สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

สมเด็จพระสังฆราชไทย

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทย พระองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นหนึ่งในสิบพระเถระผู้เป็นต้นวงศ์ธรรมยุต[1] ประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2434 ขณะพระชันษาได้ 82 ปี ดำรงตำแหน่งได้ 10 เดือนก็สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2435 ขณะมีพระชันษา 83 ปี 14 วัน

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชไทย พระองค์ที่ 8
ดำรงพระยศธันวาคม พ.ศ. 2434 - 28 กันยายน พ.ศ. 2435(10เดือนเศษ)
สมณุตตมาภิเษก27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434
ก่อนหน้าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ถัดไปสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว)
ราชวงศ์จักรี
ประสูติ14 กันยายน พ.ศ. 2352
สิ้นพระชนม์28 กันยายน พ.ศ. 2435 (83 ปี)
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
พระบิดาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์
พระมารดาเจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก

พระประวัติ แก้

ทรงพระเยาว์ แก้

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 18 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 10 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 14 กันยายน จ.ศ. 1171 (พ.ศ. 2352) เวลาสี่ทุ่มเศษ เนื่องจากวันประสูตินั้นเป็นวันเริ่มสวดมนต์ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์จึงได้รับพระราชทานนามว่าพระองค์เจ้าฤกษ์[2]

เมื่อพระบิดาสวรรคตในปี พ.ศ. 2360 พระองค์ได้เสด็จไปประทับในพระบรมมหาราชวังกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี เป็นบางคราว เพราะเจ้าจอมมารดาของพระองค์เคยเป็นข้าหลวงของเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ต่อมาเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเทพยวดีได้นำพระองค์ไปฝากกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงคุ้นเคยกันมานับแต่นั้น[2]

ผนวช แก้

พ.ศ. 2365 เมื่อพระชันษาได้ 13 ปี ได้ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร โดยมีสมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วศึกษาภาษาบาลีตามคัมภีร์มูลกัจจายน์กับพระญาณสมโพธิ (รอด) จนชำนาญ ผนวชได้ 4 พรรษา ก็ประชวรด้วยพระโรคทรพิษ จึงลาผนวชมารักษาพระองค์จนหายประชวร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้ผนวชเป็นสามเณรอีกครั้ง ณ พระราชวังบวรสถานมงคล[2]

พ.ศ. 2372 เมื่อมีพระชันษาครบ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ลาสิกขาบทเพื่อทำการสมโภชพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ ที่จะทรงผนวชเป็นสามเณรในเวลานั้น ได้สมเด็จพระอริยวงษญาณ (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระวินัยรักขิต วัดมหาธาตุ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ผนวชแล้วศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะเป็นพระภิกษุ[2]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งธรรมยุติกนิกาย ก็ได้ทรงเข้าถือธรรมเนียมนั้นตาม ทรงทำทัฬหีกรรม ณ นทีสีมา โดยมีพระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงเป็นพระภิกษุเป็นพระกรรมวาจาจารย์ แล้วศึกษาพระปริยัติธรรมต่อในสำนักพระวิเชียรปรีชา (ภู่) แม้จะไม่เคยสอบพระปริยัติธรรม แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานตาลปัตรสำหรับพระเปรียญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงเคยรับ ให้ทรงใช้ต่อ[2]

ปีวอก พ.ศ. 2379 ทรงติดตามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ย้ายไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

พระอิสริยยศ แก้

 
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงฉายพระรูปที่หน้าพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชทานตาลปัตรแฉกถมปัด และเครื่องยศตามศักดิ์พระราชาคณะ ตั้งฐานานุกรมได้ 2 รูป รับนิตยภัตเดือนละ 3 ตำลึง และเบี้ยหวัดปีละ 2 ชั่งตามเดิม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า พระเจ้าวรวงษ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุต ปฏิบัติสุทธคณะนายก พุทธสาสนดิลกบวรัยยะบรรพชิต สรรพธรรมิกกิจโกศล สุวิมลปรีชา ปัญญาอรรคมหาสมณุดม บรมบพิตร และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตพระองค์แรก ตั้งฐานานุกรมได้ 11 รูป ได้รับนิตยภัตเดือนละ 5 ตำลึง เบี้ยหวัดปีละ 10 ชั่ง

เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกตลอดรัชกาลรวมเป็นระยะเวลา 15 ปี ในระหว่างนั้น พระองค์ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สอง รองจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งมหาสังฆปริณายก

เมื่อปี พ.ศ. 2416 พระองค์เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากลาผนวช ทรงตั้งพระทัยจะถวายมหาสมณุตตมาภิเษก แต่กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ไม่ทรงรับ เพราะถ่อมพระองค์ว่าจะเป็นเจ้าวังหน้า ไม่ควรข้ามชั้นเจ้านายวังหลวงหลายพระองค์ที่มีพระชันษาสูงกว่า[3] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ บวรรังษีสุริยพันธุ์ ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุต ปฏิบัติสุทธะคณะนายก พุทธสาสนดิลกบวรัยยะบรรพชิต สรรพธรรมิกกิจโกศล สุวิมลปรีชา ปัญญาอรรคอนาคาริยรัตโนดม พุทธะวราคมโหรกลากุสโลภาศ ปรมินทรมหาราชหิโตปัธยาจารย์ มโหฬารเมตยาภิธยาไศรย พุทธาทิศรีรัตนไตรคุณารักษ์ อุกฤษฐศักดิ์สกลสังฆปาโมกข์ ประธานาธิบดินทร มหาสมณคะณินทรวโรดม บรมบพิตร ได้รับนิตยภัตเดือนละ 10 ตำลึง เบี้ยหวัดปีละ 30 ชั่ง

การที่เลื่อนพระอิสริยยศครั้งนี้ แม้ว่าพระองค์จะไม่ทรงรับถวายมหาสมณุตมาภิเษกในที่สมเด็จพระสังฆราช แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถวายพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์สูงสุด เท่ากับทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช และมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปอื่นใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชเป็นระยะเวลาถึง 23 ปี

ในปี พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเจริญพระชนมายุไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดในพระบรมราชตระกูลอันนี้ ที่ล่วงลับไปแล้วก็ดี ยังดำรงอยู่ก็ดี ที่จะมีพระชนมายุเทียมถึง ทั้งยังเป็นที่นับถือของคนทั่วไปทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และฝ่ายบรรพชิต พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมสมเด็จพระ พระราชทานเบญจปฎลเศวตฉัตร ตาลปัตรแฉกพื้นตาด รับนิตยภัตเดือนละ 12 ตำลึง เบี้ยหวัดปีละ 35 ชั่ง ตั้งฐานานุกรมได้เพิ่มอีก 4 รูป มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

"พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ บวรรังษีสุริยพันธุ์ ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุต ปฏิบัติสุทธิคณะนายก ธรรมนิติสาธกปวรัยบรรพชิต สรรพธรรมิกกิจโกศล สุวิมลปรีชา ปัญญาอรรคมหาสมณุดม บรมพงษาธิบดี จักรกรีบรมนารถ มหาเสนานุรักษ์อนุราชวรางกูร ปรมินทรบดินทร์สูริย์หิโตปัธยาจารย์ มโหฬารเมตยาภิธยาไศรย์ ไตรปิฎกโหรกลาโกศล เบญจปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกฤษฐสมณศักดิธำรง มหาสงฆปรินายก พุทธสาสนดิลกโลกุตมมหาบัณฑิตย์ สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัตติยญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนไตรคุณารักษ์ เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาธิโลกยปฏิพัทธ พุทธบริสัษยเนตร สมณคณินทราธิเบศร์ สกลพุทธจักโรปการกิจ สฤษดิศุภการ มหาปาโมกษประธานวโรดม บรมนารถบพิตร"[4]

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า การเรียกพระนามพระบรมราชวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลแต่เดิมนั้นเรียกตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์ ไม่ได้เรียกตามสมณศักดิ์ของพระประมุขแห่งสังฆมณฑล คือ "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" หรือที่เรียกอย่างย่อว่า "สมเด็จพระสังฆราช" พระองค์จึงเปลี่ยนคำนำพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลว่า "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า" เพื่อให้ปรากฏพระนามในส่วนสมณศักดิ์ด้วย ดังนั้น จึงเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์"[5]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
 
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพะยะค่ะ/เพคะ

สิ้นพระชนม์ แก้

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประชวรด้วยต้อกระจกจนทำให้พระเนตรบอด[3] ต่อมาทรงพระประชวรด้วยพระโรคชราตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2435 ทำให้พระบังคนหนักไม่ได้ และรู้สึกหนาวพระวรกาย ถึงวันที่ 17 ทรงพระอาเจียน เสวยไม่ค่อยได้ บรรทมไม่หลับ ถึงวันที่ 21 เป็นวันอุโบสถ มีพระประสงค์จะลงอุโบสถ เพราะนับแต่ผนวชมาทรงลงอุโบสถเสมอไม่เคยขาด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกรงว่าหากเสด็จไปพระอาการจะทรุดลงจึงโปรดอุทิศพระตำหนักนั้นเป็นอุโบสถ เพื่อให้ทรงได้ทำอุโบสถตามพระประสงค์ วันต่อ ๆ มาพระอาการยังคงทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2435 เวลา 23:03 น.[6] พระชันษาได้ 83 ปี 13 วัน ผนวชเป็นพระภิกษุได้ 64 พรรษา

พระศพประดิษฐานอยู่ ณ พระตำหนัก นานถึง 8 ปี จึงพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2443[7]

พระปรีชาสามารถ แก้

 
ในการอุปสมบทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับนั่งทางซ้ายสุดของภาพ พระภิกษุรูปที่ 4 จากซ้ายคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงแตกฉานในภาษาบาลี พระนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในภาษาบาลีคือพระนิพนธ์เรื่อง "สุคตวิทัตถิวิธาน" ซึ่งทรงนิพนธ์เป็นภาษาบาลี นอกจากนี้ ยังได้ทรงนิพนธ์เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เป็นภาษาบาลีอีกหลายเรื่อง นับว่าพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลีที่สำคัญพระองค์หนึ่ง

 
จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน ต้นฉบับ

นอกจากจะเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลีแล้ว ยังมีพระปรีชาสามารถ ในด้านต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้ คือ

  • ด้านสถาปัตยกรรม ทรง ออกแบบพระปฐมเจดีย์ องค์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2396
  • ด้านโบราณคดี ทรงเป็นนักอ่านศิลาจารึกรุ่นแรกของไทยได้ศึกษาและรวบรวมจารึกต่าง ๆ ในประเทศไทยไว้มาก และได้ทรงอ่านจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ที่เป็นอักษรขอม เป็นพระองค์แรก
  • ด้านประวัติศาสตร์ ทรงนิพนธ์ลิลิตพงศาวดารเหนือ เรื่องพระปฐมเจดีย์ และพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น
  • ด้านดาราศาสตร์ ทรงพระนิพนธ์ตำราปฏิทินปักขคณนา (คำนวณปฏิทินทางจันทรคติ) ไว้อย่างพิสดาร
  • ด้านวิทยาศาสตร์ ทรงบันทึกจำนวนฝนตกเป็นรายวัน ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 45 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2389 ถึงปี พ.ศ. 2433 เพื่อเป็นการเก็บสถิติน้ำฝนในประเทศไทย เรียกบันทึกนี้ว่า จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน
  • ด้านกวี ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาบาลี ไว้เป็นจำนวนมาก ที่เป็นภาษาไทย ทรงนิพนธ์ไว้จำนวนมาก เช่น ได้ลงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กาพย์เสด็จนครศรีธรรมราช ลิลิตพงศาวดารเหนือ เป็นต้น
  • ด้านพระศาสนา ทรงเป็นองค์ประธานชำระและแปลพระไตรปิฎก พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ทรงกำหนดพระราชบัญญัติ และประกาศคณะสงฆ์ต่าง ๆ ทรงให้กำเนิดพระกริ่งในประเทศไทย ทรงสร้างพระกริ่งที่เรียกกันว่าพระกริ่งปวเรศ ซึ่งเป็นต้นแบบของพระกริ่งในยุคต่อมาของไทย

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. ประวัติคณะธรรมยุต, หน้า 25-29
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ราชกิจจานุเบกษา, พระประวัติพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์, เล่ม ๙, ตอน ๒๘, ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๑๘๙๒, หน้า ๒๒๔-๗
  3. 3.0 3.1 พระเกียรติคุณสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์), หน้า 6
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศการมหาสมณุตตมาภิเศก, เล่ม ๘, ตอน ๓๖, หน้า ๓๑๒-๓๑๕
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ ก ,๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๑๐
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์ พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์, เล่ม ๙, ตอน ๒๗, ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๑๘๙๒,หน้า ๒๑๗
  7. ราชกิจจานุเบกษา, การพระเมรุท้องสนามหลวง, เล่ม ๑๗, ตอน ๔๔, ๒๗ มกราคม ร.ศ. ๑๑๙, หน้า ๖๒๗-๖๓๑
บรรณานุกรม
  • สุเชาวน์ พลอยชุมพระเกียรติคุณสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์). กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2541. 116 หน้า. ISBN 974-580-854-7
  • ประวัติคณะธรรมยุต. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547. 447 หน้า. ISBN 974-399-612-5
ก่อนหน้า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ถัดไป
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
   
สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(พ.ศ. 2434 - พ.ศ. 2435)
  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
(สา ปุสฺสเทโว)
ไม่มี   ไฟล์:ธรรมยุตินิกาย.gif
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
(พ.ศ. 2394 - พ.ศ. 2435)
  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระวชิรญาณเถระ    
เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
(พ.ศ. 2394 – พ.ศ. 2435)
  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส


ก่อนหน้า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ถัดไป
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์   กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2420 – 28 กันยายน พ.ศ. 2435)
  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิเวศน์