พระโกศทองใหญ่

(เปลี่ยนทางจาก พระลองทองใหญ่)

พระโกศทองใหญ่ หรือ พระลองทองใหญ่ เป็นพระโกศสำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระศพของพระบรมวงศ์ชั้นสูง สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นับเป็นพระโกศที่มีลำดับยศสูงที่สุด โดยได้ใช้ทรงพระศพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นพระองค์แรก (แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน ระบุว่าพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีสุนทรเทพนั้น ใช้พระโกศไม้สิบสอง และเมื่อเสร็จการพระศพจึงลอกทองที่หุ้มพระโกศไม้สิบสองมาหุ้มทำพระโกศทองใหญ่และทรงพระบรมศพของรัชกาลที่ 1 เป็นพระองค์แรก) พระโกศทองใหญ่ใช้ทรงพระศพของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีเป็นพระองค์ล่าสุด

พระโกศทองใหญ่ รัชกาลที่ 5 ในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระโกศทองใหญ่ ทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ขณะประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถในพระราชพิธีเชิญพระโกศทรงพระศพออกพระเมรุ

นอกจากนี้ พระโกศทองใหญ่ยังใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระศพสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่บรรจุพระบรมศพและพระศพลงในหีบพระศพแทนการลงพระโกศ เช่น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ประวัติ แก้

พระโกศทองใหญ่สร้างขึ้นเมื่อปีมะโรง จุลศักราช 1170 ตรงกับ พุทธศักราช 2351 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้รื้อทองที่หุ้มพระโกศกุดั่นมาใช้สำหรับทำพระโกศทองใหญ่เพื่อไว้สำหรับทรงพระบรมศพของพระองค์เอง พระโกศทองใหญ่ทำจากไม้แกะสลัก มีรูปทรงแปดเหลี่ยม หุ้มทองคำตลอดองค์ และมีฝาเป็นยอดมงกุฎ เมื่อการสร้างพระโกศเสร็จสมบูรณ์แล้ว พระองค์โปรดให้นำพระโกศองค์นี้เข้าไปตั้งถวายเพื่อทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ[1]

ในปีเดียวกันนั้นเอง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ลง ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระอาลัยเป็นอันมาก รวมทั้ง พระองค์ทรงใคร่จะทอดพระเนตรพระโกศทองใหญ่เมื่อตั้งพระเบญจาในคราวออกพระเมรุ ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองใหญ่ประกอบพระลองในสำหรับบรรจุพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นประเพณีในรัชกาลต่อ ๆ มาที่จะพระราชทานพระโกศทองใหญ่สำหรับทรงพระศพอื่นได้นอกเหนือจากพระบรมศพ[1] แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน ระบุว่าพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีสุนทรเทพนั้น ใช้พระโกศไม้สิบสองทรงพระศพ และเมื่อเสร็จการพระศพจึงลอกทองที่หุ้มพระโกศไม้สิบสองมาหุ้มทำพระโกศทองใหญ่และทรงพระบรมศพของรัชกาลที่ 1 เป็นพระองค์แรก โดยปัจจุบัน นอกจากพระมหากษัตริย์แล้ว พระบรมวงศ์ที่จะได้รับพระราชทานพระโกศทองใหญ่เมื่อสิ้นพระชนม์ ได้แก่ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้า ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ[2]

นอกจากนี้ ยังมีการพระราชทานเครื่องประดับพระโกศของเจ้านายที่พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระบรมศพหรือพระศพ ลดหลั่นกันไปตามพระอิสริยยศ โดยปกติพระบรมศพนั้นจะพระราชทานดอกไม้เพชร ดอกไม้ไหว เฟื่องและดอกไม้เอวเป็นเครื่องประดับพระโกศ ส่วนพระศพของเจ้าฟ้าที่ไม่ได้สถาปนาเป็นพิเศษ จะเอาดอกไม้เพชรฝาพระโกศกับดอกไม้เอวเพชรออก คงเหลือแต่พุ่มเพชรกับเฟื่องเพชร[3] เป็นต้น ในส่วนการตั้งพระโกศทองใหญ่ที่พระเมรุนั้นให้ตั้งแต่พระเมรุกลางเมืองเท่านั้น ดังนั้น ถ้าหากพระราชทานเพลิงพระศพที่วัดจะพระราชทานพระโกศทองใหญ่เมื่อชักพระศพ[1] รวมทั้ง อาจมีการพระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพเมื่อคราวออกพระเมรุด้วย[4]

ปัจจุบัน พระโกศทองใหญ่มีจำนวนทั้งสิ้น 3 องค์ โดยองค์แรกนั้นสร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ส่วนองค์ที่ 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ รองเสนาบดีกระทรวงวังและผู้บัญชาการกรมช่างสิบหมู่สร้างขึ้น เรียกว่า พระโกศทองใหญ่ รัชกาลที่ 5 หรือพระลองทองใหญ่ รัชกาลที่ 5[5] ซึ่งพระโกศทั้ง 2 องค์ข้างต้นนั้น ผ่านการใช้งานจนอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระโกศทองใหญ่องค์ที่ 3 ขึ้น โดยนำมาใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นพระองค์แรก[4]

รายพระนามที่ทรงพระโกศทองใหญ่[4][6] แก้

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แก้

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แก้

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แก้

 
พระเบญจาประดิษฐานพระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตีพิมพ์ในหนังสือ "Description du Royaume Thai ou Siam" (ตีพิมพ์ภาษาไทยในชื่อ "เล่าเรื่องกรุงสยาม") ของบาทหลวงฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1854 (พ.ศ. 2397)

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แก้

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะพระราชทานพระโกศทองใหญ่สำหรับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษเทเวศร์ แต่เนื่องจากกรมพระพิทักษเทเวศร์มีพระรูปใหญ่โต จึงทรงพระโกศมณฑปแทน

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แก้

ปี พระนาม หมายเหตุ
2412 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2430 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2430 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2430 พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2443 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2443 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
2443 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ และพระราชทานพุ่ม เฟื่องและดอกไม้ไหว แต่งพระโกศ
2443 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระราชทานพุ่ม เฟื่องและดอกไม้ไหว แต่งพระโกศ
2443 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ เป็นพระโกศทองน้อยหุ้มทอง และพระราชทานพุ่ม เฟื่องและดอกไม้ไหว แต่งพระโกศ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ เมื่อชักพระศพ
พระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา พระโกศทองน้อย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นน้อย

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แก้

 
พระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปี พระนาม หมายเหตุ
2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
2459 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่
2459 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่
2463 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
2463 สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2463 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2466 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อยและพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2466 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2466 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2468 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2468 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แก้

ปี พระนาม หมายเหตุ
2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
2469 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่
2471 สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2472 สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
2472 สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2472 พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2476 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่ และพระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร แก้

ปี พระนาม หมายเหตุ
2484 สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
2480 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่
2479 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระทองน้อย พระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แก้

ปี พระนาม หมายเหตุ
2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
2493 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย พระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2493 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศทองน้อย พระราชทานพุ่มและเฟื่อง แต่งพระโกศ
2495 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่
2498 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
2501 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อชักพระศพ พระราชทานเลื่อนจากพระโกศกุดั่นใหญ่
2527 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มิได้ทรงพระบรมศพ
2551 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มิได้ทรงพระศพ
2554 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว แก้

ปี พระนาม หมายเหตุ
2559 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้ทรงพระบรมศพ

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, เรื่องตำนานพระโกษฐ์และหีบศพบันดาศักดิ์, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2468
  2. หลักเกณฑ์เทียบเกียรติยศพระราชทานแก่พระศพและศพ เก็บถาวร 2008-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพระราชวัง, เข้าถึงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554
  3. จุฑานันท์ บุญทราหาญ, 'พระโกศ' เครื่องประดับพระอิสริยยศ, เดลินิวส์ออนไลน์, วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551
  4. 4.0 4.1 4.2 สมาน สุดโต, ตำนานพระโกศและความอลังการพระโกศทองใหญ่องค์ใหม่, หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551
  5. เทวาธิราช ป. มาลากุล, เครื่องราชูปโภคและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ เก็บถาวร 2016-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักพระราชวัง, เข้าถึงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554
  6. ตำนานพระโกศ (เพิ่มเติมบัญชีรายพระนามที่ทรงพระโกศทองใหญ่)[ลิงก์เสีย], สำนักพระราชวัง, เข้าถึงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554