สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ (4 กันยายน พ.ศ. 2422 — 25 กันยายน พ.ศ. 2422) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพระโสทรานุชาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระโสทรเชษฐภาดาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเป็นพระปิตุลาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5
เจ้าฟ้าชั้นเอก
ประสูติ4 กันยายน พ.ศ. 2422
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร
สิ้นพระชนม์25 กันยายน พ.ศ. 2422 (0 ปี 21 วัน)
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระประวัติ แก้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ ประสูติวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2422 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ บรมนริศรสมบัติเทวราช จุฬาลงกรณ์นาถปรมางกูร สมบูรณอุกฤษฐศักดิ์ อุโภตปักษ์วิสุทธิพงศ์ มหามกุฎราชรวิวงศ์วราวัตรลักษณสมบัติ ขัตติยราชกุมาร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์ในเขตพระราชฐานชั้นใน เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2422 พระชันษา 21 วัน ได้เชิญพระศพออกทางประตูพรหมศรีสวัสดิ์ไปตั้งยังหอธรรมสังเวช[1]

หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ครบ 100 วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชเทวีทรงสถาปนาพระพุทธรูปปางสมาธิ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ โดยโปรดให้ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นั้นไว้ที่ศาลาการเปรียญ วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร[2] ปัจจุบันอัญเชิญไปไว้ในพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[3]

ในการบำเพ็ญพระราชกุศลทุกวันที่ 31 พฤษภาคม เพื่ออุทิศถวายสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย พระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ พระอัฐิสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง พระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา พระอัฐิพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ออกตั้งด้วย[4] ดังปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันว่า[5]

"...เจ้าพนักงานเชิญพระอังคารขึ้นยานุมาศมีกระบวนแห่เทวดาเครื่องสูงกลองชะนะไปลงท่าพระ เชิญพระอังคารลงเรือชัย ๒ ลำมีเรือแห่ไปลอยที่หน้าวัดปทุมคงคาตามอย่างโบราณประเพณี แล้วกระบวนแห่ซึ่งเชิญพระอังคารไปส่งลงเรือ แล้วกลับเข้ามารับพระบรมอัฏฐิจากพระบรมมหาราชวัง เชิญออกพระที่นั่งทรงธรรมสดับปกรณ์ดังเช่นแต่ก่อน พระบรมอัฏฐิที่เชิญออกมาวันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ๑ เชิญสถิตย์บนบุษบกทองคำเปลวกลางพระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร พระองค์เจ้านภางค์พิพัทธพงศ์ เชิญสถิตย์ในบุษบกห้ายอดแล้วพระราชทานรางวัลเจ้านายข้าราชการที่ถวายของในการพระเมรุ แล้วเสด็จขึ้นข้างใน…"

พระเกียรติยศ แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ แก้

  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ (4 กันยายน พ.ศ. 2422 - 25 กันยายน พ.ศ. 2422)

ภายหลังสิ้นพระชนม์

  • สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. หอธรรมสังเวช หอนิเพทพิทยา และ หออุเทศทักษิณา ที่ตั้งสำหรับตั้งพระศพเจ้านายฝ่ายใน หอบรรณสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  2. สมบัติ จำปาเงิน. รัชกาลที่ ๕ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช. กรุงเทพฯ : 2020 เวิลด์ มีเดีย จำกัด, 2541.[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  3. ประมวลจารึกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2517, 95-96
  4. การพระราชกุศล วันที่ ๓๑ พฤษภาคม หอสมุดพระวชิรญาณ
  5. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ฉบับประจำวันที่ ๔๕๐๔ วันพฤหัสบดีแรม ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๒๔๒[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]