กบฏวังหลวง
กบฏปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 26–27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เป็นเหตุการณ์ที่ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" พันธมิตรทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 7 ซึ่งมีทั้งทหารเรือและอดีตสมาชิกเสรีไทย หวังยึดอำนาจการปกครองประเทศคืนหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 แม้ขบวนการฯ จะชนะในช่วงแรกและยึดสถานที่สำคัญได้หลายแห่ง แต่สุดท้ายผู้ก่อการเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ผลทำให้ปรีดี พนมยงค์และพันธมิตรทางการเมืองหมดอำนาจโดยสิ้นเชิง
กบฏปรีดี พนมยงค์ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ทหารหน้าพระบรมมหาราชวัง | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ | |||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
จอมพล แปลก พิบูลสงคราม พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลโท กาจ กาจสงคราม พันเอก ถนอม กิตติขจร |
ปรีดี พนมยงค์ เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ พันตรี โผน อินทรทัต |
เหตุการณ์
แก้ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่หมดอำนาจไปหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ได้นำกองกำลังส่วนหนึ่งเล็ดลอดเข้าประเทศมาจากประเทศจีนร่วมกับคณะนายทหารเรือส่วนหนึ่ง เช่น พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ, พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" นำกำลังยึดพระบรมมหาราชวังและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการในเวลาประมาณ 16.00 น. เรียกปฏิบัติการนี้ว่า "แผนช้างดำ-ช้างน้ำ" จากนั้นในเวลา 21.00 น. ประกาศถอดถอนรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย และได้ประกาศแต่งตั้ง นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และแต่งตั้ง พล.ร.ท. สินธุ์ กมลนาวิน เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยที่ทั้งสองคนนี้ไม่มีส่วนรู้เห็นอันใดกับการกบฏครั้งนี้[1]
นายปรีดีที่หลบหนีออกประเทศไปตั้งแต่ พ.ศ. 2490 แอบเดินทางกลับมาโดยปลอมตัวเป็นทหารเรือและติดหนวดปลอมปะปนเข้ามาพร้อมกับกลุ่มกบฏ แต่มีผู้พบเห็นและจำได้[2] ส่วนฝ่ายรัฐบาลทราบล่วงหน้าว่าอาจมีเหตุเกิดขึ้นได้[3] เพราะจอมพล ป. ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุ 3 วัน[3]และมีพระบรมราชโองการประกาศสถานการณ์ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2492[4] รวมทั้งได้มีการฝึกซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของทหารบกที่ตำบลทุ่งเชียงราก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีการขนานนามว่า "การประลองยุทธ์ที่ตำบลทุ่งเชียงราก"[5]
จุดที่มีการปะทะกันระหว่างทหารบกฝ่ายรัฐบาล และทหารเรือฝ่ายกบฏ เช่น ถนนวิทยุ, ถนนพระราม 4, ถนนสาทร, สี่แยกราชประสงค์, ถนนเพชรบุรี, ประตูน้ำ ตลอดจนถึงทางรถไฟสายตะวันออกและสถานีรถไฟมักกะสัน มีการยิงกระสุนข้ามหลังคาบ้านผู้คนในละแวกนั้นไปมาเป็นตับ ๆ เนื่องจากทหารบกฝ่ายรัฐบาลได้ตั้งแนวป้องกันมิให้ทหารเรือฝ่ายกบฏล่วงล้ำเข้ามาในพระนครได้มากกว่านี้ มีผู้ได้บาดเจ็บล้มตายกันทั้ง 2 ฝ่าย[2] มีจำนวนผู้เสียชีวิต 10 ราย[6] เป็นทหารบก 4 นาย, ทหารเรือ 3 นาย และพลเรือนซึ่งเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในอำเภอพญาไท 3 คน
ในระยะแรก ฝ่ายกบฏเหมือนจะเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ เพราะสามารถยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด แต่ตกค่ำวันนั้นเอง ทหารฝ่ายรัฐบาลก็ตั้งตัวติดและสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้ อีกทั้งกองกำลังทหารเรือฝ่ายสนับสนุนกบฏจากฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งกำลังหลักได้แก่ นาวิกโยธิน ก็ติดอยู่ที่ท่าน้ำบริเวณคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เพราะน้ำลดขอดเกินกว่าปกติ แพขนานยนต์ไม่สามารถที่จะลำเลียงอาวุธและกำลังคนข้ามฟากไปได้[1] เมื่อน้ำขึ้นก็เป็นเวลาล่วงเข้ากลางคืน กองกำลังทั้งหมดมาถึงพระนครในเวลประมาณ 8.00 น.ของเช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงตอนนั้นฝ่ายกบฏก็เพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาลแล้ว ซึ่งตามแผนการนั้นจะต้องยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ ไว้ให้ได้ก่อนเวลา 24.00 น. ของคืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์[7]
พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้อำนวยการปราบปราม มีการสู้รบกันในเขตพระนครอย่างหนักหน่วง โดย พล.ต.สฤษดิ์เป็นผู้ยิงปืนจากรถถังทำลายประตูวิเศษไชยศรีของพระบรมมหาราชวังพังทลายลง ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ จนในที่สุด เวลาเย็นของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทั้ง 2 ฝ่ายก็หยุดยิง เมื่อรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ โดยผ่านการประสานของ พล.ร.ต.หลวงพลสินธวาณัติก์ นายปรีดี พนมยงค์ และ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช รน. ซึ่งเป็นคนสนิทได้หลบหนีออกทางประตูเทวาภิรมย์ ด้านติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเรือข้ามฟากของ พล.ร.ท.ผัน นาวาวิจิตร[7]
เหตุการณ์ภายหลัง
แก้หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ รัฐบาลแถลงการณ์ว่า "เป็นการเข้าใจผิดกันระหว่างทหารบกและทหารเรือ" และอธิบายว่า "เป็นบุคคลแต่งตัวปลอมเป็นทหารเรือ มาร่วมก่อการจลาจลที่พระบรมมหาราชวัง"[7]
ในส่วนของปรีดีที่หลบหนีไปได้นั้น ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยา ได้ขอความช่วยเหลือจากสุธิ โอบอ้อม ปลัดอำเภอพระโขนง ให้ปรีดีหลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านร้างหลังหนึ่งซึ่งเป็นเคยฉางเกลือเก่าของบริษัท เกลือไทย เป็นบ้านร้างบนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณเชิงสะพานสาทรในปัจจุบัน โดยกบดานอยู่ 5 เดือน[7] และมีเศร้าโศกเสียใจมากกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ถึงขนาดจะยิงตัวตาย เพราะมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ แต่ได้ถูกท่านผู้หญิงพูนศุขห้ามไว้[1] และหลบหนีไปยังประเทศจีน ในวันที่ 6 สิงหาคม ปีเดียวกัน
ซึ่งหลังจากเหตุการณ์กบฏเกิดขึ้นและจบลงได้ไม่นาน ก็ได้มีการสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองลงหลายคน เช่น พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลและ พ.ต.โผน อินทรทัต ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบและอดีตเสรีไทย รวมทั้งการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 14 คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งเป็นนักการเมืองในสายของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น รัฐบาลได้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2492[8] [3][9][5]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 26 กุมภาพันธ์ 2492 กบฏวังหลวง, "ย้อนรอยประวัติศาสตร์รัฐประหารไทย". สารคดีทางดีเอ็นเอ็น: 20 พฤศจิกายน 2554
- ↑ 2.0 2.1 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช. ชีวลิขิต. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, พ.ศ. 2548. 261 หน้า. ISBN 9789749353509
- ↑ 3.0 3.1 3.2 วินทร์ เลียววาริณ. ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, พ.ศ. 2537. ISBN 974-8585-47-6
- ↑ มีพระราชโองการประกาศสถานการณ์ต่อเนื่อง
- ↑ 5.0 5.1 ประทีป สายเสน. กบฏวังหลวง กับสถานะของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊ค, พ.ศ. 2551. 125 หน้า. ISBN 9789747814934
- ↑ กบฎวังหลวง ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า[ลิงก์เสีย]
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 หน้า 15, สนามรบ ณ แยกราชประสงค์ เมื่อ พ.ศ. 2492, "ภาพเก่าเล่าตำนาน" โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก. มติชนปีที่ 42 ฉบับที่ 15149: วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2562
- ↑ รัฐบาลได้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
- ↑ เพลิง ภูผา. ย้อนรอยขบวนการยึดอำนาจ ปฏิวัติเมืองไทย. กรุงเทพฯ : เครือเถา, พ.ศ. 2550. 232 หน้า. ISBN 978-974-8337-16-6