สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

พระอัครมเหสีพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระมเหสีพระองค์แรก

พันเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระนามเดิม หม่อมเจ้ารำไพพรรณี (20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 — 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527) เป็นพระอัครมเหสีพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระมเหสีพระองค์แรกตามระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย หลังจากพระราชสวามีสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2478 พระองค์ประทับอยู่ประเทศอังกฤษจวบจนพระราชสวามีเสด็จสวรรคต และเสด็จนิวัตกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2492 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลในขณะนั้น

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินี
พระอัครมเหสี
ดำรงพระยศ25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2478
(9 ปี 5 วัน)
สถาปนา25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469
พระราชสมภพ20 ธันวาคม พ.ศ. 2447
กรุงเทพมหานคร อาณาจักรสยาม
สวรรคต22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 (79 พรรษา)
วังศุโขทัย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พระราชสวามีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ราชวงศ์จักรี
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์
พระราชมารดาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี
ศาสนาพุทธ
ลายพระอภิไธย

ในอดีตกล่าวกันว่าพระองค์เป็นสตรีชาวไทยที่ทรงพระสิริโฉมสามารถเลือกฉลองพระองค์ยุโรปมาสวมใส่ได้อย่างเหมาะสม[1] ทั้งยังมีพระจริยวัตรนุ่มนวล พระพักตร์แจ่มใส แย้มพระสรวลอยู่เนืองนิตย์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ประสบกับโลกธรรมและความสูญเสียอันใหญ่ยิ่งมาแล้ว[1]

พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระบรมราชินีในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังหัวเมือง รวมทั้งต่างประเทศเพื่อเป็นการเชื่อมพระราชไมตรีระหว่างประเทศ ภายหลังการนิวัติประเทศไทยหลังการสวรรคตของพระราชสวามีแล้ว พระองค์ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลายหลายครั้ง เมื่อเสด็จย้ายไปประทับ ณ จังหวัดจันทบุรี ทรงดำเนินกิจการในด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และทรงพัฒนาการทอเสื่อ เพื่อเป็นโครงการตัวอย่างและนำความรู้นั้นออกเผยแพร่แก่ประชาชน นอกจากนี้ พระองค์ยังมีส่วนในการพัฒนาการสาธารณสุขและการศึกษาของชาวจันทบุรี โดยรับเป็นพระราชภาระในการปรับปรุงโรงพยาบาลพระปกเกล้า รวมทั้งทรงตั้งมูลนิธิพระปกเกล้าเพื่อสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

พระราชประวัติ

ขณะยังทรงพระเยาว์

 
ขณะยังทรงพระเยาว์

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา)[2] ส่วนพระมารดาคือหม่อมเจ้าอาภาพรรณี สวัสดิวัตน์[2] (ราชสกุลเดิม คัคณางค์) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ภายหลังหม่อมเจ้าอาภาพรรณีได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี[3]

พระองค์มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ บ้างสะกดว่า รำไภพรรณี[4] ชาววังเรียกขานพระนามพระองค์ว่า ท่านหญิงนา ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ผู้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ ได้เล่าถึงที่มาของพระนามนี้ว่า[5]

...เพื่อนเล่นที่ข้าพเจ้ารักมากที่สุดเป็นหญิง และแก่กว่าข้าพเจ้าราวสามปี เป็นหม่อมเจ้าธิดาของเสด็จปู่สวัสดิ์ ทรงนามว่า รำไพพรรณี และเรียกกันในเวลานั้นว่า ท่านหญิงนา หม่อมเจ้าหญิงนั้นโดยมากจะเรียกกันว่า ท่านหญิงใหญ่ ท่านหญิงเล็ก ท่านหญิงน้อย ดังนี้เป็นต้น การถูกเรียกว่าท่านหญิงนานั้น ผู้อ่านบางคนอาจจะเห็นว่าแปลก เรื่องราวเป็นเช่นนี้ เมื่อเล็ก ๆ อยู่เป็นเด็กที่มีรูปร่างอ้วน จึงถูกล้อว่าเป็นเต่า สำหรับไทยเราการถูกเรียกว่าเต่าเมื่อเล็ก ๆ ไม่เป็นของเสียหาย แม้ทูลหม่อมลุงก็เคยถูกสมเด็จย่าเรียกว่าเต่า อย่างไรก็ดี เมื่อท่านหญิงนายังเล็ก ๆ อยู่ ได้ถูกถามว่า “อยากเป็นอะไร อยากเป็นเต่าทองหรือเต่านา” ท่านหญิงองค์เล็กได้ยิ้มและตอบว่า "อยากเป็นเต่านา" และก็เลยกลายเป็นท่านหญิงนาตั้งแต่นั่นมา...

เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาได้ 2 พรรษา พระบิดาได้นำเข้าไปถวายตัวแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามราชประเพณีของเจ้านายสมัยก่อนที่ถวายตัวเข้าไปอยู่ในวังตั้งแต่มีพระชันษายังน้อย ซึ่งในระยะนั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระราชวังดุสิต ในเวลานี้หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีกำลังทรงศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นอยู่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีมีชันษาได้ 6 ปี ได้ทรงย้ายสถานที่พักจากพระราชวังดุสิต ไปพระบรมมหาราชวังตามสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถไปด้วย และได้เสด็จเข้าทรงศึกษาในโรงเรียนราชินีพร้อมหม่อมเจ้าพระองค์อื่น ๆ หลังจากเสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถได้เสด็จย้ายจากพระบรมมหาราชวังไปสู่พระราชวังพญาไท ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้นใหม่และได้ประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้เป็นการถาวรจนตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ซึ่งหม่อมเจ้ารำไพพรรณีได้ตามเสด็จมาด้วยโดยประทับอยู่บนพระตำหนักฝ่ายในติดกับห้องเสวย

เมื่อหม่อมเจ้ารำไพพรรณีมีชันษาได้ 8 ปีเศษ และได้ผ่านพระราชพิธีเกศากันต์ (โกนจุก) แล้ว ก็ได้ทรงรู้จักกับ ร้อยโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งได้เสด็จนิวัตกลับกรุงเทพมหานคร หลังจากทรงได้สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศอังกฤษแล้ว สาเหตุก็อันเนื่องมาจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังพญาไทกับพระชนนีเป็นครั้งคราว และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีจะเป็นผู้ที่สนิทกันมากที่สุดด้วย

อภิเษกสมรส

เมื่อปี พ.ศ. 2460 หลังจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ได้ทรงลาสิกขาจากการผนวช ณ พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ก็ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะเสกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีอภิเษกสมรสพระราชทานขึ้น ณ วังศุโขทัย ถนนสามเสน และพระราชพิธีอภิเษกสมรสที่ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน[6] การอภิเษกสมรสในครั้งนี้ถือเป็นพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรก หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์[7] รวมทั้งยังเป็นการแต่งงานแบบตะวันตกอย่างแท้จริง กล่าวคือมีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาวด้วย[8][9]

ส่วนวังศุโขทัยนั้น ได้สร้างขึ้นก่อนที่ทั้ง 2 พระองค์จะทรงเสกสมรสกัน โดยเป็นเรือนหอที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานสร้างให้บริเวณคลองสามเสน และพระราชทานนาม "วังศุโขไทย"[10] ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี ขึ้นเป็น หม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา

สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้หม่อมเจ้ารำไพพรรณี ได้เลื่อนยศขึ้นเป็น "พระวรราชชายา" มีพระนามว่า หม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การนี้พระองค์ได้สถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี[11][12] ซึ่งนับเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรกที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[13]

ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประทับอยู่ที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ไปทรงเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศทางทวีปยุโรป และได้ทรงรับการผ่าตัดและรักษาพระเนตร ณ ประเทศอังกฤษ

การสละพระราชบัลลังก์ของพระราชสวามี

 
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในอิริยาบถสบาย

ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ประทับ ณ วังไกลกังวล เพื่อให้พ้นจากสองฝ่ายทั้งสองฝ่ายจึงเสด็จฯ โดยเรือศรวรุณ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ท่ามกลางสภาวะอากาศเลวร้ายใช้เวลากว่าสองวัน จึงถึงจังหวัดสงขลา ไปประทับ ณ ตำหนักเขาน้อย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงเล่าความในพระราชหฤทัยครั้งนั้นว่า[14]

ฉันไม่คิด ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าจะตายก็ตายด้วยกัน

ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 (นับศักราชตามเดิม) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ สู่ทวีปยุโรป[15] แต่ก็ยังมีการขัดแย้งเจรจาเกี่ยวกับการเมืองกับทางกรุงเทพมหานครสืบเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุด ก็มีการขัดแย้งกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาล เช่นในเรื่องที่รัฐบาลได้แต่งตั้งพรรคพวกเข้าเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่สองและรัฐบาลไม่ได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ไม่ตรงกับพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงแสดงความไม่เห็นพ้องกับคณะผู้บริหารประเทศด้วยการตัดสินพระราชหฤทัยทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่ยังประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า[16]

เห็นพ้องต้องกันกับพระราชสวามีในการตัดสินพระราชหฤทัยสละราชย์

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศที่จะทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระประยูรญาติสนิทบางพระองค์ จึงทรงย้ายที่ประทับจากใจกลางเมืองไปอยู่ในชนบทใกล้กรุงลอนดอน ทรงวางพระองค์เยี่ยงคหบดีชนบท ทรงจัดสวน เลี้ยงนกเลี้ยงปลา เสด็จประพาสทัศนศึกษาตามโบราณสถานต่าง ๆ เป็นต้น

ในช่วงที่ประทับอยู่ในสหราชอาณาจักรนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ยังทรงปรนนิบัติพระองค์ จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย มีพระชนมพรรษา 48 พรรษา

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงจัดการเรื่องพระบรมศพและถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการภายในเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ปีนั้น นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งต้องทรงสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินียังประทับอยู่ในประเทศอังกฤษต่อไปดังเดิม ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว เพราะการคมนาคมติดต่อระหว่างประเทศยังไม่มีความปลอดภัยในช่วงสงคราม และเมื่อประเทศไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น คนไทยจำนวนไม่น้อยอพยพกลับประเทศไทยหลังการประกาศสงคราม แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่พำนักอยู่ในต่างประเทศได้ประกาศตัวเป็นเสรีไทย ทำงานประสานกับเสรีไทยในกรุงเทพมหานคร โดยรัฐบาลอังกฤษยังคงให้เกียรติพระองค์มาตลอด แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษได้สั่งห้ามมิให้ชาติศัตรูใช้รถยนต์ ยกเว้นแต่กรณีพิเศษซึ่งพระองค์ก็ได้สิทธิพิเศษนั้น และคอยจัดน้ำมันเบนซินซึ่งหายากในช่วงนั้นมาให้พระองค์ใช้อยู่เป็นประจำ[17]

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี แม้จะมิได้มีพระนามร่วมในคณะเสรีไทยอย่างเป็นทางราชการ แต่ก็ได้พระราชทานพระกรุณาอุดหนุนจุนเจือกิจการของเสรีไทยในประเทศอังกฤษมาตลอด ซึ่งในขณะนั้นมีเสรีไทยทั้งหมดเพียง 36 คนในประเทศอังกฤษ

เสด็จกลับประเทศไทย

 
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จฯ นิวัติประเทศไทยพร้อมพระบรมอัฐิของพระสวามี

ในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จนิวัตกรุงเทพมหานคร พร้อมกับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ ที่อันควรแก่พระบรมราชอิสริยยศ ในพระบรมมหาราชวัง

สำหรับพระราชฐานะของพระองค์เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยนั้น เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการพระราชวัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และหม่อมราชวงศ์เทวาธิราช เทวกุล ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นว่า[18]

...สมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชินีโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ในงานพิธีราชาภิเษกรัชกาลที่ ๗ จริงอยู่ทุกประเทศ รวมทั้ง ประเทศไทยด้วย เมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาลฐานะของพระราชินีย่อมเปลี่ยนไป เช่น พระราชินีแมรี่และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี ฉะนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติแล้วและการแต่งตั้งพระราชินีรำไพพรรณีไม่มีการเพิกถอน ท่านก็น่าจะคงเป็นพระราชินีตามเดิม แต่ไม่ใช่พระราชินีซึ่งพระราชสวามีทรงราชย์ Queen Consort เปลี่ยนเป็นพระราชินีวิธวา Queen Dowager ฉะนั้น น่าจะขนานพระนามถวายโดยอนุโลมพระสวามีว่า สมเด็จพระบรมราชินี รัชกาลที่ ๗...

แต่เมื่อพระองค์เสด็จกลับมายังพระตำหนัก วังศุโขทัยซึ่งเคยเป็นที่ประทับ ได้กลับกลายเป็นสำนักงานของกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว พระองค์จึงต้องเสด็จไปประทับที่วังสระปทุม ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกแทน เนื่องจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีไปอยู่ร่วมกับพระองค์ โดยทรงไปประทับอยู่ที่วังสระปทุมนานถึง 3 ปี จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่พระตำหนักวังศุโขทัยอีกครั้ง

หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจแบ่งเบาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยในขณะนั้นเหล่าพระโอรสและพระธิดาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงพระเยาว์[19]

สวรรคต

 
พระเมรุมาศ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงเริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคความดันพระโลหิตสูง ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ในขณะที่มีพระชนมพรรษาได้ 71 พรรษา[20] และวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เวลา 15.50 นาฬิกา พระองค์เสด็จเสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยพระอาการสงบ ณ พระตำหนักวังศุโขทัย[21] รวมพระชนมพรรษาได้ 79 พรรษา 5 เดือน 2 วัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวัง จัดการพระบรมศพถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณี โดยอัญเชิญพระบรมศพถวายพระลองทองใหญ่ประกอบพระโกศ ประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดลจำหลักลายประดับรัตนชาติภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวาย มีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสวรรคตเป็นต้นไป[22] นอกจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้สถานที่ราชการต่าง ๆ ลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน และให้ข้าราชการไว้ทุกข์เป็นเวลา 15 วันด้วย[23]

สำหรับพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพออกแบบโดยนายประเวศ ลิมปรังษี โดยใช้พระเมรุมาศองค์กลางของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมาเป็นแนวทางในการออกแบบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึงแนวทางการออกแบบว่า “ขอให้ดำเนินการโดยประหยัด แต่ให้ครบถ้วนตามขัตติย ราชประเพณี และสมพระเกียรติยศพระบรมศพ อีกประการหนึ่งฐานพระเมรุมาศไม่ควรสูงนักจะเป็นการลำบาก แก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่จะขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพซึ่งทรงเจริญพระชนมายุมากพระพรรษาด้วยกันหลายพระองค์”[24]

พระเมรุมาศเป็นอาคารทรงปราสาทแบบจตุรมุข ยอดทรงมณฑปประกอบด้วยพรหมพักตร์ ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นฐานทักษิณสำหรับองค์พระเมรุมาศนั้น ส่วนหลังคาประกอบด้วยมุขทิศและเครื่องยอด ประดับตกแต่งด้วยลวดลายกระดาษทองย่นฉลุสาบสี หน้าบันประดับพระนามาภิไธยย่อ ร.พ. องค์พระเมรุเป็นอาคารโถง ตกแต่งด้วยม่านผาตาด มีฉากบังเพลิง ผนังภายนอกประดับลายกระดาษทองย่นฉลุลายสีแบบลงยา ผนังภายในใช้สีชมพูเป็นพื้นส่วนฐานทักษิณมีบันได 4 ทิศ ประดับด้วยรูปปั้นเทวดา ในท่านั่งบนแท่นเสาพนักลูกกรงระเบียงโดยรอบ ตามคติไตรภูมิตามแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ[25]

ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528 จึงมีการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง หลังจากนั้น จึงมีการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานองค์ซ้าย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และเชิญพระราชสรีรางคารไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร[26]

พระจริยวัตร

 
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีขณะฉลองพระองค์อย่างสตรีตะวันตก

พระองค์ทรงเป็นสตรีที่มีพระสิริโฉมงดงาม พระจริยวัตรอันนุ่มนวล มีพระพักตร์แจ่มใส และแย้มพระสรวลอยู่เสมอ แลดูเอิบอิ่มเต็มไปด้วยพระกรุณา[1] นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักจากการแต่งพระองค์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งในเรื่องดังกล่าว พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้นิพนธ์ลงในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ เล่ม 2 ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระเนตรที่ยุโรป หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความว่า[1]

"สมเด็จ [สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี] นั้นดูจะงามยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนอีก แต่งพระองค์อย่างสตรีชาวยุโรปโดยทรงเลือกได้อย่างเหมาะสม ซึ่งผู้หญิงไทยน้อยคนจะทำได้ดีเท่า "แน่ละท่านมีเงินมากจะซื้ออะไรก็ได้" แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย การแต่งตัวสวยนั้นไม่อยู่แต่ที่เงินถึงมีมากเท่าใด ถ้าไม่มีความสามารถในทางเลือกแล้ว ก็แต่งกายเคอะอยู่ดี ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ยังไม่เคยเห็นผู้หญิงไทยที่เมืองนอกที่งามเท่าหรือแต่งกายเก๋และสวยเท่าสมเด็จรำไพพรรณี"

เช่นเดียวกับหม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี ซึ่งเคยพบกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มาแล้ว แม้ว่าจะมีพระชนมายุสูง แต่ก็ยังคงสวยสดงดงาม มีพระพักตร์แจ่มใส พระฉวีขาวอมชมพู ความว่า[27]

"...สมเด็จฯ คงมีพระชันษาประมาณ 45 ปี แต่ยังคงทรงงดงาม แจ่มใส พระฉวีขาวผ่องอมชมพู และพระพักตร์อ่อนหวานยิ่ง"

แต่เมื่อถึงเวลาที่พระองค์ต้องตัดสินพระราชหฤทัยในเรื่องที่สำคัญก็ทรงเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระภาติยะ กล่าวถึงเหตุการณ์ในการตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จกลับกรุงเทพฯ หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความตอนหนึ่งว่า[28]

...ฉันต้องยอมรับว่าทั้งสมเด็จ [สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี] และหญิงอาภา [พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี] ควรจะได้รับเกียรติศักดิ์อย่างสูง ที่แสดงความกล้าหาญอย่างยิ่งเช่นนั้นเพราะเราทุก ๆ คนทราบดีว่า ถึงเรายอมกลับกรุงเทพฯ ต่อไปเขาจะฆ่าเราเสียก็ได้ ผู้หญิงสองคนนั้นเขากล้ายอมตายเสียดีกว่าที่จะเสียเกียรติศักดิ์ เมื่อเขาตกลงเช่นนั้นฉันก็เห็นด้วยทันที...

พระราชกรณียกิจ

ขณะเสด็จเยือนจักรวรรดิญี่ปุ่น พ.ศ. 2474
ขณะตามเสด็จพระราชสวามีไปประกอบพระราชกรณียกิจในเยอรมนี ปี พ.ศ. 2477

ภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงข้างกับพระราชสวามีเรื่อยมา ทั้งพระราชกิจภายในพระนคร การเสด็จพระราชดำเนินไปยังหัวเมืองต่าง ๆ รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในแถบเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ

หลังเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยเป็นช่วงที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรยังทรงพระเยาว์ พระองค์จึงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้เป็นอันมาก

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดจันทบุรี ซึ่งในขณะนั้นเส้นทางคมนาคมยังไม่สะดวก พระองค์ทรงเลือกที่ดินบริเวณตำบลบ้านแก้ว อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ด้วยทรงเห็นว่าเป็นทำเลที่มีธรรมชาติงดงาม และมีความเงียบสงบต้องกับพระราชอัธยาศัยของพระองค์ และระยะทางก็อยู่ไม่ห่างไกลจากตัวเมืองจนเกินไปนัก

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงกู้เงินจากธนาคารไปจัดซื้อที่ดินบริเวณสองฝั่งคลองบ้านแก้วจากเจ้าของที่ดินเดิม รวมเนื้อที่ประมาณ 687 ไร่ พระราชทานนามว่า "สวนบ้านแก้ว" และยังโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารทำการปรับที่ดินพร้อมกับสร้างที่ประทับชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจาก โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ต่อมาจึงมีการสร้างพระตำหนักหลังอื่น ๆ ต่อมา[19]

ด้านเกษตร

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระราชประสงค์ที่จะให้วังสวนบ้านแก้วนี้ดำเนินกิจการในด้านการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกไม้ผลนานาชนิด ทั้งที่เป็นพืชไม้ผลในท้องถิ่นและพืชและไม้ผลจากที่อื่น ตลอดจนมีการเลี้ยงสัตว์ เพื่อที่จะให้เป็นไร่ตัวอย่างมากกว่าเป็นการค้า โดยทำการทดลองว่าหากปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดใดได้ผลดี ก็จะทรงนำเอาความรู้นั้นออกเผยแพร่แก่ประชาชน ทรงพัฒนาการทอเสื่อ[19] โดยมีนักวิชาการเกษตรจากสถานีทดลองเกษตรจังหวัดจันทบุรีที่เป็นข้าราชบริพารเก่ามาช่วยเหลือแนะนำทางด้านวิชาการ และเมื่อโครงการนี้ประสบผลไปด้วยดี พระองค์จึงทรงนำโครงการนี้ไปเผยแพร่แก่ประชาชน ปรากฏว่าโครงการนี้เป็นไปได้ด้วยดีด้วย นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงเปิดโรงงานทอเสื่อ สิ่งของขึ้นชื่อของเมืองจันทบุรี

ด้านสาธารณสุข

เมื่อพระองค์เสด็จไปประทับยังจังหวัดจันทบุรี แล้วทรงตระหนักว่าการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนนั้นยังไม่เพียงพอ เป็นการสมควรที่จะจัดสร้างตึกและจัดหาเครื่องมือสำหรับการรักษาพยาบาลให้มากขึ้น พระองค์มีพระราชดำริว่าควรสร้างตึกผ่าตัดพร้อมเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้นมาก่อนเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องเดินทางไปรักษายังพระนครอันมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ พระองค์ทรงรับเป็นพระราชภาระในการจัดหาทุนเพื่อสร้างตึกผ่าตัด โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนในเบื้องต้นและแจ้งพระราชประสงค์ไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและประชาชนด้วย พระองค์พระราชทานนามตึกนี้ว่า "ตึกประชาธิปก" เพื่อเป็นพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ทราบถึงพระราชประสงค์จึงมีมติเสนองบประมาณปรับปรุงโรงพยาบาลจันทบุรีให้ใหญ่และทันสมัยขึ้นพร้อมเปลี่ยนนามโรงพยาบาลใหม่ว่าโรงพยาบาลประชาธิปก[29]

ด้านการศึกษา

พระองค์ได้พระราชทานทรัพย์สินและพระราชทรัพย์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,715,041.68 บาท เป็นทุนเริ่มต้นในการจัดตั้ง "มูลนิธิประชาธิปก" (ต่อมาคือ มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี) เพื่อสนับสนุนกิจการของโรงพยาบาลพระปกเกล้า วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ในการก่อสร้าง จัดซื้ออุปกรณ์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของสถาบันดังกล่าว และเพื่อให้เงินสมทบ "ทุนประชาธิปกบรมราชานุสรณ์" และช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นต้น[29][30]

ในปี พ.ศ. 2511 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงตัดสินพระราชหฤทัยขายวังสวนบ้านแก้วให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากทางกระทรวงต้องการที่ดินสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูจันทบุรี (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี) จึงทรงตัดสินพระทัยขายให้ในราคาถูก ดังนั้นพระองค์จึงต้องเสด็จกลับมาประทับอยู่ในวังศุโขทัยตามเดิม แม้กระนั้นก็มิได้ทรงละทิ้งกิจการทอเสื่อและผลิตสินค้าจากเสื่อ โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินกิจการเช่นเคยแต่ในปริมาณงานที่ลดลง และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักน้ำในวังศุโขทัยที่อยู่ติดริมคลองสามเสนเป็นสถานที่ทอเสื่อและผลิตสินค้าที่ทำจากเสื่อ ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของพระองค์เอง

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

ในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการสร้างแอนิเมชันเรื่อง 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โดยมีตัวละคร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พากย์เสียงโดย สินจัย เปล่งพานิช

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
 
ธงประจำพระอิสริยยศ
 
ตราประจำพระองค์
 
ธงประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าละอองพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/เพคะ
พันเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
รับใช้กองทัพบกไทย
ประจำการพ.ศ. 2472–2507
ชั้นยศ  พันเอก
หน่วย
  • กรมทหารราบที่ 4
  • กองพันทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

พระอิสริยยศ

  • 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 – 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 : หม่อมเจ้ารำไพพรรณี
  • 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 – 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 : หม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระชายาในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา
  • 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 – 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 : หม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา
  • 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 – 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 : สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
  • 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 : สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เครื่องราชอิสริยยศราชูปโภค

ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2468 นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยยศราชูปโภคสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีให้แก่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยเครื่องราชอิสริยยศราชูปโภคเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นสำหรับพระราชทานให้แก่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประกอบด้วย[31]

  • พานพระศรี (พานใส่หมากพลู) ทองคำลงยา
  • กาน้ำทองคำลงยา
  • ขันน้ำพระสุธารสเย็น พร้อมจอกลอยทองคำลงยา
  • หีบพระศรีทองคำลงยา พร้อมพานรอง
  • พระสุพรรณศรี (กระโถนเล็ก)ทองคำลงยา
  • ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา พร้อมคลุมปัก
  • พระฉาย (กระจกส่องหน้า) ทองคำลงยา
  • พานเครื่องพระสำอาง พร้อมพระสางวงเดือน พระสางเสนียด และพระกรัณฑ์ทองคำลงยา สำหรับบรรจุเครื่องพระสำอาง
  • ราวพระภูษาซับพระพักตร์ทองคำลงยารูปพญานาค พร้อมผ้าซับพระพักตร์จีบริ้วพาดที่ราว 2 ผืน

เครี่องราชอิสริยาภรณ์

เครี่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังต่อไปนี้[31]

เครี่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังทรงได้รับเครี่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ ดังต่อไปนี้

  •   กรีซ :
    • พ.ศ. 2506 -   เครื่องราชอิสริยาภรณ์เอฟโปเอียส ชั้นที่ 1

พระยศทางทหาร

  • พันเอกหญิง - ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารราบที่ 4[38] และผู้บังคับการพิเศษกองพันทหารราบที่1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[39]

การเทิดพระเกียรติ

พระราชินยานุสรณ์

พระราชินยานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีตั้งอยู่ที่พระตำหนักสวนบ้านแก้วอนุสรณ์สถาน ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี มีขนาดครึ่งเท่าพระองค์จริง โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ตามหนังสือ ที่ นร.0207/17124 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 โดยผู้ออกแบบคือนายสาโรจน์ จารักษ์และผู้หล่อคือ พท.นภดล สุวรรณสมบัติ[40]

ที่ระลึก

  • ตราไปรษณียากรที่ระลึก 100 ปี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เป็นภาพพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอบภาพด้านล่างมีคำว่า "๑๐๐ ปี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ CENTENARY OF H.M. QUEEN RAMBHAI BARNI OF THE SEVENTHREIGN" ออกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2547[41]

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ระพี สาคริก. วัดบวรนิเวศวิหารและมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ณ เมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๘, หน้า 8
  2. 2.0 2.1 ระพี สาคริก. วัดบวรนิเวศวิหารและมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ณ เมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๘, หน้า 1
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกรม ตั้งพระองค์เจ้าและเจ้าพระยา เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๖, ตอน ๐ ก, ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๑๗๔
  4. พฤทธิสาณ ชุมพล, รองศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ (กรกฎาคม 2559). รายงานการวิจัย การสังเคราะห์ประวัติศาสตร์บอกเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (PDF). พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า. p. 3.
  5. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เก็บถาวร 2005-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์รากฐานไทย ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ
  6. พระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชา เก็บถาวร 2019-04-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์วังสวนบ้านแก้วดอตคอม
  7. สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2548
  8. สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2548
  9. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หน้า 7-8
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานนามวัง, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ก, ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๒๔๗
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชพิธี บรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร ปีฉลูสัปตศก พุทธศักราช ๒๔๖๘ เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๒, ตอนพิเศษ ๐ ก, ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๐
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี, เล่ม ๔๒, ตอน ๐ ก, ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๓๕๕
  13. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หน้า 15
  14. พระองค์ฯ ทรงเล่า...เมื่อพระองค์ทรงสละราชสมบัติ
  15. รัชกาลที่ 7 เสด็จฯยุโรป พ.ศ. 2476 – 2477(5) : เพื่อตัดสินพระทัยว่าจะสละราชสมบัติหรือไม่
  16. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (เล่มใหญ่), หน้า 93
  17. ฉัตรสุดา. "วันอันเดียวดายในต่างแดน". สกุลไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (เล่มใหญ่), หน้า 116
  19. 19.0 19.1 19.2 ระพี สาคริก. วัดบวรนิเวศวิหารและมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ณ เมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๘, หน้า 7
  20. ทรงพระประชวร เก็บถาวร 2019-04-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์วังสวนบ้านแก้วดอตคอม
  21. สมภพ ภิรมย์, ศาสตราจารย์ น.อ.. พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:อมรินทร์การพิมพ์. 2528, หน้า 113
  22. วันแห่งความโศกสลดอันใหญ่หลวง เก็บถาวร 2009-04-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจาก เว็บไซต์วังสวนบ้านแก้วดอตคอม
  23. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้สถานที่ราชการลดธงครึ่งเสา เนื่องในการที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ สวรรคต, เล่ม ๑๐๑, ตอน ๖๗ ง ฉบับพิเศษ, ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗, หน้า ๓
  24. พระราชดำรัส เรื่อง พระเมรุมาศ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีใน รัชกาลที่๗ ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, จาก KingSiam.com, วันที่ 8 มีนาคม 2556
  25. พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, จาก อาร์ตบางกอก, วันที่ 8 มีนาคม 2556
  26. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๔/๒๕๒๘ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๘, เล่ม ๑๐๒, ตอน ๔๓ ง ฉบับพิเศษ, ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘, หน้า ๑
  27. หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา ปกมนตรี. เขียนถึงสมเด็จ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:เลมอนที. 2547, หน้า 75
  28. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (เล่มใหญ่), หน้า 68
  29. 29.0 29.1 หนังสือ ๗๒ ปี โรงพยาบาลพระปกเกล้า. บริษัทจามจุรีโปรดักท์ 26. 2555. ISBN 978-616-11-1165-6.
  30. "มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี". วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  31. 31.0 31.1 พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, หนังสืออนุสรณ์งานพระบรมศพทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานประชาชนในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528
  32. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน หน้า ๓๖๗๐ เล่ม ๔๒, ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘
  33. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน หน้า ๓๖๗๐ เล่ม ๔๒, ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘
  34. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ หน้า ๓๖๖๙ เล่ม ๔๒, ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘
  35. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๙๔ ง หน้า ๒๓๗๗, ๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๔
  36. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 43, ตอน 0 ง, 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469, หน้า 3114
  37. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 69, ตอน 77 ง, 30 ธันวาคม พ.ศ. 2495, หน้า 4804
  38. "แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ผู้บังคับการพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 46: หน้า 237. 21 เมษายน 2472.
  39. "แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ผู้บังคับการพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 49: หน้า 2351. 2 ตุลาคม 2475.
  40. ข้อมูลอนุสาวรีย์[ลิงก์เสีย]
  41. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึก ๑๐๐ ปี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗, เล่ม ๑๒๒, ตอน ๑๒ ง, ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘, หน้า ๑๒

บรรณานุกรม

  • พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (เล่มใหญ่), หนังสืออนุสรณ์งานพระบรมศพทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานประชาชนในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528

แหล่งข้อมูลอื่น


ก่อนหน้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ถัดไป
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี    
พระอัครมเหสีกรุงสยาม
(25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 - 2 มีนาคม พ.ศ. 2478)
  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์