เสรีไทย
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
เสรีไทย (อังกฤษ: Free Thai Movement) เป็นขบวนการใต้ดินที่ดำเนินการระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วง พ.ศ. 2484–2488 มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย ขบวนการเสรีไทยกำเนิดขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกทัพเข้ามาทางด้านทิศตะวันออกและยกพลขึ้นบกจากอ่าวไทย เดิมเรียกขบวนการนี้ว่า "องค์การต่อต้านญี่ปุ่น" ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "เสรีไทย" มีบทบาทเป็นแหล่งข่าวสำคัญของฝ่ายสัมพันธมิตร
เสรีไทย | |
---|---|
มีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่สอง | |
ตราสัญลักษณ์เสรีไทย | |
ปฏิบัติการ | พ.ศ. 2484 – 2488 |
กลุ่ม |
|
พันธมิตร | |
ปรปักษ์ |
ปฏิบัติการ
แก้การที่รัฐบาลไทยนำโดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ยินยอมตกลงเข้าร่วมกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่อสหรัฐและอังกฤษ ทำให้บุคคลสำคัญทางการเมืองการปกครอง ข้าราชการ และชาวไทยทั้งในและนอกประเทศไม่เห็นด้วยกับนโยบายประกาศสงคราม มีการรวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มในประเทศ นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มคนไทยในสหรัฐ นำโดยหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการไม่ยอมส่งคำประกาศสงครามต่อสหรัฐ และถือว่าการประกาศสงครามนั้นมิใช่เจตนาของคนไทย กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มคนไทยในอังกฤษ นำโดยนักเรียนไทย ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ รวมถึงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และราชนิกูลอีกหลายพระองค์ และต่อมาใน พ.ศ. 2485 อังกฤษได้รับสมาชิกเสรีไทยเข้าเป็นกำลังพลร่วมในกองทัพอังกฤษ
ช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี การดำเนินงานของกลุ่มทั้งสามไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนักเพราะขาดการประสานงานร่วมกัน แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ความร่วมมือระหว่างกันก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่านายควง อภัยวงศ์จะแถลงนโยบาย ร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยใกล้ชิด ตามสัญญาพันธกรณีที่ได้มีต่อกันไว้ด้วยดี และให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นทุกประการ แต่ขณะเดียวกันคณะรัฐบาลก็มีรัฐมนตรีหลายคนที่เป็นบุคคลระดับหัวหน้าในองค์การต่อต้านญี่ปุ่น และคอยให้ความช่วยเหลือองค์การอย่างลับ ๆ
เสรีไทยมีเครือข่ายความร่วมมือในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตร สหรัฐและอังกฤษได้ส่งหน่วยปฏิบัติการมาประจำในกรุงเทพมหานคร ด้านฝ่ายไทย นายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งทหารไปประจำที่กองบัญชาการของฝ่ายสัมพันธมิตร ณ เมืองแคนดี ลังกา พร้อมกับส่งทหาร ตำรวจ และพลเรือนไปรับการฝึกกับสำนักงานบริการด้านยุทธศาสตร์ (O.S.S : Office of Strategic Services) ของสหรัฐ และกองกำลัง 136 ของอังกฤษ ในอินเดียและลังกา
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนนายทหารสารวัตร และโรงเรียนนายสิบสารวัตรทหาร โดยรับสมัครนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนเตรียมปริญญาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนักเรียนโรงเรียนเตรียมนายเรือ มาฝึกให้เป็นผู้บังคับบัญชาของกองกำลังใต้ดินเพื่อเตรียมสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นในวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนด มีการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยในประเทศร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น ส่งข่าวด้านยุทธศาสตร์ทางทหารตลอดจนรายงานสภาพดินฟ้าอากาศให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบ ซึ่งทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถปฏิบัติการทางทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี การปะทะกันระหว่างขบวนการเสรีไทยกับกองทัพญี่ปุ่นไม่มีโอกาสเกิดขึ้น เพราะญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากสหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมะและนางาซากิเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 แม้ว่าไทยจะร่วมกับญี่ปุ่นในการประกาศสงคราม แต่ความร่วมมืออย่างลับ ๆ ของไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามยุติ โดยสหรัฐถือว่าไทยไม่เคยประกาศสงครามต่อประเทศของตน ขณะที่อังกฤษยังดำเนินนโยบายต่อไทยแตกต่างไปจากสหรัฐ
สมาชิกขบวนการที่มีชื่อเสียง
แก้- ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (รูท)
- พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส หรือหลวงอดุลเดชจรัส (เบตตี้)
- ศ.มาลัย หุวะนันทน์
- คุณหญิงอุบล หุวะนันทน์
- พล.ท.กาจ กาจสงคราม หรือหลวงกาจสงคราม
- พ.ต.หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ (หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์)
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (เข้ม - ภายหลังเป็น "เข้ม เย็นยิ่ง")
- สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
- พ.ต.ควง อภัยวงศ์ หรือหลวงโกวิทอภัยวงศ์
- หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก)
- ศ.ดิเรก ชัยนาม
- ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
- เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์
- ทวี บุณยเกตุ
- พ.ท. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ (อรุณ)
- น.อ.หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)
- สงวน ตุลารักษ์
- พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา
- อนันต์ จินตกานนท์
- เตียง ศิริขันธ์
- ถวิล อุดล
- จำลอง ดาวเรือง
- ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
- ฟุ้ง ศรีสว่างวัฒน์
- พ.อ.(พ)การุณ เก่งระดมยิง (เคน)
- พล.ท. ม.ล.ขาบ กุญชร
- พลตรี จักรชัย (จันทร์) ศุภางคเสน
- พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์
- ร.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช
- ทอง กันทาธรรม
- ครอง จันดาวงศ์
- พ.ต.โผน อินทรทัต
- ร.อ.กระจ่าง ตุลารักษ์
- แช่ม พรหมยงค์
- พ.ต.จำกัด พลางกูร
- พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน หรือ หลวงสินธุสงครามชัย
- พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์
- พลเอก เนตร เขมะโยธิน
- พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา
- ประกอบ วัชรสินธุ์ (นายวันเฮง วัชรสินธุ์)
- ชื่อในวงเล็บเป็นรหัสที่ใช้เรียกในขบวนการเสรีไทย
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ขบวนการเสรีไทย, กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ, พ.ศ. 2538 ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2551
หนังสืออ่านเพิ่ม
แก้- Thailand's Secret War: OSS, SOE and the Free Thai Underground During World War II. E. Bruce Reynolds. Cambridge Military Histories series. Cambridge University Press. ISBN 0-521-83601-8. Colonel David Smiley is pictured page 377 with his Force 136 team.
- The Thai Resistance Movement During the Second World War, John B. Haseman, Northern Illinois Center for Southeast Asian Studies, np, 1978.
- Free Thai, compiled by Wimon Wiriyawit, White Lotus Co., Ltd, Bangkok, 1997.
- Into Siam, Underground Kingdom, Nicol Smith and Blake Clark, Bobbs Merrill Company, New York, 1945.
- Colonel David Smiley, Irregular Regular, Michael Russell, Norwich, 1994, (ISBN 978-0859552028). Translated in French by Thierry Le Breton, Au coeur de l'action clandestine des commandos au MI6, L'Esprit du Livre Editions, France, 2008, (ISBN 978-2915960273). With numerous photographs.