คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย โดยเป็นหนึ่ง 1 ใน 4 คณะแรกตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดิมใช้ชื่อว่า "คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์" ปัจจุบันประกอบด้วย 14 ภาควิชา แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพ กลุ่มวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และกลุ่มเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้านตะวันออกของถนนพญาไท ด้านข้างสระน้ำ

คณะวิทยาศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Science,
Chulalongkorn University
ชื่อเดิมคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์
สถาปนา26 มีนาคม พ.ศ. 2460; 107 ปีก่อน (2460-03-26)
สังกัดการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณบดีศาสตราจารย์ ดร.ประณัฐ โพธิยะราช
ที่อยู่
สี  สีเหลือง
เว็บไซต์www.sc.chula.ac.th

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะวิทยาศาสตร์ที่มีอาจารย์ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติมากที่สุดของประเทศไทย การจัดอันดับในกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจาก QS world university ranking by subject[1] พบว่า คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย อันดับที่ 258 ของโลก และเป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศที่ติดอันดับ

ประวัติ

แก้
 
ตึกขาว ปัจจุบันคือตึกชีววิทยา 1
 
ตึกขาวหรือศาลาวิทยาศาสตร์ อาคารหลังที่สองของจุฬาฯ
 
อาคารมหามกุฎ
 
อาคารมหาวชิรุณหิศ

คณะวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งในสี่คณะแรกเริ่มที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชื่อ "คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์" มีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อสอนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปประยุกต์ในการศึกษาขั้นสูงต่อไป ให้กับนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นคือคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเป็น คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลย้ายไปสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ยังคงทำหน้าที่สอนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เช่นเดิม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานนามใหม่แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ว่า "มหาวิทยาลัยมหิดล" และพระราชทานนามใหม่ให้กับคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลว่า "คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล" หน้าที่การสอนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงยุติลง แต่ในเวลานั้นคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว หน้าที่สอนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้กับคณะแพทยศาสตร์จึงดำเนินต่อไปจนมีการปรับปรุงหลักสูตรและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความพร้อมเพียงพอที่จะดำเนินการสอนภายในคณะ คณะวิทยาศาสตร์จึงยุติการทำหน้าที่นี้ลงเช่นในปัจจุบัน

นอกจากนี้คณะวิทยาศาสตร์ ยังสอนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังมีแผนกฝึกหัดครู (ต่อมาเป็นคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ที่เป็นแหล่งผลิตครูวิทยาศาสตร์ เพื่อสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับประถมและมัธยมศึกษาและยังคงทำหน้าที่นี้จนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากสมัยนั้น อาจารย์ที่สอนวิทยาศาสตร์ คือ แพทย์สามัญ ซึ่งไม่สามารถสอนวิทยาศาสตร์ได้ ทำให้นิสิตที่จบการศึกษามีความรู้ค่อนข้างจำกัด อีกทั้งการเรียนการสอนยังมีอุปสรรค เช่น นิสิตไม่มีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ จึงไม่สามารถนำตำราต่างประเทศมาใช้ในการสอนได้

ดังนั้น ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ให้ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ดำเนินการขอความอนุเคราะห์จากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ในการปรับปรุงการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ และวิชาวิทยาศาสตร์ โดยความร่วมมือนี้มีกำหนด 5 ปี ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลไทยจะต้องสร้างศาลาวิทยาศาสตร์หนึ่งหลัง เพื่อใช้ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ นับเป็นอาคารวิทยาศาสตร์หลังแรกที่รู้จักกันในนาม "ตึกขาว" ซึ่งเป็นตึกที่เก่าแก่ที่สุดในคณะ และจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในอนาคตซึ่งห้ามมิให้ทำการรื้อถอนใดๆ นอกจากการก่อสร้างศาลาวิทยาศาสตร์แล้ว รัฐบาลไทยต้องตั้งตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา โดยที่ทางมูลนิธิฯ จะออกเงินจ้างอาจารย์ภาษาอังกฤษให้ 1 คนเป็นเวลา 3 ปี และมูลนิธิฯจะให้ทุนนิสิตและอาจารย์ไปศึกษาวิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ณ ต่างประเทศ เพื่อให้กลับมารับตำแหน่งแทนศาสตราจารย์ของมูลนิธิฯ จากความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ทำให้คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น สามารถผลิตอาจารย์วิทยาศาสตร์ ผู้มีความรู้ความสามารถในการสอนวิชาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และคณะก็มีสาขาวิชาต่างๆ รวมทั้งนิสิตเพิ่มมากขึ้น ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชกฤษฎีกา วางระเบียบกรมต่างๆในกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) และมีการประกาศแยกคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกเป็นสองคณะ แต่ในวันที่ 29 มกราคม ปีเดียวกัน (ในสมัยนั้น พ.ศ.ของไทยเริ่มนับจากเดือนเมษายน) ก็มีประกาศให้คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์รวมกันอีกครั้ง จนในที่สุด ในปี พ.ศ. 2491 ได้มีประกาศแยกคณะอักษรศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ออกเป็นสองคณะอีกครั้งหนึ่ง

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงนับเป็นคณะแรกในประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ในขณะนั้นคณะวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย 4 ภาควิชา คือ คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา หลังจากนั้น คณะวิทยาศาสตร์ก็ได้เติบโตขึ้น และเพื่อให้ทันต่อกระแสความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ จึงมีการก่อตั้งภาควิชาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมา ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเทคโนโลยี เพื่อผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าทัดเทียมนานาประเทศ

ภาควิชา

แก้

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะวิทยาศาสตร์ที่มีจำนวนสาขาวิชา โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรีมากที่สุดในประเทศไทย โดยประกอบด้วย 14 ภาควิชา ได้แก่

ภาควิชาเคมีเทคนิค

แก้

ภาควิชาเคมีเทคนิคขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2502 จากวิสัยทัศน์ของ ศ.ดร.แถบ นีละนิธิ  ที่เห็นว่าอุตสาหกรรมเคมีจะเป็นอุตสาหกรรมที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาประเทศ  ถึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งภาควิชาเคมีเทคนิคขึ้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นภาควิชาแรกทางสาขาวิศวกรรมเคมีของประเทศไทย จึงนับได้ว่าภาควิชาเคมีเทคนิคเป็นแกนนำให้เกิดการพัฒนาการศึกษา แตกแขนงออกเป็นการศึกษาวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร และขยายขอบข่ายออกไป  เป็นภาควิชาวัสดุศาสตร์  เมื่อ พ.ศ. 2517  และภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร  เมื่อปี พ.ศ. 2527 ตามลำดับ[2]

หลักสูตรเคมีวิศวกรรม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหลักสูตรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างวิศวกรเคมีให้กับภาคอุตสาหกรรมมาตั้งแต่เปิดสอนหลักสูตรเมื่อ พ.ศ. 2502 มาจนถึงปัจจุบัน หลักสูตรเคมีวิศวกรรมได้รับการรับรองโดยสภาวิศวกรในสาขาวิศวกรรมเคมี

หลักสูตร

แก้
ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์
  • สาขาวิชาเคมี
  • สาขาวิชาเคมีประยุกต์ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาเคมีวิศวกรรม
  • สาขาวิชาจุลชีววิทยา
  • สาขาวิชาชีวเคมี
  • สาขาวิชาชีววิทยา
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาหาร
  • สาขาวิชาธรณีวิทยา
  • สาขาวิชาพฤกษศาสตร์
  • สาขาวิชาพันธุศาสตร์
  • สาขาวิชาฟิสิกส์
  • สาขาวิชาวัสดุศาสตร์
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
  • สาขาวิชาสัตววิทยา

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์
  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์และวิทยาการคณนา
  • สาขาวิชาเคมี
  • สาขาวิชาเคมีเทคนิค
  • สาขาวิชาจุลชีววิทยาและเทคโนโลยีจุลินทรีย์
  • สาขาวิชาชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุล
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ (สหสาขาวิชา)
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีเชื้อเพลิง
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีเซรามิก
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีทางภาพ
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาหาร
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีเยื่อและกระดาษ (สหสาขาวิชา)
  • สาขาวิชาธรณีวิทยา
  • สาขาวิชาธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาปิโตรเคมีและวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ (สหสาขาวิชา)
  • สาขาวิชาพฤกษศาสตร์
  • สาขาวิชาพันธุศาสตร์
  • สาขาวิชาฟิสิกส์
  • สาขาวิชามาตรวิทยา (สหสาขาวิชา)
  • สาขาวิชาโลกศาสตร์
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ประยุกต์และเทคโนโลยีสิ่งทอ
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาสัตววิทยา

วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วท.ด.)

  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์
  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์และวิทยาการคณนา
  • สาขาวิชาเคมี
  • สาขาวิชาเคมีเทคนิค
  • สาขาวิชาจุลชีววิทยาและเทคโนโลยีจุลินทรีย์
  • สาขาวิชาชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุล
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร (สหสาขาวิชา), (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ (สหสาขาวิชา)
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีทางภาพ
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาหาร
  • สาขาวิชาธรณีวิทยา
  • สาขาวิชาปิโตรเคมี (สหสาขาวิชา)
  • สาขาวิชาพฤกษศาสตร์
  • สาขาวิชาฟิสิกส์
  • สาขาวิชาวัสดุศาสตร์
  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (สหสาขาวิชา)
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์มหโมเลกุล (สหสาขาวิชา)
  • สาขาวิชาสัตววิทยา

อันดับและมาตรฐานของคณะ

แก้

ผลการจัดอันดับในกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจาก QS world university ranking by subject[1] จาก Quacquarelli Symonds (QS) พบว่าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย อันดับที่ 258 ของโลก และเป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศที่ติดอันดับ นอกจากนั้นยังมีผลการจัดอันดับแยกตามรายวิชาซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สาขา อันดับโลก อันดับในประเทศ
วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม 101 – 150 1
ภูมิศาสตร์* 101 – 150 1
เคมี 151 – 200 1
วัสดุศาสตร์* 151 – 200 1
วิทยาศาสตร์ชีวภาพ 201 – 250 1 (ร่วม)
วิทยาการคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ 201 – 250 1
ฟิสิกส์และดาราศาสตร์* 301 – 350 1

หมายเหตุ *เป็นแห่งเดียวในประเทศที่ติดอันดับ

พิพิธภัณฑ์ภายในคณะ

แก้
 
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ

นอกจากจัดการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว คณะวิทยาศาสตร์ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ซึ่งรับผิดชอบโดยภาควิชาต่าง ๆ ของคณะ ได้แก่

  • พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่ตึกชีววิทยา 1 ภาควิชาชีววิทยา จัดแสดงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์และความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสภาพแวดล้อม[3]
  • พิพิธภัณฑสถานธรณีวิทยา ตั้งอยู่ที่ตึกธรณีวิทยา ชั้น 1 ภาควิชาธรณีวิทยาจัดแสดงตัวอย่างหินชนิดต่าง ๆ ลักษณะชั้นหินและฟอสซิลที่ภาควิชาเก็บตัวอย่างมาจากการสำรวจ[4]
  • พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ ตั้งอยู่ชั้น 3 และชั้น 6 ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ จัดแสดงประวัติศาสตร์เทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ในประเทศไทย และความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน[5]
  • พิพิธภัณฑสถานพืชศาสตราจารย์กสิน สุวะตะพันธุ์ ตั้งอยู่ที่ตึกพฤกษศาสตร์ ชั้น 4 ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์[6] จัดแสดงตัวอย่างพันธุ์ไม้ ทั้งตัวอย่างแห้ง ตัวอย่างรักษาสภาพโดยการดอง ตัวอย่างผล เมล็ด ละอองเรณู และสปอร์ ภาพถ่าย ภาพวาดสไลด์สีโปร่งแสง ตัวอย่างเนื้อไม้ ซากดึกดำบรรพ์ (fossil) เป็นที่ตั้งของฐานข้อมูล เฟิร์น กล้วยไม้เมืองไทยและพืชมีพิษของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พิพิธภัณฑ์หอยทากของไทย ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ห้อง 218 ตึกชีววิทยา 1 (ตึกขาว) คณะวิทยาศาสตร์[7]จัดแสดงนิทรรศการหอยทากที่พบในประเทศไทย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในรายการบันทึกของพิพิธภัณฑ์สถานธรรมชาติวิทยาแห่งหนึ่งของโลก

คณาจารย์และศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

แก้

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคณาจารย์ได้รับรางวัลดีเด่นด้านการสอนและการวิจัยทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ เป็นจำนวนมาก เช่น รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จำนวน 7 ท่าน รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 17 ท่าน รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นจำนวน 1 ท่าน รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จำนวน 10 ท่าน รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ จำนวน 1 ท่าน และมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง เช่น

ดูเพิ่ม

แก้
  • สถานศึกษาเคมีปฏิบัติ เป็นสถาบันสมทบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรอนุปริญญาเคมีปฏิบัติ ปัจจุบันไม่เปิดรับนิสิตเข้าศึกษาแล้ว

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 https://www.topuniversities.com/subject-rankings/2017
  2. http://www.chemtech.sc.chula.ac.th/ct/about-us/
  3. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2558. http://www.chula.ac.th/th/archive/museum/3601 เก็บถาวร 2018-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (1 กันยายน 2559 ที่เข้าถึง).
  4. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิพิธภัณฑสถานธรณีวิทยา. 2558. http://www.chula.ac.th/th/archive/museum/3609 เก็บถาวร 2018-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (1 กันยายน 2559 ที่เข้าถึง).
  5. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ. 2558. http://museum.stkc.go.th/cu/photo.php เก็บถาวร 2017-09-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (1 กันยายน 2559 ที่เข้าถึง).
  6. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิพิธภัณฑสถานพืชศาสตราจารย์กสิน สุวะตะพันธุ์. 2558. http://www.chula.ac.th/th/archive/museum/3594 เก็บถาวร 2017-10-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (1 กันยายน 2559 ที่เข้าถึง).
  7. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิพิธภัณฑ์หอยทากของไทย. 2558. http://www.chula.ac.th/th/archive/museum/3587 เก็บถาวร 2017-10-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (1 กันยายน 2559 ที่เข้าถึง).

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′10″N 100°31′49″E / 13.736131°N 100.530314°E / 13.736131; 100.530314