สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (14 กันยายน พ.ศ. 2420 – 2 มกราคม พ.ศ. 2466) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เป็นพระราชธิดาชั้นทูลกระหม่อมพระองค์แรกในรัชกาลที่ 5[1] มีพระโสทรานุชาพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กล่าวกันว่าพระองค์เป็นเจ้านายผู้มีพระสิริโฉมงดงามเป็นที่สุด และเป็นพระราชธิดาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดปราน[1][2]
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ | |
---|---|
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5 เจ้าฟ้าชั้นเอก กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร | |
ประสูติ | 14 กันยายน พ.ศ. 2420 พระบรมมหาราชวัง ประเทศสยาม |
สิ้นพระชนม์ | 2 มกราคม พ.ศ. 2466 (45 ปี) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประเทศสยาม |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระมารดา | สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี |
พระประวัติ
แก้พระชนม์ชีพช่วงต้น
แก้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 19 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อเวลา 09.21 น. ของวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2420[1] ได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระชนกนาถเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมปีเดียวกัน ดังปรากฏใน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 ความว่า "เวลาบ่าย 5 โมงเศษไปสมโภชเดือนลูกฟ้าหญิง ให้ชื่อสุทธาทิพย์รัตนสุขุมขัติยกัลยาวดี..."[3] และรับพระราชทานพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนามเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2430[4] พระชนกนาถตรัสเรียกว่า "ลูกหญิง" ชาววังออกพระนามว่า "ทูลกระหม่อมหญิง" หรือ "ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่" เนื่องจากพระองค์เป็นพระราชธิดาเจ้าฟ้าชั้นเอกพระองค์แรกในรัชกาล[1]
เล่ากันว่าก่อนที่พระองค์จะประสูตินั้น มีเจ้านายสตรีคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ยังเป็นทาริกาอยู่ เล่าขานนิยมชมชื่นกันในหมู่ชาววังและเจ้านายว่ามีพระรูปโฉมสวยงามนัก ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชธิดาพระองค์นี้ ความที่ทูลกระหม่อมหญิงมีพระรูปโฉมงดงาม ถึงกับพระบิดารับสั่งกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ว่า "ฉันไม่แพ้เธอแล้ว กรมพิชิต" หมายความว่าทรงมี "ลูกสาว" สวยไม่แพ้พระธิดากรมหลวงพิชิตฯ[5] แต่ที่สำคัญคือพระองค์มีพระพักตร์และพระรูปโฉมคล้ายคลึงกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเคยตรัสว่า "หน้าลูกหญิงเหมือนย่า พ่ออยากจุดธูปเทียนบูชาเหลือเกิน" และพระราชทานพระธำมรงค์ให้[6]
หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล ทรงเล่าประทานไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เมื่อทรงพระเยาว์นั้น ผิวพรรณขาวผุดผ่องไม่มีร่องรอยใด ๆ บนพระวรกายเลย จนเป็นที่เกรงกันในเวลานั้นว่าจะมีพระชนม์ไม่ยืน เมื่อมีพระชันษาได้หนึ่งปี วันหนึ่งขณะพระพี่เลี้ยงเชิญเสด็จขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับพระองค์ส่งพระราชทานต่อพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ปลายพระขนงของพระองค์ได้กระแทกกับขอบพานจนเกิดแผลเป็น ทำให้ชาววังโล่งใจว่าทรงมีแผลเป็น และคงจะมีพระชนม์ยืน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรทรงเข้ารับการศึกษาอย่างกุลสตรีชาววังตามโบราณราชประเพณีที่โรงเรียนราชกุมารีในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาวิชาภาษาไทยจากพระมารดา และพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)[7] และทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษจากครูมีทินและครูทิมจนแตกฉาน[6]
หลังโสกันต์
แก้เมื่อพระชันษาได้ 11 ปี พระองค์ได้เข้าพระพิธีโสกันต์ เมื่อทรงเครื่องสวมชฎาแล้วพระบิดาถึงกับตรัสว่า "ลูกพ่องามปานเทวดา" และเมื่อมีขบวนแห่โสกันต์นั้นมีเกร็ดเชิงซุบซิบเล่าต่อกันมาว่า บรรดาชาวบ้านที่ได้มาเฝ้าชมขบวนแห่ครั้งนั้นต่างก็ออกปากว่า "ลูกท่านงามนัก เลยต้องแห่กันถึงเย็น" อันที่จริงแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวีทรงพระประชวรพระโรคปัจจุบันและได้บรรทมหนุนที่พระเพลาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปในพระราชพิธีไม่ได้ จึงทำให้พิธีแห่โสกันต์นั้นต้องเลื่อนไปถึงค่ำ[2] หลังพระราชพิธีโสกันต์ พระองค์ต้องงดเสด็จออกจากพระราชฐานฝ่ายในและทรงสะพักอย่างขัตติยราชนารี แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรทรงกันแสง และทูลขอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้รับสั่งให้พระองค์เป็นเด็กต่อ เพื่อที่จะถวายงานราชเลขานุการิณีรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระชนกนาถที่ฝ่ายหน้าได้ต่อไป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้เป็นตามนั้น แต่ทรงตรัสไว้ว่า "เมื่ออายุครบ 18 เมื่อใดพ่อจะไม่ยอมลูกหญิงอีก"[5][6]
หลังจากนั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ทรงปฏิบัติตนเป็นเจ้านายฝ่ายในตามอย่างโบราณราชประเพณีอย่างเคร่งครัด ครั้นเจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นขรัวยายพิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้บำเพ็ญกุศลศพของเจ้าคุณจอมมารดาภายในพระบรมมหาราชวัง เพราะ "เพื่อความสะดวกแก่ลูกหญิงไม่ต้องข้ามฟาก"[6]
ในราชสำนักยุโรปมักเรียกพระองค์ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ว่า "ปรินเซสรอยัล" ซึ่งเทียบกับพระอิสริยยศ "สยามบรมราชกุมารี" ในปัจจุบัน[6] ครั้นวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในมีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร[8] เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เดียวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้รับพระราชทานกรมสูงสุดถึงกรมหลวง และพระนามกรมยังหมายความถึงกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นนามของเมืองหลวง[6]
การประชวรและการสิ้นพระชนม์
แก้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ประชวรพระโรคที่พระปัปผาสะและสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16.12 น. ของวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2465 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2466) สิริพระชันษา 45 ปี เวลา 17.30 น. ของวันถัดมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯมาพระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพที่วังบางขุนพรหม เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงพระลอง ประดิษฐานบนแว่นฟ้า 3 ชั้น ประกอบพระโกศกุดั่นใหญ่ยอดพุ่มเฟื่อง ตั้งเครื่องสูง 8 ชุมสาย 2 และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แล้วทรงทอดผ้าไตรเสร็จ พระสงฆ์สวดสดับปกรณ์แล้วถวายอนุโมทนา โปรดให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมทั้งกลางวันกลางคืนมีกำหนด 2 เดือน[9] ถึงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2466 เจ้าพนักงานเปลี่ยนพระโกศเป็นพระโกศทองใหญ่ เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาบำเพ็ญพระราชกุศล พระเทพมุนี (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) แสดงพระธรรมเทศนาหนึ่งกัณฑ์ วันที่ 4 ธันวาคม เวลา 13.00 น. เจ้าพนักงานเปลื้องพระโกศออก เชิญพระลองทรงพระศพขึ้นพระวอวิมานเทียมม้าออกจากวังบางขุนพรหมไปหยุดหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เชิญพระศพขึ้นพระเวชยันตราชรถ พระญาณวราภรณ์อ่านพระอภิธรรมนำขบวนเชิญพระศพไปยังพระเมรุท้องสนามหลวง ประกอบพระโกศจันทน์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า แสดงพระธรรมเทศนาหนึ่งกัณฑ์ เวลา 17.50 น. จึงพระราชทานเพลิงพระศพ[10]
ชีวิตส่วนพระองค์
แก้พระจริยวัตร
แก้หม่อมราชวงศ์สุดใจ บรรยงกะเสนา ผู้ที่ได้มาพึ่งพระบารมีทูลกระหม่อมหญิงมาตั้งแต่อายุ 11 ปี จนถึงสิ้นพระชนม์ ได้เขียนเล่าถึงทูลกระหม่อมหญิงว่า "ยังมิได้เล่าถึงพระรูปพระโฉมที่งดงามยิ่ง เมื่อทรงพระเจริญพระชันษาแล้ว ทูลกระหม่อมแดง (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ยังทรงชมว่า "พี่หญิงช่างงามจริง แม้ท่าบ้วนน้ำหมากก็ไม่เหมือนใคร" ส่วนพระมรรยาท พระอิริยาบถ ก็ได้ยินแต่คนสรรเสริญ และยอพระเกียรติ ว่าด้วยพระกุศลที่ได้ทรงทำไว้แต่หนหลังบันดาลให้งามพร้อมทั้งพระรูปโฉม พระนิสัย และน้ำพระทัย เป็นยอดขัตติยนารี"
หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล บันทึกไว้เมื่อคราวเกศากันต์ความว่า "ข้าพเจ้าพอใจจะอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เมื่ออยู่ในวังเคยทรงเล่าประทานว่า ข้าพเจ้าไปเดินตามทูลกระหม่อมหญิงติดอกต้องใจที่จะอยู่กับท่าน ไปงานในวังครั้งใดก็มุ่งที่จะไปเฝ้าทูลกระหม่อมนี้อยู่เสมอ"[6] ส่วนหม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล บันทึกเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรไว้ว่า "ในชั่วชีวิต 5 ขวบของข้าพเจ้า ยังไม่เคยเห็นใครที่งามและน่ารักเหมือนพระองค์ท่านเลย"[6]
แต่สำหรับในสายตาเด็ก ๆ อย่างพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงมองว่าทูลกระหม่อมหญิงนั้น "งามมาก แต่ค่อนข้างน่ากลัว" เนื่องจากเป็นพระราชธิดาชั้นทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่จึงเป็นชั้น "พระปิตุจฉา" ของเจ้านายชั้นพระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 เป็นส่วนมาก เมื่อพระบิดาตรัสเรียกว่า ลูกหญิง และผู้อื่นตรัสเรียกและระบุถึงว่า ทูลกระหม่อมหญิง เจ้านายชั้นพระภาติยะบางพระองค์จึงเผลอพระองค์ตรัสเรียกว่า ทูลกระหม่อมป้าหญิง ดังเช่นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ เล่ม 1 ว่า "ทูลกระหม่อมหญิงนั้น ทรงงามมาก แต่ค่อนข้างน่ากลัว" และเมื่อวันหนึ่งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ตรัสเรียกทูลกระหม่อมหญิงว่า ทูลกระหม่อมป้าหญิง ก็ทรงถูกตำหนิว่า "อะไร ทูลกระหม่อมป้าชายมีที่ไหน"[6]
ความสนพระทัย
แก้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรโปรดของสวยงาม พระองค์มีพระปรีชาสามารถด้านการถักนิตติง (Knitting) และแท็ตติง (Tatting) จนได้รับรางวัลประจำปีวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดการจัดดอกไม้ ร้อยดอกไม้[7] โดยทรงแปลงวิธีปักดอกไม้ขวดซึ่งแต่เดิมจะปักเสมอกันเป็นพุ่มมาแบบสูงข้างต่ำข้าง และปักใบไม้แซมหรือปล่อยให้ดอกห้อยลงมาบ้างกระจายกันไป พระองค์เป็นผู้ประดิษฐ์พวงมาลัยที่ผูกห้อยจากริบบินเป็นพระองค์แรก[6] พระองค์โปรดการถ่ายภาพ สามารถล้างและอัดภาพได้ด้วยพระองค์เอง[7] โดยภาพถ่ายของพระองค์ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดประจำปีด้วยเช่นกัน[6]
พระองค์มีพระนิพนธ์จำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือ "ฉันท์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์" ในรูปแบบอินทรวิเชียรฉันท์ 11 ปรากฏในหนังสือ กลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน เมื่องานรัชฎาภิเศกในรัชชกาลที่ 5 ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2464[7]
พระกรณียกิจ
แก้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรทรงรับราชการเป็นราชเลขานุการิณีในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้มีโอกาสตามเสด็จประพาสต้นหลายครั้ง[11] รวมทั้งตามเสด็จประพาสชวา ซึ่งได้โดยเสด็จออกแขกเมืองร่วมกับพระบิดา เมื่อพระบิดากำลังเสวยเครื่องและทรงงานไปด้วย จะมีรับสั่งให้พระองค์ทรงอักษรตามพระราชดำรัสสั่งงาน[12]
พระกรณียกิจด้านสาธารณกุศลนั้น พระองค์ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อร่วมก่อตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม (สภากาชาดไทย) และยังทรงดำรงตำแหน่งอุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง ร่วมกับเจ้านายฝ่ายในอีกหลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี, พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา, พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา[13]
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน 200,000 บาท ในโอกาสคล้ายวันประสูติเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2460 ในการสร้างตึกสุทธาทิพย์ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย[14] นับเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในพระองค์แรกที่ทรงบริจาคทรัพย์สร้างตึกถึง 200,000 บาท นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกพิเศษของสภากาชาดไทย เนื่องจากพระกรณียกิจที่พระองค์เป็นผู้อุปถัมภ์ช่วยเหลือกิจการสภากาชาดมาโดยตลอด[15]
พระเกียรติยศ
แก้ธรรมเนียมพระยศของ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร | |
---|---|
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พะยะค่ะ/เพคะ |
พระอิสริยยศ
แก้- 14 กันยายน พ.ศ. 2420 – 14 ตุลาคม พ.ศ. 2420 : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง
- 14 ตุลาคม พ.ศ. 2420 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2446 : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี
- 9 สิงหาคม พ.ศ. 2446 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร[16]
- 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 2 มกราคม พ.ศ. 2466 : สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร[17][18]
- 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร[19]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของตระกูลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[9]
- พ.ศ. 2430 – เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายใน)[20]
- พ.ศ. 2446 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายใน)[21]
- พ.ศ. 2436 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายใน)[22]
- พ.ศ. 2447 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 2 (ม.ป.ร.2)[23]
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 1 (จ.ป.ร.1)[24]
- พ.ศ. 2455 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 (ว.ป.ร.1)[25]
พระอนุสรณ์
แก้- ตึกสุทธาทิพย์ ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นตึกที่สร้างขึ้นจากการบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน 200,000 บาท เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2460
- เรือสุทธาทิพย์ เป็นเรือกลไฟเหล็กของบริษัท Siam Steam Navigation ตั้งชื่อตามพระนาม "สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์" ปัจจุบัน เรือสุทธาทิพย์ได้จมลงระหว่างเกาะโรงโขนกับเกาะจวง เนื่องจากถูกระเบิดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร [26]
พงศาวลี
แก้อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 103-104
- ↑ 2.0 2.1 หอมติดกระดาน, หน้า 191
- ↑ พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 105
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานพระสุพรรรณบัตร สถาปนาพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุธาทิพยรัตน์, เล่ม 4, ตอน 38, 6 มกราคม จ.ศ. 1887, หน้า 304
- ↑ 5.0 5.1 "รัชกาลที่ 5 รับสั่ง"ฉันไม่เธอแพ้แล้ว"เมื่อทรงมี"ลูกสาวสวย"ไม่แพ้กรมหลวงพิชิตปรีชากร". ศิลปวัฒนธรรม. 11 พฤศจิกายน 2562. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 "ตำนานใน "กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร" พระราชธิดาที่ร.5 ออกพระโอษฐ์ "งามเหมือนเทวดา"". ศิลปวัฒนธรรม. 13 เมษายน 2563. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ และพลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี (13 เมษายน 2563). "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน สุขุมขัตติยกัลยาวดี". นามานุกรมวรรณคดีไทย. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศตั้งกรม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฝ่ายใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี เก็บถาวร 2012-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 20, ตอน 19, 9 สิงหาคม พ.ศ. 2446, หน้า 312
- ↑ 9.0 9.1 ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์ เก็บถาวร 2009-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 39, ตอน ง, 7 มกราคม พ.ศ. 2466, หน้า 2779
- ↑ "การพระเมรุท้องสนามหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 40 (ง): 4000–4011. 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ http://valuablebook.tkpark.or.th/pdf/annals.pdf[ลิงก์เสีย] จดหมายเหตุการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ↑ หอมติดกระดาน, หน้า 75-76
- ↑ "อุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง". สภากาชาดไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-31. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2555.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย[ลิงก์เสีย]
- ↑ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต สภากาชาดไทย[ลิงก์เสีย], สืบค้นวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-06-04. สืบค้นเมื่อ 2007-12-15.
- ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงษ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 (ก): 1. 30 ตุลาคม 2453.
- ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงษ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 28 (ก): 154. 30 กรกฎาคม 2454.
- ↑ "ประกาศ คำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 52 (0ง): 1179–1180. 14 กรกฎาคม 2478.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวพระราชพิธีโสกันต พระราชพิธีโสกันตพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุธาทิพยรัตน และพระราชทานพระสุพรรณบัตรและเครื่องราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ฟ้าสุธาทิพยรัตน, เล่ม 4, ตอน 38, 6 มกราคม จ.ศ. 1249, หน้า 300
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การเฉลิมพระสุพรรณบัตร เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 20, ตอน 19, 9 สิงหาคม ร.ศ. 122, หน้า 307
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 10, ตอน 35, 26 พฤศจิกายน ร.ศ. 112, หน้า 374
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 21, ตอน 32, 6 พฤศจิกายน ร.ศ. 123, หน้า 570
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 25, ตอน 39, 27 ธันวาคม ร.ศ. 127, หน้า 1153
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน ฝ่ายใน, เล่ม 29, ตอน 0 ง, 22 มกราคม ร.ศ. 131, หน้า 2444
- ↑ ดร. พิชิต เมืองนาโพธิ์. "เรือจมสุทธาทิพย์". สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)
- บรรณานุกรม
- สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 69. ISBN 978-974-417-594-6
- จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2552. 600 หน้า. ISBN 978-974-9747-52-0
- ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553. 394 หน้า. ISBN 978-974-02-0643-9