สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
ร้อยโท สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ หรือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 – 4 มกราคม พ.ศ. 2437 นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2438) เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) เป็นพระโสทรเชษฐาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเป็นสมเด็จพระปิตุลาธิบดีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นอกจากนี้พระองค์นับเป็นพระปิตุลาธิราช ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เนื่องจากพระองค์นับเป็นพระราชธิดาองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เนื่องจากนับทรงเป็นพระอนุชาธิราชต่างมารดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของประเทศไทย แต่หลังจากดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารได้เพียง 8 ปี ก็เสด็จสวรรคต ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ | |
---|---|
สยามมกุฎราชกุมาร | |
สยามมกุฎราชกุมาร | |
ดำรงพระยศ | 14 มกราคม พ.ศ. 2430[1] - 4 มกราคม พ.ศ. 2438 (7 ปี 355 วัน) |
รัชสมัย | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อนหน้า | สถาปนาตำแหน่ง (กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ในฐานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล) |
ถัดไป | เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ |
พระราชสมภพ | 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 พระบรมมหาราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
สวรรคต | 4 มกราคม พ.ศ. 2438 (16 ปี) พระบรมมหาราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระราชบิดา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระราชมารดา | สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า |
ลายพระอภิไธย |
พระราชประวัติ
แก้พระราชสมภพ
แก้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีขาล สัมฤทธิศก จ.ศ. 1240 ตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421
เดิมทีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบอกพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ว่า "มหาอุณหิศ" แต่ด้วยทรงเห็นว่าเมื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วอาจจะอ่านได้ว่า 'อุณหิศ' หรือ 'อันหิศ' ก็ได้ จึงมีพระราชหัตถ์ถึงพระยาอัษฎางค์เปลี่ยนพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่เสียใหม่ว่า "มหาวชิรุณหิศ" ซึ่งแปลว่า มงกุฎเพชรใหญ่
พระองค์มีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดา ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์, สมเด็จเจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, สมเด็จเจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก)
สยามมกุฎราชกุมาร
แก้ภายหลังการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เมื่อ พ.ศ. 2428 ก็ไม่มีการสถาปนาผู้ใดขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน และมีพระราชดำริว่า พระราชอิสริยยศ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช" ซึ่งเรียกว่า "สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า" ที่ได้ตั้งขึ้นไว้ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นตำแหน่งที่สอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่มีราชประเพณีแต่งตั้งพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท
ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาพิไชยมงคลลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2430) มีพระนามตามจารึกสุพรรณบัฏว่า[2]
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูริย์ขัตติยสันตติวงษ อุกฤษฐพงษวโรภโตสุชาต ธัญญลักษณวิลาศวิบุลยสวัสดิ์ ศิริวัฒนวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร
นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมารเป็นตำแหน่งรัชทายาทแทนตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในการนี้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรได้ส่งโทรเลขมาอำนวยพรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารด้วย[3]
โสกันต์และผนวช
แก้เมื่อพระองค์มีพระชันษาครบ 13 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีโสกันต์อย่างใหญ่ โดยโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นอธิบดีดำเนินการสร้างเขาไกรลาศบริเวณสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชพิธีโสกันต์จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-25 มกราคม พ.ศ. 2433 จากนั้นได้ทรงผนวชเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2434 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์[4] ผนวชแล้วประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จนถึงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2434 จึงลาผนวช[5]
สวรรคต
แก้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เสด็จสวรรคตเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ฉศก จ.ศ. 1256 ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2438) ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา 191 วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญพระบรมศพลงสู่พระบรมโกศ ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และให้ราชการไว้ทุกข์ 1 เดือน[6][7]
วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2444 อัญเชิญพระบุพโพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นพระราชยานกง ตั้งกระบวนแห่ไปยังวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ประดิษฐานถ้ำพระบุพโพบนแว่นฟ้าในศาลาที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าขาวสดับปกรณ์ 40 พับ พระสงฆ์มีพระพิมลธรรม (ฑิต อุทโย) เป็นประธานสดับปกรณ์ แล้วอัญเชิญพระบุพโพไปยังพระเมรุข้างศาลา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปจุดเพลิงพระราชทาน แล้วพระบรมวงศานุวงศ์ถวายพระเพลิงพระบุพโพตามลำดับ[8]
วันที่ 22 มกราคม อัญเชิญพระบรมศพโดยพระมหาพิชัยราชรถไปยังพระเมรุมณฑป วัดบวรสถานสุทธาวาส ถึงวันที่ 24 มกราคม บ่าย 3 โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จฯ มาทอดผ้าสดับปกรณ์และพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
ชีวิตส่วนพระองค์
แก้เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุเข้าสู่วัยหนุ่ม มีพระโฉมงดงามเป็นสง่า และทรงด้วยพระสติปัญญารอบรู้ ประกอบกับการอบรมสั่งสอนจากพระราชบิดาอย่างใกล้ชิด[9] กระนั้นก็ทรงเป็นราชโอรสที่ซุกซนโลดโผน ห้าวหาญ และแข็งกล้าอย่างเด็กผู้ชาย ขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ต่อมาคือ มกุฏราชกุมารองค์ต่อมา) พระอนุชาต่างพระมารดา กลับมีอุปนิสัยสุภาพอ่อนโยน โปรดการนั่งพับเพียบเรียบร้อยเฉย ๆ[10] ทั้งสองพระองค์จึงถูกชาววังเปรียบเทียบว่าทรงแตกต่างดั่ง "พระอาทิตย์" กับ "พระจันทร์"[11]
เมื่อครั้งนั้นพระองค์มีพระหฤทัยผูกพันกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี พระภคินีต่างพระมารดาที่มีพระชันษาแก่กว่าพระองค์เพียง 10 เดือน[12] เหตุที่มีพระทัยสนิทเสน่หา สืบเนื่องมาจากความใกล้ชิดเมื่อครั้งทรงรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระราชชนกด้วยกัน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกิจอันเป็นความลับของประเทศ ทรงมิไว้วางพระทัยผู้ใดให้ทำหน้าที่ใกล้ชิดเกี่ยวกับการนี้ โปรดเกล้าฯให้แต่เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์เข้าเฝ้าใกล้ชิดตลอดเวลา[13]
ด้วยความผูกพันดังกล่าว สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ ทรงแสดงความในพระทัยออกมาเป็นสักวาที่ทรงนิพนธ์ในโอกาสอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมีพระราชชนกประทับอยู่ด้วย ซึ่งเจ้านายและชาววังแอบจำต่อกันมา ความว่า[14]
ได้ยลพักตร์ลักขณาสุดาพี่ | จะหาไหนไม่มีเสมอสอง |
เสงี่ยมงามทรามสงวนนวลละออง | ไฉนน้องไร้คู่อยู่เอกา |
ถ้าอยู่ได้ก็จะอยู่เป็นคู่ชื่น | สำราญรื่นร่วมจิตขนิษฐา |
จะบนบวงสรวงเทพเทวา | ขอให้สมปรารถนาครานี้เอย |
แต่หลังจากเหตุการณ์ ร.ศ. 112 พระองค์ก็มีเรื่องให้พระราชบิดากังวลพระราชหฤทัย เป็นเหตุให้พระบรมชนกนาถทรงมีลายพระราชหัตถเลขาสาปแช่งผู่ใหญ่ที่ทำให้พระราชโอรสผู้นี้ หลงทาง[15] แสดงให้เห็นถึงว่าพระราชชนกทรงรักและห่วงใยพระองค์ ซึ่งจะต้องเป็นเสาหลักในการปกครองประเทศต่อไป เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระบรมฯ ไปเที่ยวงานภูเขาทองซึ่งเป็นงานใหญ่ และได้เสด็จออกมาประทับ ณ วังสราญรมย์[16] และพบปะกับหม่อมผู้หนึ่งที่บ้านของพระยานรรัตนราชมานิต ด้วยความที่ทรงเป็นห่วงพระโอรสที่มีพระชนมายุยังน้อย ทั้งทรงเกรงว่าจะดำเนินไปในทางที่ไม่ควร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้กำชับและสาปแช่งพระยาเทเวศรฯ (ซึ่งเป็นพระอภิบาลในมกุฎราชกุมาร)[16] เนื่องด้วยทรงรังเกียจหม่อมผู้นั้นที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงพบปะด้วย ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาได้กล่าวถึงหม่อมผู้นี้ว่าไว้ว่า "...ประพฤติตนลามกต่าง ๆ ย่อมมาปรากฏแก่หูเราหลายสิบครั้ง"[17] ทั้งยังทรงแช่งพระยานรรัตนราชมานิตที่ทำให้สมเด็จพระบรมฯ เจอกับหม่อมผู้นั้นที่บ้านของตน[18] ซึ่งการสาปแช่งในครั้งนี้ว่าไม่ได้เป็นการสาปส่งหรือใช้ภาษาหยาบคายแต่ประการใด แต่เป็นการทั้งขอสาปส่งและสรรเสริญในท่าทีเดียวกัน หากผู้ถูก"พูดถึง" เหล่านั้นนำทุกเรื่องที่จะเกิดขึ้นมาอธิบายให้พระองค์ทราบ และทรงอธิบายไว้ในจดหมายต่าง ๆ ที่ส่งไปถึงคนเหล่านั้นด้วยว่า ที่ทำไปก็มิอยากให้ปิดบังการต่าง ๆ แก่พระองค์ ซึ่งจะเป็นผลพวงดีต่อพระราชโอรสของพระองค์ในบั้นปลายนั้นเอง และท้ายที่สุดสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ทรงรับปฏิญาณตามคำสั่งของพระราชบิดา เรื่องพระราชวิตกครั้งนี้จึงจบสิ้นลง[19]
อนึ่งจุลลดา ภักดีภูมินทร์ ได้อ้างว่า ต้นฉบับเลอะเลือนทำให้ไม่ทราบชื่อหม่อมผู้นั้น แต่ทราบเพียงว่าเป็นหม่อมห้ามของเจ้านายพระองค์หนึ่ง[19]
ความสนพระทัย
แก้พระองค์สนพระทัยการจดไดอารี ซึ่งไดอารีเล่มดังกล่าวพระองค์ได้รับพระราชทานมาจากพระราชบิดาในวันคล้ายวันประสูติเมื่อพระชนมายุครบ 5 ชันษาบริบูรณ์ และทรงเริ่มบันทึกทันทีที่ได้รับพระราชทาน โปรดฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐ หรือที่ทรงเรียกว่าป้าโสม เป็นผู้จดบันทึกตามคำบอกเล่าของพระองค์[20] ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ 9-10 พรรษา จึงทรงเริ่มบันทึกด้วยพระองค์เอง[20] นอกจากการจดบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ประจำวันแล้ว พระองค์ยังทรงแต่งโคลงไว้หลายบท อาทิ โคลงว่าด้วยรักซึ่งพระองค์ทรงแต่งขึ้นเพื่อถวายพระบรมชนกนาถสำหรับลงหนังสือวชิรญาณ ความว่า[21]
รักใครจะรักแม้น | ชนกนารถ |
รักบอยากจะคลาด | สักน้อย |
รักใดจะมิอาจ | เทียมเท่า ท่านนา |
รักยิ่งมิอาจคล้อย | นิราศแคล้วสักวันฯ |
นอกจากนี้พระองค์ทรงบันทึกถึงเรื่องการแต่งนิทานเป็นภาษาอังกฤษเพื่อไปลงหนังสือ Little Folks ของประเทศสิงคโปร์และทรงได้รับรางวัลด้วย[22] ในช่วงท้าย ๆ ของบันทึก เมื่อมีพระชันษาได้ 13-14 ปี ทรงบันทึกเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งทรงศึกษาจากครูฝรั่ง และทรงเรียกพระบรมชนกนาถในไดอารีว่า Papa[23] แต่หลังจากวันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2436 ทรงบันทึกหลังจากนี้อีกสามวัน แต่เป็นข้อความสั้น ๆ หลังจากนั้นก็มิได้บันทึกอะไรต่ออีก จนอีกสิบเดือนต่อมาก็เสด็จสวรรคต[24]
สมุดจดบันทึกรายวันเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ "จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ" โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานเป็นที่ระลึกในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[25]
พระราชกรณียกิจ
แก้หลังจากที่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เสด็จออกรับแขกเมืองและรับฎีกาของราษฎรแทนพระองค์ รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จเป็นผู้แทนพระองค์ในงานต่าง ๆ อยู่เสมอ
ในส่วนของราชการทหารนั้น พระองค์ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการทั่วไปในกรมทหาร แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีตำแหน่งผู้ว่าการแทนผู้บังคับบัญชาการทั่วไปในกรมทหารจนกว่าพระองค์จะว่าการได้ด้วยพระองค์เอง[26] เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรทหารโดยให้ดำรงพระยศที่นายร้อยโท[27]
พระเกียรติยศ
แก้ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร | |
---|---|
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ใต้ฝ่าละอองพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ |
พระราชอิสริยยศ
แก้- 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421 – 13 มกราคม พ.ศ. 2429 : สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
- 14 มกราคม พ.ศ. 2429 – 4 มกราคม พ.ศ. 2438 : สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร[28]
- 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร[29]
- 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 : สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ[30]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2425 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายหน้า)
- พ.ศ. 2429 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายหน้า)
- พ.ศ. 2429 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า)[31]
- พ.ศ. 2436 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) (คณาธิบดี)[32]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
แก้- ฝรั่งเศส :
- พ.ศ. 2435 - เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นที่ 1[33]
- เดนมาร์ก :
- พ.ศ. 2434 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์แดนเนอโบร ชั้นที่ 1[34]
- รัสเซีย :
- เยอรมนี :
- พ.ศ. 2434 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อินทรีแดง ชั้นที่ 1[36]
- อิตาลี :
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญมอริซและนักบุญลาซารัส ชั้นที่ 1
สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร | |
---|---|
รับใช้ | กองทัพบกสยาม |
ประจำการ | พ.ศ. 2430–2437 |
ชั้นยศ | นายร้อยโท |
หน่วย | กรมทหารมหาดเล็ก |
พระยศทางทหาร
แก้- 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 : ผู้บังคับบัญชาการทั่วไปในกรมทหาร
- 8 ธันวาคม พ.ศ. 2436 : นายร้อยโท ประจำกองทหารราบมหาดเล็ก
พระราชานุสรณ์
แก้- วังวินด์เซอร์ เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
- วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในการบูรณะวัดมหาธาตุ พร้อมกับพระราชทานเพิ่มสร้อยนามวัดว่า "ยุวราชรังสฤษฎิ์" เพื่อเป็นบุญนิธิแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ตึกถาวรวัตถุ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่กุฏิสงฆ์วัดมหาธาตุด้านทิศตะวันออก สถาปนาเป็นตึกถาวรวัตถุแทนอาคารประกอบพระเมรุ เพื่อเป็นที่เชิญพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มาประดิษฐานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณาทาน เมื่อการบำเพ็ญกุศลเสร็จแล้ว จะได้ทรงพระราชทานอุทิศถวายตึกถาวรวัตถุนี้เป็นสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย และพระราชทานเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยใหม่ว่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศ แต่การสร้างตึกถาวรวัตถุไม่แล้วเสร็จจนสิ้นรัชกาล
- พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา โปรดให้สร้างเพื่ออุทิศถวายเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ใช้เป็นที่ประทับทรงศีลในวันอุโบสถ
- ตึกวชิรุณหิศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- อาคารวชิรุณหิศ หรือ อาคาร 10 โรงเรียนหอวัง และพระรูปครึ่งพระองค์ ประดิษฐาน ณ ชั้น 2 ของอาคาร
- อาคารมหาวชิรุณหิศ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พงศาวลี
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓, ตอน ๔๔, วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙, หน้า ๓๖๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓, ตอน ๔๔, วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙, หน้า ๓๖๘
- ↑ จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, บันทึก ณ วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2429
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมารเป็นสามเณร, เล่ม ๘, หน้า ๒๒๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสมเด็จพระบรมโอรสาธิราฃลาพระผนวช, เล่ม ๘, หน้า ๓๘๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมโองการ ประกาศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสวรรคต, เล่ม ๑๑, ตอน ๔๑, ๖ มกราคม ร.ศ. ๑๑๓, หน้า ๓๒๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การสรงน้ำพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท, เล่ม ๑๑, ตอน ๔๒, ๑๓ มกราคม ร.ศ. ๑๑๓, หน้า ๓๓๔-๓๓๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเพลิงพระบุพโพ, เล่ม ๑๗, ตอน ๔๓, ๒๐ มกราคม ร.ศ. ๑๑๙, หน้า ๖๑๕-๖๑๗
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 140-141
- ↑ ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖. กรุงเทพฯ:มติชน. 2556, หน้า 246
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์. "'พระอาทิตย์' กับ 'พระจันทร์' ของชาววัง". ใน วชิราวุธานุสรณ์สาร 14:4. 11 พฤศจิกายน 2537, หน้า 64-68
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 141
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 141-142
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 142
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 143
- ↑ 16.0 16.1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 144
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 147
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 146
- ↑ 19.0 19.1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 148
- ↑ 20.0 20.1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 132
- ↑ จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, บันทึก ณ วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2431
- ↑ จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, บันทึก ณ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2433
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ : โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 159
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, 2535. หน้า 160
- ↑ "จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-29. สืบค้นเมื่อ 2012-10-20.
- ↑ "ประกาศจัดการทหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งตำแหน่ง ผู้บัญชาการทั่วไป (คอมมานเดออินชิฟ) โดยให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช รับตำแหน่ง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สืบค้นเมื่อ 03 พฤศจิกายน 2555.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระราชทานสัญญาบัตรทหาร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สืบค้นเมื่อ 03 พฤศจิกายน 2555.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, เล่ม ๓, ตอน ๔๔, วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙, หน้า ๓๖๘
- ↑ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
- ↑ "สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-23. สืบค้นเมื่อ 2020-01-25.
- ↑ "ข่าวราชการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 3 (ตอน 35): หน้า 289. 28 พฤศจิกายน 2429. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ตั้งตำแหน่งคณาธิบดีแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 10 (ตอน 17): 402. 10 ธันวาคม ร.ศ. 112.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม 9, ตอน 14, 3 กรกฎาคม ร.ศ. 111, หน้า 86
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ผู้แทนกงสุลเยเนอราลเดนมากเฝ้าทูลละอองธุลพระบาทถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 8, ตอน 52, 27 มีนาคม ร.ศ. 110, หน้า 470
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, เสด็จออกแขกเมือง เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 9, ตอน 44, 29 มกราคม ร.ศ. 111, หน้า 388
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, เสด็จออกแขกเมืองที่เกาะสีชัง, เล่ม 8, ตอน 14, 5 กรกฎาคม ร.ศ. 110, หน้า 117
ก่อนหน้า | สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) |
สยามมกุฎราชกุมาร (พ.ศ. 2429 - 2437) |
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร |