สมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี)

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมว่า มี ประสูติเมื่อวันพุธขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2293 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งอาณาจักรอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานภูมิลำเนาเดิม ต่อมาผนวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[1]

สมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ดำรงพระยศ22 พฤษภาคม พ.ศ. 2359 - 11 กันยายน พ.ศ. 2362
สถาปนา22 พฤษภาคม พ.ศ. 2359
ก่อนหน้าสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
ถัดไปสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
สถิตวัดมหาธาตุ
ประสูติ15 กรกฎาคม พ.ศ. 2293
มี
สิ้นพระชนม์11 กันยายน พ.ศ. 2362 (69 ปี)

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระราชาคณะที่พระวินัยรักขิต ซึ่งเทียบเท่าพระอุบาลีแต่เดิม ที่ต้องเปลี่ยนเพราะเห็นว่าสมณศักดิ์นี้ไปพ้องกับพระอุบาลี ต่อมาในปี พ.ศ. 2337 ก็ทรงได้รับพระกรุณาธิคุณเลื่อสมณศักดิ์ให้สูงขึ้นในระดับพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระพิมลธรรม ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพนรัตน ต่อมาในปี พ.ศ. 2359 สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ได้สิ้นพระชนม์ลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในราชทินนามที่ สมเด็จพระอริยวงษญาณ

ในปี พ.ศ. 2360 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สามเณรเจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จไปทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุเป็นเวลา 1 พรรษา ตลอดเวลาที่ได้ประทับจำพรรษา สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงทำหน้าที่พระอาจารย์ ถวายความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัย พระไตรปิฎกตลอดจนทศพิธราชธรรม

ในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นพระธุระในการพัฒนาการศึกษา ดูและแก้วิธีการสอน การสอบไล่พระปริยัติธรรมทุกครั้งอย่างใกล้ชิด ได้ทอดพระเนตรเห็นข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอยู่ตลอด โดยมิได้ถือพระองค์ว่าทรงเป็นสังฆราชา จนในที่สุดได้ทรงปรึกษาหารือกับพระราชาคณะที่ เป็นเปรียญเอกอีกนับสิบรูป จนเห็นชอบทั่วหน้าในการปรับปรุงแก้ไขวิธีการสอน การสอบไล่ปริยัติธรรมใหม่ ได้ทรงกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน และการสอบเทียบความรู้ใหม่ ให้มี 9 ประโยค แทนหลักสูตรเก่าที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งมีการแบ่งหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมเพียง 3 ชั้น คือ บาเรียนตรี บาเรียนโท บาเรียนเอก

สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2362 ในสมัยรัชกาลที่ 2 สิริพระชันษาได้ 69 ปี 58 วัน

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๙ พระองค์, หน้า 43
บรรณานุกรม
  • วัดบวรนิเวศวิหาร. พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๙ พระองค์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อุดมศึกษา, 2552. ISBN 978-974-235-262-2
  • สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3
ก่อนหน้า สมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี) ถัดไป
สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช
(ศุข)
   
สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(พ.ศ. 2359 - พ.ศ. 2362)
  สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช
(สุก ญาณสังวร)