.ศ. 2436 อันนำมาซึ่งการบาดเจ็บให้กับทหารและราษฎรจำนวนมาก สภาอุณาโลมแดง ได้เป็นศูนย์กลางในการบรรเทาทุกข์ลงอย่างมาก หลังจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว สภาอุณาโลมแดง จึงใช้ชื่อว่า สภากาชาดสยาม ซึ่งแปรเปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทยในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรแรกในประเทศไทย[40] ทั้งนี้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เป็นสภาชนนี และพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกา ซึ่งพระองค์ได้ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกาสืบต่อมารวมเวลาถึง 26 ปี[41] อีกทั้งพระองค์ยังได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ แก่โรงพยาบาลหลายแห่งทั้งใน กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด
การทหาร
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดการขี่ม้าและโปรดการทหาร โดยมักจะเสด็จไปทอดพระเนตรการซ้อมรบหรือที่เรียกว่า “การประลองยุทธ” ในต่างจังหวัดเกือบทุกปี บางครั้งประทับร่วมเสวยพระกระยาหาร ในเต้นท์ผู้บัญชาการรบท่ามกลางแม่ทัพนายกอง และเคยมีพระราชดำรัสในเวลาการชุมพลทหารครั้งใหญ่ ตอนหนึ่งว่า “ถึงแม้ฉันเป็นหญิงก็จริง แต่ก็มีใจเหมือนท่านทั้งหลายซึ่งเต็มไปด้วยความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เมื่อมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ในเวลาหนึ่งเวลาใดก็ดี ฉันตั้งใจที่จะ ช่วยเหลือผู้เป็นนักรบอยู่เสมอไม่ถอยเลย”[42] พระองค์มีพระราชหฤทัยห่วงใยในความทุกข์สุขของทหาร โดยพระราชทานเครื่องอุปโภค บริโภคแก่เหล่าทหาร หรือเมื่อทหารประสบอุปัทวเหตุ เจ็บป่วย ก็จะทรงส่งแพทย์หลวงไปรักษา[43]
ในปี พ.ศ. 2454 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟ สายกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดนครราชสีมา และได้เข้าไปในค่ายทหาร ทรงเปิดสโมสรนายทหาร และพระราชทานนามว่า "สโมสรร่วมเริงไชย"[44] และทอดพระเนตรการแสดง ของหน่วยทหารต่าง ๆ ในค่ายบริเวณหนองบัว โดยกรมทหารม้าที่ 5 ได้ทำการแสดงบนหลังม้า และทำการแปรขบวน กองร้อย ทหารม้าทั้งกองร้อย โดยได้ควบม้าฮ่อเข้ามาหยุดแสดง ความเคารพต่อหน้าที่ประทับ เป็นที่พอพระราชหฤทัย ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ทูลขอ หน่วยทหารม้าหน่วยนี้ เป็นหน่วยรักษาพระองค์ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมิได้พระราชทาน เนื่องจากยังไม่เคยมีในพระราชประเพณีมาก่อน ครั้นต่อมา ในปีพ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ถวายตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหารม้าที่ 5 (ปัจจุบัน ได้แปรสภาพหน่วยเป็น กองพันทหารม้าที่ 6) แด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ตามคำสั่งกลาโหม ที่ 373/26471 ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2545 เรื่อง ถวายตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ[45] ความว่า
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณารับตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 6 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 10 กรมทหารราบที่ 7 กรมทหารราบที่ 8 กรมทหารราบที่ 9 ถวายตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารม้าที่ 5 แด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระราชทานตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารม้าที่ 2 แด่สมเด็จพระนางเจ้าน้องนางเจ้าฟ้ากรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินทร ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่กรมนั้นและกองพลซึ่งกรมนั้นสังกัดอยู่ เพราะฉะนั้นให้เจ้าหน้าที่จ่าย อักษรพระนามาภิไธยย่อ ว.ป.ร. ให้แก่ทหารในกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 6 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 10 กรมทหารราบที่ 7 กรมทหารราบที่ 8 กรมทหารราบที่ 9 ติดบ่ายศตามระเบียบ"
อนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารม้าที่ 5 ติดพระนามาภิไธยย่อ ส.ผ. ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี เพราะฉะนั้นให้เจ้าหน้าที่จัดทำและจ่ายให้ กรมทหารม้าที่ 5 จึงได้รับโปรดเกล้าให้ติดอักษรพระนามาภิไธยย่อ ส.ผ. ซึ่งเป็นอักษรย่อขององค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี กลางอินทรธนูทั้งสองข้าง (ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาประดับที่หน้าอกเบื้องขวาในปัจจุบัน) และในปี พ.ศ. 2456 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระยศนายพันเอก[46] และได้พระราชทานเงินจำนวน 44,000 บาท เพื่อสร้างโรงม้าขึ้น ในกรมทหารม้าที่ 5 ต่อมากระทรวงกลาโหม ได้ส่งนายดาบจัน เลิศพยาบาล ซึ่งเป็นสัตวแพทย์ ที่สำเร็จการศึกษาจากยุโรปมาประจำหมวดสัตวแพทย์ จึงนับว่าได้เริ่มมีการใช้ยารักษาม้าแบบแผนปัจจุบันเป็นครั้งแรก[47]
การเกษตร
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระทัยและโปรดด้านการเกษตร[27] โปรดให้เลี้ยงไก่พันธุ์ ธัญพืช ไม้ดอก ไม้ประดับในบริเวณที่ประทับ
และสำหรับการปลูกข้าวนั้น พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถึงกับทรงทำด้วยพระองค์เองที่นาหลวงทุ่งพญาไท[28] ซึ่งพระองค์มักจะนำพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปทรงดำนาเพื่อเป็นการประเดิมชัยในฤดูการทำนา
ความสนพระทัยของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เกี่ยวกับการทำนา คือในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสนพระทัยในเรื่องการทำนา ได้ทรงทำนาที่ทุ่งพญาไทซึ่งจัดเป็นนาหลวง มีเรื่องปรากฏในพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ที่พระราชทานเจ้าดารารัศมี ในตอนหนึ่งมีความว่า "กำลังคิดทำนาที่ปลายถนนซังฮี้ในทุ่ง ได้ลงมือซื้อควายเสร็จแล้ว"[48]
และในฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม ร.ศ. 128 มีความว่า "บางกอกเวลานี้ฝนชุกเกือบจะไม่เว้นวัน เรื่องสนุกของชาววังนั้นคือ กำลังคลั่งทำนา ตั้งแต่แม่เล็ก เป็นต้นลงดำเอง เลี้ยงดูกันเป็นหลายวัน ข้อที่เกลียดโคลนเลนนั้นหายหมด ทำได้คล่องแคล่ว ที่โรงนาเป็นที่สบาย องค์อัจฉรและนางชุ่มผลัดกันไปอยู่ที่นั้น พื้นสบายดีขึ้นที่งสองคน องค์อัจฉรถึงเดินได้ไกล ๆ เจ้านายที่เจ็บไข้ออดแอดต่างคนต่างสบายขึ้น เห็นจะเป็นด้วยได้เดินได้ยืนมากนั้นเอง"[49] (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงว่า "แม่เล็ก") [8]
ด้านสาธารณประโยชน์
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้มีพระราชดำริทรงสร้างสะพานเสาวนีย์ ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองริมทางรถไฟสายเหนือเชื่อมถนนศรีอยุธยาให้ติดต่อกันตลอด เมื่อคราวเฉลิมพระชนมพรรษา 48 พรรษา พ.ศ. 2454 กรมโยธาธิการได้ออกแบบและสร้างถวายตามพระราชเสาวนีย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 พระองค์ได้บริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โปรดให้สร้างรูปพระนางธรณีบีบมวยผม ประทานให้เป็นสาธารณสมบัติให้ประชาชนได้ใช้น้ำสะอาดบริโภค โดยน้ำจะไหลจากมวยผมพระแม่ธรณี ลงหม้อน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันพระแม่ธรณีบีบม้วยผม นับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของประชาชน ซึ่งรูปพระนางธรณีบีบมวยผมนี้ตั้งอยู่ที่หัวมุมถนนใกล้สะพานผ่านพิภพลีลากับที่โรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ ที่พระนครศรีอยุธยา และบ่อน้ำที่หัวหิน[5]
ในปี พ.ศ. 2445 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟ สายกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สร้างปี พ.ศ. 2438 หล่อด้วยสัมฤทธิ์ กะไหล่ทอง องค์พระสูง 21.35 เซนติเมตร ปัจจุบันอัญเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีคู่กับพระโกศพระอัฐิ ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน และการพระราชพิธีสงกรานต์ เป็นต้น เป็นพระพุทธรูปปางรำพึง ซึ่งเป็นปางประจำวันศุกร์
พระราชานุสรณ์
พระราชานุสาวรีย์
หลังจากที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จสวรรคตแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้มีพระราชดำริให้สร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้นหลายแห่ง เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โดยแต่ละแห่งนั้น เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเคยเสด็จไปประทับ หรือเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระราชทานพระราชทรัพย์ในการก่อสร้างขึ้น[50] ซึ่งพระราชานุสาวรีย์บางแห่งก็ได้จัดสร้างขึ้นภายหลังสมัยรัชกาลที่ 6 พระราชานุสาวรีย์ที่สำคัญได้แก่
- พระราชินยานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ณ โรงเรียนราชินี เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ครูอาจารย์ ศิษย์เก่า ผู้ปกครอง ร่วมสมทบทุนสร้างพระราชานุสาวรีย์ โดยได้นับพระราชทานเงินสมทบบางส่วนจาก สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทั้งได้เสด็จมาทรงสักการะพระราชินยานุสาวรีย์เป็นพระองค์แรก ในปัจจุบันนักเรียนราชินีจะมีธรรมเนียมถวายบังคมสักการะพระราชินยานุสาวรีย์ทุกวัน
- พระราชินยานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ณ โรงเรียนวิเชียรมาตุ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง สร้างขึ้นตรงกับวันสถาปนาโรงเรียนครบ 90 ปี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 โดยพลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์ พระราชานุสาวรีย์แห่งนี้เป็นที่เคารพมากของชาวจังหวัดตรัง โดยนักเรียนโรงเรียนวิเชียรมาตุ และชาวจังหวัดตรัง จะเรียกพระองค์ว่า "แม่แก้ว"[51]
- พระราชินยานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ณ ค่ายศรีพัชรินทร ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 เพื่อเป็นที่สักการะและเป็นศูนย์รวมที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของเหล่าทหาร และครอบครัว ตลอดจนประชาชนทั่วไป อีกทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 [52]
- พระราชินยานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ณ โรงเรียนสตรีราชินูทิศ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555 โดยมีนายแก่นเพชร ช่วงรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระรูปสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขึ้นประดิษฐาน ณ พระราชานุสาวรีย์ โรงเรียนสตรีราชินูทิศ[53]
โรงเรียนวิเชียรมาตุ
โรงเรียนวิเชียรมาตุถือกำเนิดขึ้นจากพระราชประสงค์ ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
จากสมุดหมายเหตุรายวันเล่มแรกของโรงเรียน ถูกบันทึกไว้เป็นความสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2455 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสจังหวัดตรัง ประทับพักผ่อนสำราญพระราชอิริยาบถ ณ ตำหนักผ่อนกาย ทรงปรารภว่า พื้นภูมิทำเลตำบลทับเที่ยงนี้เหมาะสมดี ควรมีสถานศึกษาไว้เพาะปลูกปัญญาแก่กุลบุตรกุลธิดาสืบไป[54] จึงได้พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นเงิน 4,000 บาท ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สร้างโรงเรียนขึ้น และพระราชทานนามให้ว่า "โรงเรียนวิเชียรมาตุ" ซึ่งหมายความถึง "พระราชชนนีของพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"[51]
โรงเรียนราชินีบูรณะ
โรงเรียนราชินีบูรณะก่อตั้งครั้งแรกใน พ.ศ. 2457 โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า "สตรีวิทยา"[55] จากนั้นในปี พ.ศ. 2460 โรงเรียนได้ถูกเพลิงไหม้ จึงได้ให้คุณหญิงทองอยู่ สุนทราชุน เข้ารับพระราชทานทรัพย์ พร้อมที่ดินจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวง มาสร้างโรงเรียนรวมถึงอาคารเรียนตามแปลนของกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น และจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2462 โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสด็จแทนพระองค์ และพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โรงเรียนราชินีบูรณะ" นับแต่นั้นเป็นต้นมา[56]
วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา
วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา เดิมคือ "โรงเรียนเสาวภา"[57] จัดตั้งขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง (พระนามเดิม พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี) ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งโรงเรียนสำหรับสตรี และพระราชทานพระนามาภิไธยของพระองค์เป็นชื่อโรงเรียน ต่อมา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2523 กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา”[58]
เหรียญที่ระลึก
เหรียญราชินี
เหรียญราชินี มีอักษรย่อว่า ส.ผ. จัดเป็นเหรียญที่ระลึกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2440 ปัจจุบันจัดเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทาน[59]
เหรียญราชินี เป็นเหรียญที่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (พระอิสริยศในขณะนั้น) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยขณะนั้นทรงเป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ในเดือนเมษายน - ธันวาคม พ.ศ. 2440
เหรียญราชินี มีชั้นเดียว เป็นเหรียญเงินรูปกลม ด้านหน้า มีพระนามาภิไธยย่อ "ส.ผ." ไขว้ ด้านหลัง มีคำว่า "พระราชทาน" อยู่ขอบเบื้องบน ขอบเบื้องล่างมีคำว่า "ร.ศ.116" ตรงกลางเป็นพื้นเงินเกลี้ยงสำหรับจารึกนามผู้ได้รับพระราชทาน
เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระชนมพรรษา
เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2456 เป็นเหรียญที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นที่ระลึกเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมีพระชนมพรรษครบ 50 พรรษา เหรียญนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า "เหรียญหมู"
อนึ่งเหรียญนี้สร้างขึ้น 2 แบบ อีกแบบหนึ่งต่างกันเฉพาะที่ข้อความที่ด้านหลัง ดังนี้ "'งานเฉลิมพระชนมพรรษา" "" "สมเด็จพระศรีพัชรินทรา" "บรมราชินีนาถ" "พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง"
ตัวเหรียญนั้นมีลักษณะ กลมแบน ขอบเรียบ มีห่วงอยู่ด้านบน ด้านหน้าเป็นรูปหมูลงยาสีชมพู ยืนแท่น หันหน้าทางซ้ายของเหรียญริมขอบมีข้อความว่า "ปีกุน พ.ศ. ๕๖ ของสิ่งนี้เป็นที่รฦก" "ว่าล่วงมาครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์" ด้านหลังกลางเหรียญเป็นรูปจักรีริมขอบมีข้อความซ้อน 2 แถว ความว่า "ขอเชิญท่านจงจำรูปหมู่นี้ คือ เสาวภา ซึ่งอุบัติมาเป็นเพื่อน" "ร่วมชาติพบ อันมีใจหวังดีต่อท่านเสมอ"
ตัวเหรียญนั้นมีทั้งชนิด ทองคำลงยา เงินลงยา ทองคำ เงิน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 27 มิลลิเมตร[60]
เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีพระบรมศพ
เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2463 เพื่อเป็นที่ระลึกในงานพระเมรุของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหรียญนี้สร้างตามแบบพัดพระพิมานไพชยนต์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียนทูลเกล้าฯ ถวาย
ตัวเหรียญมีลักษณะเป็นรูปไข่ ขอบเรียบ ด้านหน้า มีคำว่า "ศรี" ภายใต้พระมหามงกุฎ หมายถึง องค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ประดิษฐานบนรถพระพิมานไพชยนต์เทียมม้า 4 มีสารถีถือแส้น้ำเสด็จสู่สวรรค์ เบื้องขวาเป็นพญานาค เบื้องบนเป็นสายฟ้า (วชิระ) ซึ่งหมายถึงปีพระราชสมภพและพระราชสัญลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังตอนบนภายในยกขอบโค้งคล้ายใบเสมา มีพระคาถาจารึกว่า
อายุสา เอกปตฺ ตมนุรกฺ เข
เอวมฺ ปิ สพฺ พฎเตส
มานสมฺ ภาวเยอปริมาณํ"
ซึ่งแปลว่า
อันเป็นบุตรผู้เดียวด้วยชีวิตฉันใด
ภิกษุพึงบำเพ็ญเมตตาอันมีในใจ
ในภูติทั้งปวง อย่างไม่มีประมาณแม้ฉันนั้น"
ตอนล่างมีอักษรไทยอยู่ภายในพวงมาลาความว่า
ตัวเหรียญนั้นทำจากเงิน กว้าง 33 มิลลิเมตร ยาว 42 มิลลิเมตร[61]
เหรียญที่ระลึก 100 ปี การพยาบาลไทย
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 100 ปี การพยาบาลไทย จัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 เพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 100 ปี ของการพยาบาลไทย
ตัวเหรียญมีลักษณะ กลมแบน วงขอบนอกมีเฟืองจักร ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ บรมราชชนนีพันปีหลวง ชิดขอบเหรียญด้านซ้ายมีข้อความว่า "สมเด็จพระศรีพัชรินทรา" ด้านขวามีข้อความว่า "บรมราชินีนาถ" ด้านหลัง กลางเหรียญมีอักษรพระนามาภิไธยย่อ "สผ" ภายใต้มงกุฎขัตติยราชนารี ด้านซ้ายมีลายช่อดอกไม้และเลขบอกราคา ด้านขวามีลายช่อดอกไม้และคำว่า "บาท" ชิดวงขอบเบื้องบนมีข้อความว่า "ประเทศไทย" เบื้องล่างมีข้อความว่า "๑๒ มกราคม ๒๕๓๙" "๑๐๐ ปี การพยาบาลไทย"
ตัวเหรียญนั้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 12 กรัม[62]
ตราสัญลักษณ์ 150 ปี วันพระราชสมภพ
ตราสัญลักษณ์เนื่องในวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ครบ 150 ปี พ.ศ. 2557
พระเกียรติยศ
ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | |
---|---|
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พระพุทธเจ้าข้าขอรับ/เพคะ |
พระราชอิสริยยศ
- พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (1 มกราคม พ.ศ. 2407 — 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411)
- พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 — พ.ศ. 2421)
- พระนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (พ.ศ. 2421 — พ.ศ. 2422)
- พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี (พ.ศ. 2422 — พ.ศ. 2423)
- สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (พ.ศ. 2423 — 15 กันยายน พ.ศ. 2438)
- สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรครราชเทวี (15 กันยายน พ.ศ. 2438 — 4 เมษายน พ.ศ. 2440)[10]
- สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (4 เมษายน พ.ศ. 2440 — 4 ธันวาคม พ.ศ. 2453) [63]
- สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี หรือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (4 ธันวาคม พ.ศ. 2453 — 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462) [64]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
- พ.ศ. 2425 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายใน)
- พ.ศ. 2436 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายใน)[65]
- พ.ศ. 2436 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายใน)[66]
- พ.ศ. 2465 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2447 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 2 (ม.ป.ร.2)[65]
- พ.ศ. 2444 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 1 (จ.ป.ร.1)[67]
- พ.ศ. 2454 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 (ว.ป.ร.1)[68]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
- ญี่ปุ่น :
- พ.ศ. 2441 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนมงกุฎ ชั้นที่ 1 มงกุฎดอกพอโลเนีย[69]
เครื่องราชูปโภค
- พานพระศรี (พานใส่หมากพลู) ทองคำลงยา
- กาน้ำทองคำลงยา
- ขันน้ำพระสุธารสเย็น พร้อมจอกลอยทองคำลงยา
- หีบพระศรีทองคำลงยา พร้อมพานรอง
- พระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก) ทองคำลงยา
- ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา พร้อมคลุมปัก
- พระฉาย (กระจกส่องหน้า) ทองคำลงยา
- พานเครื่องพระสำอาง พร้อมพระสางวงเดือน พระสางเสนียด และพระกรัณฑ์ทองคำลงยา สำหรับบรรจุเครื่องพระสำอาง
- ราวพระภูษาซับพระพักตร์ทองคำลงยารูปพญานาค พร้อมผ้าซับพระพักตร์จีบริ้วพาดที่ราว 2 ผืน
พระยศทางทหาร
- พันโทหญิง - ผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[70] และผู้บังคับกองพันทหารบกม้าที่ 6 กองพันทหารม้าที่ 6 รักษาพระองค์ (จังหวัดขอนแก่น)
- พันเอกหญิง - ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารม้าที่ 5[71]
พงศาวลี
พงศาวลีของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
- ↑ ประวัติศาสตร์ ตำนาน เรื่องเล่าขาน สารคดี บุคคลสำคัญ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง
- ↑ ผกา เศรษฐจันทรและคณะ. ๒๕๒๙. ประวัติการพยาบาลในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: องค์การ สงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
- ↑ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, คาถาพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามพระราชโอรสธิดา, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2472
- ↑ แสงเทียน ศรัทธาไทย, หน้า 238
- ↑ 5.0 5.1 อุทุมพร. ๒๕๑๔. พระราชประวัติส่วนพระองค์ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรม ราชชนนี พระพันปีหลวง เล่ม ๒ กรุงเทพ : องค์การค้าคุรุสภา.
- ↑ แสงเทียน ศรัทธาไทย, สามราชินีคู่บัลลังก์ ร.๕, สำนักพิมพ์ร่มฟ้าสยาม, 2539 ISBN 978-974-7441-33-8
- ↑ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, หม่อมราชวงศ์, พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สำนักพิมพ์มติชน, 2549 ISBN 974-323-641-4
- ↑ 8.0 8.1 ไกรฤกษ์ นานา, ปิยมหาราชานุสรณ์ ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกบันทึก, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับปีที่ 29 ฉบับที่ 6 เมษายน 2551 หน้า1 06-125
- ↑ จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้า ในรัชกาลที่ 5, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2550 ISBN 974-02-0038-3
- ↑ 10.0 10.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ออกพระนามพระชนนีแห่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ให้ใช้บัตรหมายออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าพรอรรคราชเทวี), เล่ม ๑๒, ตอน ๒๔, ๑๕ กันยายน ร.ศ. ๑๑๔, หน้า ๒๑๑-๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศในการที่ออกพระนามสมเด็จพระบรมราชินีนาถ, เล่ม ๑๔, ตอน ๑, ๔ เมษายน พ.ศ. ๑๘๙๗, หน้า ๑๐
- ↑ พระบรมราชินีนาถ 2 พระองค์ในประเทศไทย หน้า 38
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย, เล่ม ๒๗, ตอน ๐ง, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๒๐๒๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธี คำถวายชัยมงคลของข้าทูลละอองธุลีพระบาท แด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง, เล่ม ๓๒, ตอน ง, ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๓๙๒
- ↑ ประกาศกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก
- ↑ เล็ก พงษ์สมัครไทย, วาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ จอมพล สมเด็จฯเจ้าฟ้าฯกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, นิตยสารต่วยตูนพิเศษ ฉบับที่ 395 เดือนมกราคม 2551 หน้า 91-98
- ↑ จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้า ในรัชกาลที่ 5, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2550 ISBN 974-02-0038-3
- ↑ ศกุลรัตน์ ธาราศักดิ์, ราชสำนักสยาม ในทรรศนะของหมอสมิธ, กรมศิลปากร, พิมพ์ครั้งที่ 1, 2537 ISBN 974-419-035-3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, เล่ม 27, ตอน 0ง, 30 ตุลาคม พ.ศ. 2453, หน้า 1782
- ↑ "ประกาศพระอาการสวรรคต แห่งสมเด็จพระพันปีหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 36: 2069. 20 ตุลาคม 2462. สืบค้นเมื่อ 2021-03-20.
- ↑ วิบูล วิจิตรวาทการ, เล่าเรื่องเมืองสยาม ในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง, พิมพ์ครั้งที่ 1 : 2546 ISBN 9743412204
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระอาการสวรรคตแห่งสมเด็จพระพันปีหลวง, เล่ม ๓๖, ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒, หน้า ๒๐๖๙
- ↑ ตำนานสุสานหลวง หน้า 32
- ↑ นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ, 2404-2474, ผู้รวบรวม. บาญชีมหามกุฏราชสันตติวงศ์ พุทธศก 2468 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงรวบรวม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2468. 167 หน้า.
- ↑ กองพันทหารม้าที่ ๖. ม.ป.ป. จดหมายเหตุ (๒๕๓๗ – ๒๕๔๖). ขอนแก่น.
- ↑ กองพันทหารม้าที่ ๖. ๒๕๔๖.เอกสารประวัติศาสตร์ ๑๐๐ ปี กองพันทหารม้าที่ ๖. ขอนแก่น.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 อุทุมพร. ๒๕๑๔. พระราชประวัติส่วนพระองค์ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง เล่ม ๑ กรุงเทพ : องค์การค้าคุรุสภา.
- ↑ 28.0 28.1 28.2 อุทุมพร. ๒๕๑๔. พระราชประวัติส่วนพระองค์ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง เล่ม ๓ กรุงเทพ : องค์การค้าคุรุสภา.
- ↑ ส.พลายน้อย. ม.ป.ป. พระบรมราชินีนาถและเจ้าจอมมารดา. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น.
- ↑ ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2554. 368 หน้า. ISBN 9786167058580
- ↑ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย :: WATTANA WITTAYA ACADEMY
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:มติชน. 2553, หน้า 94
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:มติชน. 2553, หน้า 96
- ↑ อุทุมพร วีระไวทยะ. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หน้า 83
- ↑ ศึกษาธิการ, กระทรวง.ท 606 วรรณลักษณวิจารณ์ 2, ขัติยพันธกรณี
- ↑ วิลาวัณย์ สถิตย์วงศ์. ม.ป.ป. ๗๒ ปี จอมสุรางค์อุปถัมภ์. ม.ป.ท.
- ↑ เวสีนา เสนีวงศ์ฯ. ๒๕๔๑. เสาวภาผ่องศรี. กรุงเทพฯ : บางกอกบุ๊ค.
- ↑ พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชทานแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ในเวลาที่ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 ภาค 2 / จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, 2396-2453
- ↑ คณะแพทย์ศาสตร์ มข.วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
- ↑ ประวัติสภากาชาดไทย จากเว็บไซต์สภากาชาดไทย
- ↑ คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- ↑ พระราชประวัติ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เก็บถาวร 2013-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ พลตรีบัญชร ชวาลศิลป์. ๒๕๔๑. ครบรอบ ๑๑๑ ปี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท มังกรการพิมพ์ (๑๙๙๔) จำกัด.
- ↑ พันเอกชูชัย สินไชย. ๒๕๒๒. เกียรติประวัติการรบดีเด่น ร.อ. กมล สาคุณ. ขอนแก่น.
- ↑ กระทรวงกลาโหม. ๒๕๔๓. วันที่ระลึกคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม ๑๑๓ ปี. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ จำกัด.
- ↑ บุษบงกช สาคุณ. ๒๕๓๙. อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พลตรี กมล สาคุณ ปช.ปม. กรุงเทพฯ : หจก.อรุณการพิมพ์.
- ↑ "ประวัติศาสตร์การแพทย์และเภสัช (ภูมิหลังการแพทย์และเภสัชสากล)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-21. สืบค้นเมื่อ 2013-07-28.
- ↑ พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่เจ้าดารารัศมี
- ↑ พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม ร.ศ. 128
- ↑ อุทุมพร วีระไวทยะ. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หน้า 105
- ↑ 51.0 51.1 ประวัติโรงเรียนวิเชียรมาตุ[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์โรงเรียนวิเชียรมาตุ
- ↑ แถลงข่าวการก่อสร้าง พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ[ลิงก์เสีย]
- ↑ "พิธีอัญเชิญพระรูปสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถประดิษฐาน ณ พระราชานุสาวรีย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-26. สืบค้นเมื่อ 2013-07-08.
- ↑ อุทุมพร วีระไวทยะ. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หน้า 60
- ↑ ประวัติโรงเรียน เก็บถาวร 2012-04-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงเรียนราชินีบูรณะ
- ↑ โรงเรียนราชินีบูรณะ - กรมศิลปากร[ลิงก์เสีย]
- ↑ ชมรมศิษย์เก่าหัตถกรรมเสาวภา ประวัติวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา เก็บถาวร 2013-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ประวัติวิทยาลัย เก็บถาวร 2009-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ เครื่องราชชอิสริยาภรณ์ไทย เหรียญราชินี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า[ลิงก์เสีย]
- ↑ เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เหรียญที่ระลึกไทย
- ↑ [เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง] จากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เหรียญที่ระลึกไทย
- ↑ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 100 ปี การพยาบาลไทย[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์กรมธนารักษ์
- ↑ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน. ๒๕๓๘. เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านายะบับมีพระรูป. 923.1 พ326ร : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
- ↑ สมคิด โชติกวณิชย์. ๒๕๓๘. เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย เล่ม ๒ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ.
- ↑ 65.0 65.1 "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 21 (ตอน 32): หน้า 570. 6 พฤศจิกายน 2447. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ทรงตั้งมหาสวามินีเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้าฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 10 (ตอน 30): หน้า 324. 22 ตุลาคม 2436. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายหน้า และฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 18 (ตอน 46): หน้า 874. 16 กุมภาพันธ์ 2444. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 28 (ตอน 0 ง): หน้า 130. 23 เมษายน 2454. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, เสด็จออกแขกเมืองต่างประเทศ อุปทูตญี่ปุ่น, เล่ม ๑๕, คอน ๒๔, ๑๑ กันยายน ค.ศ.๑๘๙๘, หน้า ๒๕๙
- ↑ "แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ถวายตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 29: หน้า 2778. 16 มีนาคม 2455.
- ↑ "แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหาร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 29: หน้า 2355. 9 มีนาคม 2455.
หนังสือ
- อุทุมพร สุนทรเวช, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี, นำอักษรการพิมพ์, 2540 ISBN 974-7060-32-9
- จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, สมเด็จพระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๕, มติชน, 2546 ISBN 974-322-964-7
- แสงเทียน ศรัทธาไทย, สามราชินีคู่บัลลังก์ ร.๕, สำนักพิมพ์ร่มฟ้าสยาม, 2539 ISBN 974-91483-0-4
- พิมาน แจ่มจรัส, รักในราชสำนัก, โอเดียนการพิมพ์, 2510 ISBN 974-341-064-3
แหล่งข้อมูลอื่น
- สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เก็บถาวร 2013-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พระราชประวัติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ 5) เก็บถาวร 2013-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า | สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี | พระบรมราชินีแห่งราชอาณาจักรสยาม (4 เมษายน พ.ศ. 2440 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) |
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา | ||
สมเด็จพระศรีสุลาลัย | สมเด็จพระพันปีหลวง (4 ธันวาคม พ.ศ. 2453 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462) |
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง | ||
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) | ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (พ.ศ. 2440) |
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร |