หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)
นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) (22 มกราคม พ.ศ. 2438 – 26 ตุลาคม พ.ศ. 2508) เป็นนายทหารและนักการเมืองชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารเรือ อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2481
หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) | |
---|---|
หลวงศุภชลาศัย ไม่ทราบปีที่ถ่าย | |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม | |
ดำรงตำแหน่ง 2 กุมภาพันธ์ – 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 | |
นายกรัฐมนตรี | พันตรี ควง อภัยวงศ์ |
ก่อนหน้า | หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ |
ถัดไป | สงวน จูฑะเตมีย์ |
ดำรงตำแหน่ง 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 – 8 เมษายน พ.ศ. 2491 | |
นายกรัฐมนตรี | พันตรี ควง อภัยวงศ์ |
ก่อนหน้า | ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ |
ถัดไป | พันเอก หม่อมสนิทวงศ์เสนี |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 2 สิงหาคม พ.ศ. 2487 – 17 กันยายน พ.ศ. 2488 | |
นายกรัฐมนตรี | พันตรี ควง อภัยวงศ์ ทวี บุณยเกตุ |
ก่อนหน้า | พลเอก มังกร พรหมโยธี |
ถัดไป | ทวี บุณยเกตุ |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ | |
ดำรงตำแหน่ง 10 มีนาคม – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 | |
นายกรัฐมนตรี | จอมพลแปลก พิบูลสงคราม |
ก่อนหน้า | พันเอก ประยูร ภมรมนตรี |
ถัดไป | เดือน บุนนาค |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม | |
ดำรงตำแหน่ง 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 – 2 สิงหาคม พ.ศ. 2487 | |
ก่อนหน้า | พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ |
ถัดไป | สพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ | |
ดำรงตำแหน่ง 21 ธันวาคม พ.ศ. 2480 – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 | |
นายกรัฐมนตรี | พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา |
ก่อนหน้า | สถาปนาตำแหน่ง |
ถัดไป | หลวงเดชสหกรณ์ |
รัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 1 เมษายน พ.ศ. 2476 – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2480 | |
นายกรัฐมนตรี | พระยามโนปกรณนิติธาดา พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา |
รองผู้บัญชาการทหารเรือ | |
ดำรงตำแหน่ง 5 สิงหาคม พ.ศ. 2476 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2477 | |
อธิบดีกรมพลศึกษา | |
ดำรงตำแหน่ง 1 เมษายน พ.ศ. 2477 – 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 | |
ก่อนหน้า | พระยาประมวญวิชาพูล (รักษาราชการ) |
ถัดไป | พระยาจินดารักษ์ |
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร | |
ดำรงตำแหน่ง 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | บุง ศุภชลาศัย 22 มกราคม พ.ศ. 2438 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 26 ตุลาคม พ.ศ. 2508 (70 ปี) |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น | คณะราษฎร |
คู่สมรส | สวาสดิ์ หุวะนันท์ หม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร |
บุตร | 5 คน |
บุพการี |
|
การศึกษา | โรงเรียนนายเรือ |
อาชีพ | ทหารเรือ, นักการเมือง |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
สังกัด | กองทัพเรือ |
ประจำการ | 2461–2508 |
ยศ | นาวาเอก |
ประวัติ
แก้หลวงศุภชลาศัย เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2438 ณ ตำบลถนนพระอาทิตย์ อำเภอชนะสงคราม จังหวัดพระนคร เป็นบุตรนายเบี้ยวและนางพ่วง เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดชนะสงคราม, โรงเรียนวัดบวรนิเวศ และโรงเรียนวัดราชบูรณะ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) จนจบชั้นมัธยมเมื่อ พ.ศ. 2454 และสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนนายเรือ เรียนเก่งถึงขั้นได้รับเกียรตินิยมของสถาบัน
การทำงาน
แก้บุง ศุภชลาศัย เริ่มต้นชีวิตราชการทหารเรือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2461 ประจำการบนเรือรบหลวง "สุครีพครองเมือง" ตำแหน่งสุดท้ายก่อนออกจากกองทัพเรือ คือรองผู้บัญชาการทหารเรือ[1] ต่อมาในรัฐบาล พระยาพหลพลพยุหเสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้สถาปนากรมใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เพื่อจัดการงานด้านพลศึกษาของชาติ มี อำมาตย์เอกพระยาประมวลวิชาพูล (วงษ์ บุญ-หลง) รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดี จนกระทั่ง วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 นาวาโท หลวงศุภชลาศัย ร.น. (บุง ศุภชลาศัย) จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา คนแรกอย่างเป็นทางการ [2]
หลวงศุภชลาศัย เป็นผู้วางรากฐานการพลศึกษาและกีฬานักเรียนเมืองไทยหลายประการ อาทิ การบรรจุหลักสูตรวิชาพลศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาทั่วประเทศ และสิ่งสำคัญ สำหรับชาวพลศึกษา คือการกำหนดสัญญลักษณ์ วงกลมห่วง 3 สี ประดิษฐานอยู่ใต้รูปพระพลบดี ซึ่งห่วงสีเหลืองแทนพุทธิศึกษา, ห่วงสีขาวแทนจริยศึกษา และห่วงสีเขียวแทนพลศึกษา โดยความหมายแห่งนัย คือบุคคลจะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และก่อประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองได้อย่างแท้จริงจะต้องมีความสมดุลระหว่าง ความรู้ ความประพฤติและพลานามัย ดังเช่นห่วงทั้ง 3 วง ที่วางทับกันอย่างมีเอกภาพ
หลวงศุภชลาศัย ได้ส่งเสริมการแข่งขันกีฬานักเรียนของกรมพลศึกษา จัดให้มีการมอบเสื้อสามารถแก่นักกีฬาที่มีความยอดเยี่ยมทุกประเภท ก่อนจัดแข่งขันกีฬาประชาชนทั่วประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก และใน พ.ศ. 2479 จึงย้ายสนามแข่งขันกีฬานักเรียนประจำปี จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ไปทำการแข่งขัน ณ สนามหลวง
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2478 กรมพลศึกษา ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน เนื้อที่ 114 ไร่ 1 งาน 25.12 ตารางวา ตรงบริเวณที่เดิมเป็นวังวินเซอร์ เพื่อจัดสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ และได้ดำเนินการของบประมาณแผ่นดิน เพื่อใช้การจัดสร้างสนามกีฬา ใช้ชื่อว่า สนามกรีฑาสถาน (National Stadium) และโรงเรียนพลศึกษากลาง เริ่มงานตั้งแต่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 จวบจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2484
ในขณะที่สนามกรีฑาสถานยังสร้างไม่เสร็จ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดการแข่งขันกีฬาประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2481 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขัน ณ สนามกรีฑาสถาน เป็นครั้งแรก
เมื่อ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 กรมพลศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อสนามกรีฑาสถาน เป็นสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2485 - 2487 นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย[3] หลวงศุภชลาศัย ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 กรมพลศึกษา ได้ยกย่องและเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็นบุคคลพลศึกษาของชาติ สาขาการบริหารการพลศึกษา
บทบาททางการเมือง
แก้หลวงศุภชลาศัย เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยถือเป็นนายทหารเรือที่มีอาวุโสสูงสุดของคณะราษฎร ด้วยอายุ 37 ปี ซึ่งในขณะนั้น หลวงศุภชลาศัย มียศเป็น นาวาตรี (น.ต.) ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว พร้อมกับ เรือเอก สงวน รุจิราภา ได้เข้าพบกับ หลวงวิจักรกลยุทธ ซึ่งเป็นนายทหารบกคณะราษฎรเช่นเดียวกัน ถึงที่บ้านพัก เพื่อขอให้ปลอมแปลงลายเซ็นของ หลวงมนูญศาสตร์สาทร นายทหารเรือผู้ลงชื่อรับรองคำสั่งของผู้รั้งแม่ทัพเรือ เพื่อขออนุมัติคำสั่งให้นำเรือลงลาดตระเวณในลำน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งสิ้น 11 ฉบับ อันเป็นส่วนการปฏิบัติการของฝ่ายทหารเรือ จากนั้นในเช้ามืดของวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลวงศุภชลาศัยได้เป็นผู้ช่วยในการตัดสัญญาณโทรศัพท์และโทรเลขที่กองพันพาหนะทหารเรือ บริเวณท่าราชวรดิฐ ร่วมกับคณะราษฎรสายทหารเรือคนอื่น ๆ เพื่อมิให้มีการติดต่อสื่อสารกับหน่วยอื่นได้ และรวบรวมอาวุธปืนและกระสุนจำนวน 45,000 นัด ที่งัดจากกองพันฯ ข้ามฟากมา ก่อนจะลำเลียงสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเวลา 06.00 น. อันเป็นจุดนัดหมายเพื่อรวบรวมกำลังทหารเรือ ก่อนที่กำลังทหารบกและพลเรือนจะมาสมทบ [4]จากนั้นเป็นผู้คุมกำลังเรือรบเข้าลาดตระเวนตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา และทำการคุมที่ท่าน้ำวังบางขุนพรหม อันเป็นสถานที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้รักษาพระนคร มิให้หลบหนี และต่อมาได้รับหน้าที่เป็นผู้ถือหนังสืออัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล นิวัติยังพระนคร [5]
หลวงศุภชลาศัย ได้เดินทางโดยเรือหลวงสุโขทัย ไปถึงพระราชวังไกลกังวลในเวลา 10.00 น. ในวันที่ 25 มิถุนายน โดยจอดเรือห่างจากชายฝั่งประมาณ 2,500 เมตร และลงเรือเล็กไป โดยสั่งแก่ทหารบนเรือว่า หากตนยังไม่กลับมาในเวลาที่เหมาะสม ให้ระดมยิงได้เลยโดยไม่ต้องห่วงตน เมื่อถึงฝั่ง หลวงศุภชลาศัยได้เข้าเฝ้าฯ แต่ทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธ ด้วยทรงให้เหตผุลว่า เรือหลวงสุโขทัยนั้นคับแคบเกินไป ไม่สมกับพระเกียรติยศ ซึ่งทางหลวงศุภชลาศัยก็ได้ส่งโทรเลขกลับไปยังพระนคร ท้ายที่สุดการเสด็จนิวัติกลับพระนครของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นทางรถไฟขบวนพิเศษ ที่ทางพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้รักษาพระนครและหัวหน้าคณะราษฎรจัดถวาย[6]
รวมทั้งเคยได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดพระนคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500[7]
ชีวิตครอบครัว
แก้หลวงศุภชลาศัย สมรสกับ สวาสดิ์ หุวนันท์ และ หม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร [8] พระธิดาพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติในหม่อมกิม อาภากร ณ อยุธยา (ธิดานายตั๊น ชุ่นเพียว)
หลวงศุภชลาศัย มีบุตรธิดากับหม่อมเจ้าจารุพัตรา อาภากร 5 คน ได้แก่ [9]
- อาภา ศุภชลาศัย สมรสกับ หม่อมราชวงศ์สุทธิสวาสดิ์ กฤดากร
- นาวาเอกภากร ศุภชลาศัย สมรสกับ อัจฉรา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
- จารุพันธ์ ศุภชลาศัย สมรสกับ ดุษณี วสุธาร
- พรศุภศรี ศุภชลาศัย สมรสกับ ศรีศักดิ์ จามรมาน
- พัตราพร ศุภชลาศัย สมรสกับ ธนชัย จารุศร
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2486 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[10]
- พ.ศ. 2480 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[11]
- พ.ศ. 2478 – เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (พ.ร.ธ.)[12]
- พ.ศ. 2476 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[13]
- พ.ศ. 2473 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 5 (ป.ป.ร.5)[14]
- พ.ศ. 2481 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 2 (อ.ป.ร.2)[15]
- พ.ศ. 2466 – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 6 (ร.จ.ท.6)[16]
อ้างอิง
แก้- จิรัฏฐ์ จันทะเสน, ประวัติหลวงศุภชลาศัย
- ↑ ประกาศ ย้ายนายทหารเรือ
- ↑ ประกาศ ตั้งอธิบดีกรมพลศึกษา
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๒ ราย)
- ↑ นายหนหวย. ทหารเรือปฏิวัติ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พฤศจิกายน 2555 (พิมพ์ครั้งที่ 3). 124 หน้า. ISBN 9789740210252
- ↑ 2475 : ชะตาชาติ, สารคดี ทางทีพีบีเอส: 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
- ↑ 2475 ยุทธการยึดเมือง, สารคดีฉบับที่ 172: มิถุนายน 2542
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้งที่ ๒
- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ หม่อมเจ้าหญิง จงจิตรถนอม ดิศกุล. จดหมายถึงหญิงใหญ่ (ฉบับชำระใหม่). กรุงเทพ : สถาพรบุ๊คส์, 2551. ISBN 978-974-16-6535-8
- ↑ กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี, หม่อมราชวงศ์. สายพระโลหิตในพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มดี, พ.ศ. 2551. 290 หน้า. ISBN 978-974-312-022-0
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๙ ง หน้า ๒๙๒๐, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๑๔, ๑๓ ธันวาคม ๒๔๘๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เก็บถาวร 2022-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๓๙, ๒๑ เมษายน ๒๔๗๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความส่งเหรียญจักรมาลาไปพระราชทาน เก็บถาวร 2022-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๓๑, ๒ ธันวาคม ๒๔๗๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๒๘๙, ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๖๐๘, ๒๓ มกราคม ๒๔๘๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๑๗๒, ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๖๖